ข้อเสนอแนะ‘สภาที่ปรึกษาธุรกิจฯ’ เวทีผู้นำเอเปคกรุงเทพฯ

ข้อเสนอแนะ‘สภาที่ปรึกษาธุรกิจฯ’ เวทีผู้นำเอเปคกรุงเทพฯ

ข้อเสนอแนะ‘สภาที่ปรึกษาธุรกิจฯ’ เวทีผู้นำเอเปคกรุงเทพฯ

หมายเหตุข้อสรุปจากภาคเอกชนในฐานะสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค จากการประชุมที่ธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council-ABAC) ครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่เมืองฮาลอง ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 26-29 กรกฎาคม 2565 เพื่อรวบรวมส่งมอบให้กับการประชุมสุดยอดผู้นำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ระหว่างวันที่ 13-16 พฤศจิกายน 2565 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมที่กรุงเทพมหานคร

เกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในฐานะประธานที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคประจำปี 2565 (ABAC 2022)

Advertisement

สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ได้ยกข้อเสนอเร่งด่วน 5 ประการ มุ่งเป้า “การเร่งฟื้นตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และการกระตุ้นให้เกิดการพลิกฟื้นสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ครอบคลุม และมีความยืดหยุ่นในระยะยาว” อันเกิดจากผลกระทบยืดเยื้อของการระบาดใหญ่ ความขัดแย้งทางการเมือง ภาวะเงินเฟ้อ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั่วโลก โดยจะส่งมอบให้กับการประชุมสุดยอดผู้นำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) จะจัดขึ้นในประเทศไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายน

ด้วยสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และมีความผันผวนสูงมาก เพราะฉะนั้น ข้อเสนอในตอนแรกมีมากถึง 16-17 ข้อ ก็ได้มีการตัดทอนไป และเลือกเรื่องที่สำคัญไว้ รวมถึงให้ทีมงานของแต่ละประเทศเข้ามาเป็นเจ้าภาพในแต่ละเรื่อง ได้แก่เรื่องเงินเฟ้อ ที่ขณะนี้ได้เกิดขึ้นไปทั่วโลกและกำลังเผชิญปัญหากันอยู่ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งในระดับภูมิภาค และต้นเหตุของเงินเฟ้อเกิดมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ราคาพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน และก๊าซที่ราคาพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนทุกอย่างต้องปรับตัวขึ้นตาม การขาดแคลนอาหาร อย่างที่ทราบว่าผลจากการแซงก์ชั่น ทำให้การส่งออกปุ๋ยเคมี อาหาร และธัญพืชจากแหล่งผลิตสำคัญไม่สามารถส่งออกได้ เพราะฉะนั้นหลายประเทศกำลังเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร และคาดการณ์ว่า หากสถานการณ์เรื่องขาดแคลนปุ๋ยเคมียังคงอยู่เช่นนี้ จะทำให้ผลิตผลในฤดูกาลต่อไป เกิดการขาดแคลนแน่นอน

ทำให้หลายประเทศ อาทิ แถบแอฟริกา และยุโรป จะได้รับผลกระทบ และราคาสินค้าทุกอย่างจะเพิ่มขึ้นหมด รวมไปถึงเกิดภาวะตกใจ ทำให้มีการกักตุน และยิ่งมีการกักตุนก็จะทำให้เกิดความต้องการซื้อ (ดีมานด์) เทียม การขาดแคลนการจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ประเทศยากจนจะเข้าไม่ถึงอาหารเหล่านี้ และประชาชนหลายร้อยล้านคนก็จะได้รับผลกระทบ

ในการรับมือในครั้งนี้จะเน้นเรื่องข้าวยากหมากแพง ประชาชนก็กำลังแย่ รายได้ก็ลดลง เป็นปัญหาทุกประเทศเจอ ไม่ใช่แต่ประเทศไทย และปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งความตึงเครียด ความขัดแย้ง ในแต่ละภูมิภาคย่อมส่งผลต่อกัน ขนาดในตอนแรกมีปัญหาที่เดียว และห่างไกลจากไทยมากอย่างรัสเซีย-ยูเครน และไม่เกี่ยวข้องอะไรเลย แต่ทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบหมด ขณะที่ในขณะนี้ก็มีความตึงเครียดซ้อนเข้ามาอีก ใกล้ตัวกับไทยมากขึ้นคือสหรัฐอเมริกากับจีน

