‘สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์’ กางแผนสกัดวิกฤตซ้อนวิกฤต

‘สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์’ กางแผนสกัดวิกฤตซ้อนวิกฤต หมายเหตุ - นายสุพัฒนพงษ์

หมายเหตุนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงสถานการณ์พลังงานและเศรษฐกิจไทย ภายใต้วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน และทั่วโลกเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19

วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน
สันนิษฐานว่าคงยืดเยื้อ ไม่ว่าสงครามจะจบแบบไหนความตึงเครียด การแซงก์ชั่นเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ 3 หน่วยงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ติดตามสถานการณ์ ร่วมกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ดูเรื่องความมั่นคง ทำงานร่วมกันตลอดเวลา และรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อติดตามอย่างใกล้ชิด สิ่งที่เรากลัวคือวิกฤตซ้อนวิกฤต แม้วันนี้ยังสรุปไม่ได้ว่าจะเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ยังเป็นวิกฤตเดิมบวกกับความยืดเยื้อของการค้าขายที่ยากลำบากขึ้น แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิด และยังไม่รู้ระดับความรุนแรงจะมากน้อยแค่ไหน ต้องรอประเมินช่วง 3 เดือนเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระบบเศรษฐกิจ

จึงเป็นเหตุผลออกมาตรการชั่วคราว 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน) ช่วยเหลือ ลดภาระประชาชน เป็นการเตรียมตัวและให้ประชาชนค่อยๆ ปรับตัวรับค่าต่างๆ ที่สูงขึ้น จะปรับรวดเร็วเหมือนประเทศยุโรปขึ้นค่าไฟเท่าตัวคงไม่ได้ เพราะวิถีแตกต่างกัน วิถีไทยจะเหมือนอาเซียน ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ที่ค่อยๆ ปรับขึ้นราคาพลังงาน ราคาปุ๋ย หรือราคาต่างๆ ยังเป็นทิศทางต้องจับตาและน่าเป็นห่วง ซึ่งเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ประเทศไทยเคยเจอวิกฤตคล้ายรัสเซีย-ยูเครนมาแล้ว ครั้งนั้นรุนแรง โลกเห็นต่างกัน โอเปคขึ้นราคาน้ำมัน ไทยก็ได้รับผลกระทบ แต่วันนี้ไม่น่ารุนแรง และทุกคนมีบทเรียนมาแล้ว ตอนนี้ดูจากสถานการณ์ความตึงเครียดสู้รบกัน 30 วัน มีแบ่งพรรคแบ่งพวก ทุกคนบาดเจ็บ ได้รับผลกระทบกันหมด รวมถึงประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องแบบเรา ก็ได้รับความเดือดร้อนด้วย

ภาวนาจะไม่เกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต จากวิกฤตโอมิครอนที่ยังระบาด แม้มีความรุนแรงไม่มาก ล่าสุดจีนล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านไทยกำลังสาละวนแก้ปัญหาโควิด ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชน ยังมีวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนซ้ำเติมอีก ทั้งสองประเทศมีการค้าเสรี เชื่อมโยงทั่วโลก เป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ในกลุ่มโอเปคพลัส เมื่อมีการแซงก์ชั่น ทำให้ท่อตัน เกิดความไม่สมดุล เรื่องของปุ๋ย ธัญพืช เกิดการแย่งกันไปหา กลัวการขาดแคลน นำไปสู่การเพิ่มราคา ถ้าเหตุการณ์จบลงเรียบร้อยดี จะกระทบระดับราคาไม่มาก ถ้าตึงเครียดมากๆ ต้องมีการปรับตัว เพราะโลกอาจจะไม่เป็นโลกเสรี มีการกีดกันทางการค้าเกิดขึ้น ลดการพึ่งพานำเข้าพลังงาน สินค้าที่แพง พึ่งพาตัวเอง ใช้สินค้าและใช้การผลิตในประเทศมากขึ้น

