เพื่อไทยจับเข่า ศท.-กลุ่ม16 เกมต่อรอง-ล้มรัฐบาล?

เพื่อไทยจับเข่า ศท.-กลุ่ม16 เกมต่อรอง-ล้มรัฐบาล?

หมายเหตุนักวิชาการวิเคราะห์กรณีพรรคเพื่อไทย (พท.) นัดหารือพรรคเล็กกลุ่ม 16 รวมทั้งพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ประเด็นเรื่องการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 และการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151

ผศ.วีระ หวังสัจจะโชค
อาจารย์ประจำภาควิชา รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ถ้าย้อนไปก่อนหน้านี้สักประมาณ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ถือว่ามีความพยายามที่จะนัดเจอกลุ่มขอพรรคเล็กและกลุ่มของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พรรค พท.หรือกลุ่มพรรคฝ่ายค้าน อยากใช้กรณีของการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรอบนี้เป็นกลไกในการสั่นคลอนความขัดแย้งในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม 3 ป. ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร เป็นตัวหลัก เพราะฉะนั้นในเรื่องของการดึงพรรคเล็กเข้ามา เป็นส่วนหนึ่งในยุทธวิธีในการจัดการความขัดแย้งที่เกิดในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของพรรคฝ่ายค้าน

Advertisement

ส่วนการโหวตไม่ไว้วางใจรัฐบาล หรือการโหวตกฎหมายสำคัญ เช่น พ.ร.บ.งบประมาณ 2566 เสี่ยงถูกคว่ำกลางสภาหรือไม่ ในส่วนนี้มันจะมีเหตุการณ์สำคัญหลังจากนี้ที่จะสร้างความสั่นคลอนให้กับรัฐบาลได้ 1.คืออภิปรายไม่ไว้วางใจ 2.คือเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณ และ 3.กรณีเรื่องเกี่ยวกับวาระนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคมนี้ ว่าจะครบ 8 ปี จริงหรือไม่ ใช้รัฐธรรมนูญฉบับไหนในการตีความ นี่คือ 3 เหตุการณ์ที่จะสั่นคลอนรัฐบาล เพราะฉะนั้นช่วงปลายปีสุดท้ายของรัฐบาล จะเห็นความขัดแย้งที่มันเกิดขึ้น ซึ่งความขัดแย้งที่จะสั่นคลอนรัฐบาลจริงๆ คือความขัดแย้งที่เกิดจากกลุ่มในพรรค พปชร.หรือกลุ่มที่ออกไปจากพรรค พปชร. อย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เช่น ในกรณี ร.อ.ธรรมนัสออกมาพูดว่าในกรณีที่ไปนั่งเทียนเข้ากับพรรคเล็ก หรือการบอกว่า พล.อ.ประวิตร พร้อมจะเป็นนายกฯ ลักษณะดังกล่าวก็จะเป็นการท้าทายในส่วนของนายกฯ

