สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ฉายภาพ ศก.- ปี’66 เข้าโหมดขาขึ้น

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ฉายภาพ ศก.- ปี’66 เข้าโหมดขาขึ้น

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ฉายภาพ ศก.- ปี’66 เข้าโหมดขาขึ้น

หมายเหตุนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยโค้งสุดท้ายของปี 2565 และสถานการณ์พลังงานท่ามกลางวิกฤตโลก

⦁กำลังเข้าโหมดเลือกตั้งและเปลี่ยนรัฐบาล
สิ่งที่รัฐบาลทำมาตลอด เชื่อว่าพรรคการเมืองจะยังสานต่อ แต่อาจปรับเกณฑ์ อาทิ มาตรการช่วยเหลือเคยให้ 100 บาท ก็เพิ่มเป็น 150 บาท เคยให้ 1,000 บาท ก็เพิ่มเป็น 3,000 บาท หรือเปลี่ยนชื่อโครงการเสมือนให้ดูใหม่ขึ้น เมื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายแต่ละปี จะเห็นว่าประเทศไทยดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย งบประมาณใช้เท่าไหร่ในแต่ละปี ก็มาจากทุกพรรคการเมืองเสนอแผนที่ต้องดูแล ไม่ใช่เฉพาะพรรคใดพรรคหนึ่ง รัฐบาลให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้มาตลอด

อย่างงบประมาณรายจ่ายปี 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท จำแนกไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ตั้งแต่ความมั่นคง สร้างความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาและสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ ตั้งแต่เกิดจะได้รับเบี้ยเด็กให้นมเลี้ยงเด็กแรกเกิด โตขึ้นให้เรียนฟรี โตขึ้นมาอีกมีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ให้กู้เรียน จบแล้วไม่พร้อม มีบัตรสวัสดิการรัฐ มีสินเชื่อธนาคารรัฐให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ สูงวัยมีบำเหน็จบำนาญ ภาคเกษตรราคาพืชตกต่ำมีโครงการประกันรายได้ เป็นเรื่องที่วนอยู่แบบนี้ทุกปี เพียงแต่เปลี่ยนชื่อโครงการจากเดิมเล็กน้อย สิ่งสำคัญคือไม่ได้เปลี่ยนประเภทและไม่ได้เปลี่ยนคน

Advertisement

ตอนนี้ไทยมี 13 หมุดหมาย การพัฒนาประเทศ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 13ทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไล่เรียงทำกันไป ส่วนใหญ่เริ่มแล้วและอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ หลายเรื่องคืบหน้าไปมาก พรรคการเมืองที่เข้ามาจากนี้หลับตาทำได้เลย

ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปมีการส่งเสริมและพัฒนา จนเพิ่มมูลค่าและส่งออกได้ดี หรือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงคุณภาพจะขยายให้มากขึ้น ตอนนี้ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2028 ที่ภูเก็ต ปูพื้นให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือศูนย์ wellness และไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก ปลายปีนี้ต้องลุ้นไทยเข้ารอบ 2 แข่งขันกับ 4 ชาติ คือ สหรัฐ สเปน เซอร์เบีย และอาร์เจนตินา จะได้ข้อสรุปในปี 2566 ก่อนเตรียมงานในระยะ 5 ปี

สำหรับโครงการศูนย์ wellness ไม่ได้รอผลว่าจะได้เป็นเจ้าภาพอย่างเดียว แต่ได้เตรียมความพร้อม ตั้งแต่พื้นที่กว่า 100 ไร่ จ.ภูเก็ต ในการตั้งศูนย์ โดยการท่องเที่ยวและภาคเอกชนได้เจรจาโรงพยาบาลและธุรกิจที่เกี่ยวข้องมาตั้งในศูนย์นี้ ตอนนี้หลายประเทศสนใจ อาทิ ซาอุดีอาระเบีย ญี่ปุ่น แม้ไม่ได้เลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน แต่แผนผลักดันตั้งศูนย์ wellness ยังเดินหน้านำร่องที่ภูเก็ต ก่อนขยายไปเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ อย่างในจังหวัดแถบอันดามันและเชียงใหม่ ตอนนี้ไทยได้รับการยอมรับเป็นประเทศเด่นเรื่องการท่องเที่ยว กีฬา และดูแลสุขภาพ โรงพยาบาลและการแพทย์เพื่อสุขภาพ ต่างชาติเข้ามาใช้บริการมาก รัฐเพียงวางระบบนิเวศให้เกิดการลงทุนในอนาคตและเพิ่มมูลค่า

