เศรษฐกิจไทยฟื้นช้า ปลดล็อกคือคำตอบ?

เศรษฐกิจไทยฟื้นช้า ปลดล็อกคือคำตอบ? หมายเหตุ - ความเห็นกรณีนายแพทย์

หมายเหตุ ความเห็นกรณีนายแพทย์อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ระบุ สถานการณ์โควิด-19 อยู่ในช่วงขาลง เศรษฐกิจของไทยขณะนี้ฟื้นช้ากว่าประเทศอื่น หากช้าไปอีก 1-2 เดือนถือว่าเสียโอกาส ดังนั้นต้องเร่งปลดล็อก

เกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

กรณีหลายฝ่ายประเมินว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากประสบปัญหาเงินเฟ้อพุ่ง และราคาข้าวของเครื่องใช้แพงนั้น ในส่วนของปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูง เป็นปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญเช่นกัน แต่ของประเทศไทยเป็นการเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างมาก เช่นเดียวกับอาหารการกิน วัตถุดิบต่างๆ ก็ปรับราคาสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่ง 2 ปัจจัยนี้ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2565 พบว่าเงินเฟ้อไทยมีระดับสูงถึง 5.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการปรับตัวสูงสุดในรอบ 13 ปี แต่เมื่อมองในภาพรวมแล้วสหรัฐก็มีเงินเฟ้อสูงมากเช่นกัน ซึ่งอยู่ในระดับ 8.5%

Advertisement

ทั้งนี้ ในส่วนของปัญหาความขัดแย้งจนเกิดสงครามระหว่างประเทศรัสเซียกับประเทศยูเครน พบว่ากำลังส่อแววยืดเยื้อและยาวนาน รวมถึงคาดว่าตลอดทั้งปี 2565 ราคาน้ำมันจะอยู่ที่ระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ จะปรับอัตราเงินเฟ้อขึ้นอยู่ที่ประมาณ 4.9% นอกจากนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ระดับสูงยาวจนถึงสิ้นปีนี้ รวมถึงต้องจับตากรณีที่สหรัฐเตรียมใช้ยาแรง ปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก 0.5% ในเดือนพฤษภาคมนี้ซึ่งการเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดหุ้นเริ่มผันผวน เห็นได้จากดัชนีดาวโจนส์ที่ปรับตัวลดลงแล้ว 2%

นอกจากนี้ ไทยยังได้รับผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยว ที่แม้จะได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การท่องเที่ยวก็ยังเป็นเครื่องยนต์หลักในการผลักดันภาคเศรษฐกิจของไทยอยู่ดี ซึ่งล่าสุด ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้มีมติปลดล็อก โดยยกเลิกระบบเทสต์แอนด์โก เริ่ม 1 พฤษภาคมนี้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นผลดีกับภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยประมาณ 5-6 ล้านคน อีกทั้งในช่วงนี้คาดว่าค่าเงินบาทเริ่มอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว และหากรัฐมีการผ่อนคลายมาตรการการเข้าประเทศมากกว่านี้ ก็มีโอกาสที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางเข้าไทย ตลอดปี 2565 ทะลุเป้า หรืออยู่ที่ประมาณ 7-8 ล้านคน ทั้งนี้ เมื่อภาคท่องเที่ยวดีขึ้นก็จะช่วยเป็นแรงหนุนให้การจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้กลับมาดีขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประเด็นปัญหาที่ไทยต้องเผชิญเท่านั้น เพราะยังมีปัญหาใหญ่ที่ต้องเผชิญ คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่สูงถึง 90% ซึ่งในส่วนของปัญหาหนี้ครัวเรือนจะเป็นเรื่องที่ทำให้คนไทยต้องลำบากพักใหญ่ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไม่ได้เป็นอย่างที่รัฐบาลและหลายฝ่ายคาดหวังไว้ ตอนนี้เครื่องยนต์เดียวที่พอจะทำให้เศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อไปได้คือ ภาคการส่งออก ที่ยังมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีผลกระทบจากเรื่องโควิด-19 และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน มาทำให้บางอุตสาหกรรมสะดุดไปบ้าง แต่ก็ยังมีทิศทางที่สดใสกว่าภาคอื่นๆ