Advertisement

เรื่องน้ำมันต้องลดก๊าซเรือนกระจก นำพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน พลังงานสะอาดมาเสริม จะสอดรับแผนระยะยาวของกระทรวงพลังงานและนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ประกาศทำความเป็นกลางด้านคาร์บอน ขณะเดียวกันต้องลดการพึ่งพาผู้อื่น ถ้าเราสามารถผลิตได้ หรือใช้จากเพื่อนบ้าน ล่าสุดลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) จองกำลังการผลิตไฟฟ้าจากประเทศลาวมากขึ้น ยังเดินหน้าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ต่อไปจะส่งเสริมแบตเตอรี่ มี 2 ค่ายรถยนต์รายใหญ่สนใจ และมีอีกหลายค่ายตามมา ยิ่งในเวลานี้ราคาพลังงานสูง ทุกคนสนใจเทคโนโลยีใหม่ ยิ่งต้องเร่ง ต้องดำเนินการทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เมื่อสำเร็จจะเกิดอุตสาหกรรมใหม่ตามมาอีกเป็นทอดๆ

ผลสำเร็จมาตรการ 3 เดือน
รัฐบาลวางไว้มาตรการชั่วคราว เป็นการประคับประคองไม่ให้ปัจจัยการผลิตใดที่มีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อโตเร็วเกินไป ระหว่างนี้ทุกคนไม่ว่ารัฐบาล เอกชน ต้องประหยัดพลังงาน หาสินค้าอื่นทดแทนปุ๋ย ธัญพืชที่ราคาแพง เพื่อลดค่าใช้จ่าย ต้นทุนการผลิต นอกเหนือจากที่รัฐช่วยอยู่แล้ว 3 เดือน กว่า 8 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างสภาพคล่องของผู้ประกอบการและประชาชน ทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้ละมือ หากลดได้ 10% ของพลังงาน ประหยัดไฟฟ้า 1-1.5 แสนล้านบาทต่อปี น้ำมันอีก1 แสนล้านบาทต่อปี ไม่ต้องรองบประมาณ เมื่อทำสองอย่างคู่กันจะเป็นเกราะป้องกันให้รอดพ้นวิกฤต

Advertisement

วิกฤตแรกเป็นการแพร่ระบาดของโรคที่ไม่เคยเจอ ประชาชนอยู่ในที่ตั้ง เป็นหน้าที่รัฐหาวัคซีนและยา ตอนนี้วิกฤตที่ 2 บทบาทแตกต่าง รัฐมีหน้าที่ประคับประคอง ให้เวลาประชาชนปรับตัว ลดภาระในระดับหนึ่ง ส่วนที่เหลือจะเป็นผลสำเร็จและผลประโยชน์ที่จะได้ ทุกคนต้องช่วยกันจริงๆ เราพยายามหามาตรการ มี 10 วิธีง่ายๆทำให้ลดได้ 10% ทั้งไฟฟ้า น้ำมัน ขณะเดียวกันเพิ่มเป้าหมายจากเดิมเป็น 20% โดย 10 วิธีประหยัดไฟเช่น ล้างเครื่องปรับอากาศ 2 ครั้ง/ปี ประหยัดได้ 290 บาท หรือคิดเป็น 6% หรือ 10 วิธีประหยัดน้ำมัน เช่น ไม่ติดเครื่องจอดรอนาน เพียงวันละ 5 นาทีประหยัดได้ 3 ลิตร/เดือน คิดเป็น 113 บาท/เดือนประหยัด 2.4% ผมเชื่อมั่นว่า ถ้าให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ ให้ข้อมูลผู้ประกอบการ เอกชน ประชาชน เมื่อนำไปปฏิบัติย่อมได้ผล

โดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้าไม่อยากให้ตระหนก เมื่อเทียบ50 ปีที่แล้ว เราไม่มีพลังงานในประเทศ จึงเกิด ปตท.ขึ้น วันนี้เรามีพลังงานในประเทศในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 70% นำเข้า 20% ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายของการผลิตไฟฟ้า เป็นต้นทุนที่แพงแสนแพง ส่งผลต่อค่าเอฟทีแพงพอเกิดความตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครนแพงขึ้น 3-4 เท่าตัวทำให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าเป็น 7-8 บาท/หน่วย ถ้าประหยัดได้10-15% เรื่องไฟฟ้าจะลดการพึ่งพาได้ระดับหนึ่งและไม่ต้องขึ้นค่าเอฟที อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าเสถียรภาพในการดำรงชีวิต มีต้นทุนแพง เวลาพูดถึงสินค้าแพง ค่าไฟแพง จะได้เข้าใจในสถานการณ์ปัจจุบัน

ในระหว่าง 3 เดือนนี้ ต้องประเมินผลกระทบตลอดเวลา หากสถานการณ์จบแบบเรียบร้อย ผ่อนคลายมีแซงก์ชั่นระดับเบาบาง ขอให้ซอฟต์แลนด์ดิ้งมีที่ลงได้ทุกคน วันนี้เนื่องจากการไม่สะดวกของการได้มา จากปัจจัยไม่สมดุล และมีเรื่องความกลัว ความกังวลจะขาดแคลน ซึ่งประเทศไทยก็มี เราก็กลัวแทน ตอนนี้ ปตท.รับอาสาไปซื้อน้ำมันดิบเพิ่มให้ 10 ล้านบาร์เรล ตอนนี้สต๊อกได้แล้ว 4 ล้านบาร์เรล แม้มีความเสี่ยงจากราคาผันผวนที่ต้องระวัง แต่ ปตท.มองว่า ถ้าขาดแคลนเรื่องใหญ่กว่ามาก จึงตัดสินใจช่วย

ตอนนี้เราสต๊อกน้ำมันอยู่ที่ 60 วัน จะเพิ่มเป็น 70 วันถ้าประหยัดได้จะเป็น 80 วัน ถ้าได้ 90 วันจะเป็นเรื่องที่ดีแต่ต้องใช้หลายๆ มาตรการ และได้ขอความร่วมมือทุกฝ่าย อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเลื่อนคิดค่าใช้จ่ายต้นทุนผลิตไฟฟ้า 15% ทำให้ค่าเอฟทีปรับขึ้นไม่มาก นี่คือบทบาทหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจ ที่คนบอกกำไรเยอะ กำไรก็จริง แต่เงินสดส่วนใหญ่นำมาใช้ในการประคับประคอง หรือสร้างเสถียรภาพให้กับประเทศ ให้เกิดความมั่นคง ในยามที่ยังไม่มีความแน่ชัด ไม่มีความแน่นอน จะไปหาเอกชน หรือบริษัทใดรับความเสี่ยงหรือให้ความสำคัญในเรื่องนี้ของประเทศค่อนข้างยาก หลังจากนั้นอีก 3 เดือนมาประเมินผล ถ้าโจทย์ยากขึ้นจะส่งสัญญาณให้ประชาชนและผู้ประกอบการทันที เพราะสถานการณ์เปลี่ยนทุกวัน ล่าสุดให้ ปตท.ศึกษาการซื้อน้ำมันจากรัสเซียและอิหร่านเพิ่ม แต่ต้องไม่ขัดกับกฎกติกาการแซงก์ชั่น

