นักวิชาการส่อง ‘โลกเดือด’ กับท่าทีไทย-เจ้าภาพเอเปค

นักวิชาการส่อง‘โลกเดือด’ กับท่าทีไทย-เจ้าภาพเอเปค หมายเหตุ - นักวิชาการ

นักวิชาการส่อง ‘โลกเดือด’ กับท่าทีไทย-เจ้าภาพเอเปค

หมายเหตุนักวิชาการให้ความเห็นถึงท่าทีและผลกระทบของไทย ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งของประเทศต่างๆ ทั้งรัสเซียกับยูเครน และจีนกับไต้หวัน รวมถึงท่าทีของไทยที่จะเป็นเจ้าภาพประชุมผู้นำเอเปค ในเดือนพฤศจิกายนนี้

ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นนั้น หากถามถึงท่าทีที่ควรจะเป็นของประเทศไทย ต้องพูดตรงๆ ว่าประเทศไทยเล็กเกินกว่าที่จะไปมีบทบาทที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ขัดแย้งก็ต้องทำไปตามสถานการณ์ หรือตามสภาพว่าอยู่ในจุดไหนของยุทธศาสตร์ อยู่กับอาเซียนก็ว่าไปตามอาเซียน

Advertisement

ตอนนี้สถานะของประเทศจีนเปลี่ยนไปจาก 5 ปีที่แล้ว คือ กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ทางการทหาร และทางการระหว่างประเทศ เรียกได้ว่าเดินสายไปสร้างสัมพันธ์ หรือการทำ Belt and Road ต่างๆ

เมื่อก่อนเรารู้กันว่าประเทศจีนไม่สามารถกำหนดท่าทีอะไรต่างๆ ได้ แต่ตอนนี้เขาสามารถทำได้ และเริ่มใช้วีธีไปสร้างการต่อรองในประเทศต่างๆ อย่างจริงจังมากกว่าเดิม อย่างเช่นเหตุการณ์การซ้อมรบของจีนในการปฏิบัติการโจมตีไต้หวัน เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม และสิ้นสุดลงช่วงเที่ยงของวันที่ 7 สิงหาคม หากจีนยังคงบีบไต้หวันอยู่ ทางสหรัฐอเมริกาก็จะต้องออกมา เพราะรับไม่ได้กับการกระทำดังกล่าว แบบนี้จะส่งผลกระทบไปทั่วโลก ภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบแน่ๆ

ตอนนี้สมาคมอุตสาหกรรมเริ่มเกิดปัญหา เพราะไม่สามารถทำการขนส่งได้ เนื่องจากการขนส่งใหญ่มาจากไต้หวัน เพราะฉะนั้น ทุกฝ่ายต้องเจรจากันเพื่อเอาตัวรอดทางเศรษฐกิจ ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าต้องให้ผู้ประกอบการเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ไปเจรจาต่อรองกับคู่ค้าของตนเองว่าจะมีการขนส่งสินค้าอย่างไร

Advertisement

ที่ผ่านมามองเป็นเรื่องดีที่ข่าวสารของประเทศไทยให้พื้นที่กับทั้งสองฝ่าย แต่จีนจะรุกหนักโดยให้สถานทูตทุกแห่งประกาศนโยบายจีนเดียวตามอย่างที่เขาต้องการ ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็พูดเรื่องจีนเดียว แต่ขณะเดียวกันเขาก็รับรองประเทศไต้หวันในเรื่องของความสัมพันธ์และต้องยอมรับความเป็นประชาธิปไตย

อย่างยูเครนก็เกิดปัญหาเดียวกัน หากจะอ้างประวัติศาสตร์ หรือยุทธศาสตร์คนส่วนใหญ่จะต้องบอกว่าให้รัสเซียเป็นใหญ่ แต่คนยูเครนในตอนนี้ตัดสินตัวเองว่าอยากจะเป็นประชาธิปไตยและอยากที่จะปกครองตนเอง ไม่อยากอยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซีย ซึ่งมันกำลังเป็นโจทย์ใหญ่ว่าจะมีดินแดนที่อยู่ในประเทศที่ขีดเส้นในอดีตแบบตามใจตัวเองเป็นรัฐประชาชาติให้คนส่วนหนึ่งไปอยู่อีกฝั่งหนึ่ง คนเชื้อชาติเดียวกันแต่อยู่คนละฝั่ง ตอนนี้คนเริ่มเรียกร้องเพื่อจะอยู่ในที่ๆ เขาอยากอยู่

