สภาถกเดือดงบ3.1ล้านล. ‘บิ๊กตู่’ชง-‘ชลน่าน’ซัดไม่ตอบโจทย์

หมายเหตุพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำเสนอหลักการและเหตุผลการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน อภิปรายเสนอแนะ ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ วาระรับหลักการ ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

การดำเนินนโยบายการคลังในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2.49 ล้านล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 6.95 แสนล้านบาทรวมเป็นรายรับ จำนวน 3.18 ล้านล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย สำหรับฐานะการคลัง หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 มีจำนวน 9.95 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 70 โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาล ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรงและการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล มีจำนวน 9.47 ล้านล้านบาท

Advertisement

ฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เมษายน 2565 มีจำนวน 3.98 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนฐานะและนโยบายการเงิน การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมายังคงผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้มีความต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกินกรอบเป้าหมายจากราคาพลังงานและราคาอาหารที่ปรับสูงขึ้นมาก และจะปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป และกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงต้นปี 2566 จากราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะไม่ปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นในปี 2565 รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่จะบรรเทาลง ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย

สำหรับด้านระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีความเปราะบางขึ้นในบางกลุ่มจากปัญหาค่าครองชีพและต้นทุนที่มีการปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และมีภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง คณะกรรมการนโยบายการเงินจึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.50 ในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2565 เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมยังคงผ่อนคลาย และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ส่วนฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 22 เมษายน 2564 มีจำนวน 2.33 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 3.15 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

การจัดทำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รัฐบาลได้ดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2.39 ล้านล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 75.26 รายจ่ายลงทุน จำนวน 6.95 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.82 และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 1 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.14 ทั้งนี้ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 7 พันล้านบาท ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายในกรอบวินัยการเงินการคลัง

Advertisement

อย่างไรก็ตาม งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำแนกตามยุทธศาสตร์ได้6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1ด้านความมั่นคง รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 2.96 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.3 ของวงเงินงบประมาณ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3.96 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.4 ของวงเงินงบประมาณ ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 5.49 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.2 ของวงเงินงบประมาณ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ จำนวน 7.59 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.9 ของวงเงินงบประมาณ ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจำนวน 1.22 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.9 ของวงเงินงบประมาณ ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 6.58 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.7 ของวงเงินงบประมาณ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 4.02 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.6 ของวงเงินงบประมาณ

รายจ่ายงบกลางเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 9.59 หมื่นล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกัน หรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยา หรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง ภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ และการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว
ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

งบประมาณ 3.185 ล้านล้านบาท ที่ ครม.จะมาขอต่อสภาเพื่อนำไปใช้ ท่านอ้างว่าจะเอาไปพัฒนาประเทศ จะไปแก้ไขตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ฉะนั้น งบประมาณก้อนนี้มีความสำคัญ สภาไม่เคยปฏิเสธ 2 ปีที่ผ่านมา พรรคร่วมฝ่ายค้านส่วนใหญ่มีมติไม่เห็นชอบด้วยในวาระรับหลักการ แต่ก็เข้าใจว่ามีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณ มีข้อเสนอแนะ มีข้อติติง มีข้อสังเกตเพื่อเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2-3 และร่วมเป็นกรรมาธิการ เพื่อตอบสนองสิ่งที่รัฐบาลแถลงต่อสภา เพื่อแก้ปัญหาให้กับประเทศ แต่ความสำคัญของงบประมาณใน 2-3 ปีที่ผ่านมาบอกได้ว่าสิ่งที่รัฐบาลเสนอมาไม่เห็นความสำคัญของปัญหาประเทศ ไม่เห็นหัวประชาชน โดยเฉพาะผลสัมฤทธิ์ที่นำงบประมาณไปใช้ไม่ตอบโจทย์และไม่แก้ปัญหาประเทศ

