‘ยุทธศักดิ์’โชว์พิมพ์เขียว แผนปลุกเที่ยวอันดามัน

‘ยุทธศักดิ์’โชว์พิมพ์เขียว แผนปลุกเที่ยวอันดามัน หมายเหตุ - นายยุทธศักดิ์ สุภสร

หมายเหตุนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงรายละเอียดร่างแผนพัฒนาและฟื้นฟูการท่องเที่ยวอันดามันอย่างยั่งยืน ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม และอยู่ระหว่างพิจารณาเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่

แผนดังกล่าวยังเป็นเพียงร่างของแผนเพื่อเสนอ ศบศ.พิจารณาและอนุญาตให้จัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ เนื่องจากทั้ง 3 จังหวัดมีความพร้อมในการรองรับการท่องเที่ยวที่มีหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัด แต่ยังขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพื้นที่ ก่อให้เกิดปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนไม่สามารถสร้างมูลค่าให้การท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน

สถานะของทั้ง 3 จังหวัด มีจุดเด่นหลักๆ คือ แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลสวยงาม มีชื่อเสียง บริการที่พักและโรงแรมมีความหลากหลาย มีโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศยานที่ทันสมัย ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในพื้นที่มีศักยภาพเกื้อหนุนกัน มีจุดขายด้านแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งที่เชื่อมโยงกันระหว่างภูมิภาค เน้นการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ข้อด้อยคือ ไม่มี Man-made ที่มีชื่อเสียงใหม่ๆ โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการคมนาคมไม่เชื่อมโยงกัน ความสะอาดและปลอดภัยยังไม่ได้มาตรฐาน มีการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ปัญหานักท่องเที่ยวล้น หรือ Overtourism ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ โครงสร้างทางเศรษฐกิจพึ่งพาแต่การท่องเที่ยว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่นอกระบบ คุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้า (Value Proposition) ไม่สอดคล้องส่งเสริมกัน ไม่สามารถดึงความต้องการจ่ายออกมาได้เต็มที่

แนวนโยบายและความคาดหวังของพื้นที่เพื่อไปสู่Amazing Thailand, Amazing Andaman เมืองท่องเที่ยวแห่งความสุข มีความยั่งยืน และแบ่งปันแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1.ความน่าดึงดูดใจ (Attractiveness) ผ่านการใช้จุดเด่นจากทรัพยากรท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งที่มีชื่อเสียง รวมทั้งเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีคุณภาพ ยกระดับบริการท่องเที่ยว และธุรกิจต่อเนื่องให้มีคุณภาพสูง โดยใช้หลักการท่องเที่ยวอย่างมีความสุขและรับผิดชอบ และธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง

Advertisement

2.การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ใช้มาตรฐานความสะอาด ความปลอดภัย และประสบการณ์จากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เป็นหลักการสำคัญในการปรับปรุงและพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยวให้สามารถรองรับแนวโน้มการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป ใช้ BCG Model ในการแก้ปัญหา Overtourism การขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภค และปัญหาสิ่งแวดล้อมยึดหลัก Resilience และในการพัฒนาธุรกิจและบุคลากร ใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัล ในการพัฒนาพื้นที่และการท่องเที่ยวทั้งระบบ รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว

และ 3.กระจายการเติบโตอย่างทั่วถึง (Inclusive Growth) โดยจะเปิดโอกาสให้พื้นที่มีส่วนร่วมตามระดับศักยภาพและความเข้มแข็ง ในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงถึงกันทั้งในมิติของเส้นทางการท่องเที่ยว หรือการเชื่อมโยงแบบกลุ่ม สนับสนุนสาขาเศรษฐกิจที่มีศักยภาพและเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาการท่องเที่ยวมากเกินไป และตอบโจทย์แนวโน้มการท่องเที่ยวในช่วงต่อไป

ยุทธศาสตร์ที่จะใช้เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย ได้แก่ 1.ส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง (High quality products and services) ผ่านการพัฒนาบริการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง โดยเน้น World Class Wellness Tourism ที่เชื่อมโยงทั้งสามพื้นที่ ยกระดับการท่องเที่ยวเดิม ใช้หลักการท่องเที่ยวอย่างมีความสุขและรับผิดชอบ ส่งเสริมการลงทุนและแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรค จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดแบบมุ่งเป้าโดยให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวคุณภาพ และการจัดกิจกรรมระดับโลก

Advertisement

2.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีความพร้อม มีคุณภาพ มาตรฐาน และเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ (Standardized and integrated infrastructures) โดยการพัฒนาท่าเรือ และโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมอย่างมียุทธศาสตร์ ได้มาตรฐาน และเพียงพอ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงทางน้ำภายในกลุ่มจังหวัด พัฒนาโครงข่ายการคมนาคมให้เชื่อมโยงและมีคุณภาพ สามารถรองรับรูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปได้ ยกระดับระบบขนส่งสาธารณะ อาทิ แท็กซี่ ให้มีมาตรฐานและมีความเป็นธรรม พัฒนาระบบการจัดเก็บและเชื่อมโยงฐานข้อมูลของภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ให้เกิดข้อมูลกลาง เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนการพัฒนาการท่องเที่ยว และสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว

3.พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของชุมชนและธุรกิจรายย่อย (Local business enhancement) ผ่านการยกระดับมาตรฐานด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยอย่างครบวงจรให้ได้มาตรฐานสากล ให้กับแหล่งและสถานประกอบการท่องเที่ยว พัฒนากำลังคนในชุมชนและภาคการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมและบริการที่มีศักยภาพ โดยให้ความสำคัญกับทักษะด้านภาษาและการบริการ ส่งเสริมให้ท้องถิ่นและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมและบริการการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงเชื่อมโยงธุรกิจสู่ชุมชนอย่างเหมาะสมและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

4.ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของจังหวัด ให้สนับสนุนและเชื่อมโยงระหว่างกันภายในคลัสเตอร์ (Cluster oriented) โดยจะต้องผลักดันการเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าด้านอาหารในกลุ่มจังหวัดอันดามัน ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแนวคิด อันดามัน Go Green โดยให้ทั้ง 3 จังหวัดเป็นต้นแบบ และต่อยอดสู่จังหวัดอื่นๆ ส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวในรูปแบบของกลุ่มจังหวัด

5.ยกระดับการบริหารจัดการพื้นที่ให้มีคุณภาพและความยั่งยืน ผ่านนวัตกรรมสมัยใหม่และการมีส่วนร่วมของพื้นที่ (Sustainability & innovation focused) โดยการประยุกต์ใช้ BCG Model และนวัตกรรมสมัยใหม่ในการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อส่งเสริมแนวทางการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบ โดยเฉพาะด้านการจัดการข้อมูลขยะน้ำเสียและน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด หรือกำหนดแนวปฏิบัติร่วมกันทุกภาคส่วน ในการแก้ไขปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่

กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการดึงดูดให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดเหล่านี้จะเน้นเป็นลูกค้าและนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีความเต็มใจในการใช้จ่าย สามารถใช้จ่ายได้สูงเพราะมีกำลังซื้อสูง รวมถึงมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เต็มใจจ่ายเพิ่มเพื่อตอบสนองคุณค่า ประสบการณ์ และการสร้างสังคมสุขภาวะ อาทิ กลุ่มมิลเลนเนียล กลุ่มคู่รักสร้างประสบการณ์ฮันนีมูน กลุ่มผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดี ใช้เทคโนโลยีได้ และต้องการท่องเที่ยว (Active Senior)

โดยที่ผ่านมาประเทศไทยถือเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยมีภาพลักษณ์ในฐานะจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและใส่ใจในความยั่งยืน การท่องเที่ยวไทยมีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวรูปแบบเฉพาะ อาทิ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เชิงเกษตร เชิงการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพ เชิงอาหารและวัฒนธรรม เชิงธุรกิจและเชิงกีฬา รวมถึงการท่องเที่ยวไทยมีกิจกรรมที่หลากหลาย พร้อมทั้งมีบริการที่ได้มาตรฐานสากล สามารถเพิ่มมูลค่าและดึงดูดนักท่องเที่ยวเป้าหมายทั้งไทยและต่างชาติที่มีคุณภาพ และมีความเต็มใจจ่ายสูง

แหล่งท่องเที่ยวไทยได้รับการดูแลรักษาให้มีความยั่งยืน และเน้นคุณค่าอย่างเหมาะสมกับพื้นที่ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยจะต้องทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวมีสัดส่วนการกระจายตัวสู่เมืองรองในทุกภูมิภาค และกระจายตัวสู่ชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่มากขึ้น ผ่านการเพิ่มมูลค่าด้วยการสร้างอัตลักษณ์ของพื้นที่อย่างเต็มศักยภาพ

แนวทางความร่วมมือกับภาคเอกชน และประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาและยกระดับสู่ World Class Wellness Tourism Destination โดยมีโครงการที่เตรียมการไว้แล้วในแผน อาทิ การร่วมมือกับโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ภายใต้โครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก (หาดไม้ขาว) วงเงิน 1,411.7 ล้านบาท ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ภายใต้โครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน วงเงิน 5,116 ล้านบาท ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ จัดงาน Specialized EXPO 2028 Phuket Thailand วงเงิน 4,180 ล้านบาท

เป้าหมายของแผนดังกล่าวคือ เศรษฐกิจที่สร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน โดยมี 4 กุญแจสำคัญ ได้แก่ 1.เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2.สังคมแห่งโอกาส และความเสมอภาค 3.วิถีชีวิตที่ยั่งยืน และ 4.ปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ โดยมีหมุดหมายสำคัญ 13 ด้าน ได้แก่ 1.เกษตรและเกษตรแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม 2.การท่องเที่ยวเน้นคุณค่า 3.ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 4.การแพทย์และสุขภาพแบบครบวงจร 5.ประตูการค้า การลงทุน และโลจิสติกส์ 6.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบริการด้านดิจิทัล 7.เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน 8.พื้นที่และเมืองมีความเจริญ ทันสมัย และน่าอยู่ 9.ความยากจนข้ามรุ่นลดลง และความคุ้มครองทางสังคมเพียงพอ เหมาะสม 10.เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ 11.การลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 12.กำลังคนที่มีสมรรถนะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และ 13.ภาครัฐสมรรถนะสูง

ข้อเสนอแนะการขับเคลื่อนแผน โดยมีคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) เป็นคณะกรรมการหลักในระดับนโยบาย และมีคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวประจำเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน เป็นแกนกลางในการประสานการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ รวมถึงจัดตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนา และฟื้นฟูการท่องเที่ยวอันดามันอย่างยั่งยืน ภายใต้ ท.ท.ช.เป็นกลไกขับเคลื่อนและกำกับติดตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image