‘อาคม’ชี้ ศก.ไทยฟื้นรูปตัวเค หวังท่องเที่ยวช่วยลดหนี้

‘อาคม’ชี้ ศก.ไทยฟื้นรูปตัวเค หวังท่องเที่ยวช่วยลดหนี้ หมายเหตุ - นายอาคม

‘อาคม’ชี้ ศก.ไทยฟื้นรูปตัวเค หวังท่องเที่ยวช่วยลดหนี้

หมายเหตุนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในรายการ “คุยเรื่องบ้าน คุยเรื่องเมือง คุยทุกเรื่องกับรัฐมนตรี” ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ทาง FM 92.5 MHz และเครือข่ายสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รวมทั้งรับชมออนไลน์ที่เฟซบุ๊ก Radio Thailand Live เนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้

ใน 2 ปีที่ผ่านมา 2563-2564 ถือเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับคนไทย ทุกคนออกจากบ้านไม่ได้เพราะกลัวการระบาดของโควิด-19 ถือเป็นเวลา 2 ปีเต็มๆ ซึ่งตั้งแต่ปี 2563 กระทรวงการคลังก็ได้มีมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน รวมทั้งภาคธุรกิจด้วย เพราะด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นสิ่งสำคัญคือ ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ซึ่งแน่นอนว่ากระทรวงอื่นทำไม่ได้ เพราะกระทรวงการคลังมีหน้าที่หลักในการหารายได้ หาแหล่งเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจึงทำเหมือนกับทุกประเทศ คือการกู้เงิน โดยออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินออกมา สองรอบรวม 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่มากเมื่อเทียบกับต่างประเทศที่ทำการกู้เงินเช่นกัน

โดยเงินก้อนนี้ที่เพิ่มเติมมาพิเศษ รัฐบาลได้นำมาใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่มีโควิดระบาด จนต้องมีการปิดประเทศ ทั้งโรงงานและบริษัทก็ต้องปิด พ่อค้าแม่ค้าก็ขายของไม่ได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องโอนเงินให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม สังเกตว่าในปี 2563 ที่มีการเยียวยา ประชาชนมีการมาเข้าคิวรอรับเงินสดจากรัฐบาลตามตู้เอทีเอ็ม ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลยังตั้งตัวไม่ทัน แต่ว่าตอนหลังทุกรอบที่เยียวยาได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างมาก จนไม่มีการต่อคิวรับเงินแบบอดีตแล้ว

Advertisement

แอพพลิเคชั่นเป๋าตัง เกิดขึ้นมาตอนที่รัฐบาลจะทำเรื่องการโอนเงินเยียวยา มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะนั้นประชาชนไม่มีรายได้ ก็โอนเงินให้แต่ในขณะนี้มีอีกเรื่องหนึ่ง ประชาชนกำลังได้รับผลกระทบคือเรื่องเงินเฟ้อ น้ำมันแพงทั่วโลก เงินเฟ้อ 8 เดือนแรกของปี (มกราคม-สิงหาคม 2565) อยู่ประมาณ 6% โดยอัตราเงินเฟ้อไทยถือว่าไม่ได้สูงมาก รวมทั้งปีที่ผ่านมาช่วงโควิด ทำให้ตัวเลขฐานต่ำ เลยส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปัจจุบันดูเพิ่มขึ้นสูงผิดปกติ ส่วนเงินเฟ้อของต่างประเทศหลายประเทศสูงมากเกิน 10% จึงตอกย้ำว่าเงินเฟ้อไทยไม่ได้สูงมากนัก

เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลทำคือ การเยียวยา และการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รู้จักกันในโครงการ “คนละครึ่ง” ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องถึงเฟส 5 แล้ว ซึ่งเฟสที่ 5 ยังได้รับความนิยมจากประชาชน เพราะใช้เงินง่าย และสิ่งที่ทำขึ้นอีกอย่างคือ แทนที่รัฐบาลจะให้เป็นเงินสด กลับจ่ายเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีการแบ่งเป็นสองกระเป๋า คือ เป๋าตัง ให้ประชาชนใช้จ่ายเองและถุงเงินของร้านค้า และของโครงการคนละครึ่ง สมมุติประชาชนซื้อของ 100 บาท ก็ต้องออกเองผ่านเป๋าตัง 50 บาท และอีก 50 บาท รัฐบาลจะจ่ายให้ร้านค้าผ่านถุงเงิน

ทั้งนี้ ร้านค้าในโครงการคนละครึ่งนั้น รัฐบาลได้จำกัดการช่วยเหลือเน้นร้านค้าที่ไม่ใช่นิติบุคคล เนื่องจากที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องว่าเงินที่รัฐบาลให้ไป ไปเข้าที่ร้านสะดวกซื้อหมด ซึ่งก็เป็นธุรกิจของนายทุนใหญ่ แต่จริงแล้วรัฐบาลอยากช่วยพี่น้องประชาชน แม่ค้าในตลาดที่ขายไม่ค่อยได้ แต่เมื่อมีโครงการคนละครึ่งได้ช่วยให้ร้านค้าขายดีขึ้นจริงเพราะคนจำนวนมากต่างซื้อสินค้าด้วยการใช้สิทธิผ่านแอพพ์เป๋าตัง

