รายงานหน้า 2 : ‘ธรรมนัส’ แพ้เลือกตั้ง-ย้ายขั้ว หรือคนเหนือไม่เอารัฐบาล
หมายเหตุ – ความเห็นจากนักวิชาการกรณีผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลำปาง เขต 4 ที่พรรคเสรีรวมไทย (สร.) ชนะพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นหัวหน้า ทำให้ได้ ส.ส.เขตเป็นครั้งแรก สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลอยู่ในช่วงขาลง และคนเหนือไม่สนับสนุนรัฐบาลแล้ว ใช่หรือไม่
ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) พยายามสร้างพื้นที่ทางการเมืองให้กับตนเองมาโดยตลอด เคลื่อนไหวตั้งแต่อยู่ในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกมล้ม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต่อมาก็แตกตัวออกมาเป็นพรรค ศท. ท่าทีก็ไม่ชัดเจนว่าจะอยู่ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน จนมาถึงผลการเลือกตั้งที่ จ.ลำปาง สะท้อนกระแสนิยมพอสมควรระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล แม้ว่าจะเป็นเพียงการเลือกตั้งซ่อม ตรงนี้ทำให้การกำหนดท่าทีของ ร.อ.ธรรมนัส
ภายหลังการเลือกตั้งซ่อมที่ออกมาในทางที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลต่อไป ผนวกกับการเข้าสู่เวทีของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตรงนี้เป็นอีกเวทีหนึ่งที่ ร.อ.ธรรมนัสต้องแสดงอย่างต่อเนื่องถึงท่าทีตรงนี้ได้ แต่ถึงขั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลไหม คิดว่าไม่เป็นเช่นนั้น ถึงแม้วันนี้ ศท.จะไม่ยกมือให้รัฐบาลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ไม่ได้ทำให้รัฐบาลแพ้โหวต
ส่วนการเลือกตั้งซ่อมลำปาง อาจเป็นกระแสเบื่อรัฐบาล หรือเบื่อนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น มองว่าเป็นหนึ่งในปัจจัย แต่ว่าก็มีปัจจัยอื่นด้วย ประการแรกพรรคใหญ่ไม่ได้ส่งผู้สมัครลงแข่งขัน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย (พท.) เจ้าของพื้นที่หลักภาคเหนือ ประการต่อมาคือการเลือกตั้งซ่อมในเขตเดียว เป็นช่วงวาระผู้แทนราษฎรก็เหลืออายุไม่ถึง 1 ปี คงไม่ได้แข่งขันเข้มข้นมากนัก ประการต่อมาคือตัวผู้สมัครจาก ศท. แม้ว่าจะสมัครในนาม ศท. แต่เดิมก็เคยลงสมัครในนาม พปชร.เ
ป็นผู้สมัครเคยได้ใบเหลืองมาก่อน จึงถูกมองว่าผูกติดกับรัฐบาล และในเวลานั้น ศท.ยังมีบทบาทไม่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนรัฐบาลหรือไม่อย่างไร เพราะบางเรื่องก็สนับสนุนรัฐบาล บางเรื่องสนับสนุนฝ่ายค้าน ประการสุดท้ายคือกระแสความนิยม ตรงนี้ก็มีส่วน คือความนิยมในรัฐบาล การตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของรัฐบาล หรือแม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ตรงนี้ก็มีส่วนทำให้ผลการเลือกตั้งออกมาในลักษณะของการแบ่งขั้วชัดเจน ต้องบอกว่าเหตุการณ์นี้ไม่ใช่เหตุการณ์แรก ก่อนหน้านั้นก็เห็นในเวทีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ก็มีลักษณะคล้ายๆ กัน
ส่วนเรื่องหลังจาก ร.อ.ธรรมนัสประกาศตัวอยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลแล้ว จะถึงขั้นลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทุกคนเลยหรือไม่ มองว่าอาจจะไม่ทุกคน อย่าลืมว่า ร.อ.ธรรมนัสมีความเคารพนับถือในตัว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร.อยู่ไม่น้อย เพราะฉะนั้นการลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประวิตร พรรค ศท.อาจลงมติไว้วางใจก็ได้ แต่ในทางกลับกัน การลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ค่อนข้างเชื่อสูงเลยทีเดียวว่า ศท.จะลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์
