จากภาคธุรกิจถึง‘ชัชชาติ’ แปลง214นโยบายสู่ปฏิบัติ

หมายเหตุเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะถึงนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต่อการดำเนินนโยบาย 214 ข้อ ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของกรุงเทพฯ

สนั่น อังอุบลกุล
ประธานกรรมการหอการค้าไทยและหอการค้าแห่งประเทศไทย

ผู้ว่าฯกทม.เปรียบเสมือนซีอีโอ ต้องมีการวางกลยุทธ์ในการทำงานของกรุงเทพฯ ทั้งระยะสั้น กลาง ยาว การทำงานร่วมกับเอกชนและประชาชน ระดมความคิดเห็นดึงคนเก่งมาช่วยในการผลักดันงานด้านต่างๆ ตรงนี้สำคัญมาก ผู้ว่าฯกทม.จะทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม จากนโยบายที่ประกาศไว้ทั้ง 214 ข้อ จะสำเร็จได้จะต้องอาศัยความร่วมมือกับหลายฝ่าย และหลายนโยบายไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ แต่สามารถดึงหลายภาคส่วนเข้ามาช่วย ก็จะทำให้มีผลลัพธ์ออกมาได้เช่น นโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้นเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว และมีการติดจีพีเอสที่ต้นไม้ ซึ่งได้เริ่มทำไปแล้วก็น่าสนใจและเห็นผล

Advertisement

อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการใช้เทคโนโลยี รวมถึงสื่อโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ ในการเข้ามารับฟังเสียงประชาชน นำเสนอปัญหาและอุปสรรค ก็เป็นสิ่งที่ช่วยได้มาก ทำให้การเข้าถึงประชาชนและเข้าถึงปัญหาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เชื่อว่านายชัชชาติมีทีมงานที่จะช่วยวิเคราะห์และจัดลำดับความสำคัญได้ เพื่อให้แก้ไขปัญหาได้ตรงความต้องการของประชาชน

กรุงเทพฯเป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีความสำคัญมาก หอการค้าไทยอยากเห็นการส่งเสริมให้กรุงเทพฯเป็น Smart City เป็นเมืองแห่งโอกาสทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายเรื่อง เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้า การเงิน การลงทุน การท่องเที่ยว เน้นการนำเทคโนโลยีและระบบฐานข้อมูลมาใช้เป็นจุดเชื่อมโยงในทุกมิติ ต้องส่งเสริมและพัฒนาทักษะของผู้ประกอบการและแรงงานฝีมือใน กทม. ให้สอดคล้องกับสภาวะการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น นโยบายในการเปิดพื้นที่การทำงานร่วมกัน กระจายไปในแหล่งชุมชนต่างๆ จะช่วยสร้างระบบนิเวศที่ดี เพื่อการเติบโตของกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ

สิ่งที่ลืมไม่ได้คือแนวคิดเรื่อง BCG : Bio Circular-Green เนื่องจากเป็นกระแสของโลก นอกจากจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีของเมืองแล้ว ยังเป็นแรงดึงดูดสำคัญของการเข้ามาลงทุน และนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไป นอกจากนี้ หอการค้าไทยอยากเห็นการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน กรุงเทพฯ รูปแบบคล้ายกับ กรอ.พาณิชย์ แต่จะมุ่งส่งเสริมด้านเศรษฐกิจของกรุงเทพฯเป็นหลัก เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการทำงานร่วมกันอย่างรวดเร็ว

Advertisement

ปัญหาด้านรายได้และค่าครองชีพของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยใน กทม. คือเรื่องจำเป็นเร่งด่วนในสถานการณ์ปัจจุบัน สิ่งที่ กทม.จะสามารถดำเนินการเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว คือ การบริหารจัดการด้านต่างๆ อย่างมีระบบ มีความชัดเจน และเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มที่มีรายได้น้อย ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่ หรือคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำมาหากินในกรุงเทพฯ รวมไปถึงการสร้างความน่าสนใจ ให้เกิดแรงดึงดูด และบรรยากาศที่ดีในการมาจับจ่ายใช้สอย ทั้งในกลุ่มประชาชนและนักท่องเที่ยว

สำหรับวิสัยทัศน์ของนายชัชชาติที่ต้องการจะทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน และเน้นเรื่องการทำเส้นเลือดฝอยที่เข้าถึงชุมชนและคนตัวเล็ก ซึ่งถือเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชน จะต้องมีการอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ ต้องมีการเก็บขยะ น้ำดื่ม ห้องน้ำสาธารณะ ความปลอดภัย แพทย์ฉุกเฉิน กล้องวงจรปิดเพื่อให้เกิดความปลอดภัย จำเป็นต้องดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง

ในการเข้ามาทำงานวันแรกนายชัชชาติพูดถึงนโยบายทั้ง 214 ข้อ และเปิดโอกาสให้ข้าราชการ กทม.สามารถเสนอว่า ควรปรับปรุงหรือเพิ่มเติมได้ รวมถึงเน้นเรื่องการทำงานที่โปร่งใส ให้คนเก่งได้รับการแต่งตั้งที่เป็นธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เชื่อว่าส่วนนี้จะช่วยให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ กทม.เกิดความสบายใจในการทำงานร่วมกัน

หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยินดีที่จะให้ความร่วมมือและการสนับสนุนในการดำเนินงานของ กทม.ทุกด้าน เพื่อขับเคลื่อนให้กรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่

เกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

อันดับแรกขอเป็นกำลังใจให้กับนายชัชชาติ ด้วยหลายสิ่งหลายอย่างที่นายชัชชาติได้ประกาศนโยบายออกมากว่า 200 นโยบาย ซึ่งครอบคลุม 9 ด้าน นับว่าค่อนข้างดี ถ้าทำได้ก็จะดีมาก จึงขอเป็นกำลังใจ และเมื่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลคะแนนการเลือกตั้งให้นายชัชชาติเป็นผู้ว่าฯกทม. ก็ได้เปิดตัวรองผู้ว่าฯกทม. อีก 4 คน มีคณะที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. 9 คน และมีเลขานุการผู้ว่าฯกทม. ถือว่าเป็นการเริ่มต้นการบริหารของผู้ว่าฯกทม.

ประชาชนผู้ที่มาโหวตให้คะแนนเสียงกับนายชัชชาติ กว่า 1.3 ล้านคน ก็คงจะอยากฝากความหวังกับนายชัชชาติ และเป็นกำลังใจให้กับนายชัชชาติทำในสิ่งที่ต้องทำ และทำตามนโยบายทุกเรื่อง ส่วนจะทำเรื่องใดก่อนหรือหลังก็ได้ทั้งหมด หรือจะเริ่มทำไปพร้อมๆ กันก็ได้ เพราะนโยบายที่ออกมาก็มีความสำคัญทุกเรื่องและทุกด้าน

จากนโยบายที่ออกมา เท่าที่ได้ลองอ่านมาบ้าง ก็ถือว่าครบเครื่องมากๆ จนน่าห่วงจะทำไหวหรือเปล่า แต่ผมเชื่อมั่นว่าผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ทำได้ เนื่องจากมีการทำการบ้านอย่างดี มีการลงสำรวจพื้นที่จริงมาตลอด มีการศึกษาปัญหาต่างๆ จึงเชื่อว่าส่วนนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นายชัชชาติเข้าใจถึงปัญหา และแก้ไขทุกปัญหาได้อย่างตรงจุดที่สุด

เพราะฉะนั้น นโยบายทั้ง 9 ด้าน จำนวนกว่า 200 ข้อ ก็อยากให้นายชัชชาติรีบจัดลำดับความสำคัญ เร่งดำเนินการ และตั้งทีมลงมือทำงาน เข้าใจว่าคงไม่ง่าย แต่ก็เป็นความท้าทาย

ในนามของประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่ดูแลทางภาคอุตสาหกรรมภาคการค้า และเศรษฐกิจ หากผู้ว่าฯกทม.มีเรื่องอะไรที่ต้องการให้ ส.อ.ท.ไปเป็นส่วนหนึ่ง และให้ช่วยขับเคลื่อนงานต่างๆ ก็ยินดี และพร้อมให้ความร่วมมือตลอด

จากนโยบายกว่า 200 เรื่อง ครอบคลุม 9 ด้าน แทบไม่มีอะไรต้องฝากเพิ่มเติม เพราะมีความสำคัญทั้งหมด ไม่ว่าจะนโยบายในด้านเดินทางดีและปลอดภัยดี การจัดระเบียบจราจร เรื่องพื้นฐานที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชาชน การดูแลซ่อมแซมถนน อยากให้ดำเนินการให้ทั่วทุกพื้นที่ เพราะผลกระทบจากถนนที่พัง เป็นหลุมเป็นบ่อ หรือการลืมเปิดฝาท่อถนนทิ้งไว้

