‘อังค์ถัด’ชี้แนวโน้มนโยบายลงทุน หลังฟื้นตัวโควิดจะไปทิศทางไหน

‘อังค์ถัด’ชี้แนวโน้มนโยบายลงทุน หลังฟื้นตัวโควิดจะไปทิศทางไหน

‘อังค์ถัด’ชี้แนวโน้มนโยบายลงทุน หลังฟื้นตัวโควิดจะไปทิศทางไหน

หมายเหตุสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD จัดสัมมนาวิชาการนานาชาติเรื่อง “รายงานการลงทุนโลก 2565 (World Investment Report 2022)” ในหัวข้อ “แนวโน้มการลงทุนและการพัฒนานโยบายการลงทุนภายหลังการฟื้นตัวจากการระบาดของ COVID-19” สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD ร่วมมือกับองค์กรการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD : อังค์ถัด) เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ในรูปแบบสัมมนาออนไลน์ โดยมี นายริชาร์ด โบล์ดไวท์จ หัวหน้าสาขาวิจัยด้านการลงทุน กองการลงทุนและวิสาหกิจ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) เป็นผู้แถลงและวิเคราะห์ข้อมูลด้านการค้าในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก เพื่อประโยชน์ต่อการค้าและการลงทุนในภูมิภาคหลังวิกฤตโควิด-19 เสนอต่อสื่อมวลชน ประชาชน หน่วยงานทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

แนวโน้มการเติบโตของ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ทั่วโลกในปี 2564 มีมูลค่า 1.58 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 64% จากระดับเดิมที่ตกต่ำในปี 2563 การฟื้นตัวในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในการกลับมาเติบโตอีกครั้งอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นผลจากการควบรวมกิจการ (Merger and acquisition: M&A) เพิ่มมากขึ้น และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศ เป็นผลสืบเนื่องจากการผ่อนคลายเงื่อนไขในการจัดหาเงินทุน และนโยบายเร่งผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

อย่างไรก็ดี สภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจและการลงทุนระหว่างประเทศของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปี 2565 สงครามในยูเครนส่งผลซ้ำเติมบนผลกระทบเดิมที่ยังคงหลงเหลืออยู่จากช่วงการแพร่ระบาด ทำให้เกิดวิกฤตถึง 3 ด้าน ได้แก่ อาหาร น้ำมัน และภาคการเงิน ในหลายประเทศทั่วโลกความไม่แน่นอนทางฝั่งของผู้ลงทุนอาจจะสร้างแรงกดดันทำให้ FDI โลกลดลงในปี 2565 FDI โลกอาจจะไม่สามารถรักษาระดับของทิศทางการขยายตัวในปี 2564 เอาไว้ได้ คาดการณ์ว่าในปี 2565 FDI โลกมีแนวโน้มจะปรับตัวลดลง หรือในกรณีดีสุดก็อาจสามารถคงระดับเดิมไว้ได้ จำนวนโครงการใหม่ๆ สะท้อนถึงสัญญาณผู้ลงทุนเริ่มมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงความเสี่ยงมากขึ้น จากข้อมูลในเบื้องต้นจากไตรมาสแรกของปี 2565 แสดงให้เห็นว่าการลงทุนในโครงการใหม่มีจำนวนลดลง 21% ในไตรมาสแรก และสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศลดลง 4%

Advertisement

การฟื้นตัวของ FDI ในปี 2564 ทำให้เกิดการเติบโตในหลายภูมิภาค อย่างไรก็ดี เกือบ 3 ใน 4 ของมูลค่า FDI โลกที่เพิ่มขึ้น เกิดจากการขยายตัวในกลุ่ม
ประเทศพัฒนาแล้ว มี FDI สูงถึง 746 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าของระดับเดิมในปี 2563 การเติบโตดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการควบรวมกิจการ และกำไรจากการประกอบธุรกิจของบริษัทข้ามชาติเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องทำให้เกิดการโยกย้ายเงินทุนระหว่างบริษัทในเครือ และการผันผวนของมูลค่า FDI ในศูนย์กลางการลงทุนขนาดใหญ่

กำไรของบริษัทข้ามชาติเพิ่มสูงขึ้นจนทำสถิติใหม่ในปี 2564 ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุด 5,000 บริษัท เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และมีสัดส่วนมากกว่า 8% ของรายได้ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติจากประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากมีการปลดล็อกแรงกดดันต่อการบริโภค ต้นทุนของการระดมทุนที่ต่ำและมาตรการสนับสนุนที่สำคัญจากภาครัฐ แม้ว่าจะมีกำไรสูงขึ้น แนวโน้มการลงทุนระหว่างประเทศในสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (Productive asset) ของบริษัทข้ามชาติยังคงไม่เข้มแข็ง ในขณะที่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศด้านโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น 68% และการควบรวมกิจการระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น43% จำนวนการลงทุนในโครงการใหม่กลับเพิ่มขึ้นเพียง 11% ยังคงต่ำกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดถึง 1 ใน 5 ส่วน

