2อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ มองอดีตสู่อนาคตขับเคลื่อน ศก.

หมายเหตุธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดเสวนาในโอกาสครบรอบ 80 ปี หัวข้อ “เหลียวหลังแลหน้ากับผู้ว่าการ ธปท.” โดย 6 อดีตผู้ว่าการ ธปท.ร่วมบรรยายถึงหน้าที่ของธนาคารกลางจากอดีตส่งต่อสู่อนาคต ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เมื่อวันที่ 4 เมษายน

ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์
อดีตผู้ว่าการ ธปท.

ปัญหาการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการอ่อนแอของสถาบันการเงิน ปัจจุบันแนวทางดำเนินนโยบาย สภาพแวดล้อมแตกต่างออกไปมาก แต่จากประสบการณ์การทำงานคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ได้ ขอเล่าย้อนไปถึง 15 ปี ช่วง 2522-2533 เป็นยุคของนายนุกูล ประจวบเหมาะ และนายกำจร สถิรกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท. เป็นช่วงที่ต้องมีการแก้ไขปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ จะคล้ายคลึงกับปัจจุบันในบางเรื่อง แนวทางการแก้ไขในช่วงเวลานั้นจึงเป็นต้นแบบของการทำนโยบายที่เกี่ยวข้องในปี 2540-2541 เพียงแต่เป็นเรื่องที่มีความรุนแรงมากกว่า

Advertisement

ถ้ามองกรอบวิเคราะห์จากเรื่องที่เกิดขึ้น ปัญหาการขาดเสถียรภาพมักจะเกิดจากการใช้จ่ายเกินตัว จะเรียกว่าAsset Demand แต่การใช้จ่ายเกินตัวไม่ได้กระทบเสถียรภาพในเรื่องการทำให้เกิดเงินเฟ้ออย่างเดียว แต่เป็นการทำให้เกิดการขาดเสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศด้วย นั่นคือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมากมาย เงินสำรองจะมีไม่พอเพียง และความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อเศรษฐกิจบ้านเราจะไม่ดี

ปัญหาเงินเฟ้อไปผสมผสานกับด้านดีมานด์ ด้านต้นทุน และด้านซัพพลาย โดยเฉพาะด้านน้ำมันและด้านราคาพืชผล คือกรอบที่ทำไมตอนนั้นการแก้ไขปัญหาเสถียรภาพระหว่างประเทศจะเป็นงานหลักของแบงก์ชาติ ทั้งยุคของนายกำจรและนายนุกูล ในช่วงนั้นตั้งข้อสังเกตว่ามีปัญหาการขาดดุลการคลังค่อนข้างมาก ในแง่ของผู้วิเคราะห์ทั้งหลายบอกว่านี่คือ Twin Double Set คือขาดดุลทั้งการคลังและขาดดุลทั้งเสถียรภาพ แสดงว่ามีการใช้จ่ายมากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

เครื่องมือที่ใช้ดำเนินนโยบายจะมีความหลากหลายกว่าปัจจุบันผสมผสานกัน แนวนโยบายชัดเจน ต้องการนโยบายที่เข้มงวดเพื่อลดการใช้จ่ายที่เกินตัว เครื่องมือแรก ควบคุมปริมาณเงิน การควบคุมที่ได้ผลจะใช้เครื่องมือมาตรการที่ใกล้ตัวมากที่สุดคือฐานเงิน การปล่อยเงิน หรือดูดเงินจากระบบ เครื่องมือของรัฐ คือธนบัตรระยะยาว ตั๋วเงินคลังระยะสั้น ของเอกชนคือผ่านแบงก์พาณิชย์ เช่น การปล่อยเงินดอกเบี้ยถูกให้เอกชน แต่มาตรการนี้เลิกใช้เพื่อป้องกันปัญหาการเมืองเข้ามาแทรกแซง แต่มีการกลับมาใช้ใหม่เพราะเมื่อเศรษฐกิจทรุดก็มีความจำเป็นที่แบงก์ชาติต้องเข้าไปช่วย มีการแก้ไขกฎหมายให้กลับมาใช้ได้ และยังมีเครื่องมือที่ 2คือดอกเบี้ย ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยให้สูง เครื่องมือที่ 3 ซึ่งใช้เป็นครั้งคราว คือการจำกัดเชิงปริมาณ เครื่องมือที่ 4 คือการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย สำคัญมาก เงินทุนระยะสั้นจะก่อให้เกิดความผันผวนค่าเงินบาท แต่เครื่องมือที่สำคัญที่สุดคือ เครื่องมือเกี่ยวกับค่าเงินบาท อัตราแลกเปลี่ยน เชื่อมโยงกับดอลลาร์สหรัฐ เพราะฉะนั้นมาตรการที่รุนแรงที่สุดที่จะใช้คือการลดค่าเงินบาท เป็นการทำให้ระบบเข้าที่

