ศึกชิงผู้ว่าฯกทม. สังกัด‘พรรค’-ลงอิสระ ได้-เสีย

ศึกชิงผู้ว่าฯกทม. สังกัด‘พรรค’-ลงอิสระ ได้-เสีย

ศึกชิงผู้ว่าฯกทม.
สังกัด‘พรรค’-ลงอิสระ ได้-เสีย

หมายเหตุ – มุมมองนักวิชาการ วิพากษ์วิจารณ์ข้อดี-ข้อเสีย ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) สังกัดพรรคการเมืองกับลงชิงอิสระ


รศ.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

กทม.เป็นเขตการปกครองพิเศษ จึงเกิดปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาที่หมักหมมมายาวนาน ดังนั้น ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ต้องมีวิสัยทัศน์และนโยบายที่แก้ปัญหาได้จริงและตอบโจทย์ประชาชนได้ การลงสมัครไม่ว่าอิสระ หรือสังกัดพรรคการเมืองไม่น่ามีผลต่อการตัดสินใจของประชาชน

Advertisement

ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ต้องเข้าใจบริบทสังคมและความเป็นอยู่ของคน กทม.เป็นหลัก ต้องเป็นคนติดดิน ประชาชนต้องเข้าถึงง่ายเพื่อรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ ภายใต้การใช้ชีวิตประจำวันประชาชนเป็นอย่างไร เพื่อสะท้อนปัญหาและหาวิธีแก้ไขเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการคมนาคม จราจรและน้ำท่วม ที่เป็นปัญหาหมักหมมและเรื้อรังมายาวนาน แต่การแก้ปัญหาของ กทม.ยังเป็นไปในระบบกลไกราชการที่ไม่สามารถตอบโจทย์แก้ปัญหาได้ตรงจุด เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้างและการบริหารราชการแบบเดิมอยู่

เท่าที่ติดตามว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อาทิ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. ที่ลงในนามอิสระ ยังมีภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) สนับสนุนอยู่ เนื่องจากมาจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ม.44 ขณะที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศตัวชิงตำแหน่งผู้ว่าฯคนแรก ยังมีภาพพรรคเพื่อไทย (พท.) และมีเครือข่าย-ฐานเสียง พท.สนับสนุนอยู่ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลงสมัครในนามพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ทั้งหมดปฏิเสธไม่ได้ว่ามีพรรคการเมืองเกี่ยวข้อง เนื่องจากการบริหาร กทม.ต้องสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล หรือพรรคฝ่ายค้าน เพื่อทำงานร่วมกันและตอบสนองนโยบายการพัฒนาให้เป็นทิศทางเดียวกันด้วย

อย่างไรก็ตาม ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ต้องนำนโยบายมาปฏิบัติเป็นรูปธรรมให้ได้ มีการพัฒนาต่อเนื่อง และมีแผนผลักดันนำไปสู่การแก้ปัญหาจริงจัง ที่สำคัญสามารถสานต่อหรือต่อยอดได้ ไม่ว่าใครมาเป็นผู้ว่าฯคนต่อไป ไม่ใช่เป็นผู้ว่าฯที่รอเกษียณอายุราชการเมื่อครบวาระและเปลี่ยนผู้ว่าฯต้องเริ่มนับ 1 ใหม่อีก ทำให้การบริหารและพัฒนาไม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนเป็นผู้เสียผลประโยชน์มากกว่า อยากฝากว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ต้องศึกษาและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ให้หลุดพ้นจากระบบราชการที่ไม่สามารถผลักดัน หรือขับเคลื่อนนโยบายไปสู่เป้าหมายได้ ต้องมีวิสัยทัศน์และคิดนอกกรอบ นำไปสู่นโยบายใหม่ๆ ที่แก้ปัญหาและตอบโจทย์ประชาชนได้จริง ทำให้คุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ ดีขึ้นตามลำดับ

Advertisement

ปฐวี โชติอนันต์
คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ

ในมุมมองทางรัฐศาสตร์การที่ว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ลงในนามอิสระมีข้อดีและข้อด้อยคือ 1.ภาพลักษณ์ที่ต้องการสลัดภาพการยึดติดกับพรรคการเมือง หรืออุดมการณ์ทางการเมือง ภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นจะเน้นถึงความเป็นกลางทางการเมืองที่เตรียมพร้อมเข้ามาบริหารและแก้ไขปัญหา กทม. 2.สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมในการทำงานกับทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลระดับชาติ หรือสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) จะมาจากพรรคการเมืองใดก็สามารถทำงานร่วมกันได้ อาจจะมีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่ผู้สมัครลงในนามอิสระนั้นจะทำให้การทำงานในพื้นที่ยากมากขึ้นเพราะไม่มี ส.ก.คอยหนุนหลัง

