รายงานหน้า 2 : คำร้องฝ่ายค้าน ยื่นตีความบิ๊กตู่8ปี

คำร้องฝ่ายค้าน

ยื่นตีความบิ๊กตู่8ปี

หมายเหตุ เนื้อหาของคำร้องส่วนหนึ่ง ที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร รวบรวมรายชื่อ ส.ส. 171 คน ร่วมกันยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ด้วยข้าพเจ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้มีรายชื่อท้ายคำร้องนี้ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีความประสงค์ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงเนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบกำหนดเวลาตามมาตรา 170 วรรคสองและมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 24 สิงหาคม 2557 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 9 มิถุนายน 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จึงดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ติดต่อกันจนถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกินกว่า 8 ปี นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป มีความละเอียดต่อไปนี้

Advertisement

ข้อ 1. การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.มาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐมนตรีอื่นอีกจำนวนไม่เกินสามสิบห้าคนตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ดำเนินการให้มีการปฏิรูปในด้านต่างๆ” การดำรงตำแหน่งนายกฯจึงเกิดขึ้นและเป็นไปตามประกาศพระบรมราชโองการ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 24 สิงหาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จึงเริ่มต้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557

เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่ต่อไปโดยผลของมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งบัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม” การดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่ต่อไปโดยผลของมาตรา 264 วรรคหนึ่งนี้ เป็นไปอย่างต่อเนื่องจากการดำรงตำแหน่ง นายกฯที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557

Advertisement

ต่อมาภายหลังการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อีกครั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 และประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2562 และ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ติดต่อมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2562 มาจนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ฉบับ เป็นระยะเวลากว่า 8 ปี ติดต่อกัน นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป

ข้อ 2. รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสอง มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 264 ห้ามนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเกินกว่า 8 ปี โดยให้นับระยะเวลาต่อเนื่องและมิได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่าต้องเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้เท่านั้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติถึงลักษณะต้องห้ามหรือเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 170 วรรคสอง ว่า “นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ ด้วย” และมาตรา 158 วรรคสี่ บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลา ในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง” ซึ่งเป็นการบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าการดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดระยะเวลาสูงสุดไว้ 8 ปี และจะดำรงตำแหน่งเกินกว่ากำหนดระยะเวลานี้ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือการดำรงตำแหน่งไม่ติดต่อกันก็ตาม โดยเหตุผลสำคัญในการบัญญัติมาตรา 158 วรรคสี่ คือ การกำหนดระยะเวลาสูงสุดไว้ 8 ปี เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจสร้างอิทธิพลทางการเมืองขึ้น อันจะเป็นต้นเหตุก่อให้เกิดวิกฤตทางการเมืองได้

ดังนั้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ติดต่อกันจนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกินกว่า 8 ปี นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป ไม่มีระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่จะไม่นำมานับรวมตามมาตรา 158 วรรคสี่ แต่อย่างใด พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันทีหลังจากครบกำหนดระยะเวลา 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 และต้องห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกตาม มาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560

ข้อ 3. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2561 และ 7/2562 กรณี มาตรา 264 ให้รัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องอยู่ในบังคับของรัฐธรรมนูญ 2560 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 และ 24/2564 เรื่องการบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังสามารถทำได้หากมิใช่โทษทางอาญา ในประเด็นของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 264 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลนี้ มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว คือ คำวินิจฉัยที่ 5/2561 และคำวินิจฉัยที่ 7/2562

คำวินิจฉัยที่ 5/2561 ระหว่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ถูกร้อง วินิจฉัยถึงสถานะความเป็นรัฐมนตรีซึ่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ความส่วนหนึ่งในหน้าที่ 17 ถึงหน้าที่ 18 วินิจฉัยว่า ประเด็นที่หนึ่ง รัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ประกอบมาตรา 187 นำมาใช้บังคับแก่ผู้ถูกร้องได้หรือไม่ เพียงใด พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม”

คำวินิจฉัยที่ 5/2561 ดังกล่าววางบรรทัดฐานสำคัญ 2 ประการตามมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ประการที่หนึ่งคือ เมื่อนายดอน ปรมัตถ์วินัย ผู้ถูกร้อง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2558 จึงเป็นรัฐมนตรีซึ่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีที่ได้รับแต่งตั้งให้บริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 และเป็นรัฐมนตรีอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยโดยผลของบทเฉพาะกาลมาตรา 264 วรรคหนึ่ง

