พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผอ.เพื่อไทยลุย ‘ศึกชิง ส.ก.’ (มีคลิป)

พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผอ.เพื่อไทยลุย‘ศึกชิง ส.ก.’ หมายเหตุ - นางพวงเพ็ชร

หมายเหตุนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธาน กทม.โซน 2 พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) พรรค พท. ให้สัมภาษณ์มติชนถึงยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ในการสู้ศึกเลือกตั้ง ส.ก.ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565

⦁ในฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้ง ส.ก.พรรค พท. ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การเลือกตั้งอย่างไรบ้าง เพราะครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่เว้นระยะมานานมากกว่า 9 ปี

ยุทธศาสตร์ คือ การลงพื้นที่เพื่อชี้แจงนโยบายให้กับประชาชนว่านโยบายของพรรค พท.เป็นอย่างไร ส่วนใหญ่เป็นนโยบายที่มาจากปัญหาของประชาชนจริงๆ นำมากลั่นกรองเป็นนโยบายโดยทีมยุทธศาสตร์ และทีมนโยบายของพรรค พท. อีกประเด็นคือการรณรงค์หาเสียง ประกอบไปด้วยโซเชียลมีเดีย สื่อต่างๆ และการเดินลงพื้นที่เคาะตามบ้านเพื่อให้ประชาชนเห็นว่าผู้สมัครของพรรค พท.ตั้งใจทำงาน ทำอย่างไร และจะมีนโยบายอะไรที่เข้าถึงประชาชนทุกคน

ประชาชนไม่ได้ใช้สิทธิในการเลือก ส.ก.มาตั้งแต่มีการรัฐประหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจพิเศษแต่งตั้งบุคคล ทั้งผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก.เข้ามาทำหน้าที่ ส.ก. ทำให้ประชาชนคน กทม.ต้องประสบกับปัญหามากมาย เพราะบุคคลที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ไม่ได้รับรู้ถึงปัญหาที่แท้จริงแต่ละพื้นที่ ดังนั้น การเลือกตั้ง ส.ก.ในครั้งนี้พรรค พท.จึงเน้นยุทธศาสตร์การเลือกตัวบุคคลที่อยู่ในพื้นที่ และมีความตั้งใจที่จะผลักดันปัญหาของประชาชนไปสู่การแก้ไข นอกจากตัวบุคคลแล้ว คือนโยบายของพรรคที่เน้นการแก้ไขปัญหาของ กทม.เป็นหลัก โดยเฉพาะนโยบายเด่นๆ ที่เชื่อว่าแก้ปัญหาของคน กทม.อย่างตรงจุด เช่น นโยบายกองทุนพัฒนาชุมชนเมือง 200,000 บาท ที่ ส.ก.พรรค พท.จะผลักดันให้ฝ่ายบริหาร กทม.รับไปดำเนินการ โดยกองทุนนี้จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาและแบ่งเบาภาระของแต่ละชุมชนได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องไฟฟ้าส่องสว่าง ปัญหาการซ่อมบำรุงสาธารณูปโภคของชุมชน กองทุนดังกล่าวจะบริหารโดยคณะกรรมการของชุมชน กรณีที่เป็นหมู่บ้านจัดสรร คณะกรรมการหมู่บ้านและนิติบุคคลของชุมชนจะเป็นฝ่ายบริหารเงินกองทุนดังกล่าว นอกจากนี้พรรค พท.ยังมีนโยบายที่ตอบโจทย์คน กทม.อีกกว่าสิบนโยบาย

Advertisement

⦁พรรค พท.ไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ในนามของพรรค ตรงนี้จะทำให้การหาเสียงหรือภาพในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคลดลงไปหรือไม่ เพราะไม่มีหัวเรือใหญ่

