ส่องงบกลาง4พันล้าน จ้างงาน-สู้ฝน-ท่วม

ส่องงบกลาง4พันล้าน จ้างงาน-สู้ฝน-ท่วม หมายเหตุ - รายละเอียดงบกลาง

ส่องงบกลาง4พันล้าน จ้างงาน-สู้ฝน-ท่วม

หมายเหตุรายละเอียดงบกลาง งบประมาณประจำปี 2565 วงเงินกว่า 4 พันล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้สำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566 จำนวน 1,361 รายการ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ

สืบเนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยเกือบทุกปีที่ผ่านมาและยังประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในหลายพื้นที่ รวมทั้งจากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) จึงประเมินสถานการณ์น้ำฝนจากการคาดการณ์ของหน่วยงานดังกล่าว พบว่าปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง อาจส่งผลทำให้เกิดน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และดินถล่ม ประกอบกับปัจจุบันสถานการณ์โรคโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนว่างงานและอพยพกลับสู่ภูมิลำเนาเพิ่มขึ้น จึงทำให้ความต้องการใช้น้ำทั้งในภาคเกษตรกรรมและภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น

Advertisement

สทนช.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดประชุมถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2564 และได้บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 จำนวน 13 มาตรการ เช่น คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ, ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์/ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน, ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ, ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันต่อสถานการณ์

ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566 เพื่อให้การดำเนินการสอดคล้องตามมาตรการดังกล่าว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างเป็นระบบและบรรเทาความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย พร้อมทั้งสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ มีรายละเอียดที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้

⦁วัตถุประสงค์โครงการ
1.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย ปี 2565
2.เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหา บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากพื้นที่เสี่ยงการเกิดอุทกภัย
3.เพื่อเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566
4.เพื่อซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

Advertisement

⦁พื้นที่เป้าหมาย
1.พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย/ภัยแล้ง ตามที่ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด
2.พื้นที่เสี่ยงที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไข/บรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งโดยเร่งด่วนตามที่หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดเสนอผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด

⦁ข้อกำหนดในการเสนอแผนงานโครงการ
1.แผนงานโครงการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำหรือเพื่อป้องกันบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัย หรือเพื่อการเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย ปี 2565 หรือเพื่อเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566

2.เป็นแผนงานโครงการบันทึกข้อมูลผ่านระบบบริหารจัดการแผนงานโครงการและฐานข้อมูลสำหรับบูรณาการแผนเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ (ระบบ Thai Water Plan : TWP) ที่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และรัฐมนตรีต้นสังกัดให้ความเห็นชอบ

3.มีตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับการดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี

4.แผนงานโครงการมีรายละเอียดความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันทีหลังจากได้รับการจัดสรรงบประมาณ สามารถระบุพิกัดที่ตั้งของโครงการได้ถูกต้องชัดเจน มีรูปแบบรายการ เอกสารประมาณราคาค่าก่อสร้าง รวมทั้งได้รับอนุญาตด้านการใช้ที่ดินแล้ว

5.ไม่ซ้ำซ้อนกับแผนงานโครงการที่ส่วนราชการดำเนินการแล้ว

⦁กลุ่มประเภทโครงการ แบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

1.การซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์
เป็นงานซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การควบคุม การระบายน้ำ และการเก็บกักน้ำ ให้เกิดประสิทธิภาพรองรับสถานการณ์น้ำหลาก เช่น ซ่อมแซม/ปรับปรุงพนังกั้นน้ำ คันกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ คลองส่ง/ระบายน้ำ อาคารบังคับน้ำ สถานีโทรมาตร เป็นต้น

2.การปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ และกำจัดผักตบชวา
เป็นงานที่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เกิดจากการก่อสร้าง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งสิ่งกีดขวางที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การระบายน้ำ การจัดการพื้นที่น้ำท่วม/พื้นที่ชะลอน้ำ เช่น การกำจัดผักตบชวา/วัชพืชน้ำ เป็นต้น

3.การขุดลอกคูคลอง
เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เช่น ขุดลอกคู คลอง ลำน้ำ แก้มลิง เป็นต้น

