จับสัญญาณการเมือง ‘บิ๊กตู่’ปรับ-ไม่ปรับครม.

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยบรรดาพรรคการเมืองต่างเคลื่อนไหวลงพื้นที่เตรียมพร้อมรับการเลือกตั้งและเรียกร้องให้ปรับคณะรัฐมนตรีทดแทนตำแหน่งว่างตามโควต้านั้น

 

วีระ หวังสัจจะโชค
อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์ มหา วิทยาลัยนเรศวร

ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เราต้องนับอายุรัฐบาลซึ่งเหลืออีกประมาณแค่ 6 เดือน หรือ 180 วัน หากนับแบบครบวาระ

Advertisement

เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะมาเป็น ครม.ในตอนนี้คือมาเป็นในช่วงการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาลในการเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งใหม่

แต่สาระสำคัญคือการปรับ ครม.ในตอนนี้คือการปรับเพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง โดยเป็นการใช้ตำแหน่งรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีช่วยเพื่อจัดแถวและใช้ชุดนโยบายต่างๆ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง

ฉะนั้น ปัญหาจึงเกิดขึ้นตรงที่การกลับมาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เข้ามาอยู่ใน ครม.และไม่ได้ทำให้ ครม.มีเสถียรภาพมากขึ้น

Advertisement

แต่กลับกัน การกลับมาของ พล.อ.ประยุทธ์ยิ่งทำให้เกิดปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาลมากขึ้น ทั้งในเชิงปัญหาในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ด้วยกันเอง และปัญหาต่อพรรคร่วมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กับพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ตอนนี้ ปชป.มีโควต้าอยู่ในส่วนของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะกระทรวงมหาดไทยคือการคุมอำนาจในการปกครองของประเทศ และโควต้าตรงนี้ ปชป.ต้องการอย่างมาก มันคือตัวชี้เป็นชี้ตายในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้เช่นเดียวกัน

อีกพรรคคือโควต้าของพรรค ภท.ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยสองพรรคนี้มีปัญหาคือถ้า พล.อ.ประยุทธ์จะปรับ ครม.และให้โควต้าเหมือนเดิมจะส่งผลเสียต่อการเลือกตั้งในครั้งหน้า เพราะในการปรับ ครม.ต้องมองไปถึงการเลือกตั้ง แต่ในการเลือกตั้ง พรรค ภท.กับพรรค ปชป. เป็นพรรคคู่แข่งกัน

เพราะฉะนั้น ในการปรับเก้าอี้ ครม.ต้องคิดว่าหากปรับจะเหมือนการให้อำนาจกับคู่แข่งหรือไม่ รวมไปถึงอีกสองเก้าอี้ที่ยังว่างอยู่ของพรรค พปชร.
คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ตรงนี้ก็จะมีปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะภายในพรรค พปชร.เองนั้น การกลับมาของ พล.อ.ประยุทธ์ยิ่งทำให้พรรค พปชร.แตกหรือมีปัญหามากขึ้น

นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรค พปชร. ออกมาเสนอว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจจำเป็นจะต้องเสนอชื่อแคนดิเดต นายกฯของ พปชร.มากกว่าหนึ่งชื่อ เนื่องจากอายุการใช้งานของ พล.อ.ประยุทธ์นั้น เอาจริงๆ ถ้าผ่านการเลือกตั้งครั้งหน้าก็เหลืออีกแค่ 1-2 ปีเท่านั้น ซึ่งนำไปหาเสียงไม่ได้และประชาชนจะรู้สึกว่าถ้าเลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯก็จะอยู่ได้แค่อีก 2 ปี คนก็จะไม่มั่นใจ พรรค พปชร.จึงพยายามจะเสนอชื่อคนอื่นเข้ามาอีก ซึ่งปัญหาความแตกแยกใน พปชร.เองจะยิ่งร้าวลึกมาจนถึงการปรับ ครม. เพราะฉะนั้นในการปรับ ครม.ตอนนี้ทั้ง 4 ตำแหน่งค่อนข้างต้องมองไปที่การเลือกตั้ง และการกลับมาของ พล.อ.ประยุทธ์ จะยิ่งทำให้ประเด็นการปรับ ครม.เป็นปัญหายิ่งกว่าเดิม

ส่วนเก้าอี้ ครม.ของพรรค พปชร.นั้นหากจะปรับจริงๆ จะคล้ายกับกระทรวงศึกษาธิการคือเอาคนอื่นขึ้นมาเลย ไม่เอาคู่ขัดแย้งขึ้นมา เพราะหากมีคู่ขัดแย้งในการแย่งตำแหน่ง หรือว่ายิ่งเป็นตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตำแหน่งนี้ต้องไปดูเรื่องสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากๆ เรื่องที่ดินเกษตรเพราะส่งต่อไปถึงหลายเรื่องที่เป็นเรื่องผลประโยชน์ การจะปรับตรงนี้จำเป็นจะต้องปรับเพื่อลดความขัดแย้งภายในพรรค ถ้าปรับ ครม.แล้วมาสร้างความขัดแย้งภายในพรรคผมก็เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็น่าจะยังดึงเวลาตรงนี้ออกไปก่อน

