‘เจนเอ็กซ์-เจนวาย’ เจนไหน? ตัดสินเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

เจนเอ็กซ์-เจนวาย เจนไหนตัดสินเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ชัยธวัช เสาวพนธ์

‘เจนเอ็กซ์-เจนวาย’ เจนไหน? ตัดสินเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ

นโยบายและการหาเสียงผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. เพื่อตอบโจทย์ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 4.3 ล้านคน ต้องแบ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็น 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มเจน X-Y หรือคนรุ่นใหม่ 2.กลุ่มชุมชน และ 3.กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 600,000 คน หรือร้อยละ 15ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ถือเป็นตัวแปรสำคัญ เนื่องจากมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง และมีโอกาสได้ไปใช้สิทธิลงคะแนนครั้งแรก ดังนั้น ผู้สมัครต้องมีนโยบายตรงกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ อาทิ สวนสาธารณะออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่ศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีลานกางเต็นท์หรือแคมปิ้ง ซึ่งเป็นกิจกรรมนอกบ้าน หรือเอาต์ดอร์ที่ไม่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัด

ส่วนกลุ่มชุมชน หรือประชาชนทั่วไป ต้องเป็นนโยบายเชิงคุณภาพชีวิต อาทิ โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐาน พัฒนาหรือยกระดับชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเป็นชุมชนปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมส่งเสริมอาชีพ เพื่อสร้างงานและรายได้แก่ชุมชน เนื่องจากประชาชนรากหญ้า

Advertisement

มีปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือเลี้ยงปากท้อง ซึ่งการส่งเสริมอาชีพต้องเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายครัวเรือนมากที่สุด รวมทั้งจัดหาสวัสดิการชุมชน อาทิ จัดตั้งกลุ่ม หรือสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในชุมชนเองไม่ต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบที่ดอกเบี้ยแพง จนไม่สามารถชำระหนี้ได้

สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้เกษียณ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 20% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ผู้สมัครต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากประเทศได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบแล้ว โดยเฉพาะสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้สูงอายุ อาทิ ระบบขนส่งมวลชน โรงพยาบาล หรือสถานดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร เนื่องจากมีผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสมากขึ้นตามสัดส่วนประชากร และบริบทสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นครอบครัวเล็ก ไม่ใช่ครอบครัวใหญ่อีกต่อไป

การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ยังมีองค์ประกอบและปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณา อาทิ ตัวผู้สมัคร พรรคการเมือง นโยบาย การลงพื้นที่หาเสียง คะแนนจัดตั้ง และสื่อประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงประชาชนและคนรุ่นใหม่ เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกต้้ง และได้รับการสนับสนุนเป็นผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ด้วย

Advertisement

ปฐวี โชติอนันต์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. โจทย์สำคัญของผู้สมัครลงเลือกตั้งคือ นโยบายต้องครอบคลุมและเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด ความยากคือการที่กรุงเทพฯมีประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 4.3 ล้านคน จำนวนมากเช่นนี้นับเป็นความท้าทายของผู้สมัครในการสื่อสารนโยบายให้เข้าตาประชาชนเพื่อให้ได้รับคะแนนเสียง

ผู้สมัครต้องวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ให้ดี เริ่มจากการพิจารณาว่าใครคือผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่แท้จริง เพราะกรุงเทพฯมีประชากรแฝงที่ย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯจำนวนมาก ประชากรเหล่านี้แม้จะไม่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ก็มีความคิดเห็นที่อาจส่งผลต่อคะแนนเสียงของผู้สมัครได้ การให้น้ำหนักกับผู้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯแต่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่าเน้นไปที่ 4.3 ล้านคน อาจทำให้ผู้สมัครสื่อสารผิดเป้าหมายไป

นอกจากให้ความสำคัญกับ 4.3 ล้านเสียงแล้ว ทีมยุทธศาสตร์ของผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ต้องทำการบ้านเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวิเคราะห์ว่าผู้มีสิทธิ 4.3 ล้านคนดังกล่าว มีสัดส่วนประชากรจำแนกตามเพศ อายุ หน้าที่การงาน รวมถึงการศึกษาอย่างไร เพื่อจัดลำดับการสื่อสารและจัดลำดับความสำคัญของนโยบายได้อย่างถูกต้อง ตอบสนองต่อความต้องการได้ครอบคลุมทุกกลุ่ม

ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ต้องพึงระลึกไว้ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีความหลากหลายมาก ทั้งในเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง และความเชื่อมโยงกับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ดังนั้น การมุ่งเอาใจเสียงจากฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากเกินไป อาจทำให้เสียคะแนนส่วนใหญ่ก็เป็นได้ จึงไม่แปลกใจนักที่การเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีผู้ลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ในนามอิสระเป็นจำนวนมาก หรือแม้จะลงสมัครแบบสังกัดพรรคการเมืองก็ค่อนข้างระมัดระวังอย่างมากในการหาเสียง

การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.รอบนี้ ถ้ากลุ่มคน Gen x และ Gen Y ออกมาเลือกตั้งจะมีผลต่อการเลือกผู้ว่าฯกทม. เมื่อประเมินกลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากถึง 600,000 คน หรืออาจมากกว่า ดังนั้น เสียงจากกลุ่มคน Gen x และ Gen Y จึงเป็นอีกตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้เป็นคะแนนเสียงที่สำคัญ ผู้สมัครรับเลือกตั้งมีนโยบายสำหรับคนกลุ่มนี้อย่างไร ที่ผ่านมาจะเห็นว่านโยบายผู้สมัครแต่ละคนยังครอบคลุมปัญหาในวงกว้างของกรุงเทพฯ

ส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่กลุ่มคน Gen x และ Gen Y และผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.คนอื่นๆ ต้องการรู้มากกว่าตัวนโยบายคือ ผู้สมัครแต่ละคน ถ้าได้รับเลือกเข้ามาแล้วจะทำนโยบายอะไรก่อนใน 3 เดือนแรก หรือ 1 ปีแรก หรือตลอด 4 ปีในวาระการดำรงตำแหน่ง กรุงเทพฯ จะเปลี่ยนไปในทิศทางใดและอย่างไร เพื่อเห็นภาพและรายละเอียดที่มากขึ้นในการดำเนินนโยบายการพัฒนาและแก้ไขปัญหากรุงเทพฯที่เป็นระบบและรูปธรรมมากขึ้น

ผศ.ดร.วีระ หวังสัจจะโชค
อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

กรุงเทพฯมีลักษณะเป็นเมืองหลวง เป็นแหล่งรวมทรัพยากรคนเข้าไปทำงาน ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง ถ้าลองย้อนกลับไปดูว่าคนชนชั้นกลางตัดสินใจอย่างไรกับการเลือกตั้ง

จากการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 จะพบว่าแบ่งได้ 2 กลุ่มหลัก โดยเฉพาะโซนกรุงเทพฯชั้นใน กลุ่มหนึ่งหันไปหาทางพรรคอนาคตใหม่ประมาณ 800,000 เสียง กลุ่มนี้ชัดเจนมากเพราะเป็นพื้นที่ที่พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนสูงมาก กับอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นชนชั้นกลางเหมือนกัน แต่เป็นกลุ่มที่มีลักษณะเป็นอนุรักษนิยมทางเศรษฐกิจ เชื่อในการมีการเมืองที่สงบ กลุ่มนี้จะหันไปทางพรรคพลังประชารัฐ จะพบว่าพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนจากคนกรุงเทพฯชั้นใน เช่น เขต 1เขตสีลม เขตสัมพันธวงศ์ เขตปทุมวัน ส่วนพรรคเพื่อไทย

ปัญหาคือคนกรุงเทพฯจะตัดสินใจอย่างไร คนกรุงเทพฯจะเป็นคนกลุ่มไหน คนกรุงเทพฯเป็นคนที่เข้าใจยากที่สุด เพราะคนกรุงเทพฯเบื่อง่าย ถ้าดูจากประวัติศาสตร์การเลือกตั้ง ไม่มีพรรคการเมืองใดที่ผูกขาดกรุงเทพฯไว้ได้ จากในอดีตจะนึกว่าเป็นพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ใช่ พรรคประชาธิปปัตย์ผูกได้พักเดียว หลังจากก่อนหน้านั้นที่ปี 2544 คนกรุงเทพฯเลือกพรรคไทยรักไทย แต่ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่อยู่แล้ว คนกรุงเทพฯก็เปลี่ยนไปเลือกพรรคอื่น ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐและพรรคอนาคตใหม่

คนกรุงเทพฯแบ่งเป็นทั้งคนรุ่นใหม่ หรือเจนมิลเลนเนียล คนที่เป็นนิวโหวตเตอร์ทั้งหลายที่เพิ่งมาเลือกตั้ง กทม.ครั้งแรก แต่ไม่ควรลืมคนกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ เพราะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในกรุงเทพฯมาตลอด ซึ่งจะเป็นคนที่อายุมากและคนกลุ่มนี้ค่อนข้างเชื่อในเรื่องความสงบ มักจะเลือกคนกลุ่มเดิมๆ ไม่ใช่คนที่เลือกเพื่อหาความเสี่ยงใหม่ ซึ่งจะแตกต่างจากเจนมิลเลนเนียล อายุประมาณ 18-25 ปี มองกรุงเทพฯก็เป็นเมืองที่รู้สึกว่ามีปัญหามาก จึงพร้อมที่จะมองทางเลือกใหม่