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ออกมาตอบโต้โดยตรง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ มีนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มาตอบโต้เหมือนเป็นผู้แทนนายกฯไปเรียบร้อยแล้ว ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ความขัดแย้งกับ พล.อ.ประวิตร หรือว่าคำพูดของ ร.อ.ธรรมนัสมันเกินจริงไปหน่อย ซึ่งตรงนี้ต้องมองให้เห็นว่าความสั่นคลอนของรัฐบาล เกิดจากความขัดแย้งในกลุ่ม 3 ป. ถ้ามองกลับไปว่าแบบนี้พรรคเล็กถือว่าเป็นตัวแปรอะไรไหม ในความเห็นของผมนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของพรรคเล็กที่จะพยายามรวมกลุ่มกันและบอกว่าตัดสินใจโหวตไม่เป็นไปทางเดียวกับรัฐบาล แต่ทุกครั้งที่เห็นในการโหวต พรรคเล็กไม่ได้โหวตในลักษณะที่ตรงกันข้ามกับรัฐบาล และยิ่งฝ่ายรัฐบาลค่อนข้างมั่นใจในระดับหนึ่ง เช่น โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาตอบพรรค พท.ว่า ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้หรอกเป็นแค่คำขู่ ทำให้พบว่าการอภิปรายที่น่าจะเกิดในปลายเดือนนี้ อาจจะไม่ได้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลขนาดนั้น และประเด็นเรื่องพรรคเล็กก็ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ด้วย เป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นตลอดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ปัญหาคือ ไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่อาจจะต้องมองภาพใหญ่นั้นคือการมีรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองหลายๆ พรรคแบบนี้ทำให้รัฐบาลที่แม้จะอยู่ในอำนาจตลอด 3-4 ปี หลังจากการเลือกตั้งปี 2562 แต่ไม่มีเสถียรภาพเลย แล้วหลังจากนี้อาจจะได้มีการเลือกตั้งปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ยังอยู่ภายใต้กติกาที่อาจจะนำไปสู่รัฐบาลที่ต้องรวมหลายๆ พรรคเข้ามา และมีแนวโน้มที่จะได้รัฐบาลที่หน้าตาไม่ต่างจากเดิมมาก ก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ยังอยู่ มีสิทธิโหวตนายกฯถึง 5 ปี ตรงนี้พบว่าเสถียรภาพของรัฐบาลและปัญหาในเชิงโครงสร้างในรัฐธรรมนูญยังเป็นปัญหาหลักมากกว่า การเกิดขึ้นของพรรคเล็ก หรือการเกิดขึ้นของกลุ่มพรรค พปชร.ที่แตกออกมาเป็นเพียงผลของปัญหาในเชิงโครงสร้างมันอยู่ในตัวรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นจะเห็นปัญหาอย่างนี้เรื่อยๆ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ปัญหาพวกนี้จะแก้อย่างไร ไม่ได้แก้ที่ตัวนักการเมือง ไม่ได้แก้ที่ตัวพรรคเล็กหรือการต่อรองทางการเมือง ปัญหาต้นทางจริงๆ มันคือตัวโครงสร้างคือตัวรัฐธรรมนูญ

Advertisement

สำหรับประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์อาจตัดสินใจลาออกหรือยุบสภานั้นเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ก่อนฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรื่องนี้ถ้าติดตามการเมืองจะพบว่ามีข่าวว่าจะมีความพยายามที่อาจจะได้เลือกตั้งเร็ว ก่อนจะประชุมเอเปค อาจจะมีการยุบสภาเลยหลังจากมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญออกมาเพราะว่าจะเริ่มเห็นกระแสของนักการเมืองที่ลงพื้นที่ และนักการเมืองคนไหนที่ช่วงนี้กำลังจะย้ายพรรคต้องรีบย้ายเพราะมีเงื่อนไขเวลาอยู่ หลังจากยุบสภาในระยะ 30 วัน หรือ 90 วัน ผมก็มองว่าเป็นส่วนหนึ่ง เรียกว่ามีความเป็นไปได้ แต่โดยส่วนตัวของผมไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นเร็วขนาดนั้น ก็ยังเชื่อว่าไม่ปลายปีก็เป็นต้นปีหน้า เพราะอย่างน้อยที่สุดมันมีสิ่งสำคัญคือการที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลต้องสามารถประกันชัยชนะได้ อย่างน้อยที่สุดในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม ต้องมีการจัดโผโยกย้ายทางข้าราชการ ทั้งทหาร ตำรวจ และข้าราชการฝ่ายปกครอง ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือกลไกที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการเลือกตั้ง อย่างน้อยที่สุดต้องผ่านเงื่อนไขตรงนั้นไปก่อน การโยกย้ายตำแหน่งสำคัญต่างๆ ทำให้อย่างน้อยที่สุดเมื่อยุบสภาไปแล้ว มีกลไกของรัฐที่จะการันตีได้ในระดับหนึ่งว่าฝ่ายที่จะเป็นรัฐบาลในปัจจุบันยังสามารถรักษาความได้เปรียบไว้ได้อยู่ การยุบสภาในเดือนมิถุนายน ยังเห็นว่ายังคงอาจยังไม่น่าจะใช่เท่าไร แม้ว่าจะมีข่าวออกมา

ส่วนเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์จะแก้เกมโดยการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ คิดว่า ครม.ยังคงเก็บไว้แบบนี้ ยังคงรักษาสภาพของรัฐบาลให้เลยผ่านพ้นในช่วงการโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการและกลไกรัฐสำคัญและอาจจะมีการยุบสภาปลายปี ผมมองเป็นอย่างนั้นมากกว่า เพราะอย่างน้อยที่สุดรัฐบาลสามารถที่จะสร้างกลไกรัฐที่สร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้งได้