สุดท้ายอยากทิ้งท้ายถึงผู้ที่คุมกติกาในการเลือกตั้งซึ่งตอนนี้ต้องการความชัดเจนว่าแต่ละพรรคการเมืองควรจะหาเสียงอย่างไร เพราะมีความได้เปรียบเสียเปรียบแน่ๆ

พรรคฝ่ายรัฐบาลหาเสียงได้เพราะเป็นฝ่ายบริหาร แต่พรรคอื่นๆ ที่อยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติหาเสียงไม่ได้ เพราะถูกนับว่าเป็น ส.ส. มันมีความได้เปรียบเสียเปรียบตรงนี้อยู่

อยากให้มีกติกาที่ชัดเจนรวมไปถึงกติกาอื่นๆ ที่ยังค้างอยู่ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Primary Election ซึ่งตรงนี้กฎหมายยังไม่ได้แก้ไข แต่พรรคการเมืองเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ลงแข่งขันกันหมดแล้วทั้งๆ ที่ตามกฎหมายปัจจุบันจริงๆ ต้องทำไพรมารีก่อน

นี่ก็จะเป็นปัญหาในเชิงกติกาในการ เตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งที่เราจะต้องมีปัญหาตรงนี้อีกมากจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เสร็จ

 

เศวต เวียนทอง
อาจารย์สาขารัฐศาสตร์การปกครอง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร.) วิทยาเขตล้านนา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ต้องตัดสินใจว่าควรปรับ ครม.หรือไม่ เนื่องจากเหลือเวลาดำรงตำแหน่งเพียง 4-5 เดือนเท่านั้น ถ้าปรับ ครม.แล้วประชาชนจะได้อะไร หาก พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจปรับ ครม.ตามโควต้าของพรรคการเมือง ต้องพิจารณาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์มาช่วยทำงานและช่วยเหลือประชาชน ไม่ใช่สรรหาบุคคลเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยขน์ของพรรคการเมืองเท่านั้น เนื่องจากส่งผลต่อภาพลักษณ์รัฐบาล ความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชน และนานาชาติ

จากตำแหน่งรัฐมนตรีที่ว่าง 4 ตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น ทุกตำแหน่งมีความสำคัญ ซึ่งทุกพรรคต้องการปรับ ครม.ในตำแหน่งเดิม เพื่อสานงานต่อ และใช้ตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าว นำนโยบายและโครงการพัฒนาลงพื้นที่ เพื่อหวังผลหาเสียงการเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า เพื่อช่วงชิงเก้าอี้ ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ด้วย

อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับ ครม. เชื่อว่าไม่มีผลต่อประชาชนมากนัก เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์อาจตัดสินใจยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ หลังการประชุมผู้นำ เอเปคช่วงพฤศจิกายนนี้ ดังนั้นทุกพรรคการเมืองได้ขยับเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.และลงพื้นที่หาเสียงกันแล้ว

โดยเฉพาะ ปชป. ได้ประกาศให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ หัวหน้า ปชป. เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วน ภท.ได้ชูนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้า ภท. เป็นผู้นำรัฐบาล เช่นเดียวกัน

ส่วนพรรคเพื่อไทย (พท.) ยังไม่ได้ชูใครเป็นแคนดิเดตนายกฯคนใหม่ ต้องรอดูว่าใครเป็นผู้ชูธง พท.สู้ศึกเลือกตั้งดังกล่าว ส่วน พปชร.
อาจชู พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้า พปชร. หรือ พล.ต.อ.พัชวาท วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ.ประวิตร เป็นแคนดิเดตนายกฯ เพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้า สู้กับ พท.ที่เป็นแกนนำฝ่ายค้านด้วย

ภาพรวมการปรับ ครม.จะเกิดขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ตัดสินใจ หากไม่ปรับ ครม. เป็นไปได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ส่งสัญญาณเตรียมยุบสภา หลังการประชุมผู้นำเอเปค เพื่อเลือกตั้งใหม่ แต่ยังเป็นรัฐบาลรักษาการที่ควบคุมอำนาจและบริหารประเทศได้อยู่

ดังนั้น แนวโน้มเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า พรรคที่มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล คือ ภท.กับ พท.และ พปชร. ตามลำดับ โดยมีภาคอีสานเป็นพื้นที่ตัดสิน เนื่องจากมีจำนวน ส.ส.เขตมากที่สุด หากพรรคใดครองพื้นที่ภาคอีสานได้ เชื่อว่ามีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้าได้

ทั้งนี้ ประชาชน หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะเป็นผู้ให้คำตอบดังกล่าว

 

จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ
นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เป็นตามที่คาดการณ์เอาไว้ ว่าอาจจะมีการปรับ ครม.ส่วนจะเป็นช่วงเวลา ไหนอย่างไร คิดว่าคนที่ตัดสินใจในเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือ นายกรัฐมนตรีแต่ทั้งนี้เริ่มมีเสียงจากพรรคร่วมว่าอยากให้มีการปรับ ครม. โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าดูตำแหน่งที่ว่าง คือ พลังประชารัฐ 2 ตำแหน่ง ภูมิใจไทย 1 ตำแหน่ง และประชาธิปัตย์ 1 ตำแหน่ง เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลส่งสัญญาณว่าจะปรับ นายกรัฐมนตรีก็ต้องใช้ดุลพินิจว่าจะเป็นการปรับเนื่องจากการบริหารบ้านเมืองไม่ดีพอ หรือต้องการที่จะปรับเพราะมีเหตุผลทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

หากนายกฯบอกว่ายังบริหารบ้านเมืองต่อได้ ยังไม่ปรับ ครม. ก็เป็นการพิจารณาจากการบริหารบ้านเมืองเป็นหลัก แต่หากมีเหตุผลในทางการเมือง แล้วจะปรับ ครม. แต่ผลลัพธ์จะต่างกัน เพราะ 4 ตำแหน่งนั้นเป็นตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยทั้งหมด ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ตำแหน่งนั้นอาจจะไม่มีผลกับการเลือกตั้งในครั้งหน้า ส่วนโควต้าของภูมิใจไทยมี 1 ตำแหน่ง คือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ไม่มีผลกับการเลือกตั้งมากนัก แต่โควต้าของประชาธิปัตย์ 1 ตำแหน่งนั้นเป็นตำแหน่ง รมช.มหาดไทย มีผลทางการเมืองแน่นอน ปชป.จึงเสนอข่าวอยากจะมีการปรับ ครม.ในโควต้า ของ ปชป.

หากมีการปรับ ครม.กระแสการปรับ หรือคลื่นใต้น้ำ ของแต่ละพรรคก็ไม่เหมือนกัน ถ้าปรับ ครม.ที่ว่าง ในส่วนของ พปชร.หัวหน้าพรรค อาจจะปรับเพื่อไม่ให้กลุ่มก๊วนบางกลุ่มหนีจาก พปชร.หรือปรับเพื่อเอาใจ หรือให้รางวัลก่อนครบวาระ จุดประสงค์ของ พปชร.เพื่อให้กลุ่มก๊วนที่มีปัญหาได้อยู่ต่อใน พปชร. ส่วนพรรคภูมิใจไทย ถ้ามีการปรับ ครม.จะเป็นการปรับเพื่อให้กลุ่มทุนบางกลุ่มให้ได้รับในตำแหน่งนี้ ซึ่งไม่น่าจะมีแรงกระเพื่อมอะไรมาก

แต่ ปชป.ค่อนข้างอ่อนไหว เพราะ ปชป.ส่วนใหญ่ฐานอำนาจกลุ่มต่างๆ นั้น ต่างคนต่างใหญ่ ก็อยากให้กลุ่มของตัวเองได้รับตำแหน่ง รมช.มหาดไทยในครั้งนี้

ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงควรใช้ดุลพินิจว่า หากจะมีการปรับ ครม.นั้นเป็นการปรับเพื่ออะไร เพราะมีปัญหาในการทำงาน ซึ่งมองว่าตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย ที่ว่าง ทั้ง 4 ตำแหน่งนั้นไม่ได้มีผลต่อการทำงาน เพราะแต่ละกระทรวงก็มีรัฐมนตรีว่าการ รวมถึงมีข้าราชการทำงานได้อยู่แล้ว หรือเพราะต้องการผลลัพธ์ในทางการเมือง

โดยมองว่า หากปรับ ครม. สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับแต่ละพรรคไม่เหมือนกัน และเมื่อมีการปรับแล้ว ก็อาจจะมีแรงกระเพื่อมในพรรคตัวเอง ที่แตกต่างกัน มองว่า ใน ปชป.น่าจะมีแรงกระเพื่อมค่อนข้างเยอะ ส่วนแรงกระเพื่อมน้อยที่สุดก็น่าจะเป็นภูมิใจไทย

อย่างไรก็ตาม กระแสของการเดินทางไปตรวจราชการในจังหวัดขอนแก่น ที่เจอม็อบจำนวนมากขึ้น หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยวาระ 8 ปีนั้น มองว่า หลังจากมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว นายกรัฐมนตรีมีการปรับเปลี่ยนบุคลิกในการทำงานมากขึ้น เข้าถึงง่ายขึ้น โดยทีมลงพื้นที่ก็น่าจะเปลี่ยนไปพอสมควร การเจอม็อบจึงมองว่าขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ที่เดินทางไปมากกว่า เพราะกลุ่มคนที่ชอบก็ยังคงชื่นชอบ ส่วนคนที่ไม่ชอบก็ยังไม่ชอบเหมือนเดิม

แต่ที่เปลี่ยนไปก็อาจจะเป็นกลุ่มคนที่เฉยๆ ที่อาจจะเอียงไปข้างที่ไม่ชอบแทน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image