เข็น พ.ร.บ.งบฯผ่านสภา เดิมพัน‘บิ๊กตู่’-ไม่ผ่านจบเกม

หมายเหตุมุมมองนักวิชาการประเด็นสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566วงเงิน 3,185 ล้านล้านบาท ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายนนี้ ในวาระแรกรับหลักการจะส่งผลต่อรัฐบาลหรือไม่ และอย่างไร

รศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

การที่ฝ่ายค้านประกาศคว่ำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 มองว่าเป็นเรื่องยุทธวิธีทางการเมือง ในการอภิปราย พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยแนวทางที่ผ่านมา 3 ปี ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลนี้ยังดำเนินทิศทางนโยบายของการจัดสรรงบประมาณตามแนวทางเดิม ฝ่ายค้านอภิปรายโดยชี้ให้เห็นถึงจุดที่ควรแก้ไขปรับปรุง แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขตรงจุด เพราะว่าแนวทางของรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลทหาร น้ำหนักจึงไปอยู่ที่ความมั่นคงมากกว่าความมั่งคั่งและการช่วยเหลือประชาชน แต่ในครั้งนี้เป็นช่วงปีสุดท้าย ปัญหาของฝ่ายรัฐบาลอยู่ที่การแตกตัวของกลุ่มทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่แยกตัวออกมา ตรงนี้เองที่จะเป็นจุดที่เป็นวิกฤตทีเดียว เพราะที่ผ่านมานั้นเสียงของฝั่งรัฐบาลอยู่ค่อนข้างที่จะเลยกึ่งหนึ่งไปไม่มากนัก

Advertisement

ดังนั้น ครั้งนี้หากฝ่ายค้านสามารถที่จะจับมือกับกลุ่มที่แยกตัวออกมาจากพรรคร่วมรัฐบาลได้นั้นอาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญให้กับประเทศได้ รัฐบาลอาจจะถึงจุดจบได้ ไม่สามารถชี้ทิศทางของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) และกลุ่มพรรคเล็กได้อย่างชัดเจนมากนักว่าจะยกมือให้ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เพราะคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่พร้อมที่จะเจรจาและประนีประนอมกับฝ่ายเดิมของตนเองด้วยเช่นกันหากได้รับข้อเสนอที่น่าพึงพอใจ จึงยังไม่เห็นภาพว่าจะเป็นกลุ่มที่ปฏิเสธรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อย่างจริงจังแค่ไหน เพราะที่ผ่านมายุทธวิธีของฝ่ายรัฐบาลทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ใช้วิธีทำลาย ดูด ดึง ทำให้สมาชิกที่เคยอยู่สังกัดพรรคร่วมฝ่ายค้านถูกดูดมาอยู่พรรคร่วมรัฐบาล ดำเนินการแบบนี้มาตลอด เรื่องนี้อยู่ในเกมของการเมืองแบบรัฐทหารแบบยุคอดีตเลย อย่างไรก็ตาม หาก พ.ร.บ.งบประมาณปี’66 ไม่ผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออก เพราะเป็น พ.ร.บ.ที่สำคัญที่สุดของรัฐบาล เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์สูญเสียสถานภาพทางการเป็นรัฐบาล ต้องลาออกแล้ว

ศึกอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณปี’66 เป็นปีสุดท้ายของรัฐบาลนี้ ดังนั้น การโหมกระหน่ำของพรรคร่วมฝ่ายค้านนั้น ความสำคัญอยู่ตรงที่การทำให้ประชาชนเห็นอย่างชัดเจนว่า พรรคร่วมรัฐบาลที่มีนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งปี 2562 เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วไม่ได้ใช้นโยบายเหล่านั้นหรือทำให้เกิดการบรรลุผล คิดว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านควรจะตีตรงนี้และโหมกระหน่ำตรงนี้ และนำเรื่องนโยบายของพรรครัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคไปชี้ให้ประชาชนเห็นทุกเขตเลือกตั้งเลยว่า จะให้คนเหล่านี้มาหลอกลวงอีกครั้งหรือ ผมคิดว่านี่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่จะทำให้การเมืองไทยพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง ว่าอย่าคิดเพียงจะสร้างนโยบายโน่นนี่ แล้วไม่กระทำตามเมื่อได้เป็นรัฐบาล แต่พรรคฝ่ายค้านด้วยความที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลจึงไม่สามารถที่จะทำตามในสิ่งที่นำเสนอได้ ตรงนี้เข้าใจ แต่พวกที่เป็นรัฐบาลแล้วทำเฉยเมยกับนโยบายของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นพรรค พปชร. พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในด้านต่างๆ