ขยายกลุ่ม 10 มาตรการเพิ่ม
มาตรการที่ออกมาบรรเทาความเดือดร้อนครอบคลุม 80-90% ของทั้งประเทศแล้ว ทั้งกลุ่มแท็กซี่มีโครงการลมหายใจเดียวกัน แม่ค้าหาบเร่แผงลอย คนใช้ไฟเกิน300 หน่วย กลุ่มผู้ใช้แรงงานและประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40 ซึ่งกระทรวงแรงงานจะพิจารณาค่าแรงคาดว่าจะมีผลไตรมาส 4 หรือสิ้นปีนี้แน่นอนว่าเมื่อเกิดวิกฤต ยิ่งมีวิกฤตอาจจะซ้อนวิกฤต ต้องได้รับผลกระทบ ถ้าเหตุการณ์รุนแรง จะต้องปรับมาตรการ ท่านนายกรัฐมนตรีให้ติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งแบงก์ชาติ สภาพัฒน์ และกระทรวงการคลัง ยังเชื่อว่า ถ้าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับไม่สูงมาก เช่น 5% เศรษฐกิจไทยยังโตต่อ เพราะเศรษฐกิจโลกยังโต

แต่ถ้าเกิด Stagflation ขึ้นมา (เศรษฐกิจถดถอย+เงินเฟ้อสูง) ต้องกลับมานั่งทบทวน ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ แต่วันนี้ยังเชื่อว่าเติบโต สินค้าราคาแพงการเติบโตยังมี และทุกสำนักยังบอกแบบนั้น พยายามหาทางบรรเทาทุกเรื่อง ที่ทำมาตลอดคือบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือน สิ่งแรกที่ทำคือให้ความเป็นธรรม สมมุติมีหนี้ 80% ของจีดีพี หรือประมาณ 10 ล้านล้าน ลดดอกเบี้ย 1-2% ก็บรรเทาได้ 1-2 แสนล้าน หรือสินเชื่อเช่าซื้อจะแก้พระราชบัญญัติ ขณะที่ธนาคารออมสินยังมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับบัตรเครดิต หรือปรับโครงสร้างหนี้

เศรษฐกิจช่วงสงกรานต์-เปิดประเทศ
เทศกาลสงกรานต์ทุกปีรัฐสนับสนุนให้มีวันหยุดยาว เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ตอนนี้มีโครงการเราเที่ยวด้วยกัน การท่องเที่ยวก็คึกคักอยู่แล้วมีนักท่องเที่ยวทยอยเข้ามา ขณะนี้หลายเรื่องมีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งภาคการผลิต โรงงาน เพราะสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของโลกดีขึ้น แม้จะมีเหตุการณ์ต้นทุนอาหารแพง ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น แต่การเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังดี คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโต 3% จากเดิมคาดว่าอยู่ที่ 5% เมื่อมีวิกฤตกึ่งซ้อนวิกฤต ทำให้นักท่องเที่ยวลังเล ปริมาณนักท่องเที่ยวที่จะไหลมา ในช่วงแรกจะลงไปเล็กน้อย แต่ตอนนี้เริ่มกลับมาแล้ว 4 แสนคน ในจำนวนเท่านี้อาจจะพลาดเป้า 6-7 ล้านคน/ปีเล็กน้อย ต้องรอประเมินปลายปีนี้อีกครั้ง

สำหรับการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ผมอยากให้เปิดเร็วที่สุด เดือนพฤษภาคมน่าจะเป็นไปได้ เพราะดูแล้วความรุนแรงของโอมิครอนค่อนข้างชัดเจนว่าไม่รุนแรง และการเตรียมความพร้อมในวิกฤตแรก มีทั้งวัคซีนและยารักษาแล้ว ถือว่าเราเตรียมการไว้ดีพอสมควรและระบบค่อนข้างจะดีต่อการดูแลนักท่องเที่ยวต่างๆ คิดว่าการเปิดที่สมบูรณ์แบบ คือ เปิดให้เข้ามาแบบมีความสะดวก ไม่ก่อภาระให้นักท่องเที่ยว ก่อความกังวลให้กับประชาชน และเจ้าของประเทศ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด จากนั้นจะไม่ให้เป็นภาคบังคับแล้ว ปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่เข้ามามีหลากหลายประเทศ ทั้งตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น แต่ที่เราคาดหวังนักท่องเที่ยวจีนคงต้องใช้เวลา เพราะจีนยังปิดประเทศ ถ้าเขาเปิดได้จะทำให้ท่องเที่ยวเติบโตได้เร็วมาก ทั้งนี้ จากตัวเลขที่นักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ยังหวังว่าธุรกิจท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ นอกจากการส่งออกและการลงทุนภาครัฐแล้ว