Advertisement

ส่วนข้อเสนอแนะที่อยากฝากถึงรัฐบาล คือ อยากให้เร่งออกมาตรการที่เตรียมแผนไว้ ออกมาช่วยเหลือประชาชนโดยเร็ว ทั้งนี้เพื่อลดการแบกรับปัญหาที่ประชาชนต้องเผชิญทั้งเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้น เช่น ค่าอาหาร ค่าไฟ และค่าน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งมาตรการที่รัฐบาลเตรียมออกมาในช่วงนี้คือ คนละครึ่ง ระยะที่ 5 ซึ่งถือเป็นโครงการที่ดี และประชาชนได้รับประโยชน์อย่างมาก อยากให้ชัดเจนโดยเร็ว แต่อีกหนึ่งสิ่งที่อยากจะให้รัฐบาลหันมาผลักดัน

นอกจากมาตรการเรื่องการเงิน หรือการแจกเงิน คือในเรื่องการสร้างงาน พัฒนาทักษะแรงงาน สร้างโอกาส เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น จนส่งผลให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนลดลงในที่สุดต่อไป

ทวิสันต์ โลณานุรักษ์
อดีตเลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เศรษฐกิจของไทยฟื้นช้ามีหลายปัจจัย 1.มีหนี้สาธารณะมาก ทำให้ไม่สามารถหาเงินมาเดินหน้าโครงการสำคัญๆ ได้ โดยเฉพาะโครงการเยียวยาช่วยเหลือประชาชน เห็นได้จากโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะไม่มีเงิน 2.ภาคประชาชนมีหนี้ครัวเรือนจำนวนมาก จึงไม่สามารถก่อหนี้ใหม่ได้ เพราะธนาคารไม่อนุมัติสินเชื่อเงินกู้ให้ 2 ปัจจัยนี้เป็นปัญหาพื้นฐานหลักๆ ที่ประเทศไทยกำลังประสบ 3.ธนาคารแห่งประเทศไทย ปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์มีกำไรสูงเกินไป เช่น ไตรมาสแรกได้กำไรเป็นหมื่นๆ ล้านบาท ในระหว่างที่เศรษฐกิจกำลังตกต่ำ เหมือนเปิดโอกาสให้นายทุนรวย ส่วนประชาชนพากันแย่ 4.ปัญหาโควิด-19ระบาด ทำให้คนไม่กล้าออกมาจับจ่าย ค้าขาย ไม่กล้าออกมารวมตัว

ทางออกที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยฟื้น เริ่มจาก 1.รัฐบาล หรือหน่วยงานรัฐ อย่าเอาเงินภาษีของประชาชนมาละเลงเล่นโดยไม่ได้คิดให้ดี อย่างเช่น อย่าเอามาจัดงาน-จัดกิจกรรม แล้วให้มันจบๆ ไป เหมือนกับหลายๆ งานที่เห็นๆ กันอยู่ เพราะคนที่ได้ประโยชน์คือบริษัทออร์แกไนซ์ แต่ประชาชนกลับได้ประโยชน์ไม่คุ้ม ภาครัฐควรใช้เงินทุกบาทให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนด้วย

2.เรื่องการช่วยเหลือประชาชน ให้ช่วยทางตรง ให้เงินถึงมือประชาชนโดยตรงจะดีที่สุด อย่าไปช่วยทางอ้อมเพื่อป้องกันการทุจริตได้ด้วย 3.ส่งเสริมเมืองท่องเที่ยวต่างๆ เช่น พัทยา ภูเก็ต นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวจะต้องชัดเจน และสอดรับกับบริบทของแต่ละพื้นที่ด้วย ประกาศให้ชัดไปเลยว่าพื้นที่ใดให้ใช้มาตรการไหน อย่างไร เปิดบริการได้แค่ไหน ผู้ประกอบการจะได้ปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง

4.เรื่องการรักษาพยาบาลจากการติดเชื้อโควิด-19 ทำอย่างไรจะให้ประชาชนเกิดความมั่นใจได้ว่า รัฐบาลไม่ทอดทิ้ง เพราะทุกวันนี้ ประชาชนใจไม่ดี กังวลว่าหากติดเชื้อโควิดแล้ว จะต้องหาซื้อยากินเอง