ตลอดช่วงที่มีปัญหาที่ต้องเข้าไปมีโปรแกรมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพราะเข้าไปกู้ยืมเงินเพื่อเอาเงินมาช่วยเสริมเงินสำรอง ไอเอ็มเอฟก็ใช้สูตรเข้มงวด สูตรเดียวกับที่เราทำ คือการเข้มงวดการเงิน เข้มงวดการคลัง และถ้าจำเป็นก็ลดค่าเงินบาท

ที่มาจากเรื่องทั้งหมดจะเห็นว่าความยากลำบากในการทำนโยบายที่มองเห็นมี 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่องที่1.นโยบายทางการเงินของแบงก์ชาติเป็นนโยบายระดับแม็คโคร ผลกระทบกว้าง เมื่อกระทบทุกฝ่าย เราต้องทำ ระหว่างเสถียรภาพกับการขยายตัว การใช้เครื่องมือ คือ ดอกเบี้ยจะสูงหรือต่ำเพราะผู้ฝากเงินและผู้กู้เงินได้รับผลกระทบไม่เหมือนกัน ค่าเงินอ่อนหรือแข็ง คนที่ได้เงินมาคือผู้ส่งออกกับผู้ที่ต้องใช้เงินคือผู้นำเข้า และผู้กู้เงิน ก็ได้รับผลกระทบตรงกันข้าม ซึ่งนโยบายที่ต้องใช้ตอนนั้นเป็นหลักสำคัญคือหลักความพอดีหรือหลักความสมดุลเป็นหลักที่ 2 ความยากที่ 2 คือนโยบายเข้มงวดไม่ใช่นโยบายที่ป๊อปปูลาร์ หรือเป็นสิ่งที่ประชาชนชอบ เพราะรัฐบาลประชาชนชอบนโยบายผ่อนคลาย ทุกอย่างสบายหมด ข้อที่ 3 ต้องประสานนโยบายการเงินและการคลังให้ดี เพราะว่าการคลังเป็นส่วนที่ทำให้เกิดแรงกดดันด้านดีมานด์ได้ เพราะฉะนั้น ธปท.ต้องมีหน้าที่คอยกระตุ้นและเรียกร้องให้กระทรวงการคลังพยายามลดการขาดดุล ซึ่งหมายความว่าผู้ว่าการ ธปท.กับรัฐมนตรีการคลังจะต้องสื่อสารกันได้

เรื่องที่ 2 เรื่องค่าเงิน ยังเป็นประเด็นสำหรับเราเสมอ เพราะว่าคนที่ไม่ชอบค่าเงินที่เสียประโยชน์ก็จะเรียกร้องอยู่เสมอ ผู้ว่าการ ธปท.แทบทุกคนเมื่อค่าเงินบาทแข็งมักจะถูกถามว่าทำไมไม่เข้าไปแทรกแซงแล้วทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง เรื่องค่าเงิน เรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายจะอยู่กับเราไปเรื่อยๆ

เรื่องที่ 3 ตั้งข้อสังเกตเรื่องกฎหมายแบงก์ชาติในปัจจุบัน แก้ไขสมัย นางธาริษา วัฒนเกส เป็นผู้ว่าการ ธปท. ได้เปิดโอกาสให้ผู้ว่าการ ธปท.ได้ทำงานอิสระเต็มที่มากขึ้น โดยการกำหนดความสัมพันธ์รัฐบาลกับแบงก์ชาติไว้ว่า รัฐมนตรีคลัง หรือ ครม.จะปลดผู้ว่าไม่ได้ง่ายเหมือนเดิม ในสมัยก่อนรัฐมนตรีคลังเอาเรื่องเข้า ครม.เพื่อความเหมาะสมขอปลดผู้ว่าแบงก์ชาติก็จบ เดี๋ยวนี้จะต้องอธิบายต่อสาธารณชนว่าทำไมถึงมีการปลด ก็เป็นเกราะที่ดีสำหรับผู้ว่าการมากขึ้น