Advertisement

ด้านอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ มีการขยายโครงข่ายถนนและเชื่อมโยงเส้นทางทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อมต่อไปถึงประเทศที่ 3 ไปไกลถึงประเทศจีนแล้ว ไม่ใช่แค่ขยายถนน ระบบราง ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินสู่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คืบหน้า กางแผนที่จะเห็นว่าทั่วประเทศเชื่อมโยงกันเต็มไปหมด รวมถึงสร้างโครงข่ายดิจิทัล ระบบไฟฟ้าด้านเอกชนไปไกลแล้วกับการพัฒนาระบบบริหารจัดการ เป้าหมายทั้งหมดเน้นเชื่อมในภูมิภาคนี้ และดันไทยเป็นประตูการค้าโลก เรื่องนี้ผมเชื่อว่าไม่มีใครปฏิเสธ ระเบียงเศรษฐกิจนั้นไม่ใช่แค่อีอีซี แต่ผลักดันไปภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ด้วย การเชื่อมเส้นทางกับประเทศเพื่อนบ้านยังทำต่อเนื่อง อย่างแผนเชื่อมเส้นทางกาญจนบุรีถึงทวายนั้น ทั้งนักลงทุนไทยและญี่ปุ่นจะคุยกันและทำต่อไป

ด้านพลังงานสะอาด ผ่านภายใต้โครงการบูรณาการพลังงานลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ รุดหน้าไปมากลาวเตรียมขายกระแสไฟฟ้าขนาด 100 เมกะวัตต์ ให้กับสิงคโปร์แล้ว ตอนนี้แย่งพลังงานสะอาดกันมาก เร็วๆ นี้จะต้องหารือทำแผนพลังงานสะอาดต่อไป เป็นสิ่งจำเป็นในอนาคต สอดคล้องกับเป้าหมายลดคาร์บอน และไทยต้องพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด เรามีบทเรียนไปพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากประเทศอื่น เราเจ็บปวดมาพอสมควร เมื่อเขาทะเลาะกันราคาขึ้น 5 เท่าตัว ผมไม่เคยพบเห็นมาก่อน ดังนั้น ต้องพยายามปรับตัวเองในอนาคต เอาบทเรียนเหล่านี้มาวางแผนอนาคต การที่ไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานสะอาดเป็นจุดแข็งไทยและไม่ใช้ถ่านหินมากเกินไป แต่พอถึงวันหนึ่งประเทศสำคัญทะเลาะกันและใช้ก๊าซธรรมชาติเยอะขึ้น จึงขาดแคลน พอขาดแคลนของหายากราคาแพงตาม ต่อไปเชื้อเพลิงฟอสซิลจะหมดลง ตอนนี้ยอมรับว่ายุ่งกับเรื่องพลังงานมาก ต้องติดตามตลอด ราคาน้ำมันยังแกว่งในระดับสูง

ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มีการลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าไทยต่อเนื่อง เรื่องนี้เชื่อมโยงและแตกแขนงอีกหลายอุตสาหกรรม ทั้งเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตรถอีวี เกิดอีกหลายเรื่อง อาทิ แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนรถยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) อิเล็กทรอนิกส์ ระบบเซ็นเซอร์ วันนี้รถอีวียังเป็นแค่เจนแรก จากที่คุยกับผู้ผลิตรถยนต์ ระบุว่า รถอีวีในอนาคตจะไม่เหมือนเดิมความคาดหวังไม่ใช่รถที่จะเป็นรถแบบเดียวกันในตอนนี้ กลายเป็นสมาร์ทคาร์หรือยานยนต์อัจฉริยะ จินตนาการในอนาคตเกิดขึ้นอีกมาก แค่อีวีโยงใยไปอีกหลายอุตสาหกรรม โยงถึงพลังงานสะอาด ลดคาร์บอน ยาวจนเกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ เป็นโอกาสของไทย

ทั้งหมดที่กล่าวมา ผมคิดว่าพรรคการเมืองใดมา ต้องทำต่อ เพราะทุกเรื่องเป็นเทรนด์ของโลก แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าจะดึงดูดเขามาลงทุนในไทยอย่างไร ในอดีตคิดว่าไทยเป็นประเทศน่าสนใจลงทุน ใครก็อยากมา มองว่าเราเป็นศูนยกลางของจักรวาล เหมือนเป็นทั้งโลก แต่ตอนนี้ทุกประเทศคิดเหมือนเรา ดังนั้น การแข่งขันจูงใจเรื่องภาษีและสิทธิประโยชน์มากกว่า กำหนดเงื่อนไขให้ดีกว่า ไทยต้องดูบทเรียนประเทศอื่นใช้อินเซนทีฟอะไร เราต้องคิดด้วย ซึ่งไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์อยู่แล้ว จากนี้ต้องทบทวนเมื่อมุ่งไปที่รถอีวีตอนนี้ยังแพง ตอนนี้ยอดจองรถยนต์รับสิทธิอีวีแล้ว 1.8 หมื่นคัน รอยอดซื้อในงานมอเตอร์โชว์ช่วงปลายปีนี้ น่าจะมีอีกมาก