กลุ่ม 16 อาจมีทิศทางคล้อยตาม ร.อ.ธรรมนัสหรือไม่ มองว่ากลุ่ม 16 คงประเมินสถานการณ์หลังจากนี้ว่าเป็นอย่างไร ความชอบธรรมของรัฐบาล สถานการณ์เศรษฐกิจ สถานการณ์โควิด-19 รวมถึงแนวทางรัฐบาลแก้ปัญหาให้ประชาชนเรื่องต่างๆ ถ้าไปถึงในจุดที่รัฐบาลไม่สามารถเดินต่อไปได้ แน่นอนว่ากลุ่ม 16 เคลื่อนไหว หรือแตกตัวออกมาแน่นอน แต่ ณ ตอนนี้กลุ่ม 16 อยู่ในช่วงประเมินสถานการณ์มากกว่า คงจะไม่เคลื่อนไหวทันทีตาม ร.อ.ธรรมนัส
เมื่อมีกระแสการแสดงความชัดเจนทางการเมืองออกมาให้ประชาชนได้เห็น ปรากฏการณ์ครั้งนี้จะส่งผลต่อบรรทัดฐานการเลือกตั้งในอนาคตหรือไม่นั้น ต้องบอกว่าสังคมไทยเราอยู่ภายใต้การแบ่งขั้วทางการเมือง (Political polarization) มา 10 กว่าปี ตั้งแต่ความขัดแย้งในปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมา วันนี้การแบ่งขั้วทางการเมืองก็ยังอยู่ เพียงแต่ว่าในสถานการณ์ในสภาผู้แทนราษฎร อาจไม่เห็นภาพชัดมาก เพราะสุดท้ายเป็นการเมืองของชนชั้นนำ แม้ว่าเขาอยู่กันคนละขั้ว แต่มีมิตรภาพกันอยู่ แต่วันนี้นอกสภา พลังของประชาชนจะกดดันการทำหน้าที่ของนักการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะผ่านการเลือกตั้ง เพราะว่าการเลือกตั้งนับแต่นี้เป็นต้นไป ไม่ใช่เป็นเพียงการเลือกตั้งในเชิงยุทธศาสตร์ ไม่ใช่การมุ่งหาเสียงเท่านั้น แต่เป็นการเลือกตั้งเรียกว่าการเลือกตั้งเพื่อความเปลี่ยนแปลง (Vote for change) การเลือกตั้งเพื่อความเปลี่ยนแปลง จะทำให้การเลือกตั้งโดยประชาชนเป็นเครื่องมือในการกดดัน การทำหน้าที่ของผู้คนในสภาต้องฟังเสียงของประชาชนมากขึ้น
ฉะนั้นภาพของการแบ่งขั้วทางการเมืองในสังคมภาพใหญ่เป็นเช่นนั้น ต่อไปในสภาจะถูกบีบให้เกิดการแบ่งขั้วชัดเจน แม้ว่ากติกาของกฎหมายรัฐธรรมนูญ อาจยังไม่ทำให้กลับไปสู่ 2 พรรคใหญ่เหมือนกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ด้วยสภาพแวดล้อมทางการเมือง หรือภูมิทัศน์ทางการเมือง จะบีบให้นักการเมืองตอบสนองต่อประชาชน ทำให้เกิดการต่อสู้กันในเชิงอุดมการณ์ชัดเจนมากขึ้น เพราะพรรคการเมืองปัจจุบัน ไม่เหมือนกับพรรคการเมืองเมื่อ 20 ปีก่อน เวลานั้นเป็นเรื่องการตลาดทางการเมือง ใช้นโยบายประชานิยมอะไรก็จะประสบความสำเร็จ แต่ยุคนี้พรรคการเมืองต้องต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์ พรรคการเมืองไม่ชัดเจนในอุดมการณ์จะกลายเป็นพรรคล้าหลัง ผมใช้คำว่า การเมืองนอกสภาก้าวหน้า แต่การเมืองในสภาล้าหลัง
วีระ หวังสัจจะโชค
อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ต้องทำความเข้าใจว่า ฐานหลักของพรรคเศรษฐกิจไทยและฐานเสียงของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย คือกลุ่มภาคเหนือตอนบน ประชาชนยากจน เช่น โซนพะเยา น่าน รวมไปถึงกลุ่มภาคเหนือตอนล่างอย่างกำแพงเพชร การพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อมลำปางเขต 4 ทำให้เห็นว่าพรรคเศรษฐกิจไทยไม่ได้ใหญ่อย่างที่คิด เพราะแม้จะเป็นพื้นที่ลำปางที่เคยชนะขาดในการเลือกตั้งซ่อมในปี 2563 แต่ครั้งนี้กลับแพ้ ทำให้อำนาจต่อรองเกมในสภาของพรรคเศรษฐกิจไทยเสียราคาไปมาก ส่งผลไปต่อการเลือกตั้ง
ปีหน้า รวมไปถึงการที่พรรคเศรษฐกิจไทยพยายามชักชวนคนกลุ่มต่างๆ เข้ามารวมกับพรรค การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้โอกาสสร้างฐานความเป็นเศรษฐกิจไทยทำได้ยากขึ้น เพราะฉะนั้น ร.อ.ธรรมนัสต้องเปลี่ยนเกมเล่น
