เช็กกระแสปรับ ครม. ศึกภายในเขย่าเก้าอี้ รมต.

เช็กกระแสปรับ ครม. ศึกภายในเขย่าเก้าอี้ รมต.

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการมองสถานการณ์การเมืองของพรรคร่วมรัฐบาล หลังผ่านการอภิปรายไม่วางใจนายกฯและ 10 รัฐมนตรี โดยเฉพาะ 6 ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ โหวตสวนไม่ไว้วางใจ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ 1 ใน 6ส.ส.ได้ก้มกราบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขอให้ไปเป็น รมว.มหาดไทยแทน ที่พร้อมพิจารณาเก้าอี้รัฐมนตรีให้กลุ่ม ส.ส.ดังกล่าว หากมีการปรับ ครม.

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คงไม่อยากให้มีแรงกระเพื่อมภายในรัฐบาลนำไปสู่ความแตกแยก ความไม่เป็นเอกภาพของรัฐบาลตัวเอง โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเหลืออายุอยู่ประมาณ 7-8 เดือนสุดท้าย อาจจะไม่มีความจำเป็นในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อยอมรับผลกระทบจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าทำอย่างนั้น เท่ากับว่ายอมรับความล้มเหลว ในสิ่งที่ฝ่ายค้านก็อาจจะเอาไปเคลมหรืออ้างว่า นี่คือผลสะเทือนจากการอภิปรายของตัวเอง แต่ในความเป็นจริง มันคือตัวเลขคณิตศาสตร์ภายในแต่ละพรรค ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องความมีเอกภาพได้ จะมีผลสะเทือนทางการเมืองด้วย

Advertisement

แต่ถ้าจะปรับ ครม. ก็เพื่อการชิงความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ทางการเมือง โดยเฉพาะในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เพ่งเล็งกระทรวงมหาดไทย การที่หยอด ส.ส. 6 คน ก็เป็นเหมือน “กองหน้า” ที่โหวตไม่ไว้วางใจ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ชี้ให้เห็นแล้วว่ามีสัญญาณหรี่ตาจากผู้มีอำนาจใน พปชร.ให้เล่นเกมนี้

อย่าลืมว่า พรรค พปชร.จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงมหาดไทย เป็นกระทรวงที่มีอิทธิพลครอบคลุมในการสร้างฐานมวลชน รวมถึงนโยบายหรือแคมเปญต่างๆ ที่จะลงไปสู่พื้นที่เลือกตั้ง ส.ส.พปชร.จึงมีความจำเป็นอย่างมาก แต่ที่ผ่านมาการที่ พปชร.ไม่ได้รับการสนับสนุน นำไปสู่สมรภูมิการสู้ศึกเลือกตั้งที่ชี้ให้เห็นแล้วว่า พปชร.ในพื้นที่หลายจังหวัด ไม่ได้อยู่ในระดับเป็นคู่แข่งหลักของพรรคฝ่ายค้าน อย่างเพื่อไทย(พท.) ก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่งได้เล็งว่าคู่แข่งตัวจริง คือพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ดังนั้นพปชร.ไม่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับการยอมรับถึงความเข้มแข็ง ไม่เหมือนกับในปี 2562

สิ่งหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์คงจะชั่งใจ แต่ท้ายที่สุดการจะปรับ ครม. โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยนั้น ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่กล้าเล่น ยังจะต้องรักษาน้ำใจ พล.อ.อนุพงษ์เอาไว้

Advertisement

ในส่วนท่าทีของ พล.อ.ประวิตร กับ พล.อ.ประยุทธ์ คิดว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นการดึงเวลา เพราะท้ายที่สุดทุกคนเป็นห่วงเรื่องการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะนำไปสู่กลิ่นควันของกระแสคนที่ไม่พอใจ หรือนักวิชาการ นักวิเคราะห์ทางการเมือง ที่เอาประเด็น 8 ปีขึ้นมาวิเคราะห์ ขึ้นมาเล่น แน่นอนว่านำไปสู่ความรู้สึกหวั่นไหวของผู้คนในทางสังคมว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ได้ไปต่อ กระบวนการยุติธรรมในหลายๆ ส่วนจะถูกตั้งคำถามมากมาย แม้ว่าฝ่ายที่เชียร์ พล.อ.ประยุทธ์จะบอกว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ในบริบทการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยแบบสากล มองว่านี่เป็นการใช้กติกาเพื่อเอื้อให้ตัวเองได้ไปต่อ