Advertisement

คงไม่ใช่ปัญหา เพราะเน้นในเรื่องนโยบายของพรรคต้องการให้ ส.ก.เป็นคนผลักดัน เชื่อว่าผู้ว่าฯกทม.เป็นฝ่ายบริหารที่มีส่วนสำคัญ แต่ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับ ส.ก.ด้วย อีกประการหนึ่ง พรรค พท.เป็นพรรคใหญ่ สามารถเฟ้นหาผู้สมัคร ส.ก.โดยทุกคนเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ มีจิตอาสา ผู้สมัคร ส.ก.ของพรรคส่วนใหญ่ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของพรรคล้วนทำงานอยู่ในพื้นที่มาตลอดกว่า 2-3 ปี ดังนั้น การที่พรรคไม่ส่งผู้ว่าฯกทม.จึงไม่ทำให้แนวทางในการหาเสียงดร็อปลง แม้จะไม่มีผู้ว่าฯกทม.ในนามพรรค พท. แต่เชื่อว่านโยบายของพรรค พท.น่าจะโดดเด่นกว่ามาก และเป็นที่ต้องการของพี่น้องประชาชนคน กทม.

⦁กระแส ส.ก.ของพรรค พท.หายไป พรรคได้วางแผนการแก้เกมอย่างไรบ้าง
จะมีการปรับยุทธศาสตร์ไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ หลังจากผู้สมัครได้เบอร์แล้ว ช่วงแรกในหลายพื้นที่ ส.ก.ยังไม่ได้ออกไปหาเสียงกับประชาชน เพราะหลายคนอยากได้แผ่นพับและทำป้ายแนะนำตัว จึงอาจจะดูเงียบไป แต่จากนี้เชื่อว่ากระแสของพรรค พท.จะไม่เงียบแน่นอน ซึ่งหลังจากผู้บริการของพรรคได้ลงพื้นที่ 2-3 เขต ล้วนได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะนโยบายถูกใจประชาชน ดังนั้น แม้ว่าวันนี้พรรค พท.จะไม่ได้ส่งผู้ว่าฯ แต่มั่นใจว่าเสียงตอบรับจากประชาชนไม่ทำให้รู้สึกหวั่นไหวเลย

⦁หลายคนจับตาแคมเปญของพรรค พท.ว่าจะมีอะไรที่มาสร้างความแปลกใหม่ หรือสร้างกระแสในช่วงเลือกตั้งหรือไม่

มีแน่นอน การหาเสียงยังเหลือเวลาอีกเดือนกว่าจะมีแคมเปญต่างๆ ออกมาต่อเนื่อง แต่ขณะนี้เป็นการรณรงค์ในเรื่องนโยบายไปตามพื้นที่ต่างๆ ไปฟังความคิดเห็นของประชาชนว่านโยบายที่ออกไปนั้นคนตอบรับและชอบอย่างไร อย่างไรก็ตาม จะมีการจัดปราศรัยใหญ่ 3 ครั้ง รวมถึงผู้ที่มีความสำคัญของพรรคลงไปช่วยหาเสียงด้วย ทั้งนี้ ช่วงเวลาอีกเดือนกว่าแคมเปญและอีเวนต์แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรก ช่วงตั้งแต่วันที่สมัครรับเลือกตั้ง ส.ก.ไปจนถึงวันที่ 20 เมษายน จะเป็นแคมเปญการลงพื้นที่เพื่อเสนอนโยบายให้กับประชาชน ระยะที่ 2 หลังสงกรานต์ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม จะมีแคมเปญใหม่ทำให้กับผู้สมัคร ส.ก. และระยะสุดท้าย ช่วงหลังวันที่ 10 พฤษภาคมจนถึงวันเลือกตั้ง มีแคมเปญช่วงโค้งสุดท้ายเพื่อเป็นการตอกย้ำให้ประชาชนเชื่อและตัดสินใจเลือก ส.ก.ของพรรค พท.

