ส่อง‘พปชร.’แพแตก ‘3ป.’แก้เกมอำนาจ

ส่อง‘พปชร.’แพแตก ‘3ป.’แก้เกมอำนาจ

หมายเหตุนักวิชาการวิเคราะห์กระแสข่าวที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) พร้อม ส.ส.บางส่วน และกลุ่มสามมิตรของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กำลังจะย้ายมาอยู่กับพรรคเพื่อไทย (พท.) และ ส.ส.บางส่วนจะย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นๆ

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

Advertisement

ส.ส.พปชร.ประเมินว่า พล.อ.ประยุทธ์ หมดความนิยมในฐานคะแนนทางการเมืองไปแล้ว มีแต่ ส.ว.บางส่วนเท่านั้นที่ให้การสนับสนุน รวมทั้งกลุ่มของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ให้การสนับสนุนแต่ก็จำนวนน้อยมาก จึงไม่แปลกเมื่อไม่แสดงจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน รวมทั้ง พล.อ.ประวิตรเกรงใจน้องก็ไม่อยากสื่อสารทางการเมืองกับน้อง ทำให้บรรดานักเลือกตั้งรู้ดีว่ากำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งจำเป็นจะต้องหาพื้นที่ ที่ทำให้ตัวเองปลอดภัยที่สุด

นักเลือกตั้งจำนวนหนึ่งมีฐานคะแนนเสียงตัวเองในพื้นที่ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปเป็นส่วนหนึ่งของ พปชร. เพราะเป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ เป็นนั่งร้านอำนาจเพื่อสืบทอดอำนาจ และก่อนหน้านี้ได้เกิดวิกฤตศรัทธาจากประชาชน แต่ก็ยังดื้อดึงจะไปต่อจึงไม่แปลกที่จะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้

หากมองกลุ่ม 3 ป. ช่วงนี้ คนที่โดดเด่นที่สุดคือ พล.อ.ประวิตร แต่ไม่เห็นความเคลื่อนไหวเพราะอาจจะสงวนท่าทีไว้ก่อน เพราะเป้าหมายคือ การทำงานใหญ่ที่จะต้องประคับประคองในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้า เพราะยังมีขุมกำลังสำคัญคือ ส.ว. รวมทั้งพรรคการเมืองอื่นๆ ที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้า ถ้าไม่สามารถผลักดันให้ พปชร.รวมกับพรรคการเมืองอื่นในการจัดตั้งรัฐบาลได้คะแนน 250 เสียงก็จะต้องกลับมาพึ่งพา ส.ว. ที่อยู่ในดุลอำนาจของ พล.อ.ประวิตร

Advertisement

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์มีเพียงกองเชียร์เล็กๆ น้อยๆที่เป็นกลุ่มคนชั้นกลางในเมือง กลุ่มชนชั้นกลางในภาคใต้ ส่วน ส.ส.มองว่ามีจำนวนน้อยมาก ที่จะให้การสนับสนุนเพราะคะแนนนิยมที่ผ่านมาไม่ดี ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ไม่แสดงท่าทีทางการเมืองที่ชัดเจนเพียงประคับประคองอำนาจทางการเมือง

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส ยุบ ศท.กลับไปอยู่ พท. เพื่อสร้างโอกาสอนาคตทางการเมืองจัดตั้งรัฐบาล หรือ พล.อ.ประวิตร ส่ง ร.อ.ธรรมนัส เป็นทูตทางการเมืองในการเชื่อมประสานระหว่าง พท.และเชื่อว่าคงไม่แลนด์สไลด์ได้ ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้าเกิน 250 เสียง หากได้ไม่เกินก็ต้องพึ่ง ส.ว. หรือไม่ก็ต้องร่วมกับ ภท.เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. หากดูแล้วเป็นเพียงการประเมินเท่านั้น คงต้องดูบทบาทของพล.อ.ประวิตร ส่งสัญญาณผ่าน ร.อ.ธรรมนัส เพราะหาก ร.อ.ธรรมนัสไปอยู่ พท.แล้ว อาจจะเสียรังวัดส่วนหนึ่งในฐานคะแนนเสียงของกลุ่มคนชนชั้นกลางหรือคนรุ่นใหม่ แต่ลึกๆ แล้ว พท.ไม่ซีเรียสเพราะถือว่าฐานคะแนนที่แท้จริงมาจากต่างจังหวัด ยอมถูกวิพากษ์วิจารณ์หากประเมินแล้วได้มากกว่าเสีย

บทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ช่วงนี้หากจะช่วยในเรื่องอนาคตทางการเมือง จะต้องประกาศจุดยืนทางการเมืองให้ชัดเจน จะเอาอย่างไรกับการเมือง ถ้าตัวเองไปไม่ไหว ควรจะกำหนดบทบาทให้ชัดเจน จะอยู่แค่ไหนและประกาศพร้อมจะยุติบทบาทก็จะสร้างผลดีทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง การรัฐประหารก็จะหมดความชอบธรรม ขบวนการและกลไกต่างๆ ของประชาธิปไตยก็จะเดินไปตามระบบ แต่ถ้าไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจน และยังมีแนวโน้มจะไปต่อภายใต้ความอึมครึมแบบนี้ คิดว่าจะไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศและการเมืองยังอึมครึมไปอีกด้วย

กลุ่มสามมิตรที่มีข่าวว่าอาจจะย้ายไป พท. เมื่อประเมินแล้วหาก พปชร.ทำแบบนี้ มองแล้วพรรคไม่มีอนาคต คิดว่ากลุ่มสามมิตรคิดถูกที่จะย้ายไปอยู่พรรคการเมืองอื่น คนที่มีต้นทุน มีฐานคะแนน ไม่เฉพาะกลุ่มสามมิตร รวมทั้งนายสุชาติตันเจริญ และอีกหลายคนที่ตัดสินใจจะลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ คิดว่าเป็นแนวความคิดที่ถูกต้อง เพราะทุกคนคงไม่อยากกระโดดน้ำตายไปกับ พล.อ.ประยุทธ์ในเวลานี้

ทุกคนกำลังหนีตายจากพรรคนั่งร้านที่ไร้อนาคต พล.อ.ประยุทธ์คือจุดอ่อนของการเมืองไทยในขณะนี้หากยังอยู่แบบนี้ทุกคนก็พร้อมจะตีจาก หรือหนีออกจาก พปชร. ถึงแม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปอยู่ พท. ซึ่งเป็นคนละข้าง คนละพวก แต่ทุกคนพร้อมที่จะหนีตายถึงแม้ว่าประชาชนจะก่นด่าก็ตาม การตัดสินใจของบรรดา ส.ส.ของ พปชร.ไปอยู่พรรคอื่นๆ ก็เพื่อจะเอาตัวรอดเท่านั้นเอง

การเลือกตั้งครั้งหน้าอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะไม่ไปต่อ การเลือกตั้งก็จะเป็นไปตามระบบและกลไกของมันเอง แต่ถ้าตัวเองต้องการไปต่อ และไม่สามารถเดินตามวิถีประชาธิปไตยได้ ในฐานะที่ พล.อ.ประยุทธ์มีเครือข่ายและน้องๆ ในกองทัพ ซึ่งต้องการทดแทนบุญคุณ3 ป. อาจจะมีรัฐประหารก็ได้ เพราะการเมืองไทยเอาแน่นอนไม่ได้

แต่หากต้องการรักษาอำนาจ เมื่อสู้ไม่ได้ในวิถีประชาธิปไตยก็ต้องสู้นอกวิถีประชาธิปไตย ก็คือใช้กลไกยื้อการเลือกตั้งโดยไม่ให้กฎหมายผ่าน ท้ายที่สุดนำไปสู่การรัฐประหาร

ธเนศวร์ เจริญเมือง
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เป็นผลมาจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจ เมื่อปี 2557 หรือ 8 ปีที่ผ่านมา ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้นำการยึดอำนาจขณะนั้น ต้องจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อเป็นฐานอำนาจนิยมของการทำรัฐประหาร จึงเกิด พปชร.ที่เป็นพรรคเฉพาะกิจ ไม่ได้พัฒนาเป็นสถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง และเป็นที่พึ่งประชาชนได้ เพราะเป็นการรวมกลุ่มอดีตรัฐมนตรี และ ส.ส.หลายพรรคการเมืองเข้ามาสังกัด โดยไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน แต่เป็นการรวมพรรคเพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ ขณะเดียวกันเป็นการเพิ่มการต่อรองให้กับพรรคเล็กเพื่อแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ให้พวกพ้องเท่านั้น