ฉะนั้นเกรงว่า ในของเดิมก็มีปัญหาเรื่องพลังงาน อาหาร และวัตถุดิบอยู่แล้ว ส่วนความตึงเครียดเกิดขึ้นใหม่ ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะช็อกของซัพพลาย ในด้านอุปกรณ์เทคโนโลยีสูง เพราะเป็นแหล่งส่งออกสำคัญ ดังนั้นถ้าเกิดซัพพลายดิสรัปชั่นเพิ่มเติมขึ้นมา ไทยเราจะรับมือพร้อมกันได้อย่างไร จะไปซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อ และภาวะการขาดแคลน ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวหรือไม่ เหล่านี้จึงเป็นสิ่งเร่งด่วน

เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ขณะนี้ได้มีสัญญาณเตือนมาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องน้ำท่วมในประเทศยุโรป ก็เกิดภาวะฮีตสโตรก หรือภาวะอากาศมีความร้อนอย่างรุนแรง หลายประเทศอุณหภูมิขึ้นไปสูงถึง 40-50 องศาเซลเซียส เกิดไฟไหม้ป่ากินพื้นที่บริเวณกว้าง และอาจจะมีไฟไหม้พื้นที่นา ยิ่งทำให้ปัญหาขาดแคลนอาหารมีสูงขึ้นไปอีก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ผู้นำปรึกษาทางธุรกิจเอเปคประจำปี 2565 จะต้องหารือกัน

ส่วนเรื่องระยะกลาง ได้แก่ การฟื้นฟูเศรษฐกิจรวมกัน เพราะขณะนี้ถึงเวลาแล้ว หลังจากโลกต้องเผชิญกับปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เดินทางไปหากันไม่ได้ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกตินั้น ตอนนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคนี้รวมถึงเรื่องของฝีดาษลิงเริ่มเข้ามาในหลายประเทศ ดังนั้นก็ต้องมีแผนหาทางรับมืออย่างไร และใช้ชีวิตเป็นวิถีใหม่หรือนิวนอร์มอล ต่อมาคือเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือเข้ามาเชื่อมต่อ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นแพลตฟอร์มในการเชื่อมต่อสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ อาทิ การเงินแบบดิจิทัล การชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัล

ข้อเสนอทั้งหมดนี้จะทำเป็นบทสรุป เพื่อนำส่งให้กับผู้นำในกลุ่มประเทศเอเปค ไม่ว่าทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม จะมีการนำเสนออย่างเป็นระบบ เพื่อสะท้อนว่าเรื่องเหล่านี้คือความต้องการของภาคธุรกิจ ในกลุ่มเอเปค 21 ประเทศ

คิดว่าเวทีครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ผู้นำจากหลายประเทศคาดหวังว่าจะใช้เวที ABAC 2022 ที่กรุงเทพมหานคร ในช่วงวันที่ 13-16 พฤศจิกายน 2565 และต่อด้วยการประชุม ซีอีโอ ซัมมิท ในการแลกเปลี่ยนข้อเสนอ และส่งสารบทสรุปถึงความต้องการแท้จริงให้กับผู้นำเอเปคมาแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพราะเรื่องที่เสนอไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นปัญหาเผชิญร่วมกันของประเทศสมาชิกทั้ง 21 ประเทศ

สำหรับเรื่องปัญหาความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศทวีความรุนแรงอย่างเห็นได้ชัดนั้น คิดว่าการที่ผู้นำสูงสุดของแต่ละประเทศที่เป็นมหาอำนาจทั้งหลายจะมาใช้เวทีการประชุมนี้ ก็เป็นเรื่องที่จับตาดูถึงการจะตอบรับเข้าร่วมหรือไม่