อย่างไรก็ตาม พรรค ศท. ถ้ามองคนที่อยู่ข้างหลังพรรคจริงๆ ก็เป็นกลุ่มเดียวที่เข้าร่วมรัฐบาลตั้งแต่แรก การสร้างกระแสข่าวเรื่องเกี่ยวกับทั้งพรรคเล็ก ทั้งพรรค ศท. ในเกมส่วนหนึ่งก็เป็นเกมของพรรค พท. ส่วนในเกมอีกด้านหนึ่งก็เป็นเกมของพรรคขนาดเล็กที่ต้องการตั้งราคาเพิ่มการต่อรองให้ตัวเองด้วย ผมคิดว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี่เป็นเกมสำคัญของพรรคเล็กอยู่แล้ว ในเมื่อตัวเองไม่ได้เข้าถึงในตำแหน่งตัดสินใจ ที่เป็นรัฐมนตรีต่างๆ การเจรจาต่อรองทั้งหลายจึงต้องมาทำในฝ่ายนิติบัญญัติแทน เพราะตัวเองไม่ได้รับตำแหน่งในฝ่ายบริหารของรัฐมนตรีพวกนี้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเกมของพรรคเล็กที่จะเพิ่มอำนาจในการต่อรองของตนเอง

รศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

การพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล เป็นกระบวนการที่พรรคการเมืองต่างๆ ร่วมแชร์ผลประโยชน์ การไม่ผ่านงบประมาณจะนำไปสู่ปัญหาที่น่ากังวลใจของประเทศไม่เพียงต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่รวมถึงพรรคการเมืองและนักการเมืองทุกคน อาจถูกมองในด้านลบได้ว่าประเทศยังต้องการการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน แต่กลับมาเล่นเกมใช้งบประมาณเป็นตัวประกัน อาจเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดี อย่างไรก็ตาม กระบวนการตรวจสอบอย่างเข้มงวด จะทำให้ภาพลักษณ์ของฝ่ายค้านดีขึ้น และมีประโยชน์ต่อสนามการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ส่วนกรณีพรรคเล็ก ถือเป็นพรรคที่สนับสนุนเขาก็ได้รับบางอย่าง แต่ยังไม่น่าจะพอเพียงเพราะอาจเป็นปีสุดท้ายที่จะสามารถมีชีวิตรอด เมื่อถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจไม่รอด ดังนั้น การต่อรองของพรรคเล็กเพื่อให้มีคุณค่ามากขึ้นอาจเป็นความสำคัญในปีสุดท้ายนี้

กรณีกฎหมายลูกหากผ่านแล้วหมายความว่าการจัดการเลือกตั้งตามแนวทางใหม่จะเกิดขึ้น แต่พฤติกรรมทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ตลอด 8 ปี ไม่เคยคิดว่าตนเองจะถึงจุดจบอย่างง่ายๆ ดังนั้น การลาออก น่าจะเป็นความคิดในข้อสุดท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะถ้าดูการร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้เป็นเงื่อนไขของการรักษาอำนาจในยุค คสช. การเลื่อนหรือยืดการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงปี 2562 ได้ คือการรักษาอำนาจแบบเผด็จการทหารที่จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ใช้มาแล้ว เป็นกลยุทธ์ธรรมดา เพราะวิธีคิดของฝ่ายผู้นำทหารคือการหายุทธวิธีรักษาอำนาจ โดยไม่สนใจภาพรวม ทั้งนี้ เผลอๆ พล.อ.ประยุทธ์อาจไปยุบสภาหรือลาออกก่อนสิ้นวาระประมาณสัก 2 สัปดาห์

ส่วนการปรับ ครม. ของรัฐบาลทหารเป็นเครื่องมือในการระดมเสียงสนับสนุนในสภา เพราะฝ่ายทหารหลังจากต้องเล่นเกมเลือกตั้ง มี ส.ส.ในสภาแล้ว จะใช้สิ่งนี้เป็นเหมือนชามข้าวระดมคนมากินร่วมกัน ศัพท์สมัยก่อนเรียกว่า เคาะกะละมัง ดังนั้น เกมการปรับ ครม. คือการเคาะกะละมังที่จะทำให้พรรคที่คิดว่าอยากไปในโค้งสุดท้ายเพื่อแต่งหน้าแต่งตัวให้ตนเองดูดีขึ้นก็ไม่กล้าไป เพราะการเป็นพรรครัฐบาลจนถึงวินาทีสุดท้ายหมายความว่าแต่ละพรรคยังมีอำนาจในการคุมกระทรวงที่ตนเองดูแล ที่มีงบประมาณและกลไกของระบบราชการที่จะให้ได้ประโยชน์ในสนามการเลือกตั้งได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image