สำหรับผู้สมัครในนามพรรคการเมืองนั้นมีข้อดีคือ 1.ถ้าผู้สมัครท่านนั้นได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กทม.พร้อมกับพรรคการเมืองที่สังกัดได้เป็นรัฐบาล การทำงานระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับรัฐบาลระดับชาติมีแนวโน้มที่จะไปในทิศทางเดียวกัน ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะมีน้อยลง ในทางกลับกัน ถ้าผู้ว่าฯ กทม.เป็นคนละฝ่ายกับรัฐบาล การทำงานที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดปัญหาในเรื่องการบริหารงาน หรือการได้รับความช่วยเหลือจากกลไกของรัฐในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ แต่ที่ผ่านมาผู้ว่าฯ กทม.มักจะอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลกลางเพื่อถ่วงดุลอำนาจกัน 2.ผู้สมัครในนามพรรคการเมืองนั้นจะมีฐานคะแนนของ ส.ก.ของพรรคการเมืองนั้นๆ คอยให้การสนับสนุนในการเดินหาเสียงในช่วงการเลือกตั้ง รวมถึงการทำงานของ ส.ก.ที่สังกัดพรรคการเมืองอยู่ฝ่ายเดียวกับผู้ว่าฯ กทม. การทำงานในพื้นที่จะง่ายขึ้นเพราะผู้ว่าฯ กทม.มี ส.ก.ในฝ่ายของตนที่จะคอยสะท้อนปัญหาในพื้นที่ขึ้นมาและจัดงบประมาณโครงการต่างๆ ลงไปในพื้นที่ รวมถึงการผ่านงบประมาณในสภาที่จะมีความคล่องตัวมากขึ้น

ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ว่าฯ กทม.จะสังกัด หรือไม่สังกัดพรรคการเมืองก็ตาม แต่เมื่อได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม.แล้ว ต้องเป็นตัวแทนของคน กทม.ทั้งหมด ไม่ใช่ตัวแทนของพรรคการเมือง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่สำคัญต้องรีบแก้ไขปัญหาท้องถิ่นใน กทม. ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจราจร ขยะ ชุมชนแออัด PM2.5 รถไฟฟ้าราคาแพง โควิด-19 น้ำท่วมและภัยพิบัติ เป็นต้น เพื่อให้ชาว กทม.มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ เนื่องจากการบริหารท้องถิ่นของ กทม.ถูกแช่แข็งและหยุดนิ่งมานานเกินไป

ผศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

หากมองการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ถือว่าเป็นสนามประลองการเลือกตั้งของกลุ่มการเมืองต่างๆ การเปิดตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ออกมาจะเห็นว่าส่วนใหญ่จะลงสมัครรับเลือกตั้งอิสระ กลายเป็นตัวแทนของแต่ละกลุ่มการเมืองจะสนับสนุนการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้ รู้สึกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จัดให้มีการเลือกตั้งเพื่อหวังผลทดสอบจิตวิทยาของคน กทม.เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ตามโรดแมปที่วางเอาไว้หากไม่มีปัญหาอุปสรรคใดๆ น่าจะเกิดขึ้นหลังการประชุมเอเปค

ส่วนการมองในเรื่องการลงสมัครอิสระกับการลงแบบกลุ่มการเมืองนั้น การลงสมัครในนามกลุ่มจะเห็นว่าทุกกลุ่มการเมืองไม่กล้าทุ่มเทอย่างเต็มที่ เนื่องจากมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนทางการเมืองในตัวเอง อาทิ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ตัดสินใจลงในนามอิสระ ซึ่งในความเป็นจริงได้รับการสนับสนุนจากพรรค พท. นายชัชชาติอาจประเมินว่าพรรค พท.มีจุดอ่อนอะไรบางอย่างกับคน กทม. จึงไม่กล้าใช้ชื่อพรรค แต่ทางด้านพรรค พท.ก็เปิดตัว ส.ก.ในพื้นที่ แต่ไม่เปิดตัวในนามพรรค มีแต่พรรค ปชป.ที่กล้าเปิดตัวในนามพรรคกับพรรค ก.ก.เท่านั้น ส่วนคนอื่นๆ คิดว่ากลุ่มพลังทางการเมืองมีคนรักคนชอบที่ไม่เหมือนกัน หากเปิดตัวในนามพรรคอาจจะกลายเป็นดาบสองคม

