เอฟเฟ็กต์โหวตงบ สะเทือนซักฟอก

หมายเหตุความเห็นของตัวแทนพรรคการเมืองฝ่ายค้านกรณีผลการลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2566 ที่เสียงของรัฐบาลมีเอกภาพแตกต่างจากเสียงของในซีกพรรคฝ่ายค้าน ที่เกิดประเด็นงูเห่าโหวตสวนมติพรรค ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสียงของพรรคฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสมัยประชุมนี้

สุทิน คลังแสง
ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน

พรรคฝ่ายค้านจะสรุปประเด็นของแต่ละพรรค จากนั้นจะเขียนสรุปของแต่ละพรรคส่งมาที่ส่วนกลางที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน และจะรวบรวมนำญัตติของแต่ละพรรคมาเขียนเป็นญัตติรวม ซึ่งคาดว่าใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน คือหลังวันที่ 10 มิถุนายน สามารถยื่นญัตติได้ หรืออาจจะยื่นวันที่ 15 มิถุนายนตามที่เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้ โดยประเด็นที่จะถูกนำมาอภิปรายในครั้งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการทุจริตที่เห็นได้ชัด และความเสียหายที่รัฐบาลทำให้เกิดขึ้นกับบ้านเมืองทั้งเรื่องเศรษฐกิจต่างประเทศ และการทำลายอนาคตของประเทศ ซึ่งมีหลักฐานเป็นเชิงประจักษ์ หรือบางเรื่องเป็นสิ่งที่สังคมรู้อยู่แล้วแต่อาจจะไม่ลึก

Advertisement

ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลมีแนวโน้มจะทิ้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือไม่ เพราะการอภิปรายรอบนี้ถือเป็นปีสุดท้าย ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อหมดตำแหน่งหรือวาระลง จะเกิดการขุดคุ้ยการทุจริตและความล้มเหลวนั้น ผมคิดว่าน่าจะเกิดเรื่องเช่นนี้สูง แตกต่างจากการโหวตร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่ทุกคนมีผลประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะปรากฏความผิดของรัฐบาลอย่างชัดเจน และยังเป็นความผิดเฉพาะตัวเฉพาะคน ไม่มีการนำผลประโยชน์ของประชาชนมาผูกมัดไว้เหมือนกับงบประมาณแผ่นดิน ที่ยังสามารถนำประชาชนมาเป็นตัวประกันว่าหากงบประมาณไม่ผ่านประชาชนจะลำบาก ดังนั้น ทุกคนจะตัดสินใจได้ง่ายและอ้างประชาชนไม่ได้อีกต่อไป

สำหรับการดำเนินการจัดการกับ 7 งูเห่า หรือ 7 ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยที่โหวตขัดมติพรรคนั้น ขณะนี้พรรคได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบอยู่ จึงไม่อยากจะพูดไปล่วงหน้าว่าจะขับพ้นพรรคหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือสร้างความเสียหายเชิงยุทธศาสตร์ของพรรคเท่านั้น แต่มีประชาชนไม่น้อยที่รับพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้ เราจึงต้องทำในสิ่งที่ประชาชนจะไม่ผิดหวังด้วย

Advertisement

ประเสริฐ จันทรรวงทอง
เลขาธิการพรรคเพื่อไทย

การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ตามมาตรา 151 ว่าเราได้กำหนดกรอบระยะเวลาการยื่นญัตติไว้วันที่ 15 มิถุนายนนี้ เวลา 10.00 น. ซึ่งขณะนี้ได้มีการประสานงานกับเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎรไว้แล้ว โดยประเด็นที่จะอภิปรายจะมุ่งเน้นให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารประเทศ การบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศชาติเสียหาย รวมถึงประเด็นเรื่องการทุจริต ซึ่งเรามีหลักฐานและเป็นข้อมูลใหม่ที่จะนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีบางคน แต่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่จะต้องเป็นหนึ่งในผู้ที่จะถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างแน่นอน ในฐานะที่ท่านต้องรับผิดชอบในหลายๆ เรื่อง ส่วนรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจจะมีจำนวนกี่คนนั้นจะมีการสรุปในวันที่ 6 มิถุนายนนี้

สำหรับประเด็นเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีของนายกรัฐมนตรีจะเป็นส่วนสำคัญในการล้มรัฐบาลหรือไม่นั้น วันนี้รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่าบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 8 ปีไม่ได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะครบ 8 ปีในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นประเด็นที่จะต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และมั่นใจว่านายกรัฐมนตรีจะอยู่ได้แค่เดือนสิงหาคมนี้ หากยึดกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นหลัก โดยในขณะนี้เราก็กำลังประเมินอยู่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยหรือไม่

ผมมั่นใจว่าอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จะล้มรัฐบาลได้หรือไม่ เมื่อเสียงของ ส.ส.กลุ่ม 16 และพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา อดีตเลขาธิการพรรค ศท. ในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ก็โหวตให้ผ่าน ในส่วนนี้จะเห็นข้อแตกต่างระหว่างการอภิปรายสองอย่างนี้ หากเรื่องการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารและ ส.ส.ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล เขาก็จะโหวตในทิศทางนั้นอยู่แล้ว แต่เรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีนั้น เป็นเรื่องที่ต้องฟังเหตุและผล เชื่อว่าในการอภิปรายของฝ่ายค้านหากมีเหตุและผล กลุ่มที่รอฟังก่อนหน้านี้ กลุ่ม 16 หรือกลุ่มอื่นๆ ก็ดี ก็ได้เคยแถลงข่าวไปว่า หากฟังการอภิปรายของฝ่ายค้านไปแล้ว แล้วเห็นว่ามีเหตุและผลก็จะไม่โหวตให้รัฐบาล ซึ่งเขาก็พูดไว้แล้วชัดเจน

