รายงานหน้า2 : จุดพลิกผัน‘ธรรมนัส-ศท.’ ผ่านศึก‘ไม่ไว้วางใจ’

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีพรรคเศรษฐกิจไทยนำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรค ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลกับบทบาทใหม่ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

การวางสถานะและถอนตัวของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นการดิ้นเฮือกสุดท้ายของพรรคเศรษฐกิจไทย มองว่าช่วงนี้ ร.อ.ธรรมนัส เป็นผู้ล้มละลายและขาดความน่าเชื่อถือทางการเมืองไปแล้ว เพราะการวางสถานะก่อนหน้านี้ ตั้งแต่การย้ายมาจากพรรคเศรษฐกิจไทย ท่าทีทางการเมืองการกลับไปกลับมาทำให้สังคมขาดความน่าเชื่อถือ เป็นคนล้มละลายทางการเมือง สังเกตในเรื่องการพูด สังคมจะมองเป็นตัวตลก เป็นเด็กเลี้ยงแกะ ขาดความน่าเชื่อถือ ส่วนการย้ายไปสังกัดพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายค้านเห็นด้วยนั้น เนื่องจากฝ่ายค้านอาจหาพันธมิตรในทางการเมืองในการที่จะล้มรัฐบาล แต่เชื่อว่าฝ่ายค้านไม่ไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัสเหมือนกัน

ส่วนกรณี ร.อ.ธรรมนัสเชื่อว่าตัวเองมีทั้งหมด 18 เสียง คิดว่าประเมินผิด เพราะ 18 เสียงของพรรคเศรษฐกิจไทยที่ย้ายไปอยู่ร่วมกันไม่ใช่คนของ ร.อ.ธรรมนัสทั้งหมด แต่มาจากเงื่อนไขอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมและบงการของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สถานการณ์แบบนี้ เสียงทั้งหมด 18 เสียงไม่ได้คิดแบบเดียวกับ ร.อ.ธรรมนัส ดีไม่ดีการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล อาจจะลงมติหลากหลายในพรรคเศรษฐกิจไทย ไม่ไปในทิศทางเดียวกันแน่นอน เพราะหลายคนต้องการไปต่อทางการเมือง หากไปกับ ร.อ.ธรรมนัส อาจจบชีวิตทางการเมือง ความน่าเชื่อถือจะล้มละลายไปด้วย เชื่อว่า ร.อ.ธรรมนัสกำลังเคลียร์ หรืออธิบายตัวเองผ่านพรรคเศรษฐกิจไทย แต่ว่า ส.ส.ภายในพรรค 17 คน อาจจะไม่คิดแบบนั้น

Advertisement

คิดว่าพรรคเพื่อไทยอาจใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อให้ ร.อ.ธรรมนัสโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เต็มที่ คิดว่าพรรคเพื่อไทยต้องการเป็นเพียงแนวร่วมในการโค่น พล.อ.ประยุทธ์ในการอภิปรายเท่านั้นเอง แต่ระยะยาวเชื่อว่า ร.อ.ธรรมนัสน่าจะมีชีวิตทางการเมืองลำบาก เพราะสังคมการเมือง ประชาชนติดตามพฤติกรรมทางการเมืองของทุกคน และจับจ้องดูความเคลื่อนไหว ที่สำคัญประชาชนรับไม่ได้กับท่าทีการเมืองของ ร.อ.ธรรมนัส

จากการที่ ร.อ.ธรรมนัสเคยร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ แต่มาร่วมศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ เชื่อว่าไม่มีผลกับรัฐบาลเนื่องจากรัฐบาลยังมีเสียงข้างมาก ยังสามารถผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้ แต่ส่งผลกระทบต่อสังคม เพราะประชาชนหดหู่ใจกับสภาพการเมืองในห้วงเวลานี้

การโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัสเคยกล่าวว่าจะพุ่งเป้าไปที่ 3 รัฐมนตรี แต่เชื่อว่า 17-18 เสียงของพรรคเศรษฐกิจไทยเป็นอิสระจาก ร.อ.ธรรมนัส ทุกคนอาจยกมือโหวตสวน ร.อ.ธรรมนัสทั้งหมด เพราะต้องการไปต่อทางการเมือง คิดว่าไม่มีใครเอาต้นทุนการเมืองของตนเองมาเสี่ยงกับ ร.อ.ธรรมนัสในเวลานี้ ร.อ.ธรรมนัสอาจจะโดดเดี่ยว หรืออาจมี 2-3 คน ที่พึ่งพาทรัพยากรจาก ร.อ.ธรรมนัส ที่ต้องอยู่ร่วมด้วยช่วยกัน การที่ 17-18 เสียงจะไปถล่มรัฐบาลนั้นคงยาก เพราะที่กล่าวมาไม่ได้มาจาก ร.อ.ธรรมนัสทั้งหมด

