นับถอยหลังซักฟอก ‘3ป.-รมต.’ โดนน็อก?

รายงานหน้า 2 : นับถอยหลังซักฟอก ‘3ป.-รมต.’โดนน็อก?

นับถอยหลังซักฟอก ‘3ป.-รมต.’ โดนน็อก?

หมายเหตุ นักวิชาการวิเคราะห์การอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ 10 รัฐมนตรี วันที่ 19-22 กรกฎาคม รวม 4 วัน ก่อนลงมติวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ จากข้อมูลที่พรรคฝ่ายค้านจะอภิปรายเสียงโหวตของรัฐบาลยังปึ้กแค่ไหน

ธเนศวร์ เจริญเมือง
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

เป็นบทบาทหน้าที่ฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลเพื่อเปิดเผยข้อมูลและข้อเท็จจริงในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมให้ความรู้แก่สาธารณชนได้รับทราบ และสะท้อนการบริหารประเทศของรัฐบาลว่าเป็นอย่างไร ดังนั้น การซักฟอกต้องเป็นเรื่องความเดือดร้อนประชาชน อาทิ สินค้าแพง พลังงานปรับราคาที่ส่งผลกระทบต่อค่าขนส่ง-โดยสาร ค่าครองชีพที่สูงขึ้น เศรษฐกิจถดถอย ผลผลิตเกษตรมีราคาตกต่ำ ปัญหาเด็กหลุดนอกระบบการศึกษา โควิดระบาด การปลดล็อกกัญชา และอุทกภัย ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วประเทศ เรื่องสำคัญที่ฝ่ายค้านต้องขุดคุ้ยเพื่อซักฟอกรัฐบาลคือ ทุจริตหรือคอร์รัปชั่น การทุจริตเชิงนโยบาย การใช้งบประมาณฟุ่มเฟือย เพื่อหาคะแนนเสียงให้พรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่ก่อเกิดประโยชน์ต่อประชาชนที่เป็นผู้เสียภาษี โดยเฉพาะการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ และนโยบายพรรคร่วมรัฐบาลที่เคยหาเสียงไว้แต่ทำไม่ได้ ไม่ตอบสนอง หรือตอบโจทย์ความต้องการประชาชน เพราะรัฐบาลได้บริหารประเทศมากว่า 8 ปีแล้ว แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาประชาชนได้ ดังนั้น การซักฟอกฝ่ายค้านมีเป้าหมายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้นำพรรคร่วมรัฐบาลเป็นหลัก

Advertisement

ส่วนรัฐมนตรีที่น่าเป็นห่วงการซักฟอกฝ่ายค้านคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตามลำดับ เนื่องจากเป็นกระทรวงสำคัญที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลความเดือดร้อน ความทุกข์ยากประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

ภาพรวมการซักฟอกของฝ่ายค้านเชื่อว่าส่งผลกระทบ หรือสะเทือนรัฐบาลได้ มีผลต่อการเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้ามาก อาจทำให้ฝ่ายค้านได้ ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ เข้าสู่สภามากขึ้น นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตได้ แม้ว่าสภาลงมติหาร 500 ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ก็ตาม เชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่เป็นแกนนำฝ่ายค้านแต่อย่างใด เนื่องจากผลเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลำปาง เขต 4 พรรคเสรีรวมไทย (สร.) ชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.เขตเป็นครั้งแรก ทำให้ฝ่ายค้านที่ส่งเสริมประชาธิปไตยและกระจายอำนาจมีความหวังและกำลังใจ เพราะประชาชนสนับสนุนมากขึ้นตามลำดับ

การลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลต้องยอมรับว่าพรรคร่วมรัฐบาลเหนือกว่าฝ่ายค้าน ที่ผ่านมาการลงมติในสภารัฐบาลชนะทุกครั้ง เพราะมีเสียงสนับสนุนในสภาเกินกึ่งหนึ่ง แต่การลงมติต้องดูว่า พล.อ.ประยุทธ์กับรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายใครได้รับความไว้วางใจมากกว่ากัน หรือใครได้คะแนนน้อยสุด เป็นการสะท้อนการต่อรองอำนาจและผลประโยชน์พรรคร่วมรัฐบาลด้วย

Advertisement

ดังนั้น พรรคฝ่ายค้านต้องศึกษาและวิเคราะห์วิธีทำงานของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่นำเสนอหรือตีแผ่ปัญหาและความเดือดร้อนประชาชนสู่สาธารณชนได้รับรู้ทั่วกัน และให้สังคมมีส่วนร่วมแก้ปัญหาดังกล่าว พร้อมสรุปสาระและประเด็นสำคัญการซักฟอกดังกล่าวเป็นระยะและเข้าใจง่าย เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนได้พิจารณาและตัดสินใจการเลือกตั้ง ส.ส.ในปีหน้าด้วย