ผมคิดว่าต้องตีให้เห็น ต้องตีกระหน่ำตรงนี้ ในแนวทางตรงนี้คือการทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้านได้รับความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น และจะเป็นเรื่องของการร่วมสร้างประชาธิปไตยว่าพรรคการเมืองจะต้องทำอย่างจริงจังต่อนโยบายที่ตนได้หาเสียงไว้

Advertisement

ผศ.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การฝ่าด่าน พ.ร.บ.งบประมาณปี’66 ของรัฐบาล เอาเข้าจริงๆ แล้วมีเงื่อนไขอยู่ 2 เรื่องคือ 1.ตัวเนื้อหาสาระ และความคุ้มค่าของตัวงบประมาณเอง ในการแจกแจงว่าจะให้ผ่านหรือไม่ผ่านอยู่ที่งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เมื่อมีคำถามแล้วรัฐบาลจะสามารถตอบได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะการพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กับประชาชนให้ครอบคลุมในทุกมิติ และทุกกลุ่มคนในสังคม และ 2.ในแง่ประเด็นทางการเมือง ในปัจจุบันจะเห็นว่ามีการพยายามต่อรองทั้งภายในพรรค และบางพรรคที่แยกตัวเองออกไปแล้วมาสร้างข้อต่อรองใหม่ นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ พ.ร.บ.งบประมาณผ่านหรือไม่ อยู่ที่เวลาโหวตจริงๆ เมื่อตอนจะผ่านร่างจะพบว่ามี ส.ส.ที่แอบไปแฝงฝังอยู่ในพรรคการเมืองอื่นแต่เป็นเครือข่ายอำนาจการเมืองเดียวกัน จะสามารถโหวตไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาลด้วยหรือไม่ นี่คือเงื่อนไขสำคัญ

ส่วน ร.อ.ธรรมนัสจะสามารถรวบรวมกำลังร่วมกับพรรคเล็กเพื่อประลองกำลัง หรือต่อรองกับทางรัฐบาลนั้น ตัว พล.อ.ประยุทธ์ กับกลุ่มการเมืองของ ร.อ.ธรรมนัสมีความบาดหมางค่อนข้างจะลึกซึ้งอยู่พอสมควร ดังนั้น ต้องดูว่าการเจรจาหรือการต่อรอง พ.ร.บ.งบประมาณไปแตะเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรีด้วยหรือไม่ หรือจะไปแตะที่งบประมาณของกระทรวง ทบวง หรือกรมใดกรมหนึ่งหรือไม่ แม้แต่กระทั่งเรื่องความพยายามที่จะใช้มาตรการ หรือนโยบายต่างๆ ที่จะไปบีบ หรือสกัดพรรคการเมืองใหม่ กลุ่มการเมืองใหม่ในเครือข่ายของ ร.อ.ธรรมนัสเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขอีกประการของกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส คือตัวกลางในการเจรจาอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พอเอาเข้าจริงแล้วจะสามารถยืนหยัด และรักษาสถานะการเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับ ร.อ.ธรรมนัสได้อยู่หรือไม่ แน่นอนว่าเมื่อก่อนจะเห็นภาพความแข็งแกร่ง แต่ปัจจุบันมีหลายเรื่องทำให้ พล.อ.ประวิตรเจ็บตัวเหมือนกัน ขณะที่พรรคเล็กท่าทีที่ผ่านมามีความโอนอ่อนผ่อนตามรัฐบาล พปชร. แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ภายใต้พรรคเล็กเองมีเครือข่ายของกลุ่มอื่นๆ ที่โอนเอียง หรือเรียกว่าปฏิปักษ์ภายในของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยหรือไม่ ต้องรอดูในช่วงการอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณ เพราะช่วงเวลาอภิปรายจริงๆ นี้จะเป็นช่วงของการต่อรอง ตรงนี้จะชี้ชัดได้อีกครั้งหนึ่ง

