ปมร้อน ‘บิ๊กตู่’ 8 ปี เผชิญคำถาม ‘สังคม-จริยธรรม’

ปมร้อน ‘บิ๊กตู่’ 8 ปี เผชิญคำถาม ‘สังคม-จริยธรรม’

หมายเหตุมุมมองนักวิชาการประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มีความคิดเห็นแตกต่างในสังคมว่าจะครบในวันที่ 24 สิหาคม 2565 เมื่อยังไม่มีความชัดเจนควรหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนหรือไม่

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

หากมองตามความรู้สึกของคนทั่วไปโดยไม่มีอคติเจือปนนั้น การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้ามาดำรงตำแหน่งตอนแรกในเดือนสิงหาคม ปี 2557ที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นนายกฯ ถ้านับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ควรจะครบวาระ 8 ปี ในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ แต่ความเป็นไปได้ที่คณะทีมกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์จะต่อสู้เพื่อยกไปอ้างอิงนั้นอาจจะใช้ประเด็นของรัฐธรรมนูญที่มีผลบังคับใช้ในปี 2560 ที่ระบุเรื่องคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี หากนับจากตรงนั้นก็เป็นไปได้ว่าจะเริ่มจากปี 2560-2568 ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะสามารถเป็นนายกฯต่อได้ เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนไม่ได้ระบุจำนวนปีการดำรงตำแหน่งวาระ ผมคิดว่าทีมกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์คงจะเล่นประเด็นนี้ในการต่อสู้ ขณะเดียวกันก็เป็นวัจนะภาษาที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ว่า อีก 2 ปี เศรษฐกิจจะดีขึ้นเหมือนเป็นการขอโอกาสทำงานอีก 2 ปี เมื่อนำตรงนี้ไปรวมกับสิ่งที่สังคมกำลังตั้งคำถามเรื่องการวาระการดำรงตำแหน่งครบจริงหรือไม่ เท่ากับว่าคณะทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์คงคิดแล้วว่านายกฯอยู่ถึงปี 2568

Advertisement

คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะออกมาอย่างรวดเร็วเพื่อยุติความขัดแย้งทั้งทิศทางที่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อและกลุ่มที่เคลื่อนไหวไม่อยากให้เป็นนายกฯต่อ คิดว่าขณะนี้ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าหลังวันที่ 23 สิงหาคม จะเป็นอย่างไร แต่มองว่าหลังจากนี้ความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นจะถูกสังคมตั้งคำถามมากขึ้น โดยเฉพาะการเมืองภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคม หรือสถาบันอุดมศึกษาคงออกมาตั้งโต๊ะแถลงหรือสร้างเวทีสัมมนาวิชาการในประเด็นดังกล่าว เพราะไม่ใช่ประเด็นที่ขัดแย้งกับกฎหมายแต่เป็นการตั้งคำถามต่อจริยธรรมของผู้นำทางการเมืองที่พึงมี ผมคิดว่าตัวของ พล.อ.ประยุทธ์เองรู้ดีที่สุดว่าอยากจะไปต่อหรือไม่ ที่ผ่านมาเขาไม่พูดอย่างตรงไปตรงมา บอกแค่ว่าแล้วแต่กฎหมาย แล้วแต่ผู้ที่ตีความ แต่จริงๆ แล้วสาระสำคัญนั้นอยู่ที่ตัวนายกฯ ถ้าแสดงเจตจำนงว่าอยากจะอยู่บริหารต่อหรือไม่ จะยุติความเคลื่อนไหวหรือการตั้งคำถามต่อตัวนายกฯได้พอสมควร

หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งนายกฯ คิดว่าน่าจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่จะเป็นนายกฯรักษาการ และหากเป็นเช่นนั้นสังคมคงจะกดดันให้ไปสู่การยุบสภาและให้มีการจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด เพราะเอาเข้าจริงสังคมเองไม่ไว้วางใจในบทบาทการทำงานที่ผ่านมาของ พล.อ.ประวิตรเท่าไร เมื่อเทียบกับ พล.อ.ประยุทธ์แล้วนั้นสังคมจะมีการตั้งคำถามมากว่า และหากต้องมีการเลือกนายกฯสำรองจากบัญชีที่มีอยู่จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายอนุทิน ชาญวีรกูล, นายชัยเกษม นิติสิริ, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผมคิดว่าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) คงไม่เล่นเกมนี้ที่ให้ผู้นำทางการเมืองที่อยู่พรรคการเมืองอื่นมาเป็นนายกฯชั่วคราว เพราะฉะนั้น เกมเดียวที่เขาจะไปต่อคงจะสนับสนุน พล.อ.ประวิตรมาทำหน้าที่กุมบังเหียนตรงนี้ต่อไปดีกว่า

ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือนายกฯไม่ควรจะเพิกเฉยต่อกระแสสังคมที่ตั้งคำถามไปยังท่าน ต้องแสดงความกล้าหาญสักครั้งว่ามีเจตจำนงอยากจะบริหารบ้านเมืองต่อไป หรือคำว่า พอ ทางการเมืองของท่านจะสิ้นสุดเมื่อไร สังคมอยากจะทราบตรงนั้นมากกว่า