อีกเรื่องต้องเร่งคือขาดชิปที่ผลิตจากจีนหรือไต้หวัน แต่สหรัฐออกชิป EDA จากปัญหาชิปขาดและการทะเลาะจนแยกขั้วชัดเจน ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตตั้งโรงงานที่ 2 หรือ 3 ไทยต้องมีอินเซนทีฟ ชิงการเป็นฐานผลิตสำหรับอุตสาหกรรมอนาคต ทั้งชิปหรือแบตเตอรี่ไฟฟ้า พร้อมกันนี้ ต้องลดความกังวลพื้นฐานของมนุษย์ อาทิ เบี้ยประกันรถอีวีแพง ให้กระทรวงการคลังสื่อสารไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แล้ว เพราะเมื่อรถอีวีเพิ่มขึ้น ค่าเบี้ยน่าจะถูกลง เหมือนอย่างค่าไฟ พยายามทำให้อัตราไม่เพิ่มขึ้นและลดลงในอนาคต รวมถึงความสัมพันธ์ของการใช้รถอีวีกับรถไฮบริด

⦁แนวโน้มราคาน้ำมันยังขาขึ้น
เรื่องราคาน้ำมัน สะวิงทุกวัน เราประชุมกันทุกวัน ราคาขึ้นหรือลงขึ้นเกี่ยวกับหลายปัจจัย ตอนนี้ต้องดูว่าหลังโควิดคลี่คลายแล้ว ความต้องการใช้และการผลิตจะดีดกลับมาอย่างไร เรื่องนี้คนถามว่าเตรียมรับมืออีก 6 เดือน หรือ 1 ปีข้างหน้าอย่างไร ผมยังไม่เห็นนักวิเคราะห์ออกมาพูดได้ชัดเจน ต้องยอมรับทั่วโลกไม่มีใครรู้ได้ ไม่แค่น้ำมันอย่างเดียว ตอนนี้โจทย์โยงกันไปหมด พอน้ำมันขึ้น ดันราคาสินค้า ส่งผลอัตราเงินเฟ้อพุ่ง ก็ขึ้นดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อ ยังต้องจับตาสงครามยืดเยื้ออยู่หรือไม่ กลุ่มประเทศผลิตน้ำมันจะเพิ่มกำลังหรือลดกำลังผลิต ความกังวลขยายถึงการใช้ก๊าซเพื่อทดแทนการใช้น้ำมันบางส่วน จึงพบว่า ความกังวลเรื่องต่างๆ ยังมีมากอยู่ ไม่เคยเห็นว่าขึ้นดอกเบี้ยกันแรงอย่างตอนนี้ ทำท่าจะขึ้นไม่เลิกด้วย ยังต้องติดตามเงินบาทอ่อนค่าอีก

สงครามที่ตึงเครียดคงกระทบต่อไทยไม่มาก คงมีเรื่องราคาพลังงาน ระยะสั้นถ้าโอเปคประชุมเดือนตุลาคมนี้ ไม่ลดกำลังการผลิต ราคาน้ำมันจะนิ่ง คิดว่าเราน่าจะอยู่ได้ จะเบาไปในฝั่งของน้ำมัน พยายามเลี่ยงนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่ราคาแพง โดยใช้น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา ตอนนี้ราคาเสถียรขึ้น เร่งผลิตพลังงานน้ำ พลังงานก๊าซเพิ่มขึ้น ซื้อจากมาเลเซียได้ภายใต้กรอบสัญญา ทำทุกทาง วันนี้ทำได้แล้ว 20-80% แต่ยังจำเป็นต้องนำเข้าอีกเล็กน้อย

ส่วนราคาน้ำมันดีเซลปัจจุบันยังตรึงที่ 34.94 บาทต่อลิตร แนวโน้มจะปรับขึ้นหรือลง คาดการณ์ยาก ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันโลก ถ้าโอเปคไม่ลดกำลังการผลิต ดอกเบี้ยยังเป็นแบบนี้ แนวโน้มลดลง นอกจากกรณีเดียวก๊าซธรรมชาติที่ซื้อไปขายสูงขึ้นมาก ทุกประเทศจะเปลี่ยนการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นน้ำมันดีเซล ทำให้ความต้องการดีเซลสูงขึ้น และราคาจะขึ้นตาม