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ศึกซักฟอกรัฐบาลครั้งสุดท้าย มองว่ารัฐบาลยังมีเสียงค่อนข้างเป็นเอกภาพมากพอสมควร สัญญาณที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการต่อรองของพรรคเล็ก จากการลงมติในการหาร 500 ส.ส.บัญชีรายชื่อ มองว่าพรรคเล็กยังยืนข้างฝ่ายรัฐบาล อาจจะมีพรรคเล็กบางพรรคที่จะเดินตามแนวทางพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ไม่สนับสนุนและไม่ลงมติให้กับ 3 รัฐมนตรีที่มีการตั้งเป้าถล่มไว้แล้ว โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรค ศท. เป็นโจทก์

อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่านายกฯและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายทั้งหมด 11 คน โดยรวมแล้วทั้งหมดสามารถผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้ แต่จะมีคะแนน 3 คน อาจจะทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ต้องประเมินว่าจะทำอย่างไรกับรัฐมนตรีที่ได้คะแนนต่ำ เป็นผลมาจากพรรค ศท.มีความต้องการที่จะทำให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งหลุดออกจากรัฐมนตรีให้ได้ ส่วนใครจะหลุดจากตำแหน่งรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร จะต้องดูว่าใครสำคัญน้อยที่สุด หากดูนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากเป็นผู้ประสานงาน รวมทั้งระดมทรัพยากรเข้าสู่พรรค นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยิ่งสำคัญ เพราะการแสดงผลงานการปราศรัยของพรรค พปชร.ที่ จ.ชลบุรี ทำให้ พล.อ.ประวิตรยิ้มได้ มีความมั่นใจมากขึ้นว่า จ.ชลบุรี จะเป็นยุทธศาสตร์เชื่อมร้อยภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคใต้ตอนบนทั้งหมด ในการเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรค พปชร.

ฉะนั้น เหลือคนเดียวคือ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คิดว่ามีต้นทุนทางการเมืองน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับ 2 รัฐมนตรีที่กล่าวมา ดูท่าทางพรรคเล็กและกลุ่มก๊วนของ ร.อ.ธรรมนัสที่มีความใกล้ชิด มุ่งมาที่นายชัยวุฒิเป็นพิเศษ กล่าวง่ายๆ หน้ากระดานทางการเมืองส่วนหนึ่งประเมินแล้วจะรักษานายสันติ นายสุชาติ เอาไว้ น่าจะมีประโยชน์มากกว่าในสถานการณ์แบบนี้ ที่จำเป็นจะต้องต่อรองและสูญเสียคนในทางการเมืองออกไป เพื่อ ร.อ.ธรรมนัสกลับมาอยู่ในกลุ่มในก๊วนของรัฐบาล

ส่วนการขัดแย้งระหว่าง ร.อ.ธรรมนัสกับนายสุชาติ มองว่าการอภิปรายนายสุชาติเพื่อรักษาเกียรติยศของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส รวมทั้งต้องการตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อต้องการใช้ทรัพยากรจากตำแหน่งรัฐมนตรีเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ และสร้างฐานคะแนนเสียงให้กับพรรค ศท. เพราะหลังจากการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่ จ.ลำปาง ประสบความพ่ายแพ้ จะต้องทำการบ้านมากๆ แสดงว่าประชาชนยังไม่ยอมรับพฤติกรรมของ ร.อ.ธรรมนัส และมีความรู้สึกว่ายังไม่มีความหวัง

การที่ฝ่ายค้านได้มีการตั้งประเด็นในการอภิปรายถล่มรัฐบาลในครั้งนี้เกี่ยวกับพลังงานแพง สินค้าแพง มองว่าจะไม่มีผลต่อรัฐบาล เพราะไม่ได้อภิปรายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แต่อาจจะมีผลต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับราคาสินค้าแพง แต่เป็นเรื่องแปลก น้ำมันขึ้นราคาลิตรละ 10 บาท ฝ่ายค้านไม่อภิปรายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง มองว่าฝ่ายค้านทำงานการเมืองแปลกมาก ทั้งที่ควรอภิปรายถึงความล้มเหลวการทำงานรัฐบาล ทั้งที่พลังงานแพง เกี่ยวกับนโยบายส่งผลกระทบต่อรัฐบาลโดยตรงแต่ไม่อภิปราย การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ อย่างที่เคยกล่าวไปแล้วจะมีผลต่อการเลือกตั้ง เพราะเป็นการอภิปรายในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อฝากแผลฝากรอยเอาไว้โจมตีปราศรัยการเลือกตั้งครั้งหน้า