Advertisement

ผศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

หากดูจากกลไกและองคาพยพของรัฐบาลทั้งหมดขณะนี้ เชื่อว่าจะต้องเข้าสู่กระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ และรอให้ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2565 เชื่อว่าจะมีกลุ่มองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ตีความ ส่วนผลจะออกมาอย่างไรนั้น ผมมองว่าจะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในภาคทางสังคม พวกผม 99 พลเมืองเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งครบแล้ว 8 ปี ไม่ได้มองจากรัฐธรรมนูญ เพราะมีการตีความได้หลายทาง ที่สำคัญมีเหตุผลรองรับทั้งหมด แต่มองจากมิติทางรัฐศาสตร์ โดยเห็นว่าผู้นำสมควรดำรงตำแหน่ง 8 ปี เพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจ และหลักการนี้ก็ไปสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 เช่นเดียวกัน ที่ได้ระบุเจตนารมณ์มาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญ ป้องกันการผูกขาดผู้นำทางการเมือง

หากเลยวันที่ 24 สิงหาคม ยังไม่มีการชี้ขาด การดำรงตำแหน่งของนายกฯยังมีความสมบูรณ์อยู่ถ้าหากไม่มีใครไปยื่นให้ตีความ อาจมองได้ว่าไม่มีคนสงสัยในประเด็นนี้ แต่ทางรัฐศาสตร์มองว่าหมดความชอบธรรมในเรื่องจริยธรรม และสปิริตทางการเมือง จะกลายเป็นปมปัญหาหนึ่งขึ้นมาในทางการเมืองหลังจากวันที่ 24 สิงหาคม เป็นต้นไปส่วนในแง่ของกฎหมาย จะต้องไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเพียงอย่างเดียว เชื่อว่ามีพรรคการเมือง หรือกลุ่มองค์กรใดองค์กรหนึ่งไปยื่นแน่นอน ถ้ามีการตีความว่านายกฯครบ
8 ปีแล้ว จะต้องยุติบทบาททางการ รอยต่อถ้านายกฯยังบริหารงานอยู่หากปฏิบัติหน้าที่ ที่เป็นคุณก็โอเค หากมองในทางรัฐศาสตร์ช่วงรอยต่อนี้ ถ้านายกฯทำหน้าที่อะไรลงไปจะต้องรับผิดชอบในเรื่องผลการกระทำด้วย

หากดูจากนิด้าโพล คนจำนวนมากเห็นว่านายกฯดำรงตำแหน่ง 8 ปี ควรพอได้แล้ว ซึ่งจะเป็นปมปัญหาใหญ่มากๆ เนื่องจากความรู้สึกของสังคมและกติกาของสังคม ถึงแม้ว่าจะมีการพิจารณาบนหลักกฎหมายที่ถูกต้องก็ตาม แต่หลักกฎหมายถูกตั้งคำถามต่อกลไกทั้งหมดว่า ใครคุมอำนาจกลไกเหล่านี้ได้ ส่วนการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการยื้อต่อไป มองว่าจะเกิดผลกระทบต่อพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อย่างแน่นอน เพราะพรรคเพื่อไทย (พท.) ยื่นเรื่อง 8 ปีแน่นอน โดยเฉพาะช่วงที่จะเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ส.ส.
ขณะนี้หากจับตามองดีๆ จะเห็นว่าไม่มีใครกล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ์ และการที่พรรคพลังประชารัฐจะไปหาเสียงในพื้นที่ใดจะชู พล.อ.ประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. เป็นหลัก แสดงว่ามีความหวั่นไหวว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไปได้ต่อหรือเปล่า และดูองคาพยพทางการเมืองทั้งหมด สัปดาห์ที่ผ่านมาทุกพรรคการเมืองเริ่มออกหาเสียง แต่พรรค พปชร.ไม่พูดถึง พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนหนึ่งประเมินว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะมีปัญหา จึงได้ชูพล.อ.ประวิตร เต็มที่ แม้กระทั่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ หัวน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ยังพูดว่า ถ้าถึงที่สุดพร้อมเป็นนายกฯเริ่มมีการส่งสัญญาณกันแล้ว อย่างไรก็ตาม หากนายกฯลาออกนายกฯรักษาการ อาจจะเป็น พล.อ.ประวิตร ก็ได้เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง

ทั้งนี้ วาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ควรประเมินความรู้สึกของประชาชนในสังคม ข้อเรียกร้องของนักวิชาการ กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม มาพิจารณาประกอบการตัดสินใจด้วย อย่ามองแต่มิตินิติศาสตร์ อาจจะนำไปสู่ปมความขัดแย้งใหญ่ในอนาคต อยากให้พล.อ.ประยุทธ์พิจารณาในมุมรัฐศาสตร์ด้วย