ส่วนกรณี พล.อ.ประวิตรเปรยว่าจะให้ 1 เก้าอี้ กับ ส.ส.สมุทรปราการนั้นคิดว่าเป็นการปลอบใจด้วยคำพูดมากกว่า ท้ายที่สุดอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตรก็คงบอกว่าต่อรองเต็มที่แล้ว แต่นายกฯก็คงมองว่ายังไม่มีความจำเป็น หากสังเกตจะเห็นว่าการปรับ ครม.หลังผลอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยใช้วิธีการนี้ อาจจะทิ้งช่วงหาเวลาที่เหมาะสม หรือในประเด็นการปรับ ครม.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีในพรรคร่วมรัฐบาลอาจจะมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติหรืออยากจะปรับรัฐมนตรีกันเอง จะเป็นสิ่งนี้เสียมากกว่า

กล่าวคือ ถ้าไม่มีใครร้องขอ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็คงจะนิ่งเฉยรอให้สถานการณ์เงียบไป พรรคร่วมอื่นๆ ก็คงไม่มีใครปรับ ครม. ยกเว้น พปชร. คิดว่า พล.อ.ประวิตรเองก็คงทำความเข้าใจกับลูกพรรคพอสมควร เพื่อเตรียมสู้ศึกการเลือกตั้ง จากนี้น่าจะมีการเปิดห้องเคลียร์ใจอีกรอบ

ผมว่าถ้าจะปรับ ครม.เพื่อแก้ปัญหาประชาชนจริง ควรปรับไปตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ช่วงที่ปรับพวกกระทรวงเศรษฐกิจ แต่ครั้งนี้ถ้าจะมีการปรับ ครม. คงเป็นมิติการเตรียมความพร้อมยุทธศาสตร์การเลือกตั้งเพื่อนำไปสู่ความได้เปรียบอย่างเดียว

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

การเมืองหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คิดว่าพรรคการเมืองจะต้องปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจกันเพิ่มมากขึ้นพอสมควร หลังจากอภิปรายทำให้เห็นว่าใครมีอำนาจจริงเวลานี้ และใครกำลังจะหมดอำนาจ ใครที่กำลังจะปรับตัวเพื่อให้อยู่ในอำนาจต่อไป ทุกพรรคมีหมุดหมายเดียวกันคือ การเตรียมความพร้อมไปสู่การเลือกตั้ง

จะเห็นว่าพรรค พปชร.ต้องปรับตัวทางการเมืองค่อนข้างมาก โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถือว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองสูงสุด ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม้จะไม่อยู่ในพรรค พปชร.อย่างชัดเจน แต่สัญญาณหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ คนในพรรคไม่สามารถเข็น พล.อ.ประยุทธ์ให้เดินหน้าต่อไปได้ อาจจะมีปัญหาการถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งสมัยหน้า

อย่างไรก็ตาม ยังมั่นใจในพลังของ พล.อ.ประวิตร ที่คาดหวังว่าจะเป็นรัฐบาลต่อไปในสมัยหน้า แต่จะเสนอใครเป็นนายกฯยังมีปัญหา หากมาดูพรรค ภท.ถือว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีเอกภาพสูงสุด และยังรู้สึกไม่พอใจพรรค พปชร.ที่โหวตไม่ลงคะแนนให้กับรัฐมนตรีในพรรค ภท. ขณะที่ ภท.ลงคะแนนให้นายกฯและ 10 รัฐมนตรีอย่างมีเอกภาพ เรื่องนี้จะต้องไปเคลียร์ใจกัน

ส่วนพรรค ปชป.บอบช้ำที่สุด ทั้งการลงมติและความขัดแย้งภายในพรรค ในเมื่อหมุดหมายสู่การเลือกตั้ง โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลจะต้องวางยุทธศาสตร์ทางการเมืองเพื่อให้ตัวเองกลับมาในการเลือกตั้ง เช่น พรรค พปชร.จะต้องกลับเป็นที่ 1 ส่วนพรรค ภท.อาจต้องเพิ่ม ส.ส. 5-10 เปอร์เซ็นต์ แต่พรรค ปชป.น่าจะลำบากในการเลือกตั้งครั้งหน้า อาจมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล สถานการณ์การเมืองแบบนี้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นจำเลยสังคม จะต้องลดบทบาทลง อาจจะเห็นความร่วมมือกันใหม่ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน

กรณี 6 ส.ส.สมุทรปราการ พรรค พปชร. โหวตสวนมติพรรค เห็นสัญญาณชัดว่าการทำงานการเมืองมีความจำเป็นต้องใช้ทรัพยากร รวมทั้งต้องใช้รัฐมนตรีในการเกื้อกูล ที่ผ่านมา พล.อ.อนุพงษ์ห่างเหิน ส.ส. ไม่เข้าใจพื้นที่ เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ต้องแคร์ประชาชน ยังมีความคิดแบบราชการ ไม่สนใจ ส.ส. ที่เป็นรัฐมนตรีได้เพราะพี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตร และน้องคือ พล.อ.ประยุทธ์

โดย ส.ส.ในพื้นที่ต้องใช้ทรัพยากรดูแลประชาชน พล.อ.อนุพงษ์ไม่ได้ทำเรื่องนี้เลยตลอด 8 ปี ถ้าไม่มีอะไรไปดูแลประชาชน ในรูปแบบโครงการต่างๆ บรรดา ส.ส.ย่อมรู้สึกไม่โอเค ส่วนภาพการกราบเท้า พล.อ.ประวิตร ไม่เอา พล.อ.อนุพงษ์ โดยต้องการบารมีของ พล.อ.ประวิตร ทำให้มองเห็นภาพว่า ส.ส.หลายคนก็ไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์เช่นกัน แต่ต้องการ พล.อ.ประวิตรคนเดียว และเรียกร้องให้ไปนั่ง มท.1 ต้องการให้มีการซัพพอร์ตทรัพยากรทางการเมือง เพื่อให้ ส.ส.แต่ละจังหวัดในเครือข่ายพรรค พปชร.ได้เปรียบทางการเมือง ทั้งการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าฯ นายอำเภอ ช่วงชิงความได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้าราชการส่วนภูมิภาคมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับข้าราชการระดับรองลงมา รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่เป็นกลไกสำคัญในการเลือกตั้ง คนที่เป็นนักการเมืองต้องใช้ทรัพยากรเหล่านี้แต่ พล.อ.อนุพงษ์ไม่ตอบสนอง แม้ว่ารัฐบาลจะเหลือเวลาไม่ถึง 10 เดือน ยังเชื่อว่าสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทัน ทั้งการสร้างกระแสความนิยมผ่านนโยบาย รวมทั้งโยกย้ายข้าราชการโดยไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในฤดูกาล

ในการปรับ ครม. หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องการไปต่อ อาจจะอยู่แบบนี้ก็ได้ แต่หาก พล.อ.ประวิตรต้องการไปต่อ ต้องมีการปรับ ครม.ให้เห็นว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ฟังเสียงประชาชน หรือเกิดความขัดแย้งภายในพรรคก็ต้องปรับ รวมทั้งพรรค ปชป.ที่ต้องสร้างภาพลักษณ์ทางสังคมใหม่ เพื่อลดความขัดแย้งภายใน

ส่วนพรรค ปชป.พยายามยืนยันรัฐมนตรีมีผลงานดี ดูเป็นข้ออ้างมากกว่า อ้างว่าทำงาน 2-3 ปี ยังรักษาราคามาม่า 6 บาทได้ เหตุผลแบบนี้สังคมไม่สามารถยอมรับได้ ภายในพรรคเกิดปัญหาหลายกลุ่มที่ยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตั้งแต่เป็นรัฐบาลมา 3 ปีกว่า ประกอบกับรัฐมนตรีหลายคนทำงานไม่มีประสิทธิภาพแต่ไม่ปรับออก

การปรับ ครม.มองได้ 2 ความหมาย คือ รัฐบาลปรับเพื่อเอาใจประชาชน โดยเฉพาะปัญหาพื้นฐาน การดูแลราคาสินค้า รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบจะต้องถูกปรับ โดยมีความชอบธรรมเพราะคะแนนโหวตน้อยที่สุด ประกอบกับประชาชนเดือดร้อนจริงเรื่องของแพงแต่ค่าครองชีพถูก นอกจากนี้ เป็นการปรับทางการเมืองเพื่อให้ ส.ส.ที่ยังไม่ได้โอกาสได้ตำแหน่งทางการเมืองในช่วง 10 เดือนนี้บ้าง ขณะนี้ยังมีโควต้าอยู่ 2 ตำแหน่งที่ยังไม่ปรับนับตั้งแต่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่ากับนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ถูกปลดออกจากตำแหน่ง