⦁จะมีการขอคิว น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม และหัวหน้าครอบครัว พท. มาช่วยหาเสียงด้วย

ใช่ หัวหน้าครอบครัว พท.คงจะไปช่วยหาเสียงบ้าง ถ้ามีตารางว่างช่วงไหนจะลงไปช่วยหาเสียงแน่นอน และจะอยู่ 1 ในแคมเปญของพรรคที่จะใช้เป็นยุทธศาสตร์อีกหนึ่งยุทธศาสตร์ในการช่วยผู้สมัคร ส.ก.หาเสียง

⦁วันนี้โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางในการหาเสียง และกำหนดทิศทางการหาเสียงของผู้สมัครในแต่ละพื้นที่ อย่างที่ผ่านมามีกรณีเรื่องป้ายหาเสียงของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ถูกใจคนรุ่นใหม่ แล้วพรรค พท.มีแคมเปญอะไรแบบนี้บ้างหรือไม่

ความแปลกใหม่คงจะมีบ้าง โดยวางไว้ในช่วงโค้งสุดท้ายที่จะใช้แคมเปญนี้ในการหาเสียง แต่ไม่สามารถบอกได้ในตอนนี้ เพราะเป็นเรื่องที่อยากให้เกิดความแปลกใหม่ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้บทบาทของสื่อโซเชียลมีเดียมีความสำคัญมาก และทุกคนหันมาใช้สื่อโซเชียลในการหาเสียงกันมาก เพราะสามารถเข้าถึงคนทุกระดับชั้นที่สามารถรับข้อมูลข่าวสารได้ทันที แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสื่อประเภทเดิมจะไม่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นป้ายหาเสียง แผ่นพับ บัตรย้ำเบอร์ ยังมีความจำเป็นอยู่ เพื่อเป็นการตอกย้ำตัวบุคคลที่เป็นผู้สมัคร การหาเสียงในรูปแบบเดิมโดยเฉพาะการลงพื้นที่เพื่อพบปะประชาชนก็ยังจำเป็นต้องมี

⦁บางเขตที่คู่แข่งมีความแข็งแรงมีการวางแผนเจาะพื้นที่นั้นอย่างไร

มีแน่นอน พื้นที่ไหนที่คู่แข่งขันมีความแข็งแรงจะให้ความสำคัญในการลงพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจในนโยบายของพรรคมากยิ่งขึ้น เพราะเชื่อว่านโยบายของพรรค พท.คือจุดแข็งของเรา จึงมั่นใจว่าถ้าประชาชนเข้าใจในนโยบายและเห็นความตั้งใจของผู้สมัคร ประชาชนจะเลือก ส.ก.ของพรรคเพื่อไทย เพราะเราทำนโยบายออกมาแบบตั้งใจแก้ไขปัญหาของคน กทม.จริงๆ

⦁ในการเลือกตั้ง ส.ก.ครั้งนี้มีนิวโหวตเตอร์เกิดขึ้นจำนวนมาก เนื่องจากเราเว้นการเลือกตั้งมานาน พรรค พท.จะสามารถดึงเอาคะแนนเสียงจากคนกลุ่มนี้มาเป็นของพรรค พท.ได้อย่างไร

ในสื่อโซเชียลพรรค พท.มีแฟนคลับเยอะ แสดงว่านโยบายของพรรคและตัวผู้สมัครของพรรค พท.ได้รับความนิยมจากประชาชน สำหรับน้องๆ ผู้สมัคร ส.ก.ทุกคนที่เป็นคนรุ่นใหม่คิดว่าจะสามารถเข้าถึงเด็กกลุ่มวัยรุ่นได้ รวมถึงวิธีการหาเสียงเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วย โดยคะแนนเสียงของคนรุ่นใหม่มีเพิ่มมากขึ้นจริงๆ แต่คนรุ่นใหม่ที่รู้จักและเป็นแฟนคลับของพรรค พท.ก็มีไม่น้อย ตรงนี้อยากฝากไปถึงคนรุ่นใหม่ที่กำลังอยู่กับกระแสความนิยมของกลุ่มคน หรือคณะบุคคล ว่าหากจะออกไปใช้สิทธิเลือก ส.ก.ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ อยากให้คิดว่าอนาคตและปัญหาของ กทม.ควรจะได้รับการแก้ไขให้ตรงจุด การเลือกตั้งตัวแทน 4 ปีมีครั้งหนึ่งหากเลือกบุคคลที่ผิดต้องรอโอกาสเลือกใหม่อีกครั้งในอีก 4 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้น ฝากไว้ว่า สิทธิมีค่า อย่าปล่อยให้มันสูญเสียกับสิ่งที่เลือกแล้วไม่ได้อะไรเลย