ประการที่สอง คือ เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 “มาตรา 264 วรรคสอง บัญญัติยกเว้นกรณีความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหรือตำแหน่ง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (1) เท่านั้น โดยไม่ได้ยกเว้นกรณีตามมาตรา 187” จึงต้องนำมาตรา 187 มาบังคับใช้กับนายดอน ปรมัตถ์วินัย ด้วย

ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามบรรทัดฐานของคำวินิจฉัยที่ 5/2561 ดังกล่าว การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีที่ได้รับแต่งตั้งให้บริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ซึ่งบังคับใช้อยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 โดยมีนายดอน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในคณะรัฐมนตรีเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยผลของบทเฉพาะกาลมาตรา 264 วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกัน

ข้อ 4. เจตนารมณ์ของการจำกัดระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 158 วรรคสี่

หลักการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้นำประเทศเป็นมาตรฐานสากลที่ยอมรับกันทั่วไปในประเทศต่างๆ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรมหรือ Rule of Law ซึ่งเป็นผลให้ประเทศต่างๆ จำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้นำประเทศไว้ เหมือนคำกล่าวที่ว่า “อำนาจทำให้คนทุจริต อำนาจเด็ดขาด ทำให้ทุจริตได้อย่างไม่มีข้อจำกัด” หรือ “Power tends to corrupt and absolute power corrupts absolutely” ซึ่งหมายความว่า คนที่มีอำนาจเหนือคนอื่นมีแนวโน้มที่จะทุจริตหรือใช้อำนาจในทางที่มิชอบได้ง่าย ดังนั้น ถ้าปล่อยให้มีคนที่มีอำนาจโดยเด็ดขาดเป็นระยะเวลายาวนานเกินไป ก็เท่ากับปล่อยให้ผู้ใช้อำนาจสามารถ ทุจริตโดยไม่มีข้อจำกัด ยิ่งเมื่ออำนาจนั้นหมายถึงอำนาจในการเป็นผู้นำประเทศ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในประเทศก็ย่อมมีโอกาสจะก่อผลเสียต่อประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของประเทศชาตินั้นอย่างรุนแรงได้

สำหรับเจตนารมณ์ของการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ ปรากฏอย่างชัดเจนในบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 หน้าที่ 2-6 โดยมีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเข้าร่วมประชุม 18 คน และบันทึกการประชุมนี้คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจบันทึกการประชุมและรายงานการประชุม ได้ตรวจทานแล้วเมื่อวันอังคารที่ 11 กันยายน 2561 โดยในบันทึกการประชุมดังกล่าวได้จัดระเบียบวาระที่ 3 เรื่องพิจารณา เป็นเรื่อง พิจารณาความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบ ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเป็นการประชุมต่อจากการประชุมครั้งที่แล้ว และเริ่มพิจารณาตั้งแต่มาตรา 158 เป็นต้นไป โดยมีความเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธุ์

อดีตประธาน กรธ.ได้กล่าวว่า “ผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ ประกาศใช้บังคับสามารถนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเข้ากับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่”

ซึ่งนายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ.คนที่หนึ่ง กล่าวว่า “หากนายกรัฐมนตรี ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ เมื่อประเทศไทยยังคงมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว รวมเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย”

โดยสรุปสาระสำคัญในความมุ่งหมายของ มาตรา 158 ในวรรคที่สองไว้ว่า “นอกจากนี้ ได้กำหนดหลักการใหม่เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลากล่าวคือ การนับระยะเวลาแปดปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลดังกล่าวแล้วเกินแปดปี ก็ต้องห้ามมิให้ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ในระหว่างรักษาการภายหลังจากพ้นจากตำแหน่ง จะไม่นำมานับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าว การกำหนดระยะเวลาแปดปีก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจ ในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุวิกฤตทางการเมืองได้”

