ส่องเหตุไฟใต้ปะทุ หลากปัจจัยเร่งเชื้อ

ส่องเหตุไฟใต้ปะทุ หลากปัจจัยเร่งเชื้อ หมายเหตุ - ความเห็นของนักวิชาการ

ส่องเหตุไฟใต้ปะทุ หลากปัจจัยเร่งเชื้อ

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการและภาคเอกชนวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ความรุนแรงหลังคนร้ายทั้งวางระเบิดและลอบวางเพลิงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 17 จุดโดยก่อเหตุแบบปูพรม ปฏิบัติการก่อเหตุในเวลาใกล้เคียงกัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เกิดความสับสน สถานที่ส่วนใหญ่เป็นปั๊มน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้า เป็นการสร้างสถานการณ์ก่อความไม่สงบ หวังเพื่อก่อความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แบบวงกว้าง ทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐ สร้างความหวาดกลัวทำลายบรรยากาศแหล่งท่องเที่ยว และเศรษฐกิจ

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ผอ.สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา ม.อ.ปัตตานี

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นครั้งนี้ หากเปรียบเทียบจำนวนเกิดเหตุการณ์ ไม่ได้มากหรือน้อยกว่าปีที่แล้ว เหตุการณ์ความรุนแรงมีอยู่เรื่อยๆ ไม่ต่างกันเท่าไรเลย จากสถิติกว่า 200 เหตุการณ์ ตั้งแต่ครึ่งปีแรกจนถึงครึ่งปีหลัง หากเปรียบเทียบกันแล้วใกล้เคียงกันมาก 240-251 เหตุการณ์ ถือว่าไม่ต่ำเลย จะลดลงไปบ้างในช่วงเดือนรอมฎอนเท่านั้น แต่ยังคงมีเหตุการณ์ปิดล้อม วิสามัญฆาตกรรม ก็มีไม่น้อยถึง 15-16 รายและมีเหตุการณ์อื่นๆ อีก ก่อนจะมาถึงเหตุการณ์ใหญ่เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ซึ่งที่ผ่านมาเหตุการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างปุบปับ แต่มีการปฏิบัติการของทั้ง 2 ฝ่ายที่มีความต่อเนื่องกัน

Advertisement

ผมเชื่อว่าเกี่ยวพันกันอย่างน้อย 2 อย่าง คือ อย่างแรกเป็นการส่งสัญญาณถึงกระบวนการพูดคุย สันติภาพ สันติสุขที่ในปีนี้ มีการพูดคุยอย่างเป็นทางการแล้วถึง 3 ครั้ง มีมาตรการและผลข้อตกลงร่วมกันบางอย่าง แต่ยังไม่ส่งผลถึงการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นเลยทั้ง 2 ฝ่าย เช่น ประเด็นการลดความรุนแรง ความร่วมมือไปสู่การลดความรุนแรง อันนี้เป็นปัญหาที่ยังตกลงกันไม่ได้ การทำ public interaction การร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงคณะพูดคุยกับความเข้าใจประชาชน ประเด็นหาทางออก การใช้กลไกของภาคประชาชน ภาคประชาสังคมยังไม่เกิดขึ้น การแสวงหาทางออกทางการเมือง ข้อตกลงการพูดคุยเชิงลึก ด้านรายละเอียดต่างๆ ยังวนอยู่กับข้อตกลงว่าจะทำกันอย่างไร คือ มีข้อตกลงที่มีประเด็น แต่ไม่มีความคืบหน้า จึงคาดหวังว่านี่เป็นการส่งสัญญาณว่ามันควรจะเร็วมากกว่านี้ อาจเป็นส่วนหนึ่ง เพราะเป็นการส่งสัญญาณทีเดียว การปฏิบัติการครั้งนี้ ทำอย่างมีระบบ เป้าหมายเป็นร้านสะดวกซื้อ เกี่ยวข้องกับปั๊มน้ำมัน เป้าหมายชัดเจน ทำงานเป็นระบบ ไม่ทำร้ายประชาชน ก่อนเกิดเหตุก็เข้าไปไล่พนักงาน เจ้าหน้าที่ออกจากที่เกิดเหตุไปทั้งหมด ไม่ให้บาดเจ็บล้มตาย แต่ต้องการสร้างผลกระทบในทางเศรษฐกิจท้องถิ่น เชิงโครงสร้าง ไม่ลงที่ตลาด ชาวบ้านไม่เกี่ยว นี่เป็นการส่งสัญญาณที่มีระบบต่อกลุ่มเป้าหมายโดยตรง