สำหรับประเด็นการแสดงจุดยืนที่ ร.อ.ธรรมนัสบอกคือการเข้าไปร่วมกับฝ่ายค้านหรือไม่ มองว่าอาจไม่ใช่อย่างนั้น เราต้องไม่ลืมว่าสายสัมพันธ์ระหว่าง ร.อ.ธรรมนัสกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เหนียวแน่นมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่า ร.อ.ธรรมนัสมีบทบาทสำคัญในพรรคพลังประชารัฐและการจัดตั้งรัฐบาล สายสัมพันธ์ตรงนี้ยังไม่หายไปไหน ฉะนั้นเกมที่บอกว่ากลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสจะมาจับมือกับฝ่ายค้านหรือไม่ กำลังเข้าสู่ศึกซักฟอกด้วย เป็นเพียงเกมของเศรษฐกิจไทยในการต่อรอง ไม่ได้ย้ายเข้ามาฝ่ายค้านจริงๆ ยังไม่ใช่ตอนนี้ ณ วันนี้เป็นเพียงการต่อรองเพื่อจัดการการอภิปรายไม่ไว้วางใจเท่านั้น แต่ถ้ามองไปไกลกว่านี้ ถ้าเลยช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ กลุ่มนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคงไม่มาจับมือกับฝ่ายค้าน หรือฝ่ายประชาธิปไตย เพราะสายสัมพันธ์ไม่ได้ถูกสร้างมาจากฝ่ายประชาธิปไตย แม้จะมีกระแสบอกว่า ร.อ.ธรรมนัสจะเข้ามากลุ่มพรรคเพื่อไทย แต่นั้นคือข่าวปล่อย เป็นส่วนหนึ่งในการเล่นเกมในสภาเท่านั้น
ส่วนเรื่อง ร.อ.ธรรมนัสที่กล่าวถึงผลการเลือกตั้งซ่อมลำปาง เขต 4 พร้อมย้ำว่าเป็นกลางไม่ได้อยู่ข้างรัฐบาล เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ร.อ.ธรรมนัสพยายามจะพูดตลอดในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่นี่คือหนึ่งในสาเหตุที่ ร.อ.ธรรมนัสได้คะแนนไม่ได้น้อยลง ร.อ.ธรรมนัสได้ 3 หมื่นเท่าเดิม นี่คือฐานของเขาอยู่แล้ว แต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้วเป็นพรรคพลังประชารัฐ มีกลไกของภาครัฐบาลเข้ามาอำนวยความสะดวกต่อการเลือกตั้ง ทำให้คะแนนสูง แต่ครั้งนี้กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัสมาเอง คะแนนจะอยู่ที่ 3 หมื่น เหมือนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
อาจาย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)
ผลเลือกตั้งดังกล่าวสะท้อนว่าคนภาคเหนือไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เพราะบริหารประเทศล้มเหลวมา 8 ปีแล้วเป็นสัญญาณชัดเจนว่า ลมเปลี่ยนทิศ เพราะประชาชนเบื่อการเมืองแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ เศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาปากท้องประชาชนได้ ส่งผลให้ประชาชนอยากเปลี่ยนรัฐบาล ในการเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า
ความพ่ายแพ้ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้า ศท. ในสนามเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลำปาง สะท้อนภาพให้เห็นชัดว่า พรรคไม่แสดงจุดยืน และท่าทีชัดเจนว่าอยู่ซีกรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน โดยอิงกระแสการเมืองและอำนาจเผด็จการอยู่ ทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจ จึงเลือก สร. พรรคการเมืองแสดงจุดยืนประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการแทน เพราะ ร.อ.ธรรมนัสเคยร่วมงานกับ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ทำให้เห็นภาพว่า ร.อ.ธรรมนัสอยู่ภายใต้ร่มเงารัฐบาลมา 8 ปี สนับสนุนรัฐบาลดังกล่าวจนนำไปสู่จุดตกต่ำในที่สุด