⦁คนรุ่นใหม่ไม่ได้มองเพียงแค่การหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย แต่มองเรื่องอุดมการณ์และจุดยืนที่เข้มข้น คิดว่าพรรค พท.ตอบโจทย์หรือไม่

จุดยืนที่ยังมุ่งเน้นไปที่นโยบายของพรรคที่สามารถทำได้สำเร็จ และสามารถตอบโจทย์ของคน กทม.ได้เต็มที่ ทั้งนี้ พรรค พท.มีจุดยืนที่เป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง มีอุดมการณ์ที่แน่วแน่ในการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติและประชาชน เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง คิดว่าคนรุ่นใหม่มองเห็นเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของพรรค พท.มาโดยตลอด หากคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจเป็นประชาธิปไตย ควรต้องคิดว่าพรรค พท.เอาประชาชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด นโยบายทุกๆ นโยบายที่ดำเนินมาตั้งแต่ไทยรักไทยจนถึง พท.ล้วนเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนทั้งสิ้น ที่สำคัญเป็นนโยบายที่คิดมาแล้วต้องทำได้ นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ถือว่าจะเป็นจุดแข็งของพรรค พท.

⦁ในฐานะ ผอ.เลือกตั้ง ส.ก.พรรค พท. ได้ประเมินหรือไม่ว่า ส.ก.ของพรรค พท.มีตรงไหนที่เป็นจุดแข็งหรือจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข

แน่นอนจุดแข็งของผู้สมัคร ส.ก.พรรค พท.คือบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาของพรรคต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการเป็นตัวแทนของพรรค ต้องเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นคนที่อยู่กับพื้นที่ มีจิตอาสา ตั้งใจในการแก้ไขปัญหาของท้องถิ่น นี่คือคุณสมบัติที่มั่นใจว่าเป็นจุดแข็งนอกเหนือจากนโยบาย ขณะที่จุดอ่อนเรามองไม่เห็น

⦁คิดว่าการเลือกตั้ง ส.ก.จะส่งผลไปถึงการเลือกตั้งใหญ่ด้วยหรือไม่

ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ อยากให้คน กทม.สะท้อนว่าเป็นฝั่งประชาธิปไตย วันนี้อำนาจรัฐมาจากการสืบทอดอำนาจของฝ่ายเผด็จการ คิดว่าถึงเวลาที่คน กทม.ต้องสะท้อนออกมาว่าต้องการประชาธิปไตย ต้องการผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้คิดว่าคน กทม.ต้องออกมาใช้สิทธิใช้เสียงครั้งนี้เพื่อรักษาสิทธิของคน กทม.จริงๆ อยากให้คน กทม.มอบความไว้วางใจให้กับพรรค พท. โดยเลือก ส.ก.ที่มาจากพรรค พท.ยกทีม เพื่อให้ได้ ส.ก.เยอะๆ ในการเข้าทำงานในสภา กทม. ขอให้ให้โอกาสพรรค พท.ทั้งทีมได้เข้าไปทำงานในสภา กทม.ให้คน กทม.

⦁แปลว่าห่วงเรื่องการใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจนอกกติกาในการเลือกตั้งครั้งนี้

ใช่ค่ะ โดยช่วงต่อไปจะมีการรณรงค์ในเรื่องของการป้องกันการโกง เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ได้บอกว่าใครจะโกง แต่ต้องมีวิธีการในการป้องกัน โดยอาจจะมีแนวร่วมหรือคนที่เข้ามาช่วยกันทำแคมเปญในเรื่องของการป้องกันการโกง จะเป็นการร่วมมือกันของหลายหน่วยงานที่จะมีการตรวจสอบ เช่น เรื่องการซื้อสิทธิขายเสียง การตรวจสอบหีบบัตร การสังเกตการเลือกตั้งทั้งวัน ไปจนถึงการนับคะแนน วิธีการนับ ฯลฯ ทั้งหมดจะอยู่ในกระบวนการของการตรวจสอบ