ผศ.วีระ หวังสัจจะโชค
ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

การยื่นตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ประเด็นปัญหานี้ต้องแยกออกเป็น 2 ด้าน ด้านที่ 1 คือปัญหาเรื่องกฎหมาย เป็นประเด็นทางนิติศาสตร์ แต่ด้านที่ 2คือปัญหาทางการเมือง คือประเด็นทางรัฐศาสตร์ คำถามที่ผมตอบได้ ณ ตรงนี้คือประเด็นทางการเมืองนำประเด็นนิติศาสตร์ หมายถึงการตีความให้พล.อ.ประยุทธ์อยู่ 8 ปี จะเริ่มตั้งแต่รัฐประหาร หรือเริ่มนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ปัจจัยอยู่ที่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

แม้หลายคนพูดถึงการตีความรัฐธรรมนูญว่าเจตจำนงของรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ต้องการให้นายกฯอยู่วาระเกิน 8 ปี ให้เปลี่ยนนายกฯ เพราะฉะนั้นนายกฯอยู่มาแล้วเกิน 8 ปีควรจะครบตามเจตนารมณ์ บางคนก็จะตีความว่ารัฐธรรมนูญเริ่มปี 2560 เพราะฉะนั้นถ้านับตั้งแต่ 2560 ไม่ถึง 8 ปี ตรงนี้เป็นประเด็นข้อกฎหมาย เป็นตัวแปรตาม แต่ตัวแปรต้นคือประเด็นทางการเมือง คือความจำเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการรักษาสถานะของรัฐบาลให้อยู่ต่อจนใกล้สมัย 4 ปีมากที่สุด ถ้าโจทย์ตั้งไว้อย่างนี้จะทราบว่าในกลุ่มผู้ถือครองอำนาจ ซึ่งไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์คนเดียว รวมไปถึงกลุ่มเครือข่ายอื่นๆ ที่ย้อนนับได้ ไปถึงการรัฐประหารปี 2557 ถ้านับเป็น 8 ปีแบบนี้ พบว่าจากปี 2557 มาปัจจุบันเป็นรูปแบบการปกครองที่สืบทอดต่อกันมา เพราะฉะนั้น การไปเปลี่ยน พล.อ.ประยุทธ์ว่าดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

ประเด็นจึงกลายเป็นการที่ พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ต่อจนครบวาระ เพราะฉะนั้นประเด็นเรื่อง 8 ปี จะตกไปเลย จะไม่มีการเถียงว่าจะครบ 8 ปี ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ แม้จะมีบางกระแสจะยื่นให้มีการตีความให้มีการวินิจฉัยกรณีดังกล่าว แต่ประเด็นในทางนิติศาสตร์หรือการตีความกฎหมายตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นรองเป็นปัจจัยตาม ตัวแปรต้นคือปัจจัยทางการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องอยู่จนใกล้ครบสมัยของรัฐบาลชุดนี้มากที่สุดเพื่อออกกฎหมายลูกเตรียมการเลือกตั้ง เพื่อให้ระบอบอำนาจเดิมกลับมาชนะเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง นี่ต่างหากคือตัวแปรที่ทำให้เห็นได้ว่าประเด็นวาระ 8 ปีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่น่าจะมีผลอะไรในการจัดการประเด็นดังกล่าว

ส่วนเรื่องผลกระทบในเรื่องนี้ ตรงนี้ถ้าในทางวิชาการจะนำไปสู่การตั้งคำถามต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหลักของประเทศเป็นกติกาที่ใช้เพื่อจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจ รัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเกิน 8 ปี เพราะจะนำไปสู่การสืบทอดอำนาจ การผูกขาดอำนาจ แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะนับตั้งแต่ปี 2557 หรือ 2560 ก็ตาม ฐานะของนายกฯความจริงครบ 8 ปีแล้ว ควรจะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดนายฯอยู่ไปนานกว่านั้น อาจเกิดการตั้งคำถามว่าสุดท้ายแล้วกฎหมายที่เป็นโครงสร้างหลักเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจของประเทศไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ แต่ก็ย้อนกลับไปคำถามจุดหลักของผมคือปัจจัยทางกฎหมายเป็นเพียงปัจจัยตาม ปัจจัยหลักคือสถานะทางการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องอยู่ต่อเพื่อถือครองอำนาจให้กลุ่มอำนาจในการรัฐประหารปี 2557 ได้เป็นรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง
พูดง่ายๆ คือกลุ่มเครือข่าย 3 ป.และเครือข่ายชนชั้นนำส่วนครบรอบ 8 ปีในเดือนสิงหาคมนี้ คิดว่ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อาจมีประเด็นในเรื่องการให้ศาลวินิจฉัยหรือเรื่องการเปิดตัวพรรคต่างๆ ขึ้นมา เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์แต่ยังไม่ใช้การเปลี่ยนแปลงจริงๆ

เรื่องที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตีความการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี เป็นลักษณะการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อพยายามที่จะลดความนิยมของรัฐบาล ผลก็จะไปอยู่ที่การเลือกตั้งนั้นเอง ไม่ใช่วินิจฉัยเพื่อเอา พล.ประยุทธ์ออกในปลายเดือนนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image