ฉะนั้น งบประมาณปีนี้ 3.185 ล้านล้านบาท จึงมีความสำคัญที่จะพิจารณาอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะจะให้ผ่านในวาระรับหลักการเลยหรือไม่ จากการพิจารณาเอกสารงบประมาณทั้งหมด ตัวเม็ดเงิน แผนงาน โครงการ ประโยชน์ที่จะได้รับ ประกอบกับสถานการณ์ในประเทศขณะนี้ และคณะผู้บริหารงบประมาณคือ ครม. นายกฯ จะนำเม็ดเงินไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เรามีมติร่วมกันว่าไม่อาจรับหลักการได้ เพราะหากเรารับหลักการนั่นคือการทำลายประเทศ สู้เสียโอกาสไปบ้าง ใช้เวลาไม่มากแล้วนำเม็ดเงินเหล่านี้ไปจัดสรรใหม่ โดยงบประมาณแผ่นดินเป็นเครื่องมือสำคัญในการใช้ฟื้นฟูพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในยามที่ประเทศเกิดวิกฤต ไม่ว่าจะการระบาดด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ ประชาชนทุกข์ยากลำบากแสนสาหัส ตกงาน ลูกหลานไม่ได้เรียนหนังสือ สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาด ล้มเหลวของรัฐบาล โดยสถานะของประเทศขณะนี้อยู่ในสถานะวิกฤตที่ยิ่งใหญ่ แต่รัฐบาลกลับรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขาดการวางแผน ขาดความรู้ ความสามารถในการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น กลาง ยาว จึงเป็นเหตุให้ประเทศอยู่ในภาวะรายได้หด รายจ่ายแพง หนี้สินขยายตัวมาก

ส่วนการจัดสรรงบประมาณตอบโจทย์การแก้ปัญหานี้หรือไม่นั้น รัฐบาลกลับไม่ใช้โอกาสนี้ในการใช้เม็ดเงินที่มากเช่นนี้ในการแก้ปัญหาให้กับประเทศ โดยเหตุผลที่จะไม่รับหลักการคือ 1.เราไม่อาจอนุญาตให้รัฐบาลบริหารงบประมาณก้อนนี้ได้ต่อไป เพราะเป็นรัฐบาลหมดสภาพ ไม่สามารถบริหารจัดการอะไรได้ ทั้งเรื่องของการบริหารจัดการ มาตรการที่จำเป็นต่างๆ ขาดวิสัยทัศน์และนโยบายที่สำคัญ บริหารด้วยวาจา แก้ตัวโยนโทษให้คนอื่น ที่สำคัญคือพยายามที่จะเหนี่ยวรั้งหาโอกาสอยู่ต่อสืบทอดอำนาจ ท่านบอกว่าจะคืนความสุขให้ประชาชน ถามว่า 8 ปีที่ผ่านมานั้นมีหรือไม่ คืนความสุขให้แต่พวกพ้อง สิ่งที่น่าเสียใจที่สุด เมื่อท่านมาจากการยึดอำนาจก็มาแปลงร่างว่ามาจากประชาธิปไตยใช้กลไกแก้รัฐธรรมนูญจัดทำกติกาเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง ทำให้เป็นประชาธิไตยเพียงวาทกรรม แต่การกระทำยังยึดอำนาจเงียบ ยึดตัวเองเป็นใหญ่

นายกฯมีบุคลิกภาพแปรปรวนแบบนาซิซีติส หรือโรคหลงตัวเอง ตอนนี้กระแสประชาธิไตยฟีเวอร์เทคะแนนเกือบ 1.4 ล้านเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. จนเป็นสีเขียวทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะแค่ใน กทม. และเป็นคู่เทียบนายกฯยิ่งตอกย้ำคุณลักษณะผู้นำ เป็นนายกฯที่ขาด M คือ Money หาเงินไม่เป็น หารายได้ไม่เก่ง และไม่มี Empathy คือไม่มีภาพเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ พร้อมบวกทุกอย่าง แถมยังฝากมรดกหนี้ไว้ ทั้งหนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือน หนี้เสีย คนจนเพิ่ม ตกงานพุ่ง มาตรการซอฟต์โลนล้มเหลวเอกชนแห่ปิดกิจการ ล้มเหลวในประเทศและเวทีโลก ปล้นอำนาจประชาชน ไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้ บริหารประเทศขาดหลักนิติรัฐ นิติธรรม ไม่ยึดหลักกฎหมาย นายกฯเป็นกองปัญหาของประเทศ ควรเปลี่ยนผู้นำเพื่อพาประเทศ พ้นวิกฤต งบประมาณก้อนนี้สามารถเปลี่ยนนายกฯได้ หากสภาเห็นพ้องต้องกันลงมติไม่รับหลักการ ตนเชื่อมั่นว่า นายกฯจะมีจิตสำนึกรับผิดชอบในสิ่งที่ไม่สามารถบริหารประเทศได้ ควรยุบสภา หรือลาออก ไม่เช่นนั้นจะเป็นกับดักเราในอนาคต โดยมีการซ่อนงบไว้โดยรัฐบาลและผู้บริหารเม็ดเงิน