ตอนนี้คิดว่าภาพที่ปรากฏคือ การเกิดขึ้นของชุมชนเล็กๆ ที่กระจัดกระจายแต่มีความผูกพัน จากเมื่อก่อนที่เราอ้างว่าเขามีเชื้อชาติเดียวกัน ศาสนาเดียวกัน แต่ตอนนี้อุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นแบบประชาสังคมมาแรงกว่ารัฐประชาชาติที่เอาตัวรัฐเป็นศูนย์กลาง แต่แบบใหม่คือเอาชุมชนเป็นศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นมันไม่ต้องมีการประกาศเอกราชก็ได้ อย่างยูเครนเป็นประเทศใหญ่และตอนที่โซเวียตพัง เขาก็ยอมให้ยูเครนเป็นประเทศแล้ว แต่ไต้หวันอาจจะยาก ถ้าหากจะขอเป็นประเทศ แต่หากขอเป็นชุมชนไต้หวันที่มีอิสระทางการค้าและการเมืองแบบปกครองตนเองแบบนี้ประเทศจีนจะยอมหรือไม่

ในการประชุมเอเปคช่วงปลายปีที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพนั้น เป็นเรื่องท้าทาย ดูจากตัวอย่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 55 ที่ประเทศกัมพูชา นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้เดินออกจากที่ประชุมไม่ยอมฟังคำวิจารณ์จากรัฐมนตรีประเทศอื่น

ผมคิดว่าในการประชุมเอเปคก็น่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ปัญหาคือประเทศไทยจะทำอย่างไร จะสามารถทำได้ดีกว่าประเทศอื่นหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการประสานงาน ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศมีฝีมือ เราทำมาหลายงานแล้ว คิดว่าไม่ใช่เรื่องยาก แต่บุคลิกของนายกฯของไทยจะสามารถไปเจรจากับคนอื่นได้หรือไม่ คือ ต้องรู้เรื่องเหล่านั้นจริงๆ และต้องมีจุดยืนจริงๆ ซึ่งจุดยืนของนายกฯประเทศไทยไม่ได้เคารพหลักการ

อย่างที่บอกคือเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของเราเก่งอยู่แล้ว แต่ผมเดาว่า 7-8 ปีที่ผ่านมา คนเก่งๆ ในกระทรวงคงไม่ได้ทำงานเท่าไร เพราะต้องไปแก้ตัวให้เรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ไปต่างประเทศก็ถูกเขาว่าเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถเสนออะไรมากกว่านั้นได้ ต้องเป็นฝ่ายรับคำวิจารณ์จากทั่วโลก สิ่งที่ทำให้บทบาทของประเทศไทยอ่อนแอ เพราะช่วงที่ผ่านมาตัวฐานะของรัฐบาลไม่ได้มีความมั่นคงและมีเกียรติภูมิในตัวเอง รายงานทุกทางบอกว่ารัฐบาลมาจากการยึดอำนาจ ใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่มีเกียรติภูมิในสากล

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ปัญหาสำคัญของประเทศไทยอยู่ที่รัฐบาล หากยังเป็นรัฐบาลทหาร หรือเป็นรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจของรัฐประหาร แนวคิดว่าด้วยการสนับสนุนหรือเลือกฝ่ายอย่างรวดเร็วมันจะเกิดขึ้นแบบที่เราเคยเห็นในยุคของสงครามเวียดนาม เพราะแนวคิดของฝ่ายทหารจะมองเห็นเรื่องของการทำสงครามที่เป็นประโยชน์ต่อกองทัพ เนื่องจากยิ่งมีการทำสงครามจะยิ่งให้ประโยชน์กับกองทัพในการที่จะมีข้ออ้างในการสั่งสมอาวุธและเพิ่มงบประมาณให้กับกองทัพในการที่จะบอกว่าเป็นการเตรียมความพร้อมต่อการที่จะปกป้องอธิปไตยของชาติเป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งก็จะกลับเข้าไปสู่วงจรของรัฐประหารแบบเดิมที่เคยผ่านมา

