8ข้อเสนอแนะภาคธุรกิจเอแบก สู่เวที‘เอเปค ซัมมิท 2565’

หมายเหตุสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ประจำปี 2565 (ABAC 2022) แถลงข่าวการจัดประชุมเพื่อเป็นข้อเสนอแนะในหัวข้อ “ความท้าทายทางเศรษฐกิจแห่งเอเชีย-แปซิฟิกที่สำคัญในวันนี้ และเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจของภูมิภาค” เพื่อเสนอต่อเวทีการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปคซัมมิท) 2565 ระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

สุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2565 (ABAC 2022)

เอแบกก่อตั้งขึ้นโดยผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ในปี 2538 เพื่อเป็นกระบอกเสียงหลักของธุรกิจในกลุ่มเอเปค จะมีการประชุมร่วมกันปีละ 4 ครั้ง เพื่อเตรียมพร้อมในการนำเสนอข้อเสนอแนะต่อผู้นำในการเจรจา โดยเอแบกมีสมาชิกในเขตเศรษฐกิจ 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ 1.ออสเตรเลีย 2.บรูไนดารุสซาลาม 3.แคนาดา 4.ชิลี 5.จีน 6.ฮ่องกง 7.อินโดนีเซีย 8.ญี่ปุ่น 9.เกาหลี 10.มาเลเซีย 11.เม็กซิโก 12.นิวซีแลนด์ 13.ปาปัวนิวกินี 14.เปรู 15.ฟิลิปปินส์ 16.รัสเซีย 17.สิงคโปร์ 18.ไชนีสไทเป 19.ไทย 20.สหรัฐอเมริกา และ 21.เวียดนาม ในปี 2565 เอแบกกำลังดำเนินโครงการงานภายใต้หัวข้อ“Embrace. Engage. Enable” เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายในความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

Advertisement

ประเทศไทยยึดหลัก 3 องค์กรที่รวมอยู่ในคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยการประชุมที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 4 ต่อเนื่องจากสิงคโปร์ แคนาดา และเวียดนาม โดยเตรียมนำ 8 ข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับการรวมกลุ่มภูมิภาคและศักยภาพของธุรกิจทุกขนาด ยื่นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีการค้าเอเปควันที่ 21-22 พฤษภาคม

ทั้ง 8 ข้อเสนอแนะ ได้แก่ 1.การเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคระบาดในอนาคต 2.การตระหนักถึงการวางแนวทางเพื่อบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP 3.สนับสนุนองค์การการค้าโลกและระบบการค้าแบบพหุภาคี 4.การสร้างความเข้มแข็งให้กับการค้าบริการ 5.การเปิดด่านชายแดนอีกครั้งด้วยการเดินทางที่ปลอดภัยและราบรื่น 6.การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ผ่านมาตรการทางการค้าและเศรษฐกิจ 7.การพัฒนาธรรมาภิบาลด้านดิจิทัลให้สูงขึ้น และ 8.การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย หรือ MSMEs ในตลาดต่างประเทศ

ในการประชุมครั้งนี้จะเน้น 5 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ 2.การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 3.การเงินและเศรษฐกิจ 4.ความยั่งยืน การสร้างความยั่งยืนทั้งในปัจจุบันและอนาคต 5.ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย เป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังพยายามเน้นการเปิดประเทศและการค้าเสรี เพื่อให้ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจสามารถทำการค้าขายระหว่างกันได้อย่างสะดวก เพราะการระบาดโควิด-19 ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ ส่งผลต่อการเดินทาง ตอนนี้จึงอยากให้ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจควรจะเปิดเดินทางระหว่างกันได้แล้ว

Advertisement

สิ่งที่เป็นกังวลในการเปิดประชุมเวทีนี้คือ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน อาทิ รัสเซียอาจไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เพราะสมาชิกของรัสเซียถูกแซงก์ชั่น (คว่ำบาตร) เนื่องจากครั้งที่ผ่านมาเป็นการเปิดประชุมที่แคนาดา และแคนาดาไม่อนุญาตให้รัสเซียเข้าร่วมประชุม แม้แต่การประชุมออนไลน์ ซึ่งถือเป็นข้อจำกัด ส่วนไทยคาดว่าจะเปิดประชุมและเข้าร่วมได้ตามปกติ เพราะไทยไม่ได้ร่วมแซงก์ชั่น โดยเบื้องต้นมองว่า ไม่ควรนำเรื่องการเมืองเข้ามายุ่งเรื่องเศรษฐกิจ รวมถึงการคว่ำบาตรระหว่างกัน โดยเฉพาะในเวทีการประชุมโลกแบบนี้