เดินหน้ากระตุ้นดึงลงทุนนอก
ก่อนเกิดเหตุตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครน ทางเจโทร (องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น) ระบุเรื่องพลังงานแพงอยู่ในลิสต์ที่คนต้องเผชิญทั้งโลก แต่เรื่องอื่นๆ เจโทรมองว่าดีขึ้น และคิดว่าใน 6 เดือนเขาจะลงทุนมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังเป็นเป้าหมายของนักลงทุน ขณะนี้ทีมปฏิบัติการเชิงรุกจะเดินสายโรดโชว์ต่างประเทศ เริ่มประเทศญี่ปุ่นก่อนเดือนเมษายนนี้ เป็นการตอกย้ำความร่วมมือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น(เมติ) ที่มาคารวะนายกรัฐมนตรี และยืนยันพร้อมสนับสนุนไทยในเรื่อง COP26 มีเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี)สมาร์ทกริด โครงการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนด้วยเงินทุนหมุนเวียน (เอสโค) ล่าสุดส่งทีมมาทำงานกับกระทรวงพลังงานแล้ว

ยังมีมาตรการอีวีที่เชื่อว่ามีนักลงทุนผู้ประกอบการรถยนต์ญี่ปุ่นสนใจจะเข้าร่วม แต่ว่ายังมีขั้นตอนการตัดสินใจ เราจะไปสร้างความมั่นใจและดูเรื่องอุตสาหกรรมสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเกิดขึ้นหลังมีอีวี ทั้งแบตเตอรี่ ดิจิทัลเทคโนโลยี ที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมไทย ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ยังเดินหน้าได้ตามแผน ต่อไปผู้ที่มีความเก่งมีความสามารถก็สามารถเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ได้วีซ่า 10 ปี ไม่ต้องกังวลเรื่องการต่ออายุ และได้อัตราภาษีคล้ายอีอีซี ยังช่วยแก้ปัญหาขาดแรงงาน คนมีศักยภาพและสังคมผู้สูงอายุ เมื่อมาอยู่ประเทศไทยสามารถซื้อคอนโดมิเนียมได้ 49% ที่ดิน 1 ไร่ ซื้อได้ภายใต้ พ.ร.บ.ปัจจุบัน หากลงทุนจำนวนหนึ่ง ภายใต้กฎเกณฑ์กติกา ถ้าครบสามารถขอจากกระทรวงมหาดไทยได้

เสถียรภาพการเงินการคลัง
ยังดีอยู่ เพราะวิธีการที่ประคับประคองมาจนถึงทุกวันนี้ ตั้งแต่วิกฤตครั้งแรก ต้องใช้ความพอดี ทำให้ยังรักษาความเข้มแข็งของเสถียรภาพการเงินการคลังไว้ได้ ไม่จำเป็นต้องกู้ ถ้าจะกู้ก็กู้ได้ แต่ถ้าจะกู้ต้องทำเรื่องใหม่ๆ ดึงดูดให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ไม่ว่ารถอีวี แบตเตอรี่ การสร้างโครงการที่อยู่อาศัยให้คนรุ่นใหม่ได้มีที่อยู่อาศัย 1 ล้านยูนิตให้เร็วขึ้น ในบริเวณไม่ไกลจากกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เกิดเมืองใหม่ ความเจริญ ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า เป็นการสร้างดีมานด์ให้กับระบบขนส่งมวลชนไปด้วย แบบนี้น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องที่เราลงแรงไป ทั้งการลงทุน หรือมาตรการต่างๆ จะทยอยเห็นผลในปีนี้ ถ้าไม่มีวิกฤตซ้อนวิกฤต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image