‘อลงกรณ์ พลบุตร’ชี้ช่อง Next Step ธุรกิจเกษตรไทย สู่มหาอำนาจทางอาหารโลก

‘อลงกรณ์ พลบุตร’ชี้ช่อง Next Step ธุรกิจเกษตรไทย Next Step ธุรกิจเกษตรไทย

‘อลงกรณ์ พลบุตร’ชี้ช่อง Next Step ธุรกิจเกษตรไทย Next Step ธุรกิจเกษตรไทย

หมายเหตุเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ห้องประชุมใหญ่หนังสือพิมพ์ข่าวสด นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ Next Normal : ธุรกิจเกษตรต้องปรับตัวอย่างไร? หลังโควิดสู่โรคประจำถิ่น ภายในงานมสัมมนา Next Step เกษตรกรไทย ก้าวต่อไป “ธุรกิจเกษตร” รับมืออย่างไร? หลังโควิด-19 “สู่โรคประจำถิ่น” จัดโดยเทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์

เนื่องจากว่าสมัยก่อน คนเชื่อว่าโลกแบน แต่เมื่อค้นพบความจริงว่าโลกกลม การเดินทางสัญจรก็ขยายไปทั่วโลก ทุกประเทศทุกทวีป เกิดอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การลงทุน และการค้าตามมา พร้อมด้วยงานวิจัยและพัฒนา นำมาสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อกว่า 200 ปีที่แล้ว จนกระทั่งถึงยุคสมัยของเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เราได้เห็นปรากฏการณ์ในหลายร้อยปีที่ผ่านมาของวิวัฒนาการของระบบโลกของเรา การปรับตัวของธุรกิจโดยเฉพาะภาคเกษตรนั้น ต้องมอง 2 ด้านเสมอ ทั้งด้านที่เป็นปัญหา และด้านที่เป็นโอกาส โดยจะต้องแสวงหาโอกาสในทุกๆ วิกฤตและปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น หัวใจที่สำคัญที่สุดของการปรับตัวธุรกิจเกษตร ไม่ใช่ให้ใครมาบอกว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร หัวใจสำคัญอยู่ที่ข้อมูลข่าวสาร มุมมอง และการปรับตัวของแต่ละธุรกิจ จึงจะมีศักยภาพที่สุดสำหรับการก้าวเดินต่อไป

ผมจะนำเสนอวิสัยทัศน์และข้อมูลข่าวสาร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรมของประเทศ ได้รับรู้รับทราบและเกิดมุมมองใหม่ๆ เพื่อจะไปกำหนดกลยุทธ์ของการปรับตัว ภาษานักบริหารเรียกว่าการชี้ช่อง ส่วนจะชี้ช่องให้รวยหรือจนนั้น ก็แล้วแต่ว่าแต่ละบุคคลจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง และปรับตัวได้มากน้อยแค่ไหนในก้าวต่อไปของธุรกิจเกษตร

Advertisement

ที่ผมขึ้นหัวข้อไว้ว่า Next Step ธุรกิจเกษตรไทยสู่มหาอำนาจทางอาหารโลกนั้น เพราะมองเห็นศักยภาพภาคเกษตรของไทยว่ายิ่งใหญ่กว่าที่ใครคิด ซึ่งผมจะมองหาโอกาสในวิกฤต และช่วง 3 ปีที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และเป็นประธานกว่า 10 คณะ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรม ไปจนถึงเรื่องของการตลาดนำการผลิต ตั้งแต่การทำงานแบบอนาล็อก ไปจนถึงการทำงานแบบดิจิทัล ทำให้มั่นใจว่าในก้าวต่อไปของภาคเกษตร จะนำมาซึ่งอนาคตของของประเทศไทยที่ดีขึ้น (Better Thailand) สู่เป้าหมายการเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารท็อปเท็นและมหาอำนาจทางอาหารของโลก

สำหรับเหตุผลที่มั่นใจเช่นนั้น ประการแรกคือ ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นประเทศส่งออกอาหารอันดับ 13 ของโลก ด้วยมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท และการส่งออกเติบโต 17% ในปี 2564 โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกลำดับต้นๆ สะท้อนถึงขีดความสามารถของภาคการผลิตการแปรรูปและการตลาดของไทยในตลาดโลก