สำหรับความมั่นคงกับรัฐบาลการเงิน ผมเคยย้ายจากผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกำกับ ตอนนั้นงานกำกับและตรวจสอบจะเน้นการตรวจสอบความมั่นคงของธนาคาร เครื่องมือมาตรฐานดูแลความมั่นคงที่ทราบกันมี 3 ข้อ 1.ดูคุณภาพหนี้สถาบันการเงินให้เอ็นพีแอลต่ำ มีการดูแล การกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญอย่างพอเพียง และ 3.มีเงินทุนพอเพียง การเปิดสาขาเป็นเรื่องสำคัญ ต้องการเห็นแบงก์พาณิชย์ไปสู่ประชาชนให้มากที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่สาขาห่างไกล แต่ปัจจุบันเหตุการณ์ตรงกันข้าม แบงก์พาณิชย์แข่งกันปิดสาขา เพราะมีการเกิดโมบายแบงกิ้งเข้าถึงประชาชน หรือเป็นเครื่องมือกระจายความเจริญไปสู่ประชาชนเป็นอย่างดี

ในช่วงปัญหาวิกฤตปี พ.ศ.2540-41 หลักจากปี พ.ศ.2534 เศรษฐกิจขยายตัวดีต่อเนื่อง กลายเป็นแรงกดดันต่อการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด รัฐบาลเกิดการใช้จ่ายเยอะมีการขาดดุลการคลัง ขณะนั้นเมื่อฟองสบู่แตกราคาที่ดินสูงมากกระทบหลักการเงิน ทำให้บริษัทมีปัญหาหลายแห่ง ความเชื่อมั่นนักลงทุนตกต่ำ เงินทุนไหลออกรวดเร็ว จุดเริ่มต้นปัญหาขาดเสถียรภาพรอบใหม่ปี พ.ศ.2539-40 เป็นความร้ายแรงขั้นวิกฤต เกิดวงจรอุบาทว์ เมื่อเศรษฐกิจอ่อนแอทำให้แบงก์พาณิชย์อ่อนแอไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าหลักการดำเนินนโยบายที่ดีมี 3 ข้อ ความพอดี การคล่องตัว และความระมัดระวัง

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
อดีตผู้ว่าการ ธปท.

ในปี 2540 หรือปีที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ความเชื่อมั่นและศรัทธาของธนาคารแห่งประเทศไทยตกต่ำลงมาก จากที่เคยมองว่าเป็นองค์กรที่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจจริง เมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจแล้วจะสามารถแก้ไขได้ แต่เหตุการณ์ต้มยำกุ้งทำให้ความเชื่อมั่นสลายไป ในช่วงปลายปี 2544 ได้ทำการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนต่อแบงก์ชาติ ผลปรากฏว่าความเชื่อมั่นศรัทธานั้นเหลือเพียง 10% เท่านั้น

หลังเข้ารับตำแหน่งในปี 2544 การพบพนักงานครั้งแรก มีพนักงานเล่าให้ฟังว่า เรียกแท็กซี่ให้มาส่งที่แบงก์ชาติ เมื่อแท็กซี่รู้ว่าปลายทางคือแบงก์ชาติก็เชิญให้ลงจากรถทันที เป็นตัวอย่างของความเชื่อมั่นที่มีต่อแบงก์ชาติในขณะนั้น ทำให้เป้าหมาย หรือโจทย์สำคัญในการทำงาน คือการเรียกความเชื่อมั่นและศรัทธาของแบงก์ชาติกลับมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

