หาร 100 VS. 500 เรื่องตลกการเมือง?

หมายเหตุมุมมองนักการเมือง นักวิชาการ ที่มีการเสนอให้กลับไปใช้สูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จากสูตรหาร 500 กลับมาใช้สูตรหาร 100 จะมีทางออกอย่างไร รวมถึงความเป็นไปได้ที่กฎหมายสะดุดจนต้องกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบเดิมปี 2562 คือบัตรใบเดียว มี ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ150 คน ด้วยระบบจัดสรรปันส่วนผสม

ชูศักดิ์ ศิรินิล
ประธานคณะทํางานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย (พท.)

กรณีที่ประชุมรัฐสภามีมติเสียงข้างมากเห็นด้วยกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. …ให้แก้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากสูตรหาร 100 เป็นหาร 500 นั้น ผมคิดว่าความพยายามในการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ขัดรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 91 ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ 1.เจตนารมณ์ของการแก้รัฐธรรมนูญ แก้มาเพื่อเปลี่ยนให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเหมือนกับในอดีต และ 2.ถ้อยคำที่นำมาแก้มาตรา 91 เป็นถ้อยคำเดียวกับที่นำมาจากรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2554 ทุกตัวอักษร สำหรับฉบับปี 2554 ใช้สูตรหาร 125 เพราะในการเลือกตั้งปีนั้น ส.ส.แบ่งเป็น 375 กับ 125 เมื่อเป็นถ้อยคำเดียวกันแล้วครั้งนี้รัฐบาลมาแก้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นบัตร 2 ใบเหมือนกัน รัฐบาลก็ควรจะเห็นด้วยกับการใช้สูตรหาร 100 เพราะมันแยกกันนับ ถึงเรียกกันว่าระบบคู่ขนาน แต่การที่รัฐบาลเห็นด้วยกับสูตรหาร 500 จึงผิดกับหลักรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

Advertisement

ส่วนประเด็นที่มีความพยายามจะกลับมาใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว หลังจากรัฐธรรมนูญที่เพิ่งแก้ไขเปลี่ยนไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบนั้น ถ้ามองลึกลงไปส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่ใช้สูตร 100 มาคู่กับบัตรใบเดียว ในขณะที่สูตรหาร 500 มาคู่กับบัตรคู่ขนาน ทั้งนี้ รัฐบาลอาจจะไปคิดสะระตะแล้วว่าการแก้กฎหมายเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะไม่ผ่านสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอาจจะคิดแล้วว่าจะไม่ได้รับผลประโยชน์ อาจจะไปเข้าใจผิดว่าสูตรหาร 500 จะได้ ส.ส.มากขึ้น ถ้าคิดให้ดีอาจจะไม่ได้เลยก็ได้ แต่สำหรับผมประเด็นหลักคือยังไงขัดกับรัฐธรรมนูญแน่นอน และมีแนวโน้มว่าจะไม่ผ่านความเห็นชอบจาก กกต. เนื่องจาก กกต.เสนอร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาให้ใช้สูตรหาร 100

ความพยายามในการแก้กฎหมายครั้งนี้ ในทางกฎหมายต้องกลับไปแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้มีระยะเวลาเหลือน้อย เพราะจะครบวาระในเดือนมีนาคม 2566 หากยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งในตอนนี้ในทางปฏิบัติจะทันหรือไม่นั้น ก่อนอื่นคือความชอบธรรมมันไม่มี ถ้าคิดจะแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าจะแก้ได้คือทำให้กฎหมายนี้ตกไปถึงจะไปแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ความชอบธรรมไม่มีเลย และเป็นเรื่องที่ตลกที่สุด รัฐบาลเพิ่งแก้รัฐธรรมนูญเปลี่ยนเป็นบัตรคู่ขนานเมื่อไม่นานมานี้เอง วันดีคืนดีอยากกลับมาใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวอีกใครได้ยินได้ฟังเรื่องนี้คงจะบอกว่าประเทศนี้มันตลกสิ้นดี

การที่รัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างนี้ จะทำให้มุมมองจากประชาชนมองว่ารัฐบาลกำลังเล่นตลกอะไรอยู่หรือไม่ มองได้ชัดเจนว่ารัฐบาลนี้ต้องการสืบทอดอำนาจเพื่อดำรงตำแหน่งต่อ สำหรับเหตุผลเรื่องการเปลี่ยนสูตรหาร 100 เป็นสูตรหาร 500 ใครเป็นคนสั่งน่าจะรู้ เพราะว่า กกต.เห็นเป็นเอกฉันท์กับสูตรหาร 100

Advertisement

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่

เดิมพรรคร่วมรัฐบาลสนับสนุนสูตรหาร 100 ภายหลังไปสนับสนุนสูตรหาร 500 เพื่อชิงความได้เปรียบเลือกตั้งสมัยหน้าและสนับสนุนพรรคเล็กได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่ม ที่สำคัญกลัวพรรคเพื่อไทย (พท.) ชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย หรือแลนด์สไลด์ แต่หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือซักฟอกรัฐบาล ที่พรรคร่วมรัฐบาล พรรคขนาดเล็ก และ ส.ส.งูเห่า ลงมติไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี รวม 11 ราย ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เห็นว่าพรรคเล็กและ ส.ส.งูเห่ามีอำนาจต่อรองผลประโยชน์เพื่อแลกเปลี่ยนการลงมติดังกล่าวมากเกินไป ทำให้การเมืองถอยหลังลงคลอง ไม่ก้าวเดินไปข้างหน้า

