รายงานหน้า2 : ‘สุพัฒนพงษ์’ฉายภาพ ระบบนิเวศดัน‘ศก.’เดินหน้า

หมายเหตุนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปาฐกถาพิเศษ “เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ก้าวสู่ Next Chapter” ในงานสัมมนา “การกอบกู้และก้าวต่อของเศรษฐกิจไทย The Great Reset” ที่ทรูดิจิทัล พาร์ค เมื่อวันที่ 7 กันยายน

เวลาเกือบ 2 ปีมันผ่านไปเร็ว ในขณะเดียวกัน ระหว่างนั้นเวลาก็เดินทางช้าเช่นเดียวกัน โดยในความช้านั้น คาดหวังว่าปัญหาวิกฤตต่างๆ จะจบลง โดยวิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ซึ่งไทยประสบปัญหามาจะเข้าปีที่ 3 แล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยเป็นปัญหาที่มาจากภายนอกประเทศ และไม่โทษว่าเป็นประเทศอะไรและอย่างไร แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ประเทศไทยไม่ได้ก่อ แต่ได้รับผลพวงจนเกิดเป็นผลกระทบ เช่น การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 เมื่อการระบาดของโรคที่ไม่เคยอุบัติเกิดขึ้นใหม่ และเมื่อเกิดวิกฤตซ้ำจากความ
ขัดแย้งของขั้วประเทศมหาอำนาจของโลก จะนำไปสู่ปัญหาราคาพลังงาน ราคาอาหาร และสินค้าแพง จนในที่สุดเกิดเป็นปัญหาเงินเฟ้อ”

จากปัญหาที่เกิดขึ้นติดต่อกันจะเข้าสู่ 3 ปี หลังจากมีการปิดเมือง มีผู้เสียชีวิต มีผู้ที่ได้รับการเจ็บป่วย การโกรธเคืองระหว่างการแสวงหาวัคซีนมาแก้โรคระบาด รวมถึงมีหนี้สิน แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาช่วยเหลือทันที โดยการเปิดมาตรการให้พักหนี้ มีผู้เข้าร่วมมาตรการนี้ประมาณ 12-14 ล้านบัญชี คิดเป็นวงเงิน 6 ล้านล้านบาท ที่ได้รับการพักหนี้จากทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น อีกทั้งความขัดแย้งเรื่องการขาดวัคซีน เกิดจากที่ประเทศตะวันตก ที่เป็นผู้คิดค้นวัคซีนแล้วเสร็จ ก็มีการแจกจ่ายให้กับคนในประเทศก่อน ซึ่งไทยก็แสวงหามาได้ในที่สุด รวมถึงผลกระทบหนักเรื่องรายได้จากที่เศรษฐกิจไทยเคยได้จากภาคการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศหายไปทันที 2 ล้านล้านบาท ซึ่งธุรกิจอื่นได้รับความเดือดร้อน และเป็นปัญหาที่เผชิญมาตลอดเกือบ 3 ปี

วันนี้ไทยเปิดประเทศเต็มตัวแล้ว มีวัคซีนเพียงพอ และเศรษฐกิจค่อยๆ ดีขึ้น นักท่องเที่ยวทยอยเดินทางเข้าประเทศไทย คาดว่าปี 2565 นี้น่าจะเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 6-8 ล้านคน จากเดิมที่มีนักท่องเที่ยวเหลือ 0 คน หรือแค่หลักร้อยคน อีกทั้งหนี้สินที่รอการแก้ไขลดลงจาก 12-14 ล้านบัญชี ปัจจุบันเหลือเพียง 3 ล้านกว่าบัญชี ที่กำลังดำเนินการอยู่ ในส่วนของรายได้ประเทศดีขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขความมั่นใจจากนักลงทุนที่ขยายการลงทุนต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังหนีไม่พ้นความขัดแย้งของ 2 ขั้วอำนาจสร้างปัญหาให้ราคาต้นทุนพลังงาน ต้นทุนราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันร่วมมือกันและอยู่กับปัญหาอย่างเข้าใจ เนื่องจากประเทศไทยยังมีโอกาสที่อยู่รอดต่อไป ท่ามกลางวิกฤตก็มีโอกาสใหม่ๆ เกิดขึ้นกับประเทศไทยเช่นเดียวกัน