ดังนั้น คีย์สำคัญคือเรื่องลักษณะของรัฐบาลของไทย หากเราเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งเราจะเห็นแนวทางในการจัดการกับวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่แตกต่างออกไปเพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะมุ่งเน้นในการรักษาความมั่งคั่งและความสัมพันธ์อันดีกับประเทศต่างๆ และไม่บุ่มบ่ามที่จะกระโจนเข้าสู่การมีส่วนร่วมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยต้องตระหนักว่าเราเป็นชาติที่ไม่ได้เป็นมหาอำนาจ ไม่ได้มีกำลังอาวุธที่มากที่จะเข้าไปร่วมในการทำสงครามกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

กรณีของรัสเซียกับยูเครน ทั้งสองประเทศก็มีผลประโยชน์ต่อประเทศไทยไม่ด้อยไปกว่ากัน แต่เนื่องจากทั้งสองประเทศอยู่ไกลจากภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศไทย ทำให้เราสามารถที่จะนิ่งเฉยได้อย่างนานกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราเน้นไปที่ความต้องการที่จะสร้างสันติภาพของโลกเพราะจะนำมาสู่ความมั่งคั่งของประเทศไทยในการทำมาค้าขาย

ดังนั้น ถ้าเรายืนหยัดในจุดนี้ก็จะเป็นผลประโยชน์สำคัญ และเราต้องช่วยเหลือทางด้านสิทธิมนุษยชนหากคนยูเครนต้องการความช่วยเหลือทางด้านสิทธิมนุษยชนเราต้องสามารถช่วยเหลือได้ ในขณะเดียวกันคนรัสเซียก็ได้รับผลกระทบจากการทำสงครามในหลายด้านเราก็สามารถช่วยเหลือได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น ประเทศไทยไม่ควรที่จะบุ่มบ่ามตัดสินใจที่จะเข้าไปสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ส่วนจีนกับไต้หวัน ก็เป็นสิ่งที่เหมือนมีความใกล้ชิดกับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน เพราะก่อนหน้านี้ในยุคของรัฐบาลทหารเราก็สนับสนุนไต้หวัน หรือสาธารณรัฐจีน เป็นหนึ่งในประเทศแห่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติตามแนวทางของสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในช่วง 40-50 ปีที่แล้วเราก็เปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายของสหรัฐอเมริกา คือ หันไปสนับสนุนจีนแดง

ปัจจุบันประเทศจีนเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อการค้าของประเทศไทยที่สูงมากเป็นอันดับต้นๆ ในโลกของเอเชียและอันดับต้นๆ ของการค้าในบริบทโลก แต่ในทางกลับกัน ไต้หวันก็เป็นแหล่งเงินทุนที่ประเทศไทยทำการค้าด้วยมาตลอด ดังนั้น บริบทของความขัดแย้งระหว่าง จีน สหรัฐอเมริกา ไต้หวันนั้น สำหรับไทยผมคิดว่า Wait and See เป็นแนวทางที่ดีที่สุดในตอนนี้

ในการประชุมเอเปคเป็นเวทีร่วมทางด้านเศรษฐกิจ ตอนนี้ในทุกๆ เวทีระหว่างประเทศนั้นคู่ขัดแย้งจะใช้ทุกเวทีในการแสดงออกถึงการต่อสู้ทุกเวที ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะประธานเอเปคเราต้องยึดมั่นถึงภาวะของการร่วมมือกันระหว่างประเทศที่จะทำให้โลกเดินไปข้างหน้า ทุกตัวแสดงสามารถแสดงออกในแนวทางของเขาได้ แต่เราต้องยึดมั่นว่าเราต้องการสร้างความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ สังคมระหว่างประเทศ เราไม่เลือกข้างใดข้างหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image