อีกด้านหนึ่ง คือ ส่งสัญญาณไปถึงประชาชนให้รับรู้ว่า สถานการณ์ทุกวันนี้ ยังมีการต่อสู้ ยังมีประเด็นความขัดแย้งที่ต้องแก้ไข แม้ว่าอาจดูดีขึ้นแล้ว เหตุการณ์ดูเปลี่ยนไปแล้ว สงบลงแล้ว แต่จริงๆ คือไม่ใช่ ความหมายจริงๆ คือ ให้รู้ว่าสถานการณ์ยังคงมีอยู่ คาดว่าใคร คือ ฝ่ายผู้ก่อเหตุครั้งนี้ ฝ่ายเจรจาพูดคุยหรือไม่ใช่กลุ่มเข้าพูดคุย คิดว่าเป็นฝ่ายเจรจาพูดคุย น่าจะเป็นบีอาร์เอ็น (BRN Barisan Revolusi Nasional-แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี) เพราะเป็นการปฏิบัติการอย่างเป็นระบบ มีเป้าหมายชัดเจน มีการประสานงานเรื่องของ การวางแผนจังหวะเวลา มีความชัดเจนมาก คือ ขบวนการที่มีศักยภาพที่ทำอย่างนี้ได้มีแต่บีอาร์เอ็นเท่านั้น แม้ยังไม่มีใครออกมารับผิดชอบ

ในทางส่วนตัวผมอยากเรียกร้องเหมือนกันว่า ฝ่ายที่ปฏิบัติการ เขาต้องการหวังผลอะไรแจ้งประชาชนให้ทราบบ้าง ว่าต้องการอะไร มีเป้าหมายอย่างไร เพราะสิ่งที่ทำมันกระทบเรื่องทำมาหากิน มีปัญหากับประชาชน เพราะว่าสถานที่ที่ลงมือทำไปเป็นที่ที่ทุกคนไปใช้ เป็นร้านสะดวกซื้อด้วย ควรอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ แบบนี้การทำงานของทหารหรือฝ่ายรัฐ การบังคับใช้กฎหมายจะเข้มขึ้นอีกไหม จริงๆ การบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมาก็ไม่เคยลดหย่อน เช่น การปิดล้อมการติดตามตัวตรวจค้น ไม่น้อย วิสามัญฯ 7-8 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละครั้งและมีการวิสามัญฆาตกรรมถึง 15 ราย ความเข้มข้นของการวางมาตรการฝ่ายความมั่นคง เรื่องปฏิบัติการไม่ได้ลดลง

Advertisement

แต่มีความหมายในแง่หนึ่ง คือ บ่งบอกให้รู้ว่าแม้รัฐจะมีมาตรการความมั่นคงเข้มข้นอย่างไร ฝ่ายขบวนการก็ยังสามารถก่อเหตุได้ คือ ส่งสัญญาณ นัยยะ คืออยากบอกว่าเหตุการณ์ลดลงนั้นอยู่ที่สถานการณ์การพูดคุยกันมากกว่า ทำให้ฝ่ายปฏิบัติการ หรือกองกำลัง ไม่ปฏิบัติการเชิงรุก ก่อเหตุลดลง ไม่เหมือนช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อันนี้ คือ นัยสำคัญ แต่ทุกคนต้องยังไม่วางใจ จะส่งถึงข้อเสนอของชาวไทยพุทธหรือไม่ เรื่องยื่นข้อเสนอ เข้าพรรษาสันติ ถึงแม้เป็นข้อเสนอที่เสนอไปแล้ว แต่ยังคิดเห็นไม่ตรงกัน ฝ่ายขบวนการเองไม่ได้ต้องการตั้งเงื่อนไข เรื่องช่วงเวลา หรือเทศกาลอะไรเฉพาะเท่านั้น อันนี้เป็นฝ่ายที่บีอาร์เอ็น ไม่ให้การยอมรับ แต่ควรกำหนดยาวๆ ไปเลยโดยไม่เอาเงื่อนไขของใคร ไม่ควรเอาเรื่องหยุดยิงของเข้าพรรษาหรือช่วงวันอะไรเท่านั้น