ข้อ 5. การไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในโอกาสรับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งหลัง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อ้างว่ามิใช่การเข้ารับตำแหน่งใหม่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 เป็นกฎหมายที่มีฐานะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และเสนอร่างตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 132 กำหนดไว้ทุกประการ บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในกรณีนี้คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 105 และมาตรา 106 กำหนดแยกการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็น 2 กรณี กรณีที่หนึ่งคือ การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเมื่อเข้ารับตำแหน่ง ตามมาตรา 105 วรรคสาม (1) กรณีที่สองคือ การพ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิมภายในหนึ่งเดือน กรณีหลังนี้ มาตรา 105 วรรคสี่ บัญญัติว่าไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แต่ไม่ต้องห้ามที่ผู้นั้นจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2557 และได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไว้แล้ว ระบุว่า มีทรัพย์สินรวมคู่สมรส ทั้งสิ้น 128,664,535 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 654,745 บาท ป.ป.ช.ได้เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 106 วรรคหนึ่ง ต่อมา เมื่อนายกฯได้รับโปรดเกล้าฯ ตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 พล.อ.ประยุทธ์ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเพื่อเป็นหลักฐานตามมาตรา 105 วรรคสี่ และในครั้งนี้ ป.ป.ช.ไม่ได้เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 106 วรรคหนึ่ง

ผู้บริหารระดับสูงของ ป.ป.ช.หลายคนออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเผยแพร่ต่อสาธารณชนยืนยันสอดคล้องกันว่า กรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ครั้งหลังนี้ไม่ใช่การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ ตามมาตรา 105 วรรคสาม (1) แต่เป็นการยื่นเพื่อเป็นหลักฐานตามมาตรา 105 วรรคสี่ เท่านั้น เป็นผลให้ ป.ป.ช.ไม่สามารถเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินให้ประชาชนทราบได้ตาม มาตรา 106 วรรคหนึ่ง นับจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินให้ประชาชนทราบ

ข้อ 6. คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป จากประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขพบว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในอดีตทุกฉบับรวมทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 ล้วนบัญญัติให้มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงตำแหน่งเดียว และมีบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวในแต่ละช่วงเวลา โดยเป็นที่รับรู้และเข้าใจของประชาชนทุกภาคส่วนในประเทศไทยว่านายกรัฐมนตรีคือรัฐมนตรีผู้เป็นหัวหน้าของคณะรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน

ข้อสั่งการและนโยบายต่างๆ ที่มอบหมายโดย พล.อ.ประยุทธ์ ล้วนกระทำในตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี เอกสารราชการทุกฉบับที่ลงนามโดยนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน ล้วนลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปของประชาชนทุกภาคส่วนจึงรับรู้ตรงกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

ข้อ 7. สรุปข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงทั้ง 6 ข้อดังกล่าวมีเหตุผลสอดคล้องต้องกันว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นไปตามประกาศพระบรมราชโองการ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีตามประกาศลงวันที่ 24 สิงหาคม 2557 และพล.อ.ประยุทธ์ เริ่มต้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันรวมกันแล้วเกิน 8 ปี นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2565 เป็นลักษณะต้องห้ามสำคัญที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสอง และ มาตรา 158 วรรคสี่ บัญญัติห้ามไว้อย่างชัดแจ้ง อีกทั้งบทเฉพาะกาลตามมาตรา 264 วรรคสอง ที่บัญญัติข้อยกเว้นการมีลักษณะต้องห้ามสำหรับกรณีต้องพ้นจากตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีไว้ด้วย

ด้วยเหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังได้กราบเรียนมาข้างต้น และเพื่อธํารงรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตลอดจนความชอบด้วยกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงใคร่ขอความกรุณาให้ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรได้โปรดส่งคำร้องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่ง ดังนี้

1.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ตามมาตรา 7 (9) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลา ตามมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560

2.เนื่องจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหาร มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน หากให้พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปทั้งที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายย่อมส่งผลกระทบต่อความชอบด้วยกฎหมายของบรรดาคำสั่งและข้อสั่งการต่างๆ ที่สั่งการในนามของนายกรัฐมนตรี รวมถึงความชอบด้วยกฎหมายของการก่อนิติสัมพันธ์ต่างๆ ในนามของรัฐบาล และการลงนามในพันธกรณีระหว่างประเทศที่อาจจะมีขึ้น ดังนั้น จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตามมาตรา 82 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินการต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image