ส่วนการยุบสภาโอกาสเป็นไปได้สูง แต่ต้องรอจังหวะที่รัฐบาลมีคะแนนนิยมและมีความได้เปรียบทางการเมือง อาจจะเกิดขึ้นช่วง 3-4 เดือนก่อนที่จะหมดวาระ หรือหากจัดสรรผลประโยชน์ทางการเมือง กลุ่มก๊วนต่างๆ ได้ และออกกฎหมายที่เป็นคุณกับรัฐบาลก็อาจจะยุบสภาเร็วกว่านี้ก็ได้

ปฐวี โชติอนันต์
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ผมคิดว่าภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายจบลงไป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะยังไม่มีการปรับ ครม.ใดๆ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ต้องการให้สังคมเห็นว่าสามารถควบคุมความขัดแย้งทางการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลและควบคุมกระแสความไม่พอใจของคนในสังคมไทยได้ พูดให้ถึงที่สุดคือต้องการแสดงให้เห็นว่าการบริหารงานที่ผ่านมามีประสิทธิภาพและไม่มีปัญหาใดๆ นายกฯและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ได้รับมติเห็นชอบให้ทำงานต่อไป ไม่มีเหตุที่ต้องปรับ ครม. อีกทั้งกระแสสังคมในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นไม่ได้รุนแรงเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ที่มีม็อบใหญ่ในหลายจังหวัด จึงไม่สามารถกดดันรัฐบาลได้

แม้ว่าการลงมติไม่ไว้วางใจจะมีรัฐมนตรีได้คะแนนไม่เท่ากัน เกิดโหวตสวนมติของพรรค ผมคิดว่านายกฯคงมองว่าเป็นปัญหาความขัดแย้งของแต่ละกลุ่มในแต่ละพรรคการเมืองมากกว่าปัญหาการบริหารงานของรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย ฉะนั้น คงปล่อยให้แต่ละพรรคเคลียร์ปัญหากันเอง แต่ที่น่าประหลาดใจคือ การโหวตสวนของ 6 ส.ส.สมุทรปราการ เพราะไม่มีข่าวว่า ส.ส.กลุ่มนี้จะโหวตสวนมติพรรคเลยโดยเฉพาะการไม่ไว้วางใจ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ทำให้หลายฝ่ายตกใจว่าเกิดอะไรขึ้นเห็นเงียบๆ แต่เอาจริง อีกทั้งยังมี ส.ส.ของกลุ่มก้มกราบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในการขอให้ พล.อ.ประวิตรมาคุมมหาดไทย

ทำให้หลายฝ่ายคิดว่าน่าจะมีการปรับ ครม.แน่ แต่ผมคิดว่าไม่มีการปรับแน่นอน ด้วยความสัมพันธ์ของพี่น้อง 3 ป. เลือดย่อมต้องเข้มข้นกว่าน้ำ อีกทั้งใกล้การเลือกตั้งใหญ่แล้ว กระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงสำคัญมากเพราะคุมผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน และเป็นกลไกสำคัญในการนำนโยบายของรัฐบาลสู่ประชาชน

ผมคิดว่าหลังจากนี้จะได้เห็นการทำงานของรัฐบาลจัดทำโครงการต่างๆ จำนวนมากสู่ประชาชนเพื่อเรียกคะแนนเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนมีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่เคยเสนอนโยบายไว้ต้องรีบดำเนินนโยบายที่หาเสียงไว้ให้สำเร็จ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเครื่องมือให้พรรคฝ่ายค้านโจมตีในการเลือกตั้งรอบหน้า น่าจะได้เห็นการขยับตัวมากขึ้นของ พล.อ.อนุพงษ์ ในช่วงโค้งสุดท้าย ทั้งการทำงานกับกลุ่มการเมืองต่างๆ และการโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเพื่อรอรับการเลือกตั้งในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image