Advertisement

รัฐบาลต้องการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจริงๆ ของประชาชน ไม่ต้องการให้ใช้เงินหมดไปกับสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ดังนั้นจึงมีข้อห้ามหลายเรื่อง เช่น การห้ามซื้อลอตเตอรี่ ห้ามใช้ซื้อเหล้า บุหรี่ เป็นต้น และจำกัดที่ร้านค้า ที่ไม่ใช่นิติบุคคล ดังนั้นหากจะใช้จ่ายที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตก็ไม่ได้

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัท ธุรกิจบางส่วนพักงาน รายได้ประชาชนไม่มี หรือกลับมาไม่เต็มที่ การมีโครงการคนละครึ่ง รัฐบาลช่วยจ่ายครึ่งหนึ่ง ดังนั้นส่งผลให้การใช้จ่ายดีขึ้น พยุงการบริโภคของพี่น้องประชาชน เพราะว่ารายได้จากที่ทำงานนั้นหายไป นอกจากนั้น ก็ช่วยในส่วนของประกันสังคม มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 รวมถึงอาชีพอิสระ อย่างไรก็ตาม สังเกตได้ว่าการใช้จ่ายในโครงการคนละครึ่งนั้น ไม่ใช่จ่ายครึ่งหนึ่งเท่าๆ กัน แต่ประชาชนใช้จ่าย 51% ส่วนรัฐบาลจ่ายออกมาเป็นสัดส่วน 49%

หากเปรียบเทียบกับประเทศทั่วโลกนั้นพบว่า สำหรับไทยได้ทำสองด้าน ด้านหนึ่งคือ การออกมาตรการอุดหนุนรายได้ เมื่อเงินเดือนไม่มี รายได้หายรัฐบาลก็เติมให้ทันที ซึ่งไทยก็ทำในเรื่องโครงการเยียวยา ขณะที่โครงการคนละครึ่งจะเป็นการช่วยเหลืออีกรูปแบบ คือช่วยเหลือค่าครองชีพบางส่วน และประชาชนก็รับภาระอีกครึ่งหนึ่ง ส่วนตัวเชื่อว่า โครงการคนละครึ่งนั้น ไม่มีประเทศไหนทำ ส่วนใหญ่ต้องมาดูงานและเรียนรู้จากไทยเรา

ที่สำคัญคือ การที่ไทยหันไปใช้ดิจิทัลได้เร็ว ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่พัฒนาแอพพลิเคชั่นได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นที่ถามว่าคนละครึ่งมีส่วนในการช่วยดูแลเศรษฐกิจ ก็ต้องตอบว่ามีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจไม่ติดลบมากจนเกินไป ถ้าเทียบกับการที่เกิดวิกฤตในอดีต 30-40 ปีที่แล้วนั้น ในปี 2563 แม้หนักสุดแต่เศรษฐกิจไทยติดลบเพียง 6% ส่วนในอดีตนั้นเคยติดลบถึง 12% เจอทั้งวิกฤตน้ำมัน และวิกฤตน้ำท่วม

ส่วนการประสบความสำเร็จในการใช้ดิจิทัลนั้น คือ แอพพ์เป๋าตัง ได้ถูกนำไปใช้งานในโครงการอื่นๆ เยอะ ทั้งโครงการสลากกินแบ่งรัฐบาล แม้กระทั่งภาคเอกชนก็ขอเข้ามาร่วมโครงการคนละครึ่งด้วย อาทิ กลุ่มฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่เข้ามาร่วมในโครงการ

สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้นมีความชัดเจนว่าไม่ได้เป็นการฟื้นตัวแบบ รูปร่างตัว ยู (U shape) แต่เป็นการฟื้นตัวแบบ รูปร่างตัว เค (K shape) เพราะบางส่วนก็ดีขึ้น บางส่วนก็แย่ลง เหตุที่เป็นแบบนั้นก็เพราะว่ามีเรื่องห่วงโซ่อุปทาน อย่างในปีที่ผ่านมา 2563-2564 นอกจากการช่วยเหลือประชาชนแล้วก็ช่วยภาคธุรกิจสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวที่ก่อนโควิดมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 40 ล้านคนต่อปี แต่โควิดทำให้นักท่องเที่ยวดังกล่าวหายไปกับตา รายได้หายไปก้อนใหญ่ โรงแรมปิด คนงานตกงานจนต้องเดินทางกลับไปภูมิลำเนาตัวเองส่วนบางผู้ประกอบการก็รักษาการจ้างงาน ซึ่งรัฐบาลก็อุดหนุนเงินจ้างงานเพื่อช่วยธุรกิจโรงแรม ช่วยผู้ประกอบการให้อยู่รอด