สำหรับการวางแนวทางการป้องกันปัญหา ส.ส.ที่โหวตสวนมติพรรคอย่างไร เพราะยิ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจเสียงค่อนข้างสำคัญต่อการลงมติเป็นอย่างมาก แต่ก็มี ส.ส.บางคนไม่สนใจและพร้อมโดนขับออกจากพรรค ในส่วนนี้เราจะมีการกำชับ ส.ส.ทุกคนว่าการลงมติจะต้องมีความพร้อมเพรียงกัน ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจของวาระสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ฉะนั้น เราจะต้องกำชับและเรียกประชุม ส.ส. ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแต่ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง ส.ส.ของพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล (ก.ก.) พรรคเสรีรวมไทย (สร.) พรรคประชาชาติ (ปช.) พรรคเพื่อชาติ (พช.) และพรรคอื่นๆ ที่เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่จะต้องผนึกกำลังกัน ส่วนที่ช่วงหลัง ส.ส.เพื่อไทยเริ่มไหลออกจากพรรค หรือโหวตสวนมติพรรค

ตรงนี้มีความกังวลอะไรหรือไม่ ยืนยันว่าไม่มีความกังวลอะไร เพราะหาก ส.ส.คนใดแตกแถวแล้วไปโหวตอีกแบบ ประชาชนจะเป็นคนลงโทษเองว่าจะตัดสินใจให้บทบาทในอนาคตของ ส.ส.ท่านนั้นอย่างไร

ธีรัจชัย พันธุมาศ
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

พรรคฝ่ายค้านจะประชุมเพื่อให้แต่ละพรรคเสนอชื่อรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และประเด็นที่จะใช้อภิปรายก่อนเป็นการเบื้องต้นคาดว่าจะยื่นญัตติในวันที่ 15 มิถุนายน และอาจจะอภิปรายในช่วงต้นเดือน หรือกลางเดือนกรกฎาคม สำหรับประเด็นที่จะนำมาใช้ในการอภิปรายเรื่องลำดับต้นๆ คือการทุจริต ถัดมาคือประสิทธิภาพการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยสาระสำคัญจะต้องเชื่อมโยงกับรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ โดยรัฐมนตรีกลุ่ม 3 ป.จะเป็นเป้าหลัก คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดว่าจะอภิปรายรัฐมนตรีมากกว่า 1 คน หรือ พล.อ.ประยุทธ์คนเดียวหรือไม่

ทั้งนี้ การโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นมีความแตกต่างจากการโหวตร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จะมีความเข้มข้นขึ้น เพราะสามารถล้มรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง หรือล้มรัฐบาลเลยก็ได้ ดังนั้น การต่อรองภายในของฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลจึงมีสูงเพื่อให้ตัวเองเข้าไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในช่วงสุดท้าย ที่ตอนนี้มีว่างอยู่ 2 ตำแหน่ง และเชื่อว่ามีพรรคการเมืองบางพรรคต้องการไปดำรงตำแหน่งเหล่านี้อยู่ จุดสำคัญหรือจุดตาย ที่งดออกเสียงหรือโหวตสวนของพรรคที่มีกลุ่มที่มีเสียงอยู่พอประมาณ รวมกับพรรคเล็กก็จะเป็นตัวแปรสำคัญทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ กรณีที่เสียงไม่ไว้วางใจเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาก็ได้ จึงเกิดการพลิกผันได้มากกว่าการอภิปรายงบ

อีกประเด็นคือ หากพรรคร่วมรัฐบาลต้องการแสดงถึงความเป็นอิสระที่ไม่ต้องการอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่เห็นแล้วว่าการสั่งซ้ายหันขวาหันไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในทางที่ดีขึ้นเลย ก็อาจจะแสดงตัวออกมาไม่อยู่ภายใต้อาณัติของ พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้ ดังนั้น ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมอะไรก็เกิดขึ้นได้ในทางการเมือง จึงเป็นเรื่องน่าติดตามเพราะขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแค่ไหนอย่างไร

ส่วน 4 ส.ส.งูเห่าพรรค ก.ก.หน้าเดิมที่โหวตสวนมติพรรคเสมอ พรรคยังยึดนโยบายเดิมคือดองไว้ก่อน เพราะเราไม่ต้องการให้พวกเขาสมหวัง การกระทำต่างๆ จะเป็นการประจานตัวเอง และจะเป็นการตอกย้ำหากลงเลือกตั้งในสมัยหน้าอีก ที่ปรากฏชัดในการไม่มีจุดยืนทางการเมือง สุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินและสั่งสอนเอง เราไม่ต้องทำอะไรมาก นอกจากนี้ การดองงูเห่าไว้ยังสามารถนำมาใช้เป็นจุดจับสังเกตสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือการยุบสภาได้ เพราะหาก 4 ส.ส.ตัดสินใจลาออกเมื่อไหร่ หมายความว่ามีแผนจะไปเข้าสังกัดพรรคการเมืองใหม่ให้เกิน 90 วัน เพื่อที่จะมีสิทธิลงรับเลือกตั้งอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image