ร่างงบประมาณ ปี 2566 ถือเป็นทางตันทุกมิติ ที่ไม่สามารถนำไปสู่การตั้งงบประมาณที่ตามแบบแผน ตามนโยบายงบประมาณที่ถูกและเหมาะสม โดยนโยบายงบประมาณเป็นแบบขาดดุล เพราะบอกว่าจัดเก็บได้แค่ 2.49 ล้านล้านบาทเท่านั้น แต่ตั้งตัวเลขไว้ที่ 3.185 ล้าน ซึ่งที่เหลือต้องกู้มา และตัวเลขที่ขาดดุล ที่กู้มาอยู่ที่ 695,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดันเพดานวงเงินที่สามารถจะกู้ได้ โดยวงเงินที่สามารถกู้ได้ในการขาดดุลครั้งนี้มีแค่ 708,000 ล้านบาทเท่านั้น นอกจากจะเจอทางตันของการจัดงบประมาณ ปี 2566 แล้ว เมื่อไปดูรายละเอียดในการจัดลงกระทรวงต่างๆ แล้ว ยังไม่ตอบโจทย์ของประเทศ เนื่องจากประเทศอยู่ในภาวะวิกฤต แต่ท่านจัดแบบปกติ ไม่จัดลำดับความสำคัญให้ประเทศให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง จัดลำดับความสำคัญให้กับตนเอง และพวกพ้อง จึงเป็นงบประมาณที่สิ้นหวัง เช่น การตัดงบที่ควรจะให้ SMEs ไปเพิ่มให้งบด้านความมั่นคง โดยงบด้านความมั่นคงดูแลความปลอดภัยไซเบอร์เพิ่มขึ้นถึง 120% ทั้งนี้ ยังมีเรื่องงบที่ส่อโกง ไม่ว่าจะเป็นงบกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน แม้จะจำเป็นแต่วิธีการจัดสรรงบประมาณเปรียบเสมือนเป็นงบประมาณเรียกค่าไถ่ เพื่อให้อยู่ในอำนาจยาว

ขอให้ชี้แจงให้ประชาชนได้เห็น อย่าปล่อยให้เขาเรียกค่าไถ่จนนำพาประเทศออกจากวิกฤตไม่ได้ การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายสิ่งเหล่านี้ส่อเอื้อประโยชน์ในพื้นที่ของกลุ่มการเมือง ที่คาดว่าจะได้คะแนนนิยม ส่อโกงเพื่อประโยชน์ มีแต่งบสิ้นหวังทุกหน้ากระดาษ สิ่งที่เราไม่รับนั้น มีทางออก ประชาชนจะเจองบประมาณฉบับเพื่อไทย เพื่อออกวิกฤต ให้ประชาชนได้รู้ว่าเป็นความหวังจริงหรือไม่ เชื่อว่าจะเป็นคู่เทียบและเห็นภาพความแตกต่างชัดเจน เพื่อให้รัฐบาลชุดต่อไปที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นผู้จัดทำงบประมาณ เราไม่อาจรับหลักการร่างกฎหมายนี้ ที่จัดขึ้นโดย พล.อ.ประยุทธ์ได้ เราไม่เห็นชอบและไม่ต้องไปแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ เพราะต้องการให้ตกไปเลย เนื่องจากการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการไม่ได้เกิดประโยชน์ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้

ถ้างบฉบับนี้ไม่ผ่านชั้นรับหลักการ ท่านจะเป็นผู้คืนความสุขให้ประชาชน หากไม่เชื่อผม ขอให้ลองทำ และสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล หรือสมาชิกที่เป็นกลาง หากได้ฟังคำอภิปรายของผมโปรดมาช่วยกันในการลงมติไม่รับร่างงบฯ ฉบับนี้เพื่อสร้างโอกาส สร้างอนาคต สร้างความหวังให้กับประเทศชาติของเราต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image