งานประชุมที่สำคัญในปี 2565 จะมี 2 งาน ได้แก่ 1.การประชุมคณะกรรมการเอแบกที่หารือกันก่อน เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอให้กับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะมีผู้บริหารสูงสุดของรัฐเข้าร่วมด้วย และ 2.งานประชุมซีอีโอซัมมิท ที่จะมีการหารือแลกเปลี่ยนมุมมองด้านธุรกิจและความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อพัฒนาบทสรุปคำแนะนำประจำปีที่จะยื่นเสนอต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เพราะทุกประเทศให้ความสำคัญกับสมาชิกเอแบกและเอเปค

การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการตอกย้ำความยึดมั่นต่อประชากรกว่า 4.3 พันล้านคนของภูมิภาค และความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกัน เนื่องจากเอแบกประกอบด้วยสมาชิกหลักจำนวน 63 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยผู้นำของแต่ละเขตเศรษฐกิจ (3 คนต่อหนึ่งเขตเศรษฐกิจ จาก 21 เขตเศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิก) โดยเป็นการเปิดรับโอกาสการกลับมาร่วมประชุมของผู้นำภาคเอกชนในสถานที่จริง (Onsite) เป็นปีแรกนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2563

เอแบกไม่เพียงแต่เป็นตัวแทนของภาคธุรกิจจาก 21 เขตเศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิกเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวแทนของประชาชน ความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ อาทิ เหตุโรคระบาด และเหตุการณ์ระหว่างประเทศ ได้สร้างผลกระทบไปทั่วโลก ทั้งด้านการดำเนินธุรกิจ ด้านวิถีชีวิตของผู้คน และด้านการเติบโตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยเหตุนี้ร่วมมือระหว่างสมาชิกจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อพัฒนาบทสรุปคำแนะนำที่สะท้อนความต้องการของผู้คนในภูมิภาคอย่างแท้จริง และนำยื่นเสนอต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในช่วงปลายปี 2565

เอแบกได้ผ่านวาระการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง คือครั้งที่ 1 เมื่อวันที่15-18 กุมภาพันธ์ ณ ประเทศสิงคโปร์ และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25-28 เมษายน ณ เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา โดยการประชุมครั้งที่ 3 จะมีขึ้นในวันที่ 26-29 กรกฎาคม ณ ประเทศเวียดนาม ส่วนการประชุมครั้งที่ 4จะมีขึ้น ณ วันที่ 13-16 พฤศจิกายน ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

กอบศักดิ์ ดวงดี
ผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2565 ไทย

เศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคจะหมุนเวียนและเติบโตได้อย่างก้าวหน้าก็ต่อเมื่อมีการค้าดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ ไหลลื่น มีเสถียรภาพ เชื่อถือได้ บริหารจัดการได้จากทุกที่ และใช้งานได้อย่างครอบคลุมทั่วถึงทุกเขตเศรษฐกิจ โดยเอเปคจำเป็นต้องผลักดันด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) และโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล (Data infrastructure) เพื่อยกระดับความสามารถ และสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจภายในภูมิภาคนี้รวมถึงการเชื่อมโยงระบบในภูมิภาค โดยเฉพาะทั้ง 21 เขตพิเศษ ผ่านการกำหนด 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การเร่งรัดความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ในการดูแลเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติ การหาแหล่งเงินทุนไว้สนับสนุน ที่ไม่เพียงให้ภาครัฐดูแลเท่านั้น แต่จะต้องให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

2.การสนับสนุนด้านการเงิน สู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่เป็นเรื่องสำคัญของทั่วโลกรวมถึงไทยด้วย และ 3.การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีและสนับสนุนระบบการเงินดิจิทัล

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์
ประธานเอเปค ซีอีโอ ซัมมิท 2565
ผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2565 ไทย

ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพเอเปค ซีอีโอ ซัมมิท เมื่อปี 2546 และในปี 2565 จะมีขึ้นอีกครั้งที่ประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “EMBRACE ENGAGE ENABLE” โดยจะเป็นการจัดงานในสถานที่จริงเป็นครั้งแรก หลังจากที่มีการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความพร้อมในการต้อนรับผู้นำด้านธุรกิจ วิทยากรชั้นนำของโลกและซีอีโอกว่า 1,500 คน จากทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่จะเดินทางมาแลกเปลี่ยนมุมมองด้านเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปโปรแกรมที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565 จะประกอบด้วยการอภิปราย การนำเสนอ และการเจรจาในประเด็นต่างๆ ซึ่งจะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม

การประชุมที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ จะดำเนินการประชุมเพื่อผลักดันความก้าวหน้าของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกทั่วทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ โดยคำแนะนำที่มีความเร่งด่วนสูงสุดมี 3 ประการ คือ 1.ด้านความมั่นคงด้านอาหาร 2.ด้านดิจิทัล และ 3.ด้านการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เนื่องจากความท้าทายต่างๆ ในวันนี้ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของประเด็นความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน และความจำเป็นที่เราจะต้องเร่งพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) และมีระบบอาหารที่ยั่งยืน มีผลิตภาพ และโปร่งใสมีสมดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่พลังงานและอาหารมีราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงจะมีการเชิญประธานและผู้บริหารบริษัทใหญ่ๆ ใน 21 เขตเศรษฐกิจเข้ามาประชุมหารือร่วมกัน เพื่อเสนอความคิดเห็นว่าต้องการอะไรจากเอเปค ต้องการให้แก้ไขปัญหาอะไรในเชิงเศรษฐกิจและการลงทุนบ้าง รวมถึงเชิญผู้นำภาครัฐของแต่ละประเทศใน 21 เขตเศรษฐกิจมาร่วมหารือด้วย ปีนี้ถือเป็นปีที่พิเศษมากเพราะกว่า 3 ปีมาแล้ว ที่ไม่ได้มีการประชุมจริงในพื้นที่แบบนี้

มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์
ผู้แทนสำรองสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2565 ไทย

ข้อตกลงการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP เป็นเรื่องที่เอเปคให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของ APEC Putrajaya Vision 2040 (วิสัยทัศน์ปุตราจายา) มีความเชื่อมั่นว่าการส่งเสริมระบบการค้าแบบเปิดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และการขจัดมาตรการกีดกันทางการค้า จะนำมาซึ่งการเจริญเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืนและครอบคลุมมาสู่ทุกเขตเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมถึงจะช่วยเพิ่มมาตรฐานการครองชีพของประชาชนในภูมิภาคเอเปคต่อไป

ข้อตกลงการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในครั้งนี้ จะต้องดำเนินการให้เกิดขึ้นได้ภายในระยะสั้นๆ 1-3 ปีนี้ รวมถึงระยาวใน 3-5 ปีข้างหน้า โดยวาง 2 กรอบคือ วิสัยทัศน์ และดำเนินการ มี 5 เรื่องหลัก ได้แก่ การพัฒนากรอบการค้าเสรีที่ยังมีปัญหา และพัฒนากันไม่จบไม่สิ้น ต้องเร่งพัฒนากรอบที่มีปัญหา ส่วนกรอบที่ดีก็สนับสนุนให้ดีขึ้นอีก ส่วนกรอบดำเนินการ มีคุยกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะต้องเร่งให้เกิดขึ้น เนื่องจากมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการทั้งหมด ทั้งรายใหญ่ รายย่อย รวมถึงการมีส่วนร่วม ที่อาจไม่ได้เป็นประเด็นนักในประเทศ แต่บางเขตเศรษฐกิจมีการให้ความสำคัญกับชนกลุ่มน้อย สตรี และธุรกิจขนาดเล็กที่เป็นรายใหม่ๆ เพราะในบางประเทศการมีส่วนร่วมของกลุ่มเหล่านี้ยังมีค้อนข้างน้อย

นอกจากนี้ มีเรื่องความยั่งยืนที่หารือกันเฉพาะแบบเจาะจง คือ พลังงานหมุนเวียน เป็นประเด็นวิกฤตของภูมิภาคนี้ และทั่วโลกด้วย รวมถึงภาคบริการที่ถือเป็นจุดแข็งของหลายเขตเศรษฐกิจในเอเปค และการระบาดโควิด-19 ต้องเปิดเรื่องนี้ให้มากขึ้น และใช้ระบบเทคโนโลยีในรูปแบบดิจิทัล ซิงเกิล วินโดวส์ เข้ามาช่วยเพื่อให้ติดต่อไปมาหาสู่กันทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจได้สะดวกมากที่สุด โดยการเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมเรื่องการค้าและการลงทุนภายใต้ความภาคภูมิใจของประเทศไทยกับวาระการเป็นเจ้าภาพการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2565 ที่สำคัญนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image