⦁การทำงานในสภา กทม.ต้องทำงานร่วมกับผู้ว่าฯกทม. พรรค พท.ไม่ได้ส่งผู้ว่าฯกทม. แบบนี้จะสามารถทำงานร่วมกับผู้ว่าฯกทม.ในอนาคตได้หรือไม่

คิดว่าไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่อยากเชียร์คือ อยากได้ผู้ว่าฯกทม.ที่มาจากฝั่งประชาธิปไตย มองว่าใครที่มาสมัครผู้ว่าฯกทม.ที่ไม่ได้มาจากการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ และคิดว่าคน กทม.เองคงจะมองแบบนี้ และจะเลือกผู้ว่าฯที่มีความสามารถที่จะเข้าไปทำงานให้พวกเขาได้ เพื่อให้เกิดความราบรื่น เป็นฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน แต่ปัญหาคือต้องได้จำนวนมากเพื่อไปผลักดันโครงการและนโยบายต่างๆ ที่พูดไว้กับประชาชน เพราะเชื่อว่าเราสามารถผลักดันได้จริง

⦁วันนี้มีภาพที่แยกไม่ออกระหว่างพรรค พท.กับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ในนามอิสระ

นายชัชชาติต้องการลงอิสระ เพราะอยากประสานกับหน่วยงานต่างๆ และคนอื่นๆ โดยไม่ผูกกับพรรคใดพรรคหนึ่ง ทั้งนี้ นายชัชชาติเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรค พท. ดิฉันเคยตอบแล้วว่าไม่มีการฮั้วอะไรทั้งสิ้น คือไปพูดเหมือนกับว่าเป็นความผิด ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย ถามว่าสนับสนุนนายชัชชาติไหม พรรค พท.สนับสนุนในฐานะที่เคยเป็นแคนดิเดตของพรรค เป็นคนมีความรู้ ความสามารถ และมีนโยบายใกล้เคียงกับพรรค ตรงกันหลายนโยบาย ดังนั้น การสนับสนุนนายชัชชาติไม่ได้มองว่าเป็นความผิดอะไรเลย แต่เหมือนคนจะไปผูกโยงว่าเป็นความผิด เป็นเรื่องโกหกทั้งที่ความจริงไม่ใช่เลย อยากเคลียร์ให้ชัดเจน นายชัชชาติต้องการลงอิสระจริงๆ และมีอิสระ และพรรค พท.เพียงแค่อยากจะสนับสนุนเท่านั้น ผู้ว่าฯก็ผู้ว่าฯ ส.ก.ก็ส่วน ส.ก.

⦁เข้ามาเป็นประธาน กทม.โซน 2 พร้อมกับฉายามาดามนครบาล ซึ่งฉายามาพร้อมความรับผิดชอบ

จริงๆ นักข่าวเรียกเจ้าแม่ ดิฉันก็บอกว่าไม่ชอบคำว่าเจ้าแม่ นักข่าวเลยบอกว่าเอาคำนี้ไหม มาดามนครบาล แต่จริงๆ ไม่ได้ต้องการฉายาใดๆ ทั้งสิ้น เป็นคนที่ตั้งใจทำงาน อยากให้เรียกว่าพี่แจ๋น ธรรมดาด้วยซ้ำ ไม่ต้องมามีฉายาอะไร เพราะมาทำงานแค่ตำแหน่ง ผอ.การเลือกตั้ง ส.ก. เป็นส่วนหนึ่งที่พรรคมอบหมาย อยากทำงานให้ดีที่สุด ไม่ได้เกี่ยวกับฉายาทั้งสิ้น ไม่ได้คิดไปแข่งกับใคร หรือมีตำแหน่งอะไร ภายหลังจากที่พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ถูกยุบ เข้ามาช่วยและมีบทบาทดูแลความเรียบร้อย มาดูแลน้องๆ ช่วยคิดช่วยทำงาน ทำตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ไม่ได้ทำอะไรที่โอเวอร์เกินกว่าที่จะเป็น พรรค พท.คงเห็นความสำคัญว่าทำตรงไหนได้ หรือมีความสามารถตรงไหนให้ทำในตำแหน่งนั้นและตอนนี้มีตำแหน่งรองประธานยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองอีกตำแหน่งหนึ่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image