5.เรื่องการเมือง ตอนนี้ยังไม่นิ่ง ทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจ จะต้องทำให้การเมืองนิ่งและเป็นที่ยอมรับ 6.ศาลยุติธรรม ต้องช่วยคนเป็นหนี้ ห้ามใช้หลักการเดิมทุกขั้นตอน แต่ให้มองว่า ช่วยได้ต้องช่วย ประชาชนที่ติดหนี้สามารถผ่อนชำระหนี้ได้บ้าง ยังดีกว่าไม่ได้สักบาท เพราะภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ทุกคนต่างเดือดร้อนกันหมด ประนีประนอมช่วยเหลือกันจะดีที่สุด ขอให้รัฐมนตรียุติธรรมลงมาดูแลเรื่องนี้ด้วย 7.รพ.จิตเวชฯ จะต้องเปิดคลินิกนอกเวลา เป็นที่พึ่งให้ประชาชนด้วย และเปิดสายด่วนพิเศษให้คำแนะนำปรึกษาแก่คนที่มีความเครียดจากสภาวะเศรษฐกิจและผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น

8.เรื่องการให้ความช่วยเหลือต่างๆ หน่วยงานรัฐ หรือองค์กรใดๆ ควรจะช่วยโดยอิงภาระหน้าที่ของตนเองเป็นหลัก ช่วยให้เหมาะสมกับบริบทการทำงานของหน่วยงานด้วย เพื่อจะได้ดูแลช่วยเหลือคนตัวเล็กๆ หรือผู้ประกอบการรายย่อยได้อย่างทั่วถึง อย่าช่วยเฉพาะแต่รายใหญ่ จนมองไม่เห็นคนรากหญ้า

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์มหาวิทยาลัยบูรพา

หากมองทางด้านเศรษฐกิจ การปลดล็อก การคลายล็อก ก็จะเกิดการทำกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นการรวมตัวทางด้านการซื้อการขาย ซึ่งเป็นวิธีการ การแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปลดล็อกมาตรการทั้งหมด ซึ่งจะต้องมามองทางด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจภาคบริการทั้งหมด โดยเฉพาะเชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา ซึ่งมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ ได้รับผลกระทบเต็มๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจการท่องเที่ยวถือว่าสำคัญของประเทศไทย และกระทบกับประชาชนจำนวนมาก เนื่องจากรายได้ของการท่องเที่ยวถือว่าเป็นรายได้หลักของประชาชน ทั้งการลงทุน ร้านค้า ห้างสรรพสินค้าต่างๆ รวมทั้งธุรกิจทางด้านการบริการ ซึ่งจะได้ประโยชน์อย่างมากมาย หากมีการคลายล็อก แต่คิดว่ารัฐบาลยังกังวลใจก็คือ ประเด็นทางด้านการเมือง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองมีความเปราะบางของรัฐบาลค่อนข้างมาก ทำให้รัฐบาลจะต้องมองมิติทางด้านการเมืองไปด้วย หากปลดล็อกแล้วจะมีผลต่อการสร้างเงื่อนไขทางด้านการเมือง เพราะรัฐบาลอยู่ในภาวะขาลง พรรคร่วมรัฐบาลแตกเป็นเสี่ยงๆ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งรัฐบาลเผชิญหน้ากับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลกำลังจะผ่านร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 และสุดท้ายรัฐบาลอาจจะยุบสภา

สถานการณ์เหล่านี้ ทำให้ทีมที่ปรึกษาของรัฐบาลจะต้องประเมิน หากคลายล็อกในครั้งนี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นฟู หากประเมินร่วมกับสถานการณ์ทางการเมืองแล้ว อาจจะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลช่วงขาลงแบบนี้ ต้องมีพิจารณาว่าอย่างใดได้ อย่างไรเสียมากกว่ากัน คิดว่าเป็นเงื่อนไขที่รัฐบาลกำลังประเมิน

ส่วนทางออกก็ต้องตามหลักการทางด้านเศรษฐกิจ หมายถึงจะต้องคลายล็อก เปิดล็อก เพื่อให้ประเทศกลับมาสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด

สมภพ มานะรังสรรค์
อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

เศรษฐกิจไทยพื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นจริง และฟื้นช้ากว่าอย่างแน่นอนเพราะประเทศจำนวนมากในโลกฟื้นตัวกันตั้งแต่ปีที่แล้ว จนแก้ติดลบจากการเกิดปัญหาโควิดได้เรียบร้อย