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมถือว่าเหมาะสม เรื่องการจัดการขยะมูลฝอย ความสะอาด จัดการปัญหามลพิษทางอากาศก็เป็นพื้นฐานของเมือง จะทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น และยังช่วยเสริมด้านการท่องเที่ยวของเมืองให้สนใจมากขึ้น จากเสน่ห์ที่อยู่เดิมทั้งวัฒนธรรม วัดสถานที่สำคัญ อาหารการกิน เป็นแหล่งช้อปปิ้งได้

รวมถึงนโยบายก็เป็นการคู่ขนานสอดคล้องกับทุกเรื่อง ต้องสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก สตรีทฟู้ดเพื่อรายได้ร้านหาบเร่แผงลอย ก็ต้องทำให้เป็นระเบียบ ไม่ขวางทางเดิน จัดโซนให้ชัดเจน เป็นต้น

ดังนั้น ขอเป็นกำลังใจทำให้ดีที่สุด และทำนโยบายให้ได้ครบทั้งหมด หากทำได้จริงใน 4 ปีที่นายชัชชาติเป็นผู้ว่าฯกทม. คงได้เห็นกรุงเทพฯเปลี่ยนโฉมไปในทางที่ดี

ฐนิวรรณ กุลมงคล
นายกสมาคมภัตตาคารไทย

เรื่องที่ต้องการเสนอนายชัชชาติเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนคือ การจัดระเบียบหาบเร่ แผงลอย รวมถึงร้านอาหารริมทางเท้าให้มีมาตรฐาน และมีคุณภาพมากกว่าเดิม เนื่องจากประเทศไทยชูเรื่องสตรีทฟู้ดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร จำเป็นต้องสร้างภาพลักษณ์การเป็นเมืองอาหารที่มีคุณภาพ สะอาด และเป็นระเบียบ

พ่อค้าแม่ค้าที่เป็นหาบเร่ แผงลอย หรือร้านอาหารริมทางเท้า ต้องรู้ก่อนว่าคนเหล่านี้ต้องจ่ายค่าเช่าหลายต่อมาก ทั้งที่เป็นทางเท้า เป็นทางสาธารณะ แต่ยังต้องจ่ายค่าเช่าให้คนบางกลุ่ม และเงินไม่ได้เข้าไปอยู่ในระบบของรัฐด้วย เช่น ร้านอาหารตั้งขายหน้าร้านสะดวกซื้อริมถนนสาธารณะ แต่เจ้าของร้านจะต้องจ่ายค่าเช่าให้กับร้านสะดวกซื้อ และยังต้องจ่ายเสมือนเป็นค่าจัดการให้คนบางกลุ่ม รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ดูแลถนนสาธารณะด้วย เพื่อให้ขายของได้โดยไม่ต้องกังวลวันดีคืนดีจะโดนยกร้านและไปเสียค่าปรับบนโรงพัก

การส่งเสริมอาชีพอิสระแต่ต้องทำควบคู่กับการบริหารจัดการผู้ที่ประกอบการอาชีพ ให้ได้มาตรฐานเป็นระเบียบแบบแผนก่อน เนื่องจากร้านอาหารที่เป็นสตรีทฟู้ดในกรุงเทพฯมีจำนวนหลายแสนราย ต้องยอมรับว่าบางรายก็ไม่ได้มีมาตรฐาน อาทิ ร้านอาหารริมทางเท้าบางร้านไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐานด้านสุขอนามัย เทน้ำมันหรือน้ำเสียลงท่อน้ำสาธารณะ อาหารไม่มีสิ่งป้องกันแมลงหรือฝุ่นละออง หากจะส่งเสริมร้านอาหารริมถนนจะต้องบริหารจัดการให้ถูกต้องก่อน

บรรยากาศหลังการเปิดประเทศในเดือนมิถุนายนนี้ จะเห็นร้านอาหารจำนวนมากมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น โดยเฉพาะร้านที่มีมาตรฐานได้คุณภาพกลับมาขายดีมาก และเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใช้บริการมากขึ้น มีร้านอาหารหลายแห่งที่เป็นเพื่อนกันมาเล่าว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใช้บริการเต็มร้านมากขึ้น โดยเฉพาะชาวจีนที่แม้จะยังไม่เปิดประเทศให้พลเมืองออกเที่ยวต่างประเทศได้ แต่ก็เริ่มเห็นชาวจีนเข้ามามากขึ้น ซึ่งมองว่าเป็นการทยอยเข้ามาผ่านรูปแบบต่างๆ อาทิ การเรียนต่อ ทำธุรกิจ เยี่ยมครอบครัว

คนกลุ่มนี้สามารถเดินทางได้ตลอดอยู่แล้ว ถือเป็นข้อดี เพราะทำให้มีการใช้จ่ายและกำลังซื้อมีมากขึ้นหลายเท่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image