กรณี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง มีความประสงค์จะลงตั้งแต่ต้นแล้ว แต่ต้องการทำงานเพื่อรั้งตำแหน่งให้ยาวนานที่สุด คิดว่าเป็นตัวแทนของ คสช. รัฐบาล และ กปปส. เนื่องจากแกนนำ กปปส.ยังยืนยันว่าจะให้การสนับสนุน พล.ต.อ.อัศวิน เนื่องจากในช่วงเป็นรองผู้ว่าฯ ยังให้การสนับสนุน กปปส.สมัยที่มีการชุมนุมไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ การตัดสินในครั้งนี้คิดว่าคงทำการบ้านทางการเมืองมาพอสมควร เพราะ ส.ก.นั้นอยู่ในเครือข่ายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ได้มีการทำงานมาตั้งแต่ต้นอย่างต่อเนื่องอยู่ในทีม พล.ต.อ.อัศวิน ถือว่าได้เปรียบกว่า ส.ก.กลุ่มอื่นในเรื่องของฐานคะแนนเสียง

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้จะมองว่าใครมีคะแนนจัดตั้งมากกว่า และผู้ที่ทำงานทางการเมืองไม่เป็นดาบสองคมจนเกินไปจะได้เปรียบ เพราะคน กทม.สามารถเปลี่ยนคะแนนความนิยมภายใน 2-3 วัน หากมีการสร้างภาพลักษณ์ทางการเมือง หรือเงื่อนไขทางการเมืองอาจจะยกบางวลี หรือถ้อยคำขึ้นมา อาจจะส่งผลให้คะแนนเสียงของผู้ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ตกต่ำไปได้ภายในเวลาอันสั้น

ผศ.อดิศร เนาวนนท์
นักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ และ ส.ก. 50 เขต ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 การลงสมัครในนามพรรค หรือในนามอิสระ จะมีข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบกันอยู่ ตรงที่การลงสมัครในนามพรรคจะมีพรรคหนุนหลังทำให้ได้เปรียบเรื่องระบบการจัดตั้ง ส.ก. หรือ ส.ส.ในพื้นที่เดิม แต่ต้องเป็นพรรคที่มีบทบาท มี ส.ส.สังกัดพรรคนั้น หรือมีการส่ง ส.ก.ที่เป็นเครือข่ายและเป็นคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ กทม.ด้วยจึงจะได้เปรียบ แต่ถ้าเป็นพรรคแบบโนเนม ไม่เคยมี ส.ส.ในพื้นที่ กทม.เลย แม้จะสังกัดพรรคก็เป็นไปได้ยาก ดังนั้น การสังกัดพรรคถ้าจะให้ได้เปรียบจะต้องดูว่าพรรคนั้นมี ส.ส., ส.ก.หรือเคยมีบทบาท มีผลงานในพื้นที่ กทม.หรือไม่ จะถือว่าได้เปรียบ มีโอกาสได้รับเลือก

ในขณะที่การลงสมัครในนามอิสระไม่สังกัดพรรคจะต้องดูว่าเป็นการไม่สังกัดพรรคจริงๆ หรือเป็นแบบไม่กล้าเอาตัวเองไปสังกัดพรรค เพราะมีความเสี่ยงว่าพรรคนั้นจะเคยมี ส.ส.หรือ ส.ก.จำนวนมากใน กทม. จึงแยกออกเป็น 2 ประเภทคือ 1.ผู้สมัครอิสระ ประเภทลักปิดลักเปิด ไม่กล้าแสดงตัวตนอย่างแท้จริง ทั้งๆ ที่มีพรรคให้การสนับสนุนอยู่ เพราะกลัวจะถูกโจมตีในประเด็นทางการเมืองบางประการ แต่จะมีแฟนคลับ หรือกลุ่มก้อนการเมืองหนุนอยู่เบื้องหลัง ประเภทนี้จะมีข้อได้เปรียบเรื่องของฐานเสียง และผลงานที่ผ่านมา 2.ผู้สมัครอิสระตัวจริง กรณีนี้ถ้าไม่มีชื่อเสียง ไม่มีบทบาท หรือไม่มีผลงานที่โดดเด่นเตะตาคน กทม.จริงๆ ก็จะได้รับเลือกค่อนข้างยาก จะเสียเปรียบแทบจะ 100% แต่ทั้งนี้ ต้องขึ้นกับสถานการณ์ด้วยว่า บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้สมัครอิสระตัวจริงนี้ได้มากน้อยเพียงใด

เพราะอารมณ์ของคน กทม.เวลานี้ผมมองว่าจะใช้ความรู้สึกและการรับรู้จากผลงานที่ปรากฏเป็นตัวชี้วัดในการตัดสินใจมากกว่าใช้เหตุและผล

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image