ต้นปี 2545 มีรายงานจากสายตรวจสอบสถาบันการเงินว่าธนาคารศรีนคร มีฐานะทางการเงินแย่มาก มีหนี้ไม่ก่อรายได้ หรือหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ถึง 80% และมีรายได้ของดอกเบี้ยดอกรับต่ำกว่าดอกเบี้ยจ่ายมาก จึงขาดทุนอย่างมหาศาลทุกเดือน หากปล่อยไว้ไม่กี่เดือนธนาคารจะล้ม ซึ่งหากธนาคารล้มจะเกิดอาการการแห่ถอนเงินฝาก อาจลามไปถึงธนาคารอื่นได้ เมื่อได้รับรายงานแล้วนึกเพียงอย่างเดียวว่ากรณีนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เสร็จให้ได้และต้องทำให้เร็ว จึงดำเนินการรวมธนาคารดังกล่าวเข้ากับธนาคารอีกแห่ง คือธนาคารนครหลวงไทย (ขณะนั้น) เพราะเป็นธนาคารที่รัฐบาลถือหุ้น 100% เหมือนกับธนาคารศรีนคร แต่กระบวนการดำเนินงานหากปล่อยให้ทั้งสองธนาคารคุยกันเพียงแค่หนึ่งสัปดาห์เท่านั้นคนจะแห่ถอนเงินฝากออกจนหมด จึงไม่สามารถทำได้ ต้องทำให้เสร็จเร็ว ให้คนไม่รู้ตัว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการถอนเงินจากธนาคารออกไปซึ่งอาจลามไปถึงธนาคารอื่นได้ ซึ่งการที่ทั้งสองธนาคารเป็นธนาคารของรัฐที่มีผู้ถือหุ้น 100% เป็นรัฐบาลทำให้คำสั่งอนุมัติของรัฐมนตรีกระทรวงการคลังถือเป็นเสมือนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น จึงดำเนินการรวมธนาคารนี้ให้เสร็จภายในหนึ่งวัน เมื่อทำสิ่งที่ยากให้เสร็จภายในเวลาอันสั้นและเสร็จแบบสมบูรณ์ ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของแบงก์ชาติเปลี่ยนไป สามารถเรียกความเชื่อมั่นศรัทธากลับมาได้ส่วนหนึ่ง

ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2545 กองทุนฟื้นฟูได้สรุปยอดทางการเงินที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินที่ล้มลง โดยใช้ไปกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้วส่วนหนึ่ง เนื่องจากได้มีการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อล้างหนี้แล้วประมาณ 5 แสนล้านบาท และทยอยออกมาเพิ่มเติม ทำให้เหลือหนี้อีกประมาณ 7.8 แสนล้านบาท ที่ยังหมกอยู่ การแก้ไขในตอนนั้นคือการหมุนเงินไปเรื่อยๆ ซึ่งประเมินว่าการทำแบบนี้เข้าข่ายการหมกหนี้ โดยในจำนวนนี้มีโอกาสที่จะเสียเงินแน่นอนแล้วประมาณ 3 แสนล้านบาท ที่หากข่าวออกไปถึงหูต่างชาติ เครดิตประเทศไทยเสียหายมากมายแน่นอน ทำให้จำเป็นที่ไทยต้องออกพันธบัตรอีก 3 แสนบาท เพื่อล้างหนี้ที่คำนวณว่าเสียหายแน่นอนแล้ว 3 แสนล้านบาท ซึ่งในเวลานั้นก็มีการค้านว่าไม่สามารถทำสำเร็จได้แน่ๆ แต่สุดท้ายก็ขายได้หมดภายใน 2 วันกว่าๆ จากเดิมที่คาดว่าจะขายได้หมดต้องใช้เวลา 3 เดือน ซึ่งถือว่าอยู่เหนือความคาดหวังมาก โดยได้ทำการสำรวจความเชื่อมั่นและศรัทธาอีกครั้ง จากที่เคยไม่เชื่อมั่น 90% ลดเหลือ 30% จากเชื่อมั่น 10%
เพิ่มขึ้นเป็น 70% ทันที