นอกจากนี้ การลงทุนในโครงการใหม่ที่มีการเผยแพร่ (Announced greenfield investment) มีมูลค่าโดยรวมทั่วโลกเพิ่มขึ้น 15% ที่ระดับ 659 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่มูลค่าโดยรวมในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากลับคงที่อยู่ที่ระดับ 259 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (หยุดชะงักอยู่ที่ระดับต่ำสุดจากสถิติ) นับเป็นข้อห่วงกังวล เนื่องจากการลงทุนใหม่ๆ ในอุตสาหกรรม เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจ และแนวโน้มการเติบโตในอนาคต

Advertisement

FDI ขาเข้าในประเทศกำลังพัฒนาแม้จะเติบโตช้ากว่าในประเทศพัฒนาแล้ว แต่มีการขยายตัวถึง 30% แตะระดับ 837 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การเพิ่มขึ้นของ FDI ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเติบโตอย่างเข้มแข็งในเอเชีย การฟื้นตัวบางส่วนในลาตินอเมริกาและแคริบเบียน และการขยายตัวในแอฟริกา ทั้งนี้ มูลค่า FDI ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนายังคงมีสัดส่วนสูงกว่ากึ่งหนึ่งของมูลค่า FDI โลกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

FDI ขาเข้าในแอฟริกาแตะระดับ 83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิม 39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 และประเทศที่รับการลงทุนส่วนใหญ่มีมูลค่า FDI เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การเติบโตดังกล่าวเกิดจากธุรกรรมทางการเงินภายในบริษัท เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว การลงทุนในโครงการใหม่ที่มีการเผยแพร่ยังอยู่ภายใต้แรงกดดัน แต่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศยังเพิ่มขึ้น 26% เติบโตอย่างมากในอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรธรรมชาติ (Extractive industries)

สำหรับประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย แม้จะมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่มี FDI เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ปี และทำสถิติสูงสุดที่ระดับ 619 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เอเชียเป็นภูมิภาคที่รับการลงทุนมากที่สุด ครองสัดส่วน 40% ของ FDI โลก อย่างไรก็ดี การลงทุนที่ไหลเข้ามาในภูมิภาคมีการกระจุกตัวอย่างมากอยู่ใน 6 เขตเศรษฐกิจ คิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของมูลค่า FDI ในภูมิภาค

FDI ในลาตินอเมริกาและแคริบเบียนเติบโต 56% แตะระดับ 134 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินทุนขาเข้ากลับตัวสูงขึ้นในหลายเขตเศรษฐกิจ และอาจจะลดลงบ้างในบางเขตเศรษฐกิจ เป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจเกิดจากการแพร่ระบาดของโรค ทั้งนี้ มูลค่า FDI โดยรวมของภูมิภาคยังต่ำกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดถึง 15%

สำหรับ FDI ในเขตเศรษฐกิจขนาดเล็กที่มีโครงสร้างอ่อนไหวและเปราะบาง ปรับตัวเพิ่มขึ้น 15% แตะระดับ 39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดีมูลค่ารวมของ FDI ไหลเข้าสู่กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล และประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก คิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.5% ของ FDI โลกในปี 2564 ลดลงจากระดับ 3.5% ในปี 2563 การลงทุนระหว่างประเทศในสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มสูงขึ้นถึง 70% ในปี 2564 การลงทุนในโครงการใหม่ที่มีการเผยแพร่และสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศในสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับ SDGs มีมูลค่ารวมสูงกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดเกือบ 20%

โดยการเติบโตส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสาขาพลังงานหมุนเวียน ส่วนการลงทุนในสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับ SDGs รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาหารและการเกษตร สาธารณสุข และน้ำ สุขาภิบาล แลสุขอนามัย (Water, Sanitation, and Hygiene: WASH) มีการฟื้นตัวบางส่วน การลงทุนในโครงการด้านพลังงานหมุนเวียนและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานคิดเป็นสัดส่วนค่อนข้างสูงในการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลงทุนระหว่างประเทศของภาคเอกชนในสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบ (mitigation) และมีเพียง 5% เท่านั้น ที่เป็นการลงทุนเพื่อการปรับตัว (adaptation) ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ มากกว่า 60% เป็นการลงทุนในประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีการลงทุนจากภาคเอกชนทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนถึง 85% แต่ในทางกลับกัน เกือบครึ่งหนึ่งของโครงการในประเทศกำลังพัฒนาจะต้องเป็นการลงทุนร่วมกับภาครัฐ