4.การเตรียมความพร้อมวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือ
เป็นการเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือที่มีอยู่แล้วให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานรองรับสถานการณ์น้ำหลาก เช่น ซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำ ซ่อมแซมเครื่องมือเครื่องจักร ซ่อมแซมยานพาหนะขนย้ายเครื่องมือเครื่องจักร เป็นต้น

5.การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อเก็บกักไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง
เป็นการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อรองรับน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝนสำรองไว้ใช้ในช่วงเวลาฤดูแล้งถัดไป เช่น สระ/อ่างเก็บน้ำ ระบบกระจายน้ำ ธนาคารน้ำใต้ดิน ขุดเจาะบ่อบาดาล ปฏิบัติการฝนหลวง เป็นต้น

คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธานกรรมการ ได้มีมติเห็นชอบมาตรการฤดูฝน ปี 2565 จำนวน 13 มาตรการ และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566 โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และ ครม.รับทราบและเห็นชอบด้วยก่อนหน้านี้แล้ว

สทนช.ได้แจ้งให้หน่วยงานเสนอแผนงานโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนสอดคล้องกับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566 ดังกล่าว โดยแผนงานโครงการได้ผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดพิจารณาความเหมาะสม พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญของแผนงานโครงการแล้วตามลำดับ

ต่อมา สทนช.ได้ดำเนินการรวบรวมตรวจสอบ และกลั่นกรองแผนงานโครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีแผนงานโครงการที่ต้องดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถบรรเทาและป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยและภัยแล้ง จำนวน 4,428 รายการ ในกรอบวงเงินงบประมาณ 8,242.53 ล้านบาท

สำนักงบประมาณได้นำแผนงานโครงการ กราบเรียนนายกฯเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว นายกฯเห็นชอบในหลักการให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566 จำนวน 5 กระทรวง 13 หน่วยงาน จำนวน 1,361 รายการ ภายในกรอบงบประมาณ 4,019.80 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น สามารถจำแนกตามกระทรวงและหน่วยงานได้ดังตารางประกอบ

ทั้งนี้ สำนักงบประมาณขอให้พิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1.ให้หน่วยรับงบประมาณ ได้แก่ กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย โดยหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาจังหวัด 10 จังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด 10 แห่ง เทศบาลเมือง 1 แห่ง เทศบาลนคร 1 แห่ง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นผู้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยตรงตามขั้นตอนของระเบียบและแนวทางที่เคยปฏิบัติต่อไป

2.สำหรับโครงการของจังหวัดซึ่งต้องบรรจุในแผนพัฒนาจังหวัดตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ.2551 หากยังมิได้กำหนดอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัด เห็นควรให้ไปดำเนินการบรรจุในแผนพัฒนาจังหวัดให้ครบถ้วนตามขั้นตอนต่อไปด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นตรวจสอบ หากพบว่าเป็นหน่วยรับงบประมาณตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ให้ขอรับการจัดสรรงบประมาณได้โดยตรง หากมิใช่ ให้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สทนช.กำหนดในหลักเกณฑ์การเสนอแผนงานโครงการเพื่อให้เป็นไปตามภารกิจของหน่วยรับงบประมาณเรียบร้อยแล้ว)

3.ให้หน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติ ครม.ที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และให้เร่งรัดดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565 และเร่งรัดการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน โดยให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อขอทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป

4.ให้ สทนช.ในฐานะฝ่ายเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการเพื่อรายงานผลสัมฤทธิ์ หรือประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการต่อนายกฯเพื่อทราบด้วย

เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 35,723 ไร่ มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 34.02 ล้านลูกบาศก์เมตร ประชาชนได้รับประโยชน์ประมาณ 36,735 ครัวเรือน และสามารถกำจัดผักตบชวา/วัชพืชน้ำได้ประมาณ 4.74 ล้านตัน รวมถึงสามารถซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ให้สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ จำนวน 394 แห่ง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มการลงทุนภาครัฐโดยการช่วยกระตุ้นการซื้อวัสดุและจ้างแรงงานคนในท้องถิ่นด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image