โควิดเกิดตั้งแต่ปี 2020 ติดลบกันทั่วโลก ต่อมาในปี 2021 ก็แก้ไขได้ แต่ของไทย ปี 2020 GDP ติดลบไป 6% กว่า ปีที่แล้วบวกมาแค่ 1.6% กล่าวคือ ในขณะนี้เรายังติดลบอยู่ถึง 4% กว่า
สำหรับปีนี้คงจะโตอย่างมากแค่ 3% ต้นๆ บวกลบแล้วก็อยู่ประมาณนี้ ฉะนั้นต่อให้ปีนี้อีกทั้งปีก็ยังแก้การติดลบที่เกิดจากปี 2020 ไม่ได้เลย

อย่างไรก็ตาม คงไม่ได้เกิดจากเรื่องการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่เกิดจากหลายตัวแปร เวลาดูเรื่องเศรษฐกิจ ต้องพิจารณาจากหลายภาคส่วน ตัวอย่างเช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม เราเป็นอย่างไร มีขีดความสามารถทางการแข่งขันสูงหรือไม่ ถึงแม้เราจะส่งออกได้มาก แต่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยจริงๆ หรือไม่ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าการส่งออกของเราจำนวนมาก ไม่ใช่การส่งออกของนักธุรกิจไทยอย่างเดียว ยังมีการส่งออกที่มาจากการลงทุนจากต่างประเทศด้วย

สำหรับการเปิดประเทศคงช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่า เปิดอย่างมีประสิทธิภาพมากเพียงไรคุมโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ทำให้โควิดกลับมาระบาดจนกระทบต่อเศรษฐกิจภาคส่วนอื่นในประเทศไทยหรือไม่

เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ คงไปขับเคลื่อนได้ค่อนข้างยาก เมื่อมันเกิดปัญหาใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มต้นจากการเยียวยา อย่างไรก็ตาม ช่วงเยียวยาน่าจะอิ่มตัวแล้วเพราะเยียวยาไปเยอะแล้ว ตอนนี้เป็นช่วงของการฟื้นฟู ซึ่งช่วงฟื้นฟูกับช่วงขับเคลื่อนมันต่างกัน คุณจะขับเคลื่อนหรือเริ่มวิ่งได้ก็ต่อเมื่อคุณแข็งแรงแล้ว ฉะนั้นตอนนี้จะฟื้นฟูประเทศอย่างไร ภายใต้ความเชี่ยวกรากของเศรษฐกิจ การเมืองโลก

ตอนนี้เราก็เห็นแล้วว่าปัจจัยมะรุมมะตุ้มเยอะแยะมากมาย ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเมือง ไม่ใช่การเมืองจากต่างประเทศอย่างเดียว การเมืองในประเทศเองก็กระเพื่อมด้วย คุณจะบริหารจัดการอย่างไรให้สามารถหาจุดลงตัวที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันได้

ส่วนตัวคิดว่าเมืองไทยมีโอกาสทำอะไรได้อีกเยอะ ต้องไปอาศัยการขบคิดของทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องรอบคอบและลุ่มลึก รู้เขารู้เราให้รอบด้าน รวมทั้งปัจจัยที่กระเพื่อมหรือผันผวนมากๆ ภายนอกประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจหรือการเมือง เช่น ปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก ปัญหาเรื่องที่เฟดกำลังจะขึ้นดอกเบี้ย ปัญหาความมั่นคง เช่น ความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจทั้งหลาย เพราะว่าปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะทำให้

1.เราจะตั้งการ์ดสูงดูแลตัวเองให้ปลอดภัยมากขึ้นได้อย่างไร 2.เราจะหาโอกาสจากวิกฤตการณ์ต่างๆเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะเวลามีปัญหา เราอาจจะมีโอกาสส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น เช่น บางชาติอาจจะถูกแซงก์ชั่นเพิ่มมากขึ้น เป็นไปได้ไหมว่าเราจะมีโอกาสที่จะทำในส่วนต่างๆ เหล่านั้นแทน นี่คือการแปรปัญหา แปรอุปสรรคให้กลายเป็นโอกาส ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ภาครัฐต้องร่วมมือกับภาคเอกชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image