การจัดหาแหล่งเงินทุนระหว่างประเทศมีความสำคัญอย่างมากต่อการลงทุนเพื่อส่งเสริม SDGs และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เป็นผลมาจากสภาพตลาดภาคการเงินที่เอื้ออำนวย การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และความสนใจจากผู้ลงทุนในภาคการเงิน จะเข้าร่วมในโครงการขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องใช้เงินทุนจากหลายแห่ง อีกทั้งเครื่องมือทางการเงินยังช่วยให้ภาครัฐสามารถใช้ประโยชน์จากเงินทุนของภาคเอกชนผ่านการจัดทำโครงการร่วมลงทุน นอกจากนี้ทิศทางการเติบโตของการลงทุนของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ แตกต่างกับบริษัทข้ามชาติขนาดเล็กและบริษัทข้ามชาติที่ประกอบธุรกิจดิจิทัลโดยสิ้นเชิง

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโรคเป็นปัจจัยหลักผลักดันให้ยอดขายของบริษัทข้ามชาติประกอบธุรกิจดิจิทัล 100 อันดับแรก (จัดอันดับโดย UNCTAD) เติบโตรวดเร็วกว่า บริษัทข้ามชาติประกอบธุรกิจแบบดั้งเดิมขนาดใหญ่ที่สุด 100 อันดับแรก ถึง 5 เท่า อีกทั้งบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่มีส่วนร่วมในการลงทุนในโครงการใหม่มากกว่า ขณะที่บริษัทข้ามชาติที่ประกอบธุรกิจดิจิทัลมีธุรกรรมการควบรวมกิจการมากกว่า บริษัทเหล่านี้มี FDI น้อย เนื่องจากโดยเปรียบเทียบแล้ว การเจาะตลาดต่างประเทศไม่จำเป็นต้องลงทุนในสินทรัพย์จับต้องได้ (Physical asset) มากนัก การผลิตในต่างประเทศของทั้งบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติประกอบธุรกิจดิจิทัลมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่มีความเร็วของการเติบโตแตกต่างกัน ยิ่งไปกว่านั้น FDI ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) กำลังปรับระดับลดลง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนของ SMEs ลงทุนในโครงการใหม่ลดลงจาก 5.7% เหลือเพียง 1.3% การจัดทำนโยบายด้านการลงทุน

ในปี 2564 จำนวนการออกมาตรการด้านการลงทุนกลับมาสู่ระดับเดิมในช่วงก่อนการแพร่ระบาด โดยมีมาตรการใหม่ออกมา 109 มาตรการ ลดลง 28% จากระดับเดิมในปี 2563 เป็นสัญญาณว่ามาตรการด้านการลงทุนแบบเร่งด่วนในรูปแบบที่ออกมาในช่วงปีแรกที่เกิดการแพร่ระบาด กำลังจะหมดไป แต่วิกฤตยังส่งผลต่อการออกแบบนโยบายต่างๆ

ประเทศพัฒนาแล้วขยายความคุ้มครองธุรกิจเป้าหมายจากการถูกครอบงำกิจการ (Takeover) ทำให้มาตรการเอื้อต่อการลงทุนค่อนข้างน้อย มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ (42%) ทั้งนี้ มี 4 ประเทศ (เป็นประเทศกำลังพัฒนา 1 ประเทศ) จัดทำกลไกเพิ่มเติมในการคัดเลือก FDI และมีอย่างน้อย 8 ประเทศ เพิ่มความเข้มงวดของกลไกดังกล่าวที่ยังบังคับใช้อยู่ ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศที่ใช้กลไกในการคัดเลือก FDI มีมูลค่า FDI ขาเข้ารวมทั้งหมดคิดเป็น 63% ของโลก และมีมูลค่า FDI สะสมคิดเป็น 70% (เพิ่มขึ้นจากระดับ 52% และ 67% ในปี 2563 ตามลำดับ)

ในทางกลับกัน ประเทศกำลังพัฒนายังคงใช้มาตรการที่มีความเสรี ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการลงทุนเป็นหลักอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า FDI มีบทบาทสำคัญในกลยุทธ์การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ มาตรการอำนวยความสะดวกในการลงทุนคิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ของประเภทของมาตรการเอื้อต่อการลงทุนทั้งหมด ตามด้วยการเปิดเสรีในโครงการใหม่ให้ FDI สามารถลงทุนได้ (30%) และมาตรการดึงดูดการลงทุนใหม่ (20%)

การออกมาตรการใหม่ด้านการลงทุนทำสถิติสูงสุด ในไตรมาสแรกของปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นมาตรการในการรับมือกับสงครามในยูเครน มาตรการลงโทษและมาตรการตอบโต้ส่งผลต่อ FDI ทั้งขาเข้าและขาออกของรัสเซีย โดยมาตรการเหล่านี้ที่ออกโดยเบลารุสและรัฐอิสระในแถบตะวันออกของยูเครน รวมแล้วคิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของมาตรการทั้งหมด ที่ออกใหม่ในไตรมาสแรกของปี 2565 การพัฒนาที่โดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image