สุดท้ายแล้วร่าง พ.ร.บ.งบประมาณจะผ่านหรือไม่ มองว่าเป็นเดิมพันของทางรัฐบาลที่ค่อนข้างสูง ถ้าไม่ผ่านต้องลาออก หรือยุบสภา คิดว่าอย่างไรท้ายที่สุด 70% ต้องผ่านให้ได้ก่อน การล้มรัฐบาลเงื่อนไขที่มีไม่ใช่ว่ายุบสภาหรือลาออกแล้วจะออกเลย แต่มีเงื่อนไขของรัฐบาลรักษาการ จะทำให้การเมืองไทยเข้าไปสู่ห้วงที่ยุ่งยากอีกครั้งหนึ่งด้วยเช่นกัน ถ้าสมมุติ พ.ร.บ.งบประมาณปี’66 ผ่าน ประชาชนจะได้รับผลกระทบแน่นอน โดยผลกระบใหญ่ที่สุดคือในแง่ของการเบิกจ่ายงบประมาณของกระทรวง ทบวง หรือกรมต่างๆ จะมีปัญหามาก ทั้งงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ งบโรงเรียนที่มีการเรียนการสอน หรืองบประมาณที่อัดฉีดการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ ฉะนั้น เป็นผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องเช่นกันในเรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณ ถ้า พ.ร.บ.งบประมาณไม่ผ่าน หรือเกิดการยุบสภาจริงๆ ระยะเวลาในการเบิกจ่ายจะต้องถอยร่นไปอีก จะทำให้มีปัญหากับการทำงานของหน่วยงานในระบบราชการ ถือเป็นผลกระทบที่ใหญ่มาก ไม่ใช่เพียงแค่ความมั่นคงหรือเสถียรภาพด้านการเมืองอย่างเดียว เพราะแม้กระทั่งเด็กก็จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากงบประมาณที่เกี่ยวกับกระทรวงศึกษา หรือการศึกษาที่ตอนนี้เรากำลังเปิดเทอม เด็กกำลังเพิ่งเรียนออนไซต์ ทั้งนี้ งบประมาณคือกลไกการเบิกจ่ายภาษีของระบบราชการให้ประชาชน นี่คือเดิมพันที่สูงเช่นกัน

ส่วนที่ถามว่า หาก พ.ร.บ.งบประมาณเกิดไม่ผ่านขึ้นมาจริงๆ นายกฯควรยุบสภา หรือลาออกนั้น ผมคิดว่าอยู่ที่เงื่อนไขของสถานการณ์ด้านการเมืองที่นายกฯต้องประเมิน โดยต้องตอบคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังยืนยันที่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือจะรับเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งในอนาคตหรือไม่ ต่อมาคือ การยุบสภาหรือลาออก พรรคที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลต้องประเมินว่ามีความได้เปรียบ หรือเสียเปรียบด้านการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย การใช้สรรพกำลังทุกอย่างให้ พ.ร.บ.นี้ผ่านไปให้ได้ก่อนเพื่อที่จะเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อทำคะแนนเสียงในการพัฒนาโครงการต่างๆ ให้มีคะแนนเสียงเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลทุกประเทศใช้วิธีแบบนี้กันเพื่อใช้งบประมาณเฮือกสุดท้ายให้ตัวเองจะได้มีผลงานไปหาเสียงเพื่อการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย

สำหรับที่ถามว่า หากนายกฯเลือกใช้วิธียุบสภาจะทำให้ส่งผลไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ เพราะกฎหมายลูกซึ่งเป็นกติกาที่จะใช้สำหรับการเลือกตั้งในอนาคตยังไม่ผ่านสภา ไม่ใช่เฉพาะแกนนำรัฐบาลอย่าง พปชร.เท่านั้นถ้าจะยุบสภา แต่ต้องมองไปที่พรรคที่เข้าร่วมรัฐบาลด้วยว่ามีความพร้อมในการเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน ที่น่าสนใจคือ ถ้ามีการยุบสภาจริงๆ ในอดีตการเมืองไทยจะมีการจับมือกันหลวมๆ ว่าในการเลือกตั้งจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ถ้าเป็นไปในกรณีแบบนี้จะมีแกนนำกลุ่มไหน หรือเครือข่ายพรรคไหนที่สัญญากันในลักษณะแบบนี้ด้วย ดังนั้น การยุบสภาคือทางออกเดียวที่จะช่วงชิงความได้เปรียบ-เสียเปรียบทางการเมือง และในปัจจุบัน ถ้าถามว่าอะไรคือปัญหาใหญ่ที่สุดของรัฐบาล แน่นอนว่า คือการเมืองกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยในรัฐบาลที่คุมไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image