แต่เมื่อปี 2561 ไทยได้ก้าวสู่ประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 14 ของโลก มาสู่การเป็นผู้ส่งออกอาหาร อันดับที่ 12 ของโลก ในปี 2562 มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่ก้าวขึ้นอันดับโลกถึง 2 อันดับในปีเดียว หนึ่งในนั้นคือ ไทย และในปีเดียวกันไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่ก้าวขึ้นสู่ อันดับที่ 11 ในปีเดียวกันสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย แต่เมื่อโควิด-19 เข้ามา เกิดผลกระทบที่ทำให้ไทย ลดลงมาอยู่อันดับที่ 13 เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศกว่า 70% มาจากการส่งออก เมื่อเกิดการแพร่ระบาดทำให้เกิดผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ และมีเรื่องของต้นทุนค่าระวางที่แพงขึ้น ถึงอย่างนั้นในปี 2565 เชื่อว่าประเทศไทยจะมีอันดับสูงขึ้น หรือมาอยู่ที่อันดับ 11-12

Advertisement

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีเป้าหมายนโยบายที่ต้องการให้ไทยกลับไปสู่ประเทศที่มีการส่งออกอาหารในระดับท็อปเทน เราเหลืออีกไม่กี่อันดับเท่านั้นเอง นั่นคือความหมายของคำว่ามหาอำนาจทางอาหารของโลก ผมมีความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยยิ่งใหญ่กว่าที่ใครคิด เราเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและผลผลิตทางการเกษตรที่ติดอันดับท็อปไฟว์ของโลกมากกว่า 10 รายการสินค้า

ไทยส่งออกยางพาราเป็นอันดับที่ 1 ของโลก น้ำตาล อันดับที่ 2-3 ของโลก ข้าว อันดับที่ 2-3 ของโลก ส่วนใหญ่ใน 30 ปี หรือเกิน 20 ปี เราจะขึ้นไปอยู่อันดับที่ 1 ของโลก รวมถึงการส่งออกมันสำปะหลัง ไทยส่งออกเป็นอันดับที่ 3 ของโลก นำไปแปรรูปเป็นเอทานอลและแปรรูปเป็น biofuel (พืชพลังงาน) ไทยก็อยู่อันดับท็อปไฟว์ของโลกเช่นกัน และมีการใช้น้ำมันจาก biofuel (พืชพลังงาน) ทุกปั๊มที่มีน้ำมันแก๊สโซฮอล์ นอกจากนี้ เรายังเป็นที่หนึ่งของโลกในการส่งออก ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง และผลไม้ แซงชิลีแน่ และครองตลาดจีนแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เชื่อว่าไม่มีประเทศไหนที่ตามเราได้ทัน เพราะไทยไม่ได้หยุดนิ่ง และก้าวกระโดด

ประการที่สอง นอกเหนือจากภาคเกษตรแล้ว คือ โอกาสทางการตลาด ภายใต้ 4 วิกฤตการณ์ของโลกเราจะฝ่าไป และเราฝ่ามาแล้วกว่า 3 ปี และกำลังจะก้าวขึ้น ไม่ใช่ถอยหลัง หรือหล่นลงข้างทางอย่างบางประเทศ อาทิ ศรีลังกา ซึ่ง 4 วิกฤตการณ์ ที่ประเทศไทยต้องเผชิญ ได้แก่ 1.โควิด-19 2.สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่มีผลกระทบรุนแรงเกินกว่าใครจะคาดคิดได้ 3.ประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 4.ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ หรือ Climate Change อาทิ โลกร้อน น้ำท่วม และการเกิดโรคอุบัติใหม่จากภูมิอากาศ

เมื่อโลกเผชิญกับการขาดแคลนอาหารและปัญหาระบบการผลิตภาคเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทำให้มีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารมากขึ้น มองว่าเรื่องนี้เป็นโอกาสของไทย โดยเฉพาะกับประเทศที่ไม่มีความมั่นคงทางอาหาร อาทิ ตะวันออกกลาง แอฟริกา เอเชียบางประเทศ เซาธ์แปซิฟิก หรือแม้แต่ประเทศร่ำรวย อาทิ ซาอุดีอาระเบีย ผลิตอาหารได้เพียง 20% และญี่ปุ่นที่ผลิตอาหารได้เพียง 37% ในขณะที่ไทย มีความมั่นคงทางอาหารเกิน 100% และเหลือเผื่อแผ่ในการส่งออก

ประการที่สาม ท่ามกลางศักยภาพเดิมเสริมความแข็งแกร่งใหม่ และภายใต้โอกาสของตลาดอาหารทั่วโลก รวมไปถึงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เรามีการปฏิรูปสร้างศักยภาพใหม่ภาคเกษตรของไทยภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรฯ โดยการนำของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บนความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการจับคู่กับกระทรวงพาณิชย์ เป็นเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด นำโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ คือ 1.ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต 2.ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 3.ยุทธศาสตร์ 3’s (Safety-Security-Sustainability) หรือเกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง และเกษตรยั่งยืน 4.ยุทธศาสตร์ การทำงานเชิงบูรณาการทุกภาคส่วน และ 5.ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนบนศาสตร์พระราชา