ทั้งนี้ การประชุมเอเปคครั้งถัดไป ผู้จะมารับไม้ต่อการเป็นเจ้าภาพ และประธานเอแบคจากไทยคือสหรัฐอเมริกา โดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ทางสหรัฐอเมริกาต้องมาเข้าร่วมประชุม และเข้าร่วมพิธีรับไม้ต่อ เพราะฉะนั้นคาดหวังว่าผู้นำของทางสหรัฐอเมริกาต้องมาร่วมในเวทีนี้แน่

ส่วนผู้นำประเทศอื่นจะมาร่วมเวทีหรือไม่ อย่างไรนั้นเป็นเรื่องของการเมือง แต่เวทีของเอเปครวมถึงเอแบกมีความชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้วว่ามีจุดประสงค์ทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก เรื่องการค้าการลงทุน เรื่องของภาคสังคม และการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ทางเอแบกจะไม่เข้าไปยุ่งเรื่องการเมือง ดังนั้นเรื่องของการเมืองก็ต้องปล่อยให้ ทางการเมืองเขาไปว่ากัน แต่หลังจากการเมืองนิ่งแล้ว จะเข้าร่วมเวทีที่ไทยหรือไม่ คาดหวังว่าเอเปคและเอแบกที่ไทยจะเป็นเวทีกลาง และไทยเองก็เป็นมิตรกับทุกฝ่าย ดังนั้น หวังว่าจะมาใช้เวทีเพื่อหารือและรับรู้ปัญหาร่วมกัน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า งานนี้จะได้รับการตอบรับที่ดีจากทุกฝ่าย เพราะใครๆ ก็อยากมาประเทศไทย และสำหรับผู้นำอาจจะมีความขัดแย้งกันบ้าง แต่กับไทยนั้นเป็นมิตรกับทุกฝ่าย ดังนั้นไม่มีปัญหาแน่นอน

เรื่องความขัดแย้งและสงครามที่เกิดขึ้นนั้น ทางเอเปคและเอแบกก็คงทำอะไรมากไม่ได้ แต่มั่นใจว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาเกิดจากเรื่องผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นในเอเปคดูเรื่องผลประโยชน์ของทุกฝ่าย ดังนั้นถ้าเกิดในตอนนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ทุกฝ่ายเสียประโยชน์ ก็คงมีคนมาคิดถึงว่า ตอนนี้เสียประโยชน์มากเกินไปแล้ว ก็อาจจะได้มานั่งคุยกันตกลงกันใหม่ เพื่อให้ผลประโยชน์ลงตัวสำหรับทุกฝ่าย ก็หวังให้เป็นเช่นนั้น

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์
สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคของไทย
ประธาน เอเปค ซีอีโอ ซัมมิท (APEC CEO Summit) 2022

ข้อเสนอเร่งด่วน 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.เส้นทางสู่เขตการค้าเสรีของเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการค้าภาคบริการว่า FTAAP ควรตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจระดับโลกค่อยๆ พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป จึงเห็นควรในการพัฒนาแผนงานนี้ต่อไปเพื่อให้วาระนี้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม 2.การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์และดิจิทัล แนวทางการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่สอดคล้องและบูรณาการ นับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และนับเป็นความสามารถในการปกป้องความก้าวหน้าและนวัตกรรมต่างๆ คณะทำงานจึงขอเรียกร้องให้เอเปคสร้างแพลตฟอร์มในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับภูมิภาค จะประสานการดำเนินการและการลงทุนด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ร่วมกัน 3.การเสริมสร้างแนวทางการปฏิบัติยั่งยืนของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (เอ็มเอสเอ็มอี หรือ MSMEs) เนื่องด้วยเอ็มเอสเอ็มอีมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก จึงเห็นควรในการพัฒนามาตรการเพื่อสนับสนุนการเติบโตนี้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้กรอบการทำงานและการค้าระดับโลก มาตรการดังกล่าวหมายรวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง การบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่คุณค่า และการสนับสนุนในมาตรการนี้ให้เป็นสากล