Advertisement

แต่ยังมาจาก พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย หากดูจากนายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี เขต 8 ที่ย้ายมาสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งมาจากเงื่อนไขอื่น แต่ไม่ได้สังกัด ร.อ.ธรรมนัส แต่ความสัมพันธ์กับ พล.อ.ประวิตรและ พล.อ.วิชญ์มากกว่า ซึ่งหลายคนคิดว่าอาจจะไปต่อกับ ร.อ.ธรรมนัส แต่ในความเป็นจริง พล.อ.ประวิตรอาจตัดสินใจไปต่อกับ พล.อ.วิชญ์จะดีกว่า เนื่องจาก ร.อ.ธรรมนัสหมดความน่าเชื่อถือทางการเมือง การที่นายสะถิระไปร่วมการปราศรัยกับพรรคเศรษฐกิจไทยที่ จ.ชลบุรี นี่คือความชัดเจนจาก 17 คนเปรียบเสมือนตัวแทนพรรคเศรษฐกิจไทย ที่มองได้ว่ามาจากลุงป้อม หรือ พล.อ.ประวิตร ที่สร้างพรรคไว้เพื่อจัดการเงื่อนไขความขัดแย้งของพรรคพลังประชารัฐ ภาพของนายสะถิระชัดเจนมาก การลงมติไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันหรือทั้งหมดนั้น จะไม่ได้อยู่กับ ร.อ.ธรรมนัส เป็นการที่คุยโอ้อวดของ ร.อ.ธรรมนัสเท่านั้นเอง

ทางออกของ ร.อ.ธรรมนัส ขณะนี้เป็นฝ่ายค้านเต็มตัวแล้ว มองดูแล้วควรรักษาพื้นที่ของตัวเองเท่านั้น เพื่อให้ตัวเองอยู่ได้ การรักษาตัวของ ร.อ.ธรรมนัสคือ เมื่อตัวเองหมดความน่าเชื่อถือทางการเมือง หรือตกต่ำก็ต้องยอมรับความจริง อย่าดิ้นต่อ หากเป็นฝ่ายค้าน 17-18 เสียงไม่ได้โหวตตามความต้องการของ ร.อ.ธรรมนัส ก็ต้องหันไปทำงานในพื้นที่หรือจังหวัดของตนเองจะดีกว่า หลังจากฐานแข็งแรงแล้วค่อยสถาปนาอำนาจใหม่ ถอดบทเรียนประสบการณ์ที่ผ่านมา จากการที่ประกาศว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของรัฐบาล แต่ธรรมชาติของการเมืองขณะนี้มีตัวแปรอื่นๆ เข้ามาอีกมากมาย จากการที่ ร.อ.ธรรมนัสในอดีตได้รับการยอมรับจากผู้มากบารมี ปัจจุบันกลับกลายเป็นคนล้มละลายทางความน่าเชื่อถือทางการเมือง คิดว่าต้องถอดบทเรียน วางกลยุทธ์ใหม่ในการเลือกตั้งสมัยหน้า

แนวโน้มของพรรคเศรษฐกิจไทยเชื่อว่าคงจะจบ เพราะ 17-18 คน น่าจะไปกับ ร.อ.ธรรมนัสเพียง 1-2 คน หลายคนอาจย้ายกลับมาพรรคพลังประชารัฐ หรือไปกับพรรค พล.อ.ประยุทธ์ ที่สร้างขึ้นมาใหม่เพื่อเอาตัวรอด ไม่มีใครจะไปเผชิญอนาคตการเมืองที่ไม่แน่นอนกับ ร.อ.ธรรมนัส

ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

ถามว่าพรรคเศรษฐกิจไทยของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ประกาศถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล จะร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจร่วมกับพรรคฝ่ายค้านได้หรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่า คงมีการอภิปราย แต่จะไปร่วมกับฝ่ายค้าน 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ ตอบไม่ได้ ยังเป็น “อินดี้” หรือในนามอิสระอยู่ อาจจะมีแนวทางของตัวเอง คงไม่ได้ไปกับฝ่ายค้านอย่างเต็มที่ เพราะต้องไม่ลืมว่าขณะนี้อยู่ในช่วงเวลาใกล้เลือกตั้งครั้งใหม่แล้ว อีกเพียงไม่ถึง 1 ปีเท่านั้น เมื่อพิจารณาจากผลการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดลำปาง ซึ่งพรรคเศรษฐกิจไทยแพ้ให้พรรคเสรีรวมไทยของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ที่ทำให้เห็นถึงความไม่นิยมในแนวทางของรัฐบาล แต่ถ้าจะให้ไป “หัก” กันเลย ก็คงจะไม่ใช่อย่างนั้น อย่างไรก็ตาม คงมีการประเมินจากผลการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา

สำหรับการพรรคเศรษฐกิจไทยพ่ายแพ้ในเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ จะบอกว่าเป็นเพราะ “จุดยืนไม่ชัด” ก็ไม่เชิง มันกลายเป็นว่าการเล่น 2 ฝั่ง ไม่เป็นผลดี แต่การจะพลิกมาสู้ร่วมกับฝ่ายค้าน 100 เปอร์เซ็นต์แบบเต็มตัว คิดว่าไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีของ ร.อ.ธรรมนัส คงประเมินแล้วว่าไม่น่าจะใช่แนวทางของตนเอง เพราะต้องไม่ลืมความสัมพันธ์อันดีระหว่าง ร.อ.ธรรมนัสกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งในอนาคตพรรคที่ พล.อ.ประวิตรอยู่ ไม่ว่าจะชื่อพรรคอะไรก็ตาม บังเอิญชนะการเลือกตั้ง หากวันนี้มีการหักกันไปแล้ว โอกาสที่พรรคเศรษฐกิจไทยจะไปร่วมรัฐบาลก็แทบจะเป็นศูนย์

สำหรับเสียงจากพรรคเล็กอื่นๆ คิดว่ามีนัยยะเกี่ยวกับการปรับ ครม. ซึ่งจะเหลือ 6 เดือน หรือกี่เดือนไม่สำคัญเท่ากับการมี “ตำแหน่ง”

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

พรรคเศรษฐกิจไทยจะอภิปรายร่วมกับพรรคฝ่ายค้านหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ตอบยาก เพราะไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ และทำอะไรกัน อาจเป็นอีกเกมหนึ่งที่สร้างการต่อรองหรือหาพื้นที่ หาโอกาสที่จะกลับมาใหม่ก็เป็นได้ เพราะทุกคนก็คาดหวังในการเลือกตั้งครั้งต่อไปทั้งนั้น

ประเด็นการต่อรอง อาจเป็นเรื่องอำนาจจากส่วนกลางไปถึงอำนาจท้องถิ่นต้องอยู่กับพวกเขา คือเขาเข้าไปดีลได้ จะไม่มีการมากีดกันหรือหาเรื่องเล่นงานเกินกว่ากฎหมายหรือช่องทางที่ทำได้ ที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ หรือเรื่องการแจก การหาพรรคพวก ก็ต้องได้ด้วย รวมถึงการแบ่งพื้นที่ในเขต ว่าใครจะลงตรงไหน มันก็ต้องตามมา เรื่องทางบวกอย่างเดียวที่กลุ่มนี้ทำ คือ ทำให้การเมืองไม่นิ่งด้วยการกบฏนิดๆ ไม่ทำตามตั่วเฮีย

สำหรับกรณีเช่นนั้นในต่างประเทศ แต่ละแห่งก็แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพัฒนาการและประวัติความเป็นมาของพรรคการเมืองว่ามีความมั่นคง มีความเป็นระบบระเบียบมากน้อยแค่ไหน อย่างเดโมแครตกับรีพับลิกัน ชัดเจนเลยว่าทุกคนต้องมาตามขนบของเขาคือเริ่มจากการเมืองท้องถิ่น การเมืองระดับรัฐ ระดับชาติ มาเป็นแถบๆ จะ “แหกโค้ง” คนเดียวไม่ได้ ในขณะที่ของไทยนั้น พูดตรงๆ คือสะท้อนความอ่อนแอของพรรคการเมือง เอาคนนั้นออก คนนี้เข้า 3-4 ปีที่ผ่านมา วุ่นวายมาก เกือบจะไม่เป็นระบบเลย ขึ้นอยู่กับว่าใครมีเส้นสายดี

สิ่งสำคัญตอนนี้คือการโหวตชูคะแนนเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น คนที่คุมได้ ก็ถือว่าเป็น “ตั่วเฮีย” เป็นนายใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นเกมแบบที่เรียกว่า ไม่ได้ทำเพื่อรักษาพรรคการเมือง หรือทำให้ระบบพรรคเดินไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image