⦁เศรษฐกิจโค้งสุดท้าย 2565 และทิศทาง 2566
เศรษฐกิจไทยช่วง 3 เดือนไตรมาสสุดท้าย 2565 (ตุลาคม-ธันวาคม) ดีขึ้นแน่นอน เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ส่งออกขยายตัวดีอยู่ การเจรจาด้านลงทุนมีมากขึ้น การเก็บรายได้ของรัฐเกินเป้าหมายทุกอย่างเป็นไปตามที่ประเมินไว้ เศรษฐกิจทั้งปี 2565 จะขยายตัว 3% ไม่น่าพลาดแล้ว ส่วนราคาพลังงานเริ่มนิ่ง แนวโน้มเริ่มลดลง เชื่อว่าจะนิ่งระดับนี้ไปอีกระยะหนึ่ง ถ้าไม่มีเหตุการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ แต่ยังต้องรอดูสงครามรัสเซีย-ยูเครน การขึ้นดอกเบี้ยของตลาดโลกจะขึ้นเร็วหรือช้า ปัจจัยที่ต้องจับตาเฝ้าระวังยังมีอยู่ดังนั้น ในระยะสั้น ปลายปีนี้ข้ามถึงกลางปีหน้า ประเทศไทยคงต้องประคับประคอง ผ่านตรงนี้ไปให้ได้ส่วนนโยบายอัดฉีดเงินจากนี้คงจะกล้าหาญแบบรัฐบาลประเทศอื่นที่ประกาศทุ่มงบสุดตัวเพื่อตรึงทุกอย่างคงไม่ได้

ปลายปีนี้คาดหวังคงไม่มีเหตุการณ์ซ้ำรอย 2 ปีที่ผ่านมา มีโควิด สงครามรัสเซีย-ยูเครนโยงกันไปหมด ฝึกความอดทนเรา เป็นโอกาสดี สิ่งที่เขาถกเถียงกัน มันอยู่คนละขั้ว เราอยู่ตรงกลาง น่าจะเป็นพื้นที่เซฟโซนในภูมิภาคนี้ เราต้องทำตัวให้โดดเด่น ดึงตัวเองเข้ามาสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่คนไทยต้องเข้าใจจุดนี้ อย่ามองปัญหาในประเทศจนคอขาดบาดตายปัญหาในประเทศเราเล็กกว่าที่ทั้งโลกเจอเยอะ ต้องใช้ความสงบสุข น่าอยู่ น่าอาศัย ปลอดภัย ทำให้ประเทศไทยมีเสน่ห์ น่าลงทุน ถ้าร่วมมือตรงนี้ได้ ยังไงนักลงทุนก็เข้ามา เราเตรียมระบบ แผนพลังงานชาติที่จะเดินหน้าไว้หมดแล้ว สิ่งสำคัญสุดต้องเอาเศรษฐกิจใหม่เข้ามา จะไปอยู่กับอุตสาหกรรมเดิมๆ ไม่ได้แล้ว เพื่อให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้า สู้กับเทรนด์โลกได้ นี่เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่ผมมองไว้ เชื่อว่าบทเรียนจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา 2 ปีที่ผ่านมา หากเกิดเหตุการณ์อะไรอีก จะไม่ตื่นจนเกินไป

ถามว่าเศรษฐกิจเราดีเท่าก่อนโควิดระบาดหรือไม่ แน่นอนวันนี้น้ำมันคนละราคา จะรู้สึกเดือดร้อนเป็นธรรมดา ต้องฝ่าวิกฤตนี้ไปให้ได้ ต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ นี่คือจุดยืนที่จะทำ ตอนนี้พึ่งอยู่อย่างเดียวคือพลังงาน ถ้าเราประหยัดได้ 20% ไม่ต้องนำเข้า ใช้น้ำมันผลิตไฟฟ้า แต่ว่าน้ำมันรถยนต์ยังต้องพึ่งพา ถ้าไม่มีอะไรสะดุด มองว่าในปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะเป็นช่วงขาขึ้นซึ่งปีนี้ยอดขอส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพิ่มขึ้น 12% ถือว่าเป็นความโชคดีของรัฐบาลหน้า

และถ้าไม่มีเหตุการณ์ภายในและภายนอกซ้ำเติมเข้ามาอีก ปลายปี 2566 พูดได้เต็มปาก เศรษฐกิจโลก รวมถึงไทย เข้าโหมดขาขึ้นชัดเจน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image