Advertisement

โดยสิ่งที่ดำเนินการมาถึงตอนนี้ อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจบ่งบอกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น สำคัญที่สุดคือ ความเข้มแข็งของรัฐบาล ความเข้มแข็งของเอกชน ความเข้มแข็งของสภาพคล่องในประเทศที่ไม่รุนแรงเหมือนกับประเทศอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์เรื่องการเงินยังถือว่าดีเหมือนเดิม อัตราความน่าเชื่อถือทางการจัดอันดับทางเครดิตต่างๆ ก็อยู่ในระดับเดิมเหมือนช่วงก่อนจะเกิดการแพร่ระบาดโควิด และสถาบันการเงิน โดยธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ยังเข้มแข็งเหมือนเดิม ตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่อยากให้ประชาชนมั่นใจถึงสถานการณ์ว่าเศรษฐกิจมันดีขึ้น สภาพทุกอย่างยังเข้มแข็งใกล้เคียงก่อนช่วงการเกิดโควิด

ขณะเดียวกัน มีความพร้อมรับมือกับสิ่งที่ยังมีความคงค้างของวิกฤตอยู่บ้าง ในเรื่องของพลังงาน ซึ่งราคาเชื้อเพลิงพลังงานค่อนข้างจะคงที่ และมีส่วนดีที่รัฐเข้ามาดูแล หากเข้าไปดูราคาน้ำมัน เมื่อนำประเทศไทยเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ไทยจะอยู่ลำดับกึ่งๆ ท้ายๆ จาก 10 ประเทศในอาเซียน โดยไทยอยู่ประมาณลำดับ 7-8 ที่มีราคาน้ำมันในประเทศไม่แพง หากเทียบกับประเทศอินโดนีเซีย ที่ประกาศขึ้นราคาน้ำมันอีก 30% ทางกลับกันไทยจะค่อยๆ ขึ้นราคาไป เพื่อให้ประชาชนและอุตสาหกรรมได้ปรับตัว แม้จะได้รับความเดือดร้อน
แต่รัฐจะค่อยๆ ปรับและประคอง เชื่อว่าจะปรับตัวได้จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมา

สำหรับโอกาสที่จะเกิดขึ้นในยุคใหม่ของประเทศไทยมีให้เห็นหลายๆ โอกาส ยกตัวอย่างสั้นๆ คือ เรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นประกาศในเวที COP26 ว่าไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ภายในปี 2593 โดยความตั้งใจนี้เป็นตัวตั้งต้น เมื่อประกาศความเป็นกลางทางคาร์บอน อุตสาหกรรมต่างๆ และการดำเนินชีวิตที่เกี่ยวกับการปลดปล่อยคาร์บอนจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งประเทศไทยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เยอะ ถ้าไม่ดำเนินการอะไรอาจจะกลายเป็นภาระต่อประเทศมากขึ้น สำหรับการค้าขาย การลงทุนในอุตสาหกรรม จะถูกนักลงทุนจากต่างประเทศจับตามอง ถ้ายังมีพฤติกรรมปล่อยคาร์บอนต่อเนื่อง เพราะทั่วโลกไม่ให้การต้อนรับ
ดังนั้น ไทยเป็นประเทศหนึ่ง และเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ประกาศเรื่องนี้และดำเนินการทันที โดยนโยบายพลังงานสะอาดจะมีมากขึ้นในแผนของแนวทางดำเนินการนโยบายพลังงานในอีก 6-7 ปีต่อจากนี้ จะเห็นพลังงานสะอาดเกิดขึ้นอีก 10,000 เมกะวัตต์ คิดเป็น 25% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย

Advertisement

อีกทั้งมีการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเดียวกันและในโลกนี้ ที่สนับสนุนให้ประชาชนได้เข้าถึงยานยนต์ไฟฟ้าจนเกิดการลงทุนในประเทศ หลายคนคิดว่าไทยไปช่วยผู้นำเข้ายานยนต์ไฟฟ้า แต่ไม่ใช่แบบนั้น เพราะผู้ที่นำเข้ายานยนต์มาขายจะต้องมีการตกลงว่าจะมีการสร้างโรงงานในประเทศไทยในอีก 2-3 ปีนับจากนี้จะต้องประกอบโรงงาน เพียงแต่การนำเข้ามาเป็นการทดลองตลาด และมีผลิตขายคืนในประเทศไทย เพราะฉะนั้น มั่นใจได้เลยว่าประเทศไทยมียานยนต์ไฟฟ้า พลังงานไฟฟ้าเกิดขึ้นแน่นอน อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 ยี่ห้อ และรายอื่นๆ ที่มีการผลิตอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งสำคัญเป็นเครื่องยืนยันว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นอุตสาหกรรมสำคัญของไทยยังเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ทุกประเภทที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เมื่อผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจะทำให้เกิดระบบอีโคซิสเต็มและระบบนิเวศตามมาอีกมากมาย โดยเรื่องดิจิทัล เทคโนโลยี จะเกิดการเชื่อมโยงมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับยานยนต์ตามเข้ามาลงทุนเพิ่ม อีกทั้งจะเกิดเอสเอ็มอีใหม่เพิ่มเข้ามาจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป ขณะเดียวกันเมื่อไทยลงความร่วมมือในการลดคาร์บอนทั้งทีจะต้องมีการประหยัดพลังงาน และต่อมาจะต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง และจะมีการลงทุนในเรื่องอื่นๆ รวมถึงจะเกิดการปลูกป่ามากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรได้ประโยชน์ ดังนั้น สิ่งที่เริ่มขึ้นจากจุดเดียวจะสามารถสร้างผลพวงที่จะเกิดสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคต

อีกทั้งด้านพลังงานไฮโดรเจน ล่าสุดมีผู้สนใจอยากให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการผลิตไฮโดรเจนพลังงานสะอาดที่สำคัญของโลก เพราะเขาเชื่อมั่นว่าการผลิตไฮโดรเจนด้วยพลังงานสะอาด ไฟฟ้าสะอาดจะเป็นจุดแข็งและจุดสำคัญของประเทศไทย ซึ่งนั่นคือความเชื่อมั่นที่ชาวต่างชาติมองเข้ามา รวมถึงดิจิทัลเทคโนโลยี โดยจะผลักดันให้ประชาชนเข้าถึงดิจิทัลเทคโนโลยี โดยเป็นเรื่องที่ต้องสานต่อ ซึ่งในช่วงโควิดที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้การช่วยเหลือแก่ประชาชนที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นประเทศเดียวหรือไม่กี่ประเทศในโลกที่ใช้เทคโนโลยีสามารถให้ความรู้กับประชาชนคนไทยถึง 40-50 ล้านคน ผ่านโครงการแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ที่ทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ส่งผลให้แม่ค้ารายย่อยประชาชนคนตัวเล็กสามารถใช้เทคโนโลยีจากแอพพลิเคชั่นเป็นกันหมดทุกคน หากจะให้ประชาชนรับรู้ด้วยตนเองอาจจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายเยอะ แต่สิ่งที่รัฐทำก็สามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งอาศัยจังหวะการเกิดวิกฤตสร้างขึ้นมาและสานต่อความก้าวหน้าผ่านโครงการของรัฐที่เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีให้บริการใช้แอพพ์เป๋าตัง

ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นจะสามารถเชื่อมโยงการทำธุรกิจ ซึ่งประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น โดยสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นก็ดึงดูดความน่าสนใจกับอุตสาหกรรม เอสเอ็มอี ที่จะเกิดขึ้นใหม่ โดยการใช้และพัฒนาจากเทคโนโลยี ซึ่งความน่าสนใจอีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อรัฐได้ทำโครงสร้างพื้นฐานไว้จะทำให้ดึงดูดนักลงทุนภาคเอกชนเข้ามาร่วมงานกับรัฐ และพัฒนาระบบให้เกิดขนาดใหญ่มากขึ้น นั่นคือ สิ่งที่เกิดขึ้นจากที่รัฐใช้โอกาสที่เกิดวิกฤตนำเทคโนโลยีเข้าไป และพัฒนาทำให้ประชาชนคุ้นเคยกับการใช้ระบบใหม่ๆ จนขยายขอบเขตการทำงานที่หลากหลายในเรื่องการใช้ประโยชน์จนนำไปสู่การสร้างระบบที่อำนวยความสะดวกมากขึ้นกับการใช้ระบบผ่านเทคโนโลยี

