งวยงง ‘ป.ป.ช.’ ความย้อนแย้งคดี ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ กับคดีฮั้วประมูลรถซ่อมบำรุงฯ

งวยงง ‘ป.ป.ช.’ ความย้อนแย้งคดี ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ กับคดีฮั้วประมูลรถซ่อมบำรุงฯ

“งวยงง” กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ยื่นฟ้อง “นิพนธ์ บุญญามณี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา ฐานละเว้นไม่เบิกจ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ให้แก่บริษัท พลวิศว์ เทคพลัส จำกัด วงเงินกว่า 50 ล้านบาท

จากที่ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ชี้มูล “นิพนธ์” ส่งให้อัยการพิจารณา แต่มีหลายประเด็นที่ไม่ชัดเจน ตั้งคณะทำงานร่วมกันทั้งอัยการและ ป.ป.ช. แต่ก็ไม่เคลียร์ สุดท้ายอัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง และคืนสำนวนคดีให้ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 แล้ว ป.ป.ช.ก็มีมติฟ้อง “นิพนธ์” ด้วยตัวเอง

“งงงวย” กับมติ ป.ป.ช.ที่ให้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง แทนที่จะเป็นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ซึ่งเป็นพื้นที่ปฐมเหตุแห่งคดี

Advertisement

ย้อนกลับไปเมื่อพฤษภาคม 2556 สมัย “อุทิศ ชูช่วย” เป็นนายก อบจ.สงขลา ประมูลจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ 2 คัน

ต่อมาตุลาคม 2556 “นิพนธ์” ได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.สงขลา ช่วงเดียวกับที่มีการส่งมอบรถ แต่มีการร้องเรียนไปยังผู้ว่าฯสงขลาว่าการจัดซื้อส่อแววว่าน่าจะมีการฮั้วประมูล

ผู้ว่าฯสงขลาส่งเรื่องให้ อบจ.สงขลา ตรวจสอบ ทาง “นิพนธ์” จึงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และชะลอการจ่ายเงินให้ผู้ชนะการประมูล

Advertisement

ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนสรุปว่าน่าจะฮั้วกันจริง จึงแจ้งความดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง ที่ สภ.เมืองสงขลา และเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 สภ.เมืองสงขลา สรุปสำนวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องบริษัทพลวิศว์ฯ พร้อมผู้บริหาร และบริษัทคู่เทียบประมูล ในความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมและฮั้วประมูล

แต่ผู้ต้องหาขอโอนสำนวนจาก สภ.เมืองสงขลา ไปให้กองปราบฯทำแทน อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 กองปราบฯก็สรุปสำนวนว่าผู้ต้องหากับพวกกระทำความผิดจริง พร้อมส่งสำนวนไปยัง ป.ป.ช.ด้วย

กระทั่ง เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 คณะกรรมการ ป ป.ช.มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ดำเนินคดีกับบริษัท พลวิศว์ฯและบริษัทที่เกี่ยวข้อง พร้อมผู้บริหาร ฐานร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือฮั้วประมูล

ต่อมาตำรวจภูธรเมืองสงขลาสรุปสำนวนการสอบสวนให้อัยการพิจารณา และส่งฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 และเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ศาลอนุมัติหมายจับกลุ่มบริษัทและผู้บริหารรวม 8 หมาย

ดังนั้น ที่ “นิพนธ์” ไม่จ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทางฯให้จึงน่าจะถูกต้องแล้ว แต่ ป.ป.ช.กลับดันจะฟ้อง “นิพนธ์” ฐานละเว้นที่ไม่จ่ายเงินให้กับผู้ชนะประมูลที่ส่อว่าฮั้วกัน…(มึนตึ้บ)

แถม ป.ป.ช.มาแปลก จะฟ้อง “นิพนธ์” ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง แทนที่จะเป็นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ดูเหมือน ป.ป.ช.ไม่เชื่อมั่นการพิจารณาคดีของศาลในพื้นที่

อาจเป็นคดีแรกที่ฟ้องนอกเขตอำนาจศาล ทั้งที่เหตุและพยานหลักฐานอยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะคดีฮั้วประมูลที่ ป.ป.ช.แจ้งความดำเนินคดี ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ก็ดำเนินการมาตั้งแต่ต้น และเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกัน หากย้ายคดีมายังศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ก็จะเป็นภาระแก่พยาน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่

ที่ ป.ป.ช.อ้างว่าต้องฟ้อง “นิพนธ์” ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพราะเกรงเรื่องอิทธิพล ที่อาจทำให้พยานบุคคลไม่กล้าให้การ หากมาไต่สวนใน กทม. จะคุ้มครองพยานได้ดีกว่า พยานกล้าจะพูดความจริงได้มากกว่า

คาดว่าพยานส่วนหนึ่งที่ ป.ป.ช.จะนำขึ้นไต่สวนคดีที่ฟ้อง “นิพนธ์” นั้น ก็เป็นผู้ต้องหาที่ ป.ป.ช.ฟ้องพวกเขาในคดีร่วมกันฮั้วประมูล ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ออกหมายจับแล้ว และผู้ต้องหาหลายคนหนีไปต่างประเทศแล้ว

จึงมีคำถามว่า ป.ป.ช.จะคุ้มครองพยาน ที่อีกฐานะเป็นผู้ต้องหาด้วยยังไง…

แม้ ป.ป.ช.จะอ้างว่าเป็นคนละคดีกัน ก็ไม่ใช่คดีที่แยกกันเด็ดขาด แต่มันเป็น “คนละคดีเดียวกัน” ที่เกี่ยวโยงกัน

ดังนั้น ที่ ป.ป.ช.ฟ้องว่าการประมูลรถซ่อมบำรุงฯนั้นส่อว่าฮั้วกันจริง แล้วยังจะฟ้อง “นิพนธ์” ฐานละเว้นไม่ยอมจ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงฯจากการประมูลที่ส่อว่าทุจริต…มันไม่ย้อนแย้งกันเหรอ… งงงวย” กันทั้งบาง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image