อย่างไรก็ตาม ด้วยการดำเนินงานของรัฐบาลก็เข้มงวดเป็นบางช่วง เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ก็ผ่อนคลาย โดยเริ่มจาก ภูเก็ตแซนบ็อกซ์ และขยายไปทั่วประเทศ จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2564 สามารถปลดล็อกได้ทั้งหมด มีไทยแลนด์พาส และเทสต์แอนด์โก ที่เปิดรับชาวต่างชาติเข้ามา แต่บางส่วนก็ขึ้นอยู่กับประเทศต้นทาง อาทิ จีน ที่ประเทศเขาเองยังมีความเข้มงวด แต่อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา คนไทยก็เริ่มเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะมีโครงการเราเที่ยวด้วยกันเข้ามาช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ

เพราะที่ผ่านมาช่วงโควิด โรงแรมต้องปิดชั่วคราว เพราะไม่มีคนเข้าพัก ซึ่งยิ่งทำให้โรงแรมเสื่อมโทรม ดังนั้นต้องหาคนมาเข้าพัก จึงเป็นที่มาของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่รัฐบาลช่วยจ่าย 40% ของค่าห้องพัก และก็มีคูปองให้ใช้จ่าย ซื้อสินค้า และอาหารด้วย ซึ่งโครงการนี้มีหลายประเทศที่มาเรียนรู้จากไทยเช่นกัน ว่าในช่วงของวิฤตนั้นรัฐบาลไทยช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวอย่างไร

อีกส่วนคือการช่วยเหลือภาคเอกชน ในเรื่องของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) โดยมาตรการซอฟต์โลนนั้น ออกมา 2 ครั้ง คือปี 2563 จำนวน 3 แสนล้านบาท รอบที่ 2 ในปี 2564 อีก 3 แสนล้าน เพื่อช่วยเติมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจในทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่กลุ่มโรงแรม แต่เน้นช่วยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ด้วย เพื่อช่วยพยุงสถานะของธุรกิจให้ดีขึ้น อย่างน้อยมีเงินจากเงินเดือนได้

ทั้งนี้ จากที่รัฐบาลได้ปลดล็อกเรื่องของไทยแลนด์พาสและเทสต์แอนด์โกแล้ว ก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามา โดยตัวเลขจากเดือนมกราคม-กันยายน 2565 ที่ยังไม่เต็มเดือน พบนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งสิ้นกว่า 5 ล้านคน ดังนั้นช่วงประมาณ 4 เดือนหลังจากนี้ ในแต่ละเดือนก็มีจำนวนเกิน 1 ล้านคนต่อเดือน จึงคาดว่าทั้งปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 8 ล้านคน และอาจจะถึง 10 ล้านคน ส่วนคนที่ไม่เชื่อให้ลองไปสนามบินสองแห่ง คือ สุวรรณภูมิ กับดอนเมือง จะพบว่าตอนนี้คนเนืองแน่นมาก

ในส่วนการท่องเที่ยวในประเทศนั้น ขณะนี้โครงการเราเที่ยวด้วยกันยังไม่หมดเขต คาดว่าจะทำให้คนไทยเดินทางออกไปท่องเที่ยวในไทยมากขึ้นโดยจะเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อหน่อย ได้โอกาสไปพักโรงแรมหรูในราคาที่ลดลงมา โดยการที่คนไทยเที่ยวและเดินทางมากขึ้นส่วนหนึ่ง และการที่ต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น ดังนั้นถ้าในปีนี้มีนักท่องเที่ยว 8-10 ล้านคน ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของ 40 ล้านคนในสถิติก่อนมีโควิด ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทำให้คนกลับเข้าไปทำงานในโรงแรมในภาคบริการมากขึ้น

ทั้งนี้วันที่ 16 กันยายน ผมมีโอกาสเดินทางไป จ.ภูเก็ต เพื่อประชุมความร่วมมือเศรษฐกิจสามฝ่ายระหว่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียนั้นมีชาวต่างชาติเยอะมาก ในแต่ละสายการบินพบว่าเต็มทุกเที่ยว และเริ่มมีเครื่องบินตรงจากต่างประเทศเข้ามาถึงภูเก็ต อย่างอินเดีย ตะวันออกกลาง และนักท่องเที่ยวจากยุโรปก็มากขึ้น คาดหวังว่าสิ้นปี ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะดีขึ้นเพราะฉะนั้น รายได้ก็จะเริ่มดีขึ้น ซึ่งรายได้ดีขึ้นก็จะส่งผลดีไปยังเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่นเรื่องหนี้ ถ้ามีวินัยการเงิน มีรายได้เพิ่มก็แบ่งมาใช้หนี้บ้าง จะทำให้สถานะหนี้ดีขึ้นแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image