ภายหลัง ศท.พ่ายแพ้ ทำให้ ร.อ.ธรรมนัสประกาศลาออกจากพรรคร่วมรัฐบาล และพร้อมร่วมงานกับฝ่ายค้านแบบ 100% นั้น ไม่ได้ช่วยให้ภาพลักษณ์ ร.อ.ธรรมนัสและ ศท.ดีขึ้น เพราะไม่มีจุดยืนตั้งแต่ต้น เพียงต้องการสลัดภาพ สนับสนุนรัฐบาลที่มาจากอำนาจเผด็จการเท่านั้น ดังนั้นในระยะยาว ร.อ.ธรรมนัสและ ศท.ต้องมีอุดมการณ์ แสดงจุดยืนชัดเจนสนับสนุนประชาธิปไตย และกระจายอำนาจ พร้อมสร้างฐานการเมืองและเครือข่าย เพื่อนำพรรคดังกล่าว ไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต
ผลการเลือกตั้งดังกล่าว สะท้อนว่าทิศทางการเมืองเปลี่ยนไปแล้ว นำร่องที่ภาคเหนือ เนื่องจากเป็นสัญญาณเตือนรัฐบาลว่า คนภาคเหนือไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำประเทศอีกแล้ว จึงแสดงออกผ่านเลือกตั้งดังกล่าว ส่งสัญญาณไปถึง พล.อ.ประยุทธ์และพรรคร่วมรัฐบาล ในการเลือกตั้ง ส.ส.ปีหน้าด้วย
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า พรรคฝ่ายค้านอาจจับมือ ร.อ.ธรรมนัสและ ศท. เปลี่ยนขั้วมาเป็นฝ่ายค้านเพื่อจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้าได้ แต่การเมืองเป็นเรื่องอยู่เหนือความคาดหมาย สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งสิ้น ดังนั้นต้องรอดูผลเลือกตั้งดังกล่าวในอนาคต
ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่
การเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2562 คนภาคเหนือให้โอกาสพรรคร่วมรัฐบาลชนะเลือกตั้ง ส.ส.เขต หลายจังหวัด โดยพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้ ร.อ.ธรรมนัสเป็นแม่ทัพเลือกตั้ง และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยนั้น ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลัง พชปร.เป็นรัฐบาล นโยบายที่หาเสียงไว้ทำไม่ได้ ไม่สามารถแก้ปัญหาความเดือนร้อน เรื่องปากท้องประชาชนได้ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ประชาชนไม่เลือก ศท.
ช่วง 2 ปีแรก พล.อ.ประยุทธ์และ พปชร.แกนนำรัฐบาล บริหารประเทศ ประชาชนยังให้โอกาสและไว้วางใจอยู่ แต่ช่วง 2 ปีหลัง รัฐบาลใกล้ครบวาระ กลับไม่มีผลงาน สร้างความประทับใจให้ประชาชนเลย มีแต่ต่อรองอำนาจและแย่งชิงผลประโยชนเป็นหลัก ทำให้ประชาชนเบื่อหน่าย และไม่ให้โอกาสอีก ผลเลือกตั้งดังกล่าวอาจทำให้ ร.อ.ธรรมนัสและ ศท. ยากลำบากในการเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า เนื่องจากกระแสพรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคก้าวไกล (ก.ก.) สร. สนับสนุนประชาธิปไตยและกระจายอำนาจกำลังมาแรง อาจทำให้ ร.อ.ธรรมนัสและ ศท.ได้รับเลือกตั้ง ส.ส.ภาคเหนือ เหลือเพียงจังหวัดเดียวที่พะเยาเท่านั้น
ภาพลักษณ์ของ ร.อ.ธรรมนัสที่ผ่านมา เป็นลักษณะเหยียบเรือสองแคม ไม่มีจุดยืนชัดเจนว่าเลือกประชาธิปไตย หรืออำนาจเผด็จการ หลังแพ้เลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลำปาง จึงตัดสินใจออกจากพรรคร่วมรัฐบาล และอยากทำงานร่วมกับฝ่ายค้านเพื่อล้างไพ่ใหม่ หาก ร.อ.ธรรมนัสและ ศท.ร่วมกับฝ่ายค้าน อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ลงมติไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า พปชร. เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองและความจริงใจ ไม่กลับไปร่วมรัฐบาลอีก อาจทำให้ พท. ก.ก. เชิญและเปิดโอกาสให้ ร.อ.ธรรมนัสเข้าร่วมฝ่ายค้าน เพื่อร่วมจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้าได้ ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้ง ส.ส.เขตและระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ ว่าพรรคใดได้ ส.ส.มากที่สุด