ภายหลังการซักฟอกรัฐบาลจบไปแล้ว พปชร.และพรรคร่วมรัฐบาลไม่จำเป็นต้องให้พรรคเล็กและ ส.ส.งูเห่าสนับสนุนอีกแล้ว จึงหันกลับไปใช้สูตรหาร 100 เพื่อให้พรรคร่วมรัฐบาลได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากขึ้น เป็นการกำจัดหรือเขี่ยพรรคเล็กออกจากวงจรการเมือง ให้เหลือที่นั่งในสภาน้อยที่สุด เพื่อลดอำนาจต่อรองผลประโยชน์ดังกล่าว เนื่องจากการเลือกตั้ง ส.ส.ใช้บัตร 2 ใบเลือกพรรคและผู้สมัคร โดยใช้หมายเลขต่างกันทำให้พรรคใหญ่ที่มีฐานเสียงและเครือข่ายได้เปรียบกว่าพรรคเล็ก ดังนั้น การใช้สูตรหาร 100 อาจทำให้พรรคเล็กหายไป เพราะต้องได้เสียงสนับสนุน 120,000-150,000 คะแนน ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน ไม่ใช่ 50,000-70,000 คะแนนอีกแล้ว

ประเด็นสำคัญของการใช้สูตรหาร 100 เนื่องจาก กมธ.ต้องการผลักดันกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และพรรคการเมืองให้ผ่านก่อนรัฐบาลครบวาระ ที่สำคัญไม่ขัดรัฐธรรมนูญปี’60 ที่ได้แก้ไขไปแล้วในอนาคตอาจเหลือพรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางเพียง 10-15 พรรคเท่านั้น เพราะพรรคเล็กจะถูกกลืนและกวาดตกเวทีไป ดังนั้น พรรคเล็กต้องปรับตัว หรือมีกลุยทธ์ใหม่เพื่ออยู่รอดในเวทีการเมือง อาจถึงขั้นยุบพรรคเพื่อไปรวมกับพรรคขนาดใหญ่ หรือขนาดกลางมากขึ้น เพี่อมีโอกาสเดินเข้าสู่สภา หรือมีที่ยืนในเวทีการเมืองได้

อย่างไรก็ตาม อยากให้ กมธ.พิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้ใช้บัตรเลือกตั้ง2 ใบ เบอร์เดียวกัน ไม่ใช่คนละเบอร์ เพื่อป้องกันประชาชนสับสนและลดบัตรเสียได้ เชื่อว่าประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น แต่ผลการซักฟอกรัฐบาล ฝ่ายค้านทำการบ้านมาดี ทำให้ประชาชนมองเห็นจุดอ่อนการใช้สูตรหาร 500 ก่อนพิจารณาและตัดสินใจเลือก ส.ส.สมัยหน้า ซึ่งฝ่ายค้านได้ใช้การซักฟอกดังกล่าวเป็นเวทีหาเสียง เพราะรัฐบาลเหลืออายุเพียง 7-8 เดือนก่อนครบวาระ จึงเป็นการเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง เพื่อเรียกความนิยมพรรคและตัวผู้สมัครไปพร้อมกัน อาจนำไปสู่การเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้าด้วย

ผศ.วีระ หวังสัจจะโชค
ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

เรื่องการเปลี่ยนสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อและระบบการเลือกตั้ง ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องทางออกต้องพูดถึงหลักการพื้นฐานก่อนว่ากติกาในการเลือกตั้งควรจะต้องเป็นกติกากลาง มีความแน่นอนในระดับหนึ่ง หากมีการแก้ไขควรให้นำไปสู่การปฏิบัติได้ ไม่ใช่แก้ไขเพื่อรองรับเกมทางการเมืองของใครคนใดคนหนึ่ง และจะยิ่งมีปัญหา ถ้าหากเกิดการแก้ไขแล้วยังไม่ทันได้นำไปใช้แต่จะให้มีการแก้ไขอีก ซึ่งยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าสถาบันนิติบัญญัติของเรา ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.มีปัญหาในการกำหนดกติกา แทนที่จะให้กติกาเป็นตัวกำกับเกมการเมือง กลายเป็นว่าเกมการเมืองมาเป็นตัวชี้นำว่าจะออกกติกาแบบไหน