4.การส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น ผู้ผลิตและผู้บริโภคในภูมิภาคกำลังได้รับผลกระทบครั้งประวัติศาสตร์จากราคาอาหารโลกพุ่งสูงขึ้น และภาวะการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตร คณะทำงานจึงเร่งดำเนินการแผนงานความมั่นคงด้านอาหารของเอเปค สู่ปี 2030 และให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนา และการดำเนินการตามแผนดิจิทัลความมั่นคงด้านอาหาร ในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต การจำหน่ายและการค้า ตลอดจนการนำบีซีจีมาปรับใช้ 5.การดำเนินการตามมาตรการเศรษฐกิจมหภาค การคลัง และการเงิน เพื่อเร่งการฟื้นตัว และการระบุการปฏิรูปโครงสร้างหลัก เพื่อเพิ่มผลผลิตและการเติบโต คณะทำงานเห็นความสำคัญของการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ และนโยบายทางการเงินด้านอัตราค่าจ้างแรงงาน โดยในระยะยาวคณะทำงานเชื่อว่ารัฐบาลควรปฏิบัติตามสองเป้าหมาย คือการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง และการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างในการพัฒนาสู่ระบบดิจิทัลและความยั่งยืนอย่างครอบคลุม

ข้อเสนอแนะในครั้งนี้ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคยังเรียกร้องให้เพิ่มความพยายามขึ้นเป็นสองเท่าเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และยับยั้งข้อห้ามและข้อจำกัดต่างๆ ในการส่งออก และการร่วมมือข้ามพรมแดนระหว่างกันมากขึ้นในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับระบบนิเวศอาหาร เพื่อให้มั่นใจว่าภาคเอกชนสามารถมีบทบาทสำคัญในความร่วมมือด้านนโยบายของเอเปคเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร จะมีความสำคัญอย่างมากในอนาคต

จากกรณีความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวันนั้น มองว่ายังไม่เห็นผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย แต่มองว่าน่าจะเป็นโอกาสของภาคการส่งออกสินค้าของไทย อาจทำให้การค้าขายดีขึ้น แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า หากเกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในน่านน้ำแปซิฟิก จะส่งผลกระทบต่อการระบบโลจิสติกส์ ทำให้การขนส่งสินค้าได้รับผลกระทบได้ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะเป็นลักษณะของการแบนเป็นตัวสินค้า จะเกิดผลกระทบระหว่างประเทศที่เป็นคู่กรณีกันมากกว่า ถือว่าเป็นการเปิดช่องความต้องการสินค้าของไทยมากขึ้น และในฐานะสมาชิกเอเปคร่วมกันก็หวังว่าปัญหาทุกอย่างจะคลี่คลายโดยเร็ว

อย่างไรก็ดี เห็นว่าจากความตึงเครียดที่เกิดขึ้น คิดว่าผู้นำในแต่ละประเทศน่าจะใช้เวทีนี้ในการร่วมรับฟังและระดมความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาเรื่องของสภาพภูมิอากาศ โลกร้อน และพร้อมกันนี้ตามธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับเจ้าภาพการประชุมครั้งต่อไปในปี 2566 ประเทศต่อไปจะต้องเข้ามารับไม้ต่อ คาดหวังว่าผู้นำสหรัฐจะเข้าร่วมประชุม ส่วนความขัดแย้งทางการเมืองไม่เกี่ยวข้องกับเวทีทางเศรษฐกิจ และข้อตกลงเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เชื่อว่าก็ยังคงเดินหน้าต่อไป

กอบศักดิ์ ดวงดี
สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคของไทย

ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีจะเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนการเติบโตให้กับภูมิภาค ดังนั้นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการค้าจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน อาทิ การจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรักษาความปลอดภัยของระบบดิจิทัล (Cybersecurity) เสริมโครงสร้างข้อมูลพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการค้าดิจิทัล (Data Infrastructure for Digital Trade) การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย (MSMEs) ในการใช้เทคโนโลยี และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการชำระเงินในตลาดดิจิทัล (Digital Market Infrastructure)

ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องสนับสนุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและยกระดับมาตรฐานบริการของภาคเอกชนในภูมิภาค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image