การพูดคุยแม้ดูเหมือนเป็นไปในทิศทางดีขึ้น แต่ในแง่หนึ่งที่เห็นชัดเจน คือ ในช่วงเดือนบวช หรือรอมฎอน แต่ทางปฏิบัติจริงจัง หรือมีข้อตกลง รวมไปถึงข้อปฏิบัติในรายละเอียดอีกหลายๆ อย่าง ยังไม่ได้มีข้อตกลงใดๆ สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนเป็นการเร่งเรื่องการพูดคุยด้วย ให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดจึงต้องติดตามกันต่อไป

นิเมธ พรหมพยัต
ประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส

เหตุการณ์ลอบวางระเบิดหลายจุดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งเป้าไปที่ปั๊มน้ำมัน และร้านสะดวกซื้อในพื้นที่ ตอนนี้ถูกเชื่อมโยงไปในหลายปัจจัย โดยเฉพาะการก่อเหตุ โดยฝ่ายความมั่นคงที่หวังงบประมาณแก้ปัญหาไฟใต้ การพูดคุยเพื่อสันติสุข การแบ่งแยกดินแดน หรือปัจจัยอื่นที่เชื่อมโยงถึงนายทุนใหญ่นั้น จากการอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาทั้งชีวิต มองว่า เหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้ แม้ไม่สามารถระบุกลุ่มผู้ก่อเหตุได้ แต่มั่นใจว่าน่าจะเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เพราะสามารถสร้างสถานการณ์ป่วนเมืองครอบคลุมพื้นที่ได้หลายจุดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป้าหมายของผู้ก่อเหตุไม่ชัดเจนว่าหวังผลเรื่องใด แต่เรื่องหนึ่งที่อยากให้ตัดออกไป คือ การแบ่งแยกดินแดน เพราะเหตุผลนี้กับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีทางเป็นไปได้ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย และแกนนำหลักไม่เคยแสดงตัวตนชัดเจนออกมาว่าใครจะเป็นผู้นำ มีเพียงการอุปโลกน์ หรือตั้งขึ้นมาลอยๆ

การแก้ปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ หากรัฐบาลจริงใจและตั้งใจแก้ปัญหาจริงๆ ไฟใต้และการก่อเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่ในทุกวันนี้คงจบไปนานแล้ว เพราะตามข้อเท็จจริงผู้บริหารระดับประเทศที่มีผู้ใต้บังคับบัญชา และกำลังทหาร และหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ ต้องรู้ว่าใครเป็นแกนนำสร้างสถานการณ์ความไม่สงบและควบคุมตัวมาดำเนินคดีได้แล้ว อยากให้ไฟใต้จบลงโดยเร็ว เพราะเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบเศรษฐกิจการค้าและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวที่อาจต้องซบเซาอย่างหนักไปอีกระยะหนึ่งหลังจากนี้

รู้สึกเสียดายโอกาสที่คนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับจากการเปิดประเทศ เพราะการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 จนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมาจับจ่ายซื้อสินค้าในพื้นที่จำนวนมาก เศรษฐกิจฟื้นตัวมีเงินสะพัดในพื้นที่ ผู้ประกอบการร้านค้าและธุรกิจประเภทบริการเริ่มยิ้มได้เพราะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ เฉพาะด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก มีคนไทยในประเทศมาเลเซียและชาวมาเลเซียเดินทางเข้ามาประมาณ 1,000-2,500 คนต่อวัน และมีผู้เดินทางเข้ามามากกว่า 30,000 คนต่อเดือน

ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกังวลถึงสถานการณ์ในพื้นที่ และอาจชะลอหรือยกเลิกการเดินทางเข้ามาในห้วงนี้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย จึงเสียดายโอกาสที่ผู้ประกอบการร้านค้าจะได้รับหลังการเปิดประเทศมาก