จากปัญหาความขัดแย้งของขั้วอำนาจต่างๆ ส่งผลให้นักลงทุนอยากย้ายฐานการทำงานมาที่ประเทศไทยมากขึ้น เพราะเห็นว่าประเทศไทยสามารถเป็นประตูที่เปิดไปสู่การขยายในด้านการค้าโดยมีการเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบาย หากดูถนนในประเทศที่มีการขยายถึง 4 เลน และมีการเชื่อมต่อกับทุกเมืองทุกจังหวัด รวมถึงเชื่อมกันในภูมิภาคต่างๆ อย่างเสรี นักลงทุนหลายคนจึงอยากย้ายฐานการลงทุนเข้ามาในประเทศไทยและพบว่ามีนักลงทุนที่เข้ามามีต่อเนื่อง โดยเห็นยอดจากนักลงทุนที่แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนโดยจะนำอุตสาหกรรมที่ไม่เคยมีมาก่อนมาตั้งอยู่ในประเทศ โดยนักลงทุนจากกระจายตัวเข้ามาเลือกพื้นที่การลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

ขณะที่อุตสาหกรรมที่ประเทศไทยเข้มแข็ง เช่น อาหาร สุขภาพ ท่องเที่ยว เป็นต้น ที่ไทยมีนโยบายเป็นโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ซึ่งเป็นโมเดลที่ได้รับการยอมรับจากการหารือในเวทีการเตรียมการเอเปค โดยเป็นเรื่องที่ตัวแทนหลายประเทศให้ความเข้าใจและมองว่าเป็นประโยชน์ในการดูแลสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทรัพยากรในประเทศนี้ เมื่อประเทศเติบโตจากบริโภคแบบเดิมไม่ได้ จำเป็นจะต้องเก็บทรัพยากรในโลกให้เพียงพอ เพื่อการเจริญเติบโตของประชากรในโลก เมื่อสิ่งเหล่านี้ได้รับการยอมรับมากขึ้นและในช่วงวิกฤตที่ผ่านมาหลายประเทศที่ต้องพึ่ง ในเรื่องความปลอดภัยในการมีอยู่ของอาหารที่เป็นแหล่งวัตถุดิบเพื่อการบริโภค ซึ่งหลายประเทศหันมามองเมืองไทย เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ทางอาหาร คาดว่าประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางของการซัพพลายทั้งเรื่องของอาหาร สินค้าเกษตร โดยจะมีนักลงทุนนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มการผลิตให้กับสินค้ามากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลจะทำงานเต็มที่เมื่อเห็นโอกาสที่สามารถขับเคลื่อนประเทศไทยให้ไปต่อได้ ก็จะมีทีมปฏิบัติการเชิงรุกในการดำเนินการในเรื่องการผลักดันเฉพาะเจาะจงในโครงการใหญ่ที่คุยกันไว้ รวมแล้ว ถ้าทำสำเร็จทั้งหมดก็น่าจะมีการลงทุนถึง 2 ล้านล้านบาท เพิ่มจีดีพีให้ไทยได้ประมาณ 2 ล้านล้าน และโครงการเหล่านี้จะสร้างระบบนิเวศและสร้างธุรกรรมด้านอื่นๆ ให้กับการดำเนินธุรกิจต่อไป เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าอย่างไม่สะดุด

อย่างไรก็ตาม ผมไม่เคยเป็นนักการเมือง ผมอยู่ในแวดวงนักธุรกิจ เคยอยู่การเงินบ้าง เคยอยู่เป็นนักอุตสาหกรรมบ้าง แต่ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่อยู่ในตำแหน่งก็ยอมรับว่ามีหลายเรื่องที่ไม่เคยเห็นและไม่เคยทราบ และมีหลายเรื่องที่รัฐทำกันอย่างเต็มที่ก็ไม่เคยเห็น ไม่เคยทราบและสิ่งสำคัญ คือ มีหลายเรื่องที่พบว่าประเทศไทยมีโอกาส มีความหวัง แม้กระทั่งในยามวิกฤต จึงอยากให้เชื่อมั่นว่าความสำเร็จเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน

และสำคัญที่สุด คือ ความเชื่อมั่นของประชาชนคนไทยต่อประเทศว่าเศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้น โดยวิธีที่ดีที่สุดในการดูเศรษฐกิจ อยากบอกว่าอย่าเปรียบเทียบประเทศต่างช่วงเวลา แต่ขอให้เปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเหตุการณ์เหล่านี้มันเกิดขึ้นทั้งโลก เมื่อมีความรู้ ทำความเข้าใจ จะพบว่าโอกาสที่ต่างประเทศมีนั้น น้อยกว่าประเทศไทย จึงอยากให้ประชาชนคนไทยเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะก้าวเดินต่อไปในอนาคตได้อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image