ในเรื่องนโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ที่ตอนนี้โดดเด่นและน่าจะดึงคะแนนเสียงได้มากยังเป็นคนหลักสำคัญ แต่จะตัดสินตอนนี้ยังบอกได้ยาก แต่ละคนยังไม่ปล่อยกระสุนออกมาทั้งหมด ยังไม่พูดถึงนโยบายออกมาทั้งหมด อยากให้ติดตาม 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. จะได้เห็นแคมเปญที่แท้จริงของการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ซึ่งไม่ใช่เรื่องนโยบายแล้ว แต่จะเป็นการเล่นความผิดพลาดในอดีตของผู้สมัครแต่ละคน

คนที่สามารถจะชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ในความเห็นส่วนตัวคือ คนที่สามารถกุมเสียงคนทำงาน เจนเอ็กซ์หรือเจนวาย หรือคนที่อยู่ในช่วงอายุ 30-50 ปี จะมีโอกาสชนะมาก และคนกลุ่มนี้อาจจะต้องมีคุณลักษณะที่เป็นนักบริหาร คุณลักษณะที่เป็นข้าราชการเก่าหรือว่าเป็นนักต่อสู้ อาจจะไม่ค่อยถูกใจเจนคนทำงานเท่าไร เพราะฉะนั้น ภาพของนักบริหารที่เน้นการทำงานเป็นหลัก อาจจะถูกใจคนกลุ่มนี้มาก

ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ต้องอธิบายก่อนว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.หลายคนไม่ได้อยู่ที่ กทม.จริง เช่น ผมเองทะเบียนบ้านอยู่กรุงเทพฯ แต่ตัวไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ และน่าจะไปใช้สิทธิไม่ได้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 กับอีกพวกหนึ่งคือคนที่อาศัยอยู่ใน กทม.จากสำนักงานสถิติมีประมาณ 8-10 ล้านคน แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีประมาณ 4.3 ล้านคน หมายถึงอีกครึ่งหนึ่งหายไป เป็นเด็กที่อายุไม่ถึงเกณฑ์กับคนที่มีภูมิลำเนานอกกรุงเทพฯแต่อาศัยในกรุงเทพฯ

สิ่งที่คนกรุงเทพฯต้องการแบ่งเป็น 2 อย่างคือ 1.การแก้ไขปัญหาหลายอย่าง เช่น สายไฟระโยงระยางเต็มถนน ทางเท้าไม่สะดวก ไม่เหมาะกับคนพิการ และ 2.คือการพัฒนาคุณภาพชีวิต จะมีการพัฒนาอะไรมากขึ้นจะมีการทำสวนสาธารณะหรือจะทำบริการขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมมากขึ้น เพราะฉะนั้นจุดขายทางนโยบาย คือจุดขายของความสะดวกสบายและคุณภาพชีวิตของชาวเมือง ตรงนี้โจทย์ง่ายกว่าของนายก อบจ.ของต่างจังหวัดมาก เพราะว่าความต้องการของคนเมืองมีตัวชี้วัดที่ง่าย เช่น เดินทางสะดวก มีโรงเรียนใกล้บ้าน ใช้เวลาในถนนน้อยลง อากาศและค่าความเป็นมลพิษไม่สูง เป็นเมืองที่ทุกคนมีชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข แต่ใครจะดึงจุดเด่นของแต่ละสิ่งออกมาแล้วทำอย่างไร อันนี้ต้องเป็นจุดที่ต้องพิจารณา

นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ไม่ใช่เลือกตั้งระดับชาติ ต้องเลือกที่นโยบายตอบโจทย์ของคนกรุงเทพฯมากกว่านโยบายในระดับชาติ ความท้าทายคือ ทำอย่างไรให้การเมืองระดับท้องถิ่นกับระดับชาติแยกกัน ซึ่งในท้องถิ่นต้องมองประโยชน์ท้องถิ่นเอาไว้ก่อน ยังไม่พูดถึงระดับชาติ คือต้องสลัดความเป็นการเมืองระดับชาติออกไปก่อน เพราะต้องไม่ลืมว่าแต่ละพรรคเองก็มีจุดอ่อน พรรคเพื่อไทยก็มีจุดอ่อนจากวาทกรรมเผาบ้านเผาเมือง พรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคประชาธิปัตย์เองก็มีจุดอ่อน ถูกกล่าวหาว่าออกบัตรเชิญรัฐประหาร เข้าข้างเผด็จการบ้าง แต่ละจุดมี pain point ของตัวเอง

เพราะฉะนั้นจะดึงคะแนนได้ต้องพยายามให้เข้ามาเพื่อเป็นประโยชน์ และมีนโยบายเพื่อคนกรุงเทพฯโดยไม่ได้ผูกกับนโยบายของระดับชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image