รวมถึงเกิดกรณีธนาคารกรุงไทย ที่ในตอนนั้นมีการปล่อยสินเชื่อแบบไม่ชอบมาพากล จึงตัดสินใจฟ้องร้องคณะกรรมการบริหารที่ประธานเป็นพี่ชายรัฐมนตรี และกรรมการผู้จัดการเป็นคนที่การเมืองสนับสนุนเต็มที่ จึงเกิดวิบากกรรมในการดำเนินการ และมีกระบวนการที่จะล้มผู้ว่าการแบงก์ชาติให้ได้ ผ่านการปล่อยข่าวในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าผู้ว่าการแบงก์ชาติสั่งให้กองทุนฟื้นฟูขายหุ้นธนาคารกรุงไทย ทำให้คนแห่ขายหุ้นจนหุ้นธนาคารกรุงไทยตกลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้รับมือผ่านการแถลงข่าวถึงการดำเนินการดังกล่าวว่าไม่เป็นความจริง และฐานะของธนาคารกรุงไทยก็มีความแข็งแรงมาก ทำให้ราคาหุ้นกลับขึ้นมาอยู่ที่เดิมภายในวันเดียวกัน เมื่อมีการทำสำรวจความเชื่อมั่นอีกครั้งพบว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อแบงก์ชาติเพิ่มขึ้นจาก 70% เป็น 90% ทันที และความไม่เชื่อมั่นลดลงจาก 30% เหลือ 10% เท่านั้น ทำให้โจทย์สำคัญที่ตั้งไว้ทำเสร็จเรียบร้อย

ภาวะในปัจจุบันนโยบายการคลังเหมือนไม่มีนโยบายคือ มีการใช้เงินไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดว่าจะขาดดุลมากน้อยเท่าใด ทำให้ประเทศชาติตอนนี้จะต้องเน้นการมีนโยบายทางการคลังที่จริงจัง ส่วนนโยบายการเงินเองก็ต้องเดินหน้าต่อไป มีการสนับสนุนการเติบโตมากพอสมควร เพราะหากไม่มีการเติบโตภาษีที่ควรจะเก็บได้ก็จะไม่มี โดยขณะนี้คนที่ควรดำเนินนโยบายการคลังไม่ได้ดำเนินในสิ่งที่ควรจะดำเนิน จึงอยู่ตรงที่ผู้นำรัฐบาลมากกว่า ว่าจะคิดเรื่องนี้หรือไม่คิด

รวมถึงอยากแนะนำให้แบงก์ชาติที่ทำอยู่แล้วต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาไม่ต้องคำนึงว่าจะไม่เป็นที่พอใจของผู้มีอำนาจหรือนักการเมือง แต่ไม่ได้หมายความว่า ควรทำตัวเป็นอิสระแบบไม่ฟังใคร โดยต้องฟังความเห็นจากผู้ที่ทำงานในการเสริมสร้างเศรษฐกิจในหน่วยงานต่างๆ ด้วย ผ่านการนำความคิดเห็นมาประกอบเป็นนโยบายของแบงก์ชาติ ซึ่งนโยบายการเงินจะต้องประสานกับนโยบายการคลัง เพื่อให้เกิดผลที่ดีที่สุดต่อเศรษฐกิจ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ จะต้องประสานงานกับรัฐมนตรีกระทรวงการคลังให้เข้าใจเป็นอย่างดี ไม่ควรทำตัวเหนือกระทรวงคลัง แต่ไม่ใช่ทำตามทั้งหมด โดยจะต้องฟังให้เข้าใจและหาทางที่ดีที่สุดให้แก่ประเทศชาติ รวมถึงต้องถือว่าธนาคารพาณิชย์เป็นเสมือนลูก ไม่ใช่ศัตรูหากผิดก็ต้องลงโทษเพื่อปรับปรุงให้ดี ไม่ใช่การลงโทษเพื่อทำลาย เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ถือเป็นกำลังสำคัญในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งแบงก์ชาติช่วยเศรษฐกิจไม่ได้หากไม่มีธนาคารพาณิชย์

ทีมงาน ธปท. ในปัจจุบันมีความรู้ที่ทันสมัย และดูแลเรื่องเทคโนโลยีได้ดี รู้สึกชอบทัศนคติของทีมงานธปท. ในเรื่องคริปโทเคอร์เรนซีเป็นอย่างยิ่ง ที่มีการห้ามไม่ให้ใช้ชำระสินค้าและบริการ รวมถึงอีกหลายๆ อย่าง และพยายามจะพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลขึ้นมา จึงรู้สึกสบายใจ อย่างไรก็ดี อยากฝากให้พัฒนาเรื่องสกุลเงินดิจิทัลนี้ให้เร็วกว่าแผนที่วางไว้ หากมีสกุลเงินดิจิทัลจะเป็นตัวป้องกันไม่ให้เกิดคริปโทเคอร์เรนซีขยายเข้าไปในวงการค้าได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image