บทนำวันจันทร์ที่11เมษายน2565 : สัญญาณฟื้นตัว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (นักธุรกิจ) เดือนมีนาคม 2565 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการยังลดลง โดยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ความเชื่อมั่นจะลงต่อหรือไม่ ต้องดูในเดือนเมษายน ความกังวลต่อโอมิครอนและสงครามรัสเซีย-ยูเครน ลดลง แต่ความวิตกเรื่องค่าครองชีพสูง ต้นทุนผลิตสูง อาจทำให้ความเชื่อมั่นเดือนเมษายนลดแต่ในอัตราน้อยลง ความชัดเจนของรัฐต่อการเปิดตลาด การประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งเป็นไปได้สูงในเดือนมิถุนายน การเปิดธุรกิจกลางคืน ซึ่งมีเงินสะพัดกว่าแสนล้านบาทต่อเดือน รัฐเติมเงินคนละครึ่งเฟส 5 เป็นแรงส่งหลักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่ปลายไตรมาส 2/2565

นายธนวรรธน์ระบุว่า ยังเชื่อว่าหลังสงกรานต์รัฐจะไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์อีก เพราะเห็นว่าธุรกิจและเศรษฐกิจจะเสียหาย เพียงล็อกดาวน์ 1 เดือน ต้องใช้เวลาฟื้นตัวเท่าเดิมถึง 3 เดือน สร้างความเสียหายถึง 8 แสนล้านบาท กลับกัน หากประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่นเร็วขึ้น 1 เดือน ทำให้การทำธุรกิจและใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ จะมีเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ 7 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาท หรือกระทบต่อจีดีพี 0.1-0.2% จากที่ศูนย์พยากรณ์ติดตามสถานการณ์เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น จึงเชื่อว่าหลังไตรมาส 2 ปีนี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้ขยายตัวได้ 3.5%

การวิเคราะห์ดังกล่าว ชี้ถึงสัญญาณดีของเศรษฐกิจไทย หลังจากสะบักสะบอมจากโควิดมาแรมปี และยังมีข้อมูลระบุว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศเริ่มเดินทางเข้าประเทศไทยมากขึ้น ทำให้เห็นว่าการเปิดประเทศใกล้เป็นจริง รัฐบาลควรเพิ่มความพร้อมให้กับประชาชนในการรับมือการเปิดประเทศ โดยเฉพาะวัคซีนสำหรับกลุ่มเสี่ยงต่างๆ การรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายมากเกินไป ในกรณีติดเชื้อ หรือการจัดหาชุดตรวจเอทีเคที่มีราคาถูกให้ประชาชน ความปลอดภัยทางอนามัยในสังคมประเทศ จะช่วยให้เกิดการ เดินทางท่องเที่ยว อันเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image