ส่วนเรื่องของการเปลี่ยนสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แน่นอนว่าตอนนี้เรามีการแก้รัฐธรรมนูญ เนื้อหามีลักษณะที่สอดคล้องกับการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ บัตร 2 ใบที่เป็นแบบหาร 100 มากกว่า เพราะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างที่มีการเปลี่ยนเกมทางการเมือง ทำให้เปลี่ยนไปเป็นการหาร 500 ในลักษณะดังกล่าว เข้าใจกันดีว่าเป็นการเปลี่ยนเกมเพื่อสกัดพรรคที่ได้ ส.ส.เขตจำนวนมาก ให้ได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยลงในการเลือกตั้ง หรือพูดง่ายๆ คือสกัดการแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย (พท.) และในกระแสปัจจุบัน จากที่เห็นข่าวว่าอาจจะมีการเปลี่ยนสูตรคำนวณอีกหรือไปถึงขนาดเปลี่ยนจำนวนบัตรเลือกตั้งอีก ซึ่งจะเป็นปัญหาอย่างมาก เพราะหากมีการเปลี่ยนสูตรคำนวณจะต้องรอให้มีการแก้ไข
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เสร็จก่อน เพราะกฎหมายนี้โหวตไปแล้ว ถ้าอยากจะแก้อะไร จะไม่ได้กลับมาในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) แล้ว

ฉะนั้น หากจะแก้ต้องรอกระบวนการแก้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้เรียบร้อยก่อนแล้วเข้าสู่กระบวนการแก้ใหม่ ซึ่งจะตลกมาก เพราะจะกลายเป็นว่าแก้สิ่งที่ยังไม่ทันใช้และกลับมาแก้อีกทีหนึ่ง ดังนั้น กติกาควรจะกำหนดการเมืองให้เป็นกลาง ไม่ใช่การเมืองกำหนดกติกาแบบนี้ หากอยากแก้ให้กลับไปสู่ระบบการเลือกตั้งแบบปี 2562 ที่ใช้บัตรใบเดียว หรือกลับไปคล้ายกับรัฐธรรมนูญ 2560 จะยิ่งมีปัญหาเข้าไปใหญ่ เพราะจะต้องกลับไปแก้รัฐธรรมนูญอีกทีหนึ่ง จะนำไปสู่ปัญหาใหญ่คือ “อายุของสภาผู้แทนราษฎร” ที่ตอนนี้เหลืออายุประมาณ 7 เดือน แสดงว่าการจะแก้ไขกฎหมายสักฉบับเป็นกฎหมายสำคัญอย่าง พ.ร.ป.นั้นเวลาอาจจะไม่เพียงพอ นี่คือข้อกังวลที่สำคัญมากๆ หากใครจะมาเปลี่ยนเกมในตอนนี้อีก ถ้าเวลาไม่เพียงพอ กฎหมายแก้ไม่เสร็จ และรัฐบาลครบวาระ จะนำไปสู่เดดล็อกทางการเมืองอีกครั้งว่าจะนำกติกาไหนมาใช้ในการเลือกตั้ง

ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ หากต้องกลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งและสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบเดิม ในทางกฎหมายสามารถเป็นไปได้ แต่ในเชิงกติกาทางการเมืองในหลักรัฐศาสตร์ หากทำแบบนั้นถือว่าเป็นการเปลี่ยนกติกาเพื่อผลทางการเมือง ทำให้กติกาทางการเมืองในการเลือกตั้งไม่มีความหมาย แบบนี้ถ้าในอนาคตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคุมเสียงในสภาได้ก็จะแก้กติกาเพื่อให้ฝ่ายตนเองได้เปรียบในการเลือกตั้ง จะทำให้กติกาในรัฐธรรมนูญกลายเป็นเหมือนของเล่นของนักการเมือง และจะทำให้สถาบันทางการเมืองไม่มีเสถียรภาพ

ส่วนในการประชุมรัฐสภา วันที่ 26-27 กรกฎาคมนี้ตอบไม่ได้ว่านักการเมืองจะใช้เกณฑ์ไหน เพราะการเปลี่ยนตั้งแต่รอบที่แล้วจากหาร 100 มาเป็นหาร 500 ก็ถือว่าเป็นพฤติการณ์ที่มีปัญหาแล้ว เนื่องจากเป็นการปฏิเสธหลักการที่ตนเองเสนอของพรรคร่วมรัฐบาล คือพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ ส.ว. ซึ่งเสนอตอนแรกให้หาร 100 และคราวนี้จะมาเปลี่ยนอีก ผมเลยมองว่าเขาน่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนตรงนี้ และไม่น่าเปลี่ยนเกมอีกครั้งในรอบนี้ เรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อและระบบการเลือกตั้งนั้นมีผลได้-เสียต่อเกมการเมืองแน่ๆ ว่าใครจะชนะหรือแพ้ แต่กติกาทั้งหลายควรจะเป็นกติกากลางที่ประชาชนได้ร่วมตัดสินใจ ถ้าเป็นบัตรใบเดียว อย่างน้อยที่สุดก็มีความชอบธรรมจากการลงประชามติในรัฐธรรมนูญ 60

เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีการเปลี่ยนกติกาอะไรก็แล้วแต่อาจต้องทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติหันกลับมามองว่าประชาชนจะมองสถาบันในการร่างกฎหมายอย่างไร หากร่างกฎหมายแล้วเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแบบนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image