สำหรับตัวอย่างนโยบายและโครงการบางส่วนเป็นหนึ่งในคานงัดสร้างจุดเปลี่ยนเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถใหม่ให้กับภาคเกษตรของไทยได้แก่ 1.ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC : Agritech and Innovation Center) และ 766 นวัตกรรมเมดอินไทยแลนด์ 2.ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agriculture Big Data Center : NABC) 3.ดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) ปฏิรูปการบริหารราชการและการบริการประชาชนของกระทรวงเกษตรฯ 4.เกษตรอัจฉริยะและตลาดออนไลน์ 5.เกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง-ชนบท 6.เกษตรแห่งอนาคต อาหารแห่งอนาคต 7.โลจิสติกส์เกษตร เชื่อมไทย เชื่อมโลก 8.เกษตรแปลงใหญ่ สตาร์ตอัพเกษตร 9.ยกระดับเกษตรกรก้าวใหม่ 10.เกษตรสร้างสรรค์สู่เกษตรมูลค่าสูง (The Brand Project) เน้นแปรรูปสร้างมูลค่าและพัฒนาแบรนด์ 11.การพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area base) ไม่มีเหลื่อมล้ำ และ 12.เปิดกว้างสร้างหุ้นส่วน (Partnership platform) ในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ ได้มีความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ภายใต้คณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯกับ ส.อ.ท. (กรกอ.) เดินหน้าโครงการเกษตรอัจฉริยะ เกษตรแม่นยำ เป้าหมาย 2 ล้านไร่ ซึ่งไม่ถึง 1 ปี สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ และตอนนี้ได้ขยายเป้าหมายเป็น 5 ล้านไร่ เพื่อพัฒนาภาคเกษตรให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น

ส่วนในเรื่องของความยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือปัจจัยภายนอกในประเทศอื่นๆ ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ดังนั้น เราต้องบริหารความเสี่ยงให้กับอนาคตคนไทยและประเทศไทย เกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองจึงเกิดขึ้น เนื่องจากในปี 2562 ประชากรภายในเมืองมากกว่าในชนบทเป็นครั้งแรก และคนในเมืองมีความมั่นคงทางอาหารเพียง 10% เท่านั้น เพราะไม่สามารถผลิตอะไรกินเองได้เลย กระทรวงเกษตรฯจึงตั้งโครงสร้างครอบคลุม 77 จังหวัด ซึ่งในส่วนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เร็วๆ นี้จะมีการเข้าไปหารือเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเกษตรกรรมยั่งยืน กับทีมบริหารของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อช่วยกันเสริมในเรื่องเหล่านี้ รวมถึงเรื่องเกษตรปลอดภัยสู่เกษตรอินทรีย์ต่อไป

นอกจากนี้ ในปี 2565 กระทรวงเกษตรฯจะต้องสู้กับการแก้ปัญหาหนี้สินความยากจน ด้วยการลงไปเผด็จศึกไม่ใช่ว่าเราเก่งแต่เชื่อมั่นในความร่วมมือของทุกคน และทุกภาคส่วนจะช่วยกัน เราได้จัดตั้งกลไกพัฒนาเกษตรระดับตำบลขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใน 2 เดือนนี้ 7,435 ตำบลทั่วประเทศ 878 อำเภอทั่วประเทศ จะมีกลไกใหม่ เป็นฟันเฟืองที่เล็กที่สุดแต่จะบดขยี้ปัญหาที่ใกล้ที่สุด โดยคนของชุมชนนั้นๆ เอง สิ่งเหล่านี้เป็นฐานหลักที่เราจะมุ่งไปสู่เป้าหมายการเป็นครัวของโลก เป็นท็อปเท็นของผู้ผลิตและส่งออกอาหารไปสู่โลก และนั่นคือบริบทของก้าวสำคัญในการเป็นมหาอำนาจอาหาร

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ยกมาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนปฏิรูปแบบปรับโฉมใหม่ประเทศไทย (Reshaping Thailand) เพื่อสร้างโครงสร้างและระบบใหม่ที่แข็งแกร่งพร้อมก้าวขึ้นสู่ Next Step และความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคต และต้องพร้อมและกล้าที่จะติดกระดุมเม็ดใหม่ทันทีเมื่อเห็นโอกาสจึงจะเกิดความเป็นไปได้ของความสำเร็จและก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพใหม่ของภาคเกษตรไทยและตัวเอง ทั้งนี้ ขอให้ Next Step ขอธุรกิจเกษตรได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ภายใต้ความร่วมมือร่วมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image