“ห้วง 8 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และผู้นำพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ได้ทำตามนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน โดยเฉพาะการปฏิรูประบบราชการและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าได้ ประกอบกับปรากฏการณ์นับเลข 8 ไม่เป็นที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อ ทำให้ประชาชนเบื่อหน่าย เสื่อมศรัทธา และไม่ไว้วางใจรัฐบาลมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า ทำให้แกนนำ พปชร. และ ส.ส.พรรค เกิดความหวาดกลัวอาจสอบตก ส.ส.ครั้งหน้าได้ จึงหาพรรคใหม่เกาะ เพื่อชุบตัวลงสมัคร ส.ส. สมัยหน้า ที่สำคัญเกิดรอยร้าวระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ในการวางตัวให้ใครเป็นแคนนิเดตนายกฯคนต่อไป ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งภายใน ขาดสามัคคี ไม่เป็นเอกภาพจึงนำไปสู่พรรคแตก หรือล่มสลายไปในที่สุด”

จากสถานการณ์ดังกล่าว เชื่อว่า 3 ป. คือ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่เป็นแกนนำ พปชร.ไม่สามารถแก้เกมทางการเมืองได้ เพราะสถานะรัฐบาลได้นับถอยหลัง หรือใกล้หมดเวลาบริหารประเทศแล้ว ดังนั้นอยากให้ 3 ป.ยอมรับความจริงว่าประชาชนไม่เอาแล้ว ควรใช้โอกาสดังกล่าว เพื่อเปลี่ยนผ่านการเมืองอย่างสันติวิธีดีกว่า นำไปสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ที่ผู้นำประเทศมาจากประชาชนส่วนใหญ่ ที่สำคัญ 3 ป.ต้องมีความกล้าหาญว่าได้ทำดีที่สุดแล้วเช่นกัน พร้อมให้โอกาสพรรคอื่นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้าด้วย

กรณี ร.อ.ธรรมนัส จะยุบ ศท. ก่อนไปร่วมกับ พท. เลือกตั้งสมัยหน้านั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกและไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการยุบพรรค เพื่อไปรวมกับพรรคอื่น เพราะการเมืองไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร ต้องมองตามความเป็นจริงว่าหาก ร.อ.ธรรมนัส ย้ายกลับรังเก่า โอกาสที่ พท.จะชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย หรือแลนด์สไลด์ โดยตั้งเป้าได้ ส.ส.เกิน 250 คน จาก 500 คน เพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้ามีความเป็นไปได้สูง ที่สำคัญเพื่อคานอำนาจ ส.ว. 250 คน ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล ในการเสนอชื่อผู้นำพรรคฝ่ายค้าน หรือ พท. เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

อ่าน

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ลาออกจากหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) แสดงว่านำพรรค ศท.ไปไม่ถึงฝั่ง คงหาทางขยับขยายไปอยู่พรรคใหญ่ หรือพรรคกลางอื่นๆ รู้สึกว่ากำลังเจรจากับพรรคเพื่อไทย ส่วนสาเหตุที่ลาออกเพราะว่าเรื่องยุบพรรค เอาพรรค ศท.ไปรวมกับพรรคเพื่อไทย (พท.) ไม่ได้ รวมถึงอาจมีเรื่องการต่อรองที่ไม่ลงตัว เพราะว่าท่าทีของ พท.ไม่อ้าแขนรับ ร.อ.ธรรมนัสมีความเชื่อ มีราคาในเรื่องการคุมเสียงของภาคเหนือ หรือคุมเสียงในบางจังหวัดในภาคอีสาน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่คิดว่ามีคุณค่าทางการเมืองตรงนั้น และตรงนี้เองก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ พท.กระอักกระอ่วน เพราะบางพื้นที่วางตัวผู้สมัครไว้แล้ว

ผมว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แต่เป็นความขัดแย้งที่ว่าจะให้พรรคไปอย่างไร ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แต่ละข้างก็มีฝ่ายสนับสนุนของตัวเอง จึงเกิดภาวะโคลนไม่รู้จะเดินอย่างไร เพราะ พล.อ.ประวิตรลูกน้องก็ดันสุดฤทธิ์ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่มีท่าทีว่าจะถอย ตอนนี้ยังคงมีเวลาก็คงจะแสดงพลังของแต่ละฝ่ายอยู่

พปชร.ยังไม่ตกลงกันให้เรียบร้อย ความเป็นพระเอกก็ลดวูบลง จะสังเกตเห็นได้ว่าตอนนี้ฟากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ดูจะมีหลักมากกว่าพรรคอื่น ในฝ่ายที่ไม่เอา พท. หรือฝ่ายที่โดน พท.ไม่เอา จึงอาจขยับมาที่ ภท.ก่อน เมื่อไหร่ที่ พปชร.ตกลงกันได้ หมายความว่าอาจจะเป็นแม่เหล็กดึงกันได้เหมือนกันเพราะยังมีพลังของ 3 ป.อยู่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image