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

จากการโหวตสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ภายในพรรคร่วมรัฐบาลมีทิศทางที่ต่างกันนั้น คิดว่าไม่มีผลกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 เนื่องจากรัฐมนตรีในพรรคหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรค พปชร., พรรคภูมิใจไทย (ภท.), และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ถูกจับขึ้นเขียงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งหมด เพราะฉะนั้น เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลจะถูกบังคับโดยสภาพว่าจะต้องเป็นปึกแผ่น เสียงคงจะไม่แตกแถวในแง่ที่ว่าจำนวนเสียงน่าจะผ่านทุกคน แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย กับพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านว่าจะพิจารณาอย่างไร ซึ่งกลุ่มคะแนนของรัฐมนตรีจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มที่หนึ่งคือ รัฐมนตรีในส่วนของพรรค ปชป.และพรรค ภท. กลุ่มนี้คาดว่าคะแนนไว้วางใจน่าจะสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ กลุ่มที่สองคือ กลุ่ม 3 ป.ที่ประกอบไปด้วย พล.อ.ประยุทธ์, พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ผมไม่มั่นใจว่าคะแนนจะอยู่ในระดับไหน แน่นอนว่าอาจจะไม่เท่ากับรัฐมนตรีจากพรรค ปชป.และพรรค ภท. จะต้องมาเปรียบเทียบคะแนน กับกลุ่มที่ 3 คือรัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรค พปชร. ไม่ว่าจะเป็นนายสุชาติ, นายชัยวุฒิ และนายสันติ ซึ่งทั้ง 3 คนนี้อยู่ในลำดับที่จะต้องหนี เพราะอาจจะมีปัจจัยภายในพรรค พปชร.เอง หรือแม้กระทั่งคะแนนในส่วนของพรรค ศท.ของ ร.อ.ธรรมนัส ล้วนแต่มีความหลังที่ไม่สู้ดีในแง่ความสัมพันธ์และทัศนคติทางการเมืองที่มีต่อ ร.อ.ธรรมนัสมาตลอด นั่นอาจจะเป็นคะแนนที่นำไปสู่ความแตกต่างได้

แต่ท้ายที่สุดแล้วรัฐมนตรีทุกคนก็น่าจะผ่าน และคงไม่มีผลอะไรที่จะนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือปรับใครที่มีคะแนนน้อยออก เพราะที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยใช้กระแส หรือนำเรื่องคะแนนของการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปสู่การกดดันให้เกิดการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี มองว่านายสุชาติเป็นผู้ที่น่าเป็นห่วงที่สุดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เพราะความสัมพันธ์ของ ส.ส.ในพรรค พปชร.ที่อยู่ใน จ.ชลบุรี เอง ที่หลายคนขนานนามว่ากลุ่มบ้านใหญ่ ยังให้ความสามัคคีต่อนายสุชาติหรือไม่ เพราะมีแนวโน้มว่ากลุ่มบ้านใหญ่ไม่สามารถที่จะผสานรอยร้าวของการเมืองใน จ.ชลบุรี ได้ และกลุ่มบ้านใหญ่คงจะแตกตัวไปทำงานกับพรรคการเมืองอื่น เป็นอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีผลว่าจะยกมือไว้วางใจนายสุชาติหรือไม่ อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มพรรค ศท. ซึ่งแน่นอนว่า ร.อ.ธรรมนัสอาจจะสามารถกดรีโมตคอนโทรลสั่งการได้ หลายครั้งที่ผ่านมาคะแนนไว้วางใจของนายสุชาติอยู่รั้งท้าย ซึ่ง ส.ส.ที่ไม่ยกมือให้เป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับ ร.อ.ธรรมนัสทั้งสิ้น ต่อมาคือกลุ่มของพรรคเล็กที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ ร.อ.ธรรมนัส มักจะคล้อยตามและมีท่าทีที่จะไม่เอานายสุชาติ แม้กระทั่งบางคนในพรรคเล็กไม่ไว้วางใจนายชัยวุฒิล่วงหน้าไว้แล้ว ฉะนั้น จะเห็นว่าทั้งนายสุชาติและนายชัยวุฒิ หรือรัฐมนตรีที่มาจากพรรค พปชร.มีคะแนนอยู่ในระดับน่าเป็นห่วง ในแง่ของตัวเลขที่อาจจะไม่เท่าคนอื่น แต่ไม่ส่งผลถึงขั้นที่โดนน็อกคาสภา

การอภิปรายของฝ่ายค้านในครั้งนี้ แน่นอนว่าเป็นการสะสมแต้มความนิยม โดยใช้ประเด็นเศรษฐกิจ ข้าวยากหมากแพง และเรื่องพลังงาน ซึ่งพูดอะไรมาก็ตรงเป้าไปหมด ทั้งนี้ อยากให้ฝ่ายค้านนำเสนอประเด็นความเดือดร้อน มากกว่าการสร้างวิวาทะทางการเมือง คิดว่าตรงนี้จะได้ใจประชาชน และต้องนำเสนอทางออก การอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้จะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่นั้น ผมคิดว่าเอาแค่ปรากฏการณ์ใกล้ๆ อย่างการเลือกตั้งซ่อม จ.ลำปาง เขต 4 ที่ผ่านมา ก็น่าจะเห็นผลแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image