ดังนั้น รัฐบาลและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงต้องแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา และเร่งออกมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ไปพร้อมกับการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวกลับมา

ขณะที่ผู้ประกอบการและประชาชนต้องตื่นตัวในการร่วมเฝ้าระวังป้องกันการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่เป็นคู่ขนานกับภาครัฐ เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการป้องกันและลดการก่อเหตุเพื่อสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ
หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้

ต้องให้เวลาเจ้าหน้าที่ในการพิสูจน์ทราบหาหลักฐาน ว่าผู้ใดเป็นคนกระทำ อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนที่กระทำก่อให้เกิดความรุนแรง สร้างผลกระทบวงกว้างในหลายด้าน อาทิ ด้านเศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา นโยบายของรัฐบาลต้องการแสวงหาทางออกแนวทางสันติวิธี ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบให้ประชาชนลดความเชื่อมั่น ความคาดหวังในการพูดคุยสันติสุขต่อไป ทั้งนี้ ต้องพยายามฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคประชาชนให้กลับมา เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ยังไม่ทราบว่าเป็นกลุ่มไหน แต่ในวงของการประชุมทั้ง 2 ฝ่ายพยายามจะพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันได้ ในส่วนที่จะกระทบจะเป็นในส่วนความเชื่อมั่นของประชาชนที่จะพูดคุยเพื่อแสวงหาสันติ ส่วนนัยยะทางการเมือง การก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ได้สร้างผลกระทบต่อประชาชน ในหลายๆ องค์กรยังใช้แนวทางความรุนแรง โดยอยากให้ปรับเปลี่ยนมาใช้แนวทางสันติ เพราะการใช้ความรุนแรงเกิดผลกระทบในวงกว้าง ประชาชนหลายฝ่ายได้ออกมาประณามการกระทำและต่อต้านการใช้ความรุนแรง ถือเป็นการลดทอนความชอบธรรมของกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงไปเรื่อยๆ

ด้านการประชุมในเวทีเจรจาครั้งต่อไป สิ่งแรกที่เราต้องทำ คือ การพูดคุยเพื่อลดความรุนแรง ในห้วงที่มาพูดคุยสันติก็พิสูจน์ได้ว่าสามารถดำเนินการได้ แต่เป็นต่างฝ่ายต่างทำแต่ในครั้งที่ 6 ที่จะดำเนินการเป็นการร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย จะทำให้มีประสิทธิภาพเรื่องควบคุมความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ส่วนปัจจัยการก่อเหตุในครั้งนี้ยังไม่ทราบเหตุผลที่ชัดเจนว่าอะไรเป็นปัจจัยในการก่อเหตุ สำหรับข้อเสนอของ สล.3 ในที่ประชุมเดือนตุลาคม หลักๆ 3 เรื่อง 1.การลดความรุนแรง 2.การดำเนินการร่วมกันจัดตั้งการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และ 3.การร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ (public interaction) เป็น 3 เรื่องที่จะหาข้อสรุปในครั้งหน้า

ตอนนี้เราใช้เหตุผลและข้อเสนอแนะจากเวที สล.3 อยู่แล้ว เช่น เรื่องการลดความรุนแรง ทุกฝ่ายต้องการลด เพราะฉะนั้นกำหนดเป็นหัวข้อหนึ่งในการจะแสวงหาทางออกด้วยสันติวิธีและปัญหาต่างๆ ที่เป็นรากเหง้า ที่ สล.3 เสนอว่าเป็นเรื่องของสถานการณ์ทางการเมืองหรือเหตุการณ์ต่างๆ ความต้องการของประชาชน โดยจะรวมอยู่ในการแสวงหาทางออกทางการเมือง

คิดว่าฝ่ายหรือขบวนการใดที่ดำเนินการในการออกมายอมรับหรือปฏิเสธ คงจะออกมาดำเนินการด้วยตนเอง ถ้าปล่อยให้ประชาชนคลุมเครือหรือสงสัยมันจะเป็นการลดความเชื่อมั่นลงไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image