ดราม่าร้อน‘เดี่ยว 13’ วิจารณ์ รบ.‘บิ๊กตู่’
หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการต่อ “โน้ส-อุดม แต้พานิช” ศิลปินคอมเมเดียนบนเวทีโชว์เดี่ยวไมโครโฟน 13 วิจารณ์การบริหารงานรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กลายเป็นปมดราม่าร้อนในโลกออนไลน์ มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
หากมอง โน้ส-อุดม แต้พานิช ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านเดี่ยวไมโครโฟน ก็ได้มีการทำมาอย่างต่อเนื่อง ทำกับทุกรัฐบาล แต่ที่กระแสแรงเพราะสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่สามารถคลี่คลายความขัดแย้งทั้ง 2 ขั้วการเมืองได้ หากมองตั้งแต่หลังรัฐประหาร ได้ขยายความรุนแรงมากขึ้นของทั้ง 2 กลุ่มไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่มีบทบาททางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือในแวดวงบันเทิง ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองออกไปทางใดทางหนึ่งก็จะถูกเหมารวม อาทิ คุณโน้ส ที่ถูกเหมารวมว่าเป็นอีกข้างหนึ่ง ทั้งที่เคยถูกเหมารวมว่าเป็นข้างฝ่ายอนุรักษนิยม
นี่คือสิ่งที่สังคมไทยกำลังวิกฤต ที่ชนชั้นนำ นักการเมือง หรือคนในสังคมไม่ฉุกคิด หมายความว่าใครที่คิดต่างถือว่าเป็นศัตรู ด้วยความคิดที่ว่าเราดีกว่า จึงสร้างความขัดแย้งได้ เห็นได้จากกรณีที่กล่าวมา
สำหรับเดี่ยวไมโครโฟน 13 คงไม่ส่งผลกระทบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในการรักษาอำนาจ หรือสืบทอดอำนาจ เพราะแต่ละคนมีฐานของตัวเอง งานเดี่ยว 13 เป็นเพียงสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่ตอกย้ำให้เห็นว่า รอยร้าวของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และรัฐบาลก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รอยร้าวมันลงลึก
หากย้อนไปในอดีตมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่เป็นเรื่องที่สนุกสนาน อาจจะมีข่าวนิดหน่อยแต่ตอนนี้ไม่ใช่ เพราะเหมือนมันร้าวลึก แสดงว่ารัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ส่วนรัฐบาลจะไปต่อหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของกลไก กลยุทธ์ เครือข่ายทางการเมืองมากกว่า
กรณีที่บางคนรับไม่ได้และต้องการแจ้งความดำเนินคดี ต้องไปพิสูจน์ทางศาล แต่หากมองแล้วจะพบว่า คุณโน้สทำมาอย่างต่อเนื่อง หากไปแจ้งความถือว่าไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น ทำให้ความขัดแย้งร้าวลงไปลึกๆ จากความขัดแย้งในแนวดิ่งซึ่งเป็นของชนชั้นนำ กลายเป็นแนวราบคือประชาชนทั่วไป ความขัดแย้งจริงๆ เป็นผู้ที่เลือกข้างทางการเมือง แต่จะทำให้ขยายไปสู่ประชาชน ถือว่าอันตรายมากๆ หากยังมีการเคลื่อนไหวกันอย่างนี้
กรณีนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลมองว่าคุณโน้สทำไม่ถูกที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ผมมองว่าเป็นการฉวยโอกาสทางการเมืองของรัฐบาลในภาวะตกต่ำ ทั้งที่ไม่ควรทำ เพราะผู้นำรัฐบาลเป็นบุคคลสาธารณะที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน การที่คุณโน้สแสดงและสะท้อนมาก็เป็นกระทำอย่างหนึ่งในฐานะประชาชนผ่านเวทีของเขา โดยหลักรัฐบาลต้องรับฟังและนำไปปรับปรุงแก้ไข แต่ไม่ทำอย่างนั้น มีการแสดงท่าทีฉวยโอกาสสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองในกลุ่ม หรือมวลชนของตัวเอง สังเกตได้จากคะแนนของลุงตู่ดีขึ้นทันที หลังจากเดี่ยว 13 ออกมา ทั้งที่ก่อนหน้านี้อยากให้ลุงตู่กลับบ้าน รัฐบาลได้ฉวยโอกาสตีกระแส ใช้ไอโอ หรือปฏิบัติการข่าวสาร แม้กระทั่งให้คนไปดำเนินคดี เพื่อสร้างกระแสความนิยม ในช่วงที่รัฐบาลคะแนนนิยมถดถอย
ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น สังคมต้องตั้งสติ ไม่เช่นนั้นจะเกิดความขัดแย้งในแนวราบ เกิดความรุนแรงมากขึ้น ควรคิดว่าในเรื่องความเห็นต่างนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติของประชาธิปไตย แต่ความขัดแย้งแบบนี้ทำให้มองว่าใครเห็นต่างไปจากเรา กลายเป็นศัตรู และผลักให้คนเหล่านั้นเป็นศัตรูจริงๆ เช่น ตัดความสัมพันธ์ในความเป็นเพื่อน หรือกลุ่มเดียวกัน หรือตัดความสัมพันธ์ในกลุ่มไลน์ กระทั่งทุกวันนี้การรวมกลุ่มกันในสังคม หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ จะเขียนไว้เลยว่า ห้ามคุยเรื่องการเมือง ทั้งที่การเมืองควรเป็นประเด็นที่พูดได้ เพราะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ตอนนี้การเมืองเป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องจากเกิดความขัดแย้งร้าวลึก ที่นักการเมือง ข้าราชการ กลุ่มที่มีบทบาท ไม่เคยตระหนักในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
หากพูดถึงระบอบประชาธิปไตยเชื่อว่าสังคมเข้าใจแต่ในเรื่องรูปแบบ แต่ไม่เข้าใจในเชิงเนื้อหา สาระที่ถูกต้อง คิดแต่ว่าทำอย่างไรก็ได้ จะเข้าสู่กระบวนการของอำนาจ เมื่อได้อำนาจแล้ว ก็บอกว่าเป็นอำนาจทางชอบธรรม อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย จึงคิดว่าหลายคนเข้าใจแต่รูปแบบ แต่ไม่รู้ในเรื่องสาระสำคัญของประชาธิปไตย ซึ่งสาระประชาธิปไตยจะคิดไปถึงชีวิตพื้นฐานเศรษฐกิจ และสังคมที่แก้ไขไม่ได้ ทุกวันนี้ติดแต่ในเรื่องรูปแบบเท่านั้น ส่วนคำกล่าวที่ว่าฟังเสียงข้างมาก ไม่ละเลยเสียงข้างน้อย ยอมรับว่าไม่มีในระบบการเมืองไทย เนื่องจากมีแต่ในเรื่องผลประโยชน์ ที่จะให้กฎหมายผ่าน การอภิปรายไม่ไว้วางใจผ่าน หรือล้มกฎหมายที่เป็นอุปสรรคทางการเมือง รวมทั้งล้มกฎหมายที่มีผลกระทบต่อกลุ่มทุนธุรกิจ แต่นักการเมืองไม่เคยออกกฎหมายเพื่อคนทั้งประเทศจริงๆ
ยอมรับว่าประชาชนคนไทยเรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยน้อยมาก แม้ว่าประเทศจะปกครองแบบประชาธิปไตยก็ตาม จึงมีความคิดว่าเลือกตั้งต้องมีผู้แทน และผู้แทนจะมาดูแลพวกเรา แต่ในทางกลับกันเมื่อผู้แทนได้อำนาจ ก็กลับมาขี่หัวประชาชนอีก ทั้งที่ประชาชนเลือกเข้าไปแล้ว และจะต้องเป็นนายพวกเขาตลอดเวลา ความผิดอยู่ที่ประชาชนรู้จักแต่คำว่าประชาธิปไตย แต่ไม่รู้ในเรื่องของเนื้อหา โดยมีผลมาจากระบบการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับประถม มัธยมศึกษา ไม่ได้ให้ความสำคัญ ประกอบกับระบบการศึกษาของประเทศไทยเป็นไปด้วยอำนาจนิยม และการทุจริตคอร์รัปชั่น เห็นได้ชัดจากเหตุการณ์มหาวิทยาลัยบูรพาเป็นตัวอย่าง มีการสร้างอาณาจักรของตัวเองและใช้การฉ้อฉลเป็นฐานของอำนาจ และกำจัดคนเห็นต่าง สถาบันการศึกษากลางเป็นแหล่งบ่มเพาะอาชญากร อาชญากรรมเสียเอง
ค่านิยมของรัฐบาลในขณะนี้มองว่า เป็นการเชื่อตัวเองแบบอนุรักษนิยม และเชื่อว่าสิ่งที่ทำมาถูกต้องแล้ว และมีเสียงสนับสนุน เพราะฉะนั้นรัฐบาลมีความชอบธรรมที่จะไปต่อ ส่วนฝ่ายเสรีนิยมมองว่า รัฐบาลไม่เท่าทันกับยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และมีประสิทธิภาพในการทำงาน และต้องตอบสนองประชาชนได้มากกว่านี้แต่รัฐบาลคิดแบบค่อยเป็นค่อยไป ช้าๆ แล้วจะเห็นเอง ต้องใช้คนมีประสบการณ์มีบารมี มีคอนเน็กชั่น ซึ่งเห็นได้จากการบริหารรัฐบาลที่ผ่านมา และคุณโน้สจึงได้แสดงผ่านเดี่ยวไมโครโฟน 13 ซึ่งได้พูดความจริง
หากรัฐบาลใจกว้าง และมองอย่างไม่มีอคติ เมื่อผิดก็ต้องแก้ไข อะไรที่ถูกก็เดินต่อไป เป็นการเรียนรู้ในระบอบประชาธิปไตย หากวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ สังคมก็จะมืดบอด
ทัศนัย เศรษฐเสรี
อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กรณีการแสดงเดี่ยวไมโครโฟน 13 ทำให้ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลเกิดความไม่พอใจ ศิลปินที่นำเสนอศิลปะทุกแขนงไม่ว่าวิจิตรศิลป์ ทัศนศิลป์ การแสดง สามารถวิพากษ์วิจารณ์การเมือง หรือรัฐบาลได้ เพื่อสะท้อนความจริง พร้อมให้แง่คิดและแง่มุม ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไม่ใช่เพียงแต่ความสุขและเสียงหัวเราะเท่านั้น การแสดงเดี่ยว 13 เป็นเรื่องปกติมากไม่น่ามีคำถาม หรือตอบโต้การแสดงดังกล่าว แต่แปลกใจ ทำไมฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลยอมรับไม่ได้เพราะคนที่ไปชมการแสดงดังกล่าวกลับยอมรับ และหัวเราะกับโชคชะตาที่สะท้อนผ่านการแสดง และวรรณกรรมเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเตือนสติคนในสังคมให้คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้
การที่กองเชียร์รัฐบาลไม่พอใจ อ้างว่าเป็นการดูถูกเสียดสี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถือเป็นการอ่อนไหวทางสังคมที่ไม่ได้ใช้วิจารณญาณที่เป็นเหตุผล แต่เป็นการใช้ความรู้สึก อารมณ์เป็นเครื่องชี้วัดหรือตัวตนตัดสินมากกว่า ถือเป็นโศกนาฏกรรมตัวตลก ที่สะท้อนมุมมองความเป็นจริงในสังคม พร้อมเตือนสติชนชั้นสูง หรือผู้มีอำนาจให้รับฟังเสียงประชาชน หากคนพูดถูกลงโทษ ทำร้าย ประหารชีวิต เป็นเรื่องเลวร้ายมาก และได้ทำลายผู้สร้างสรรค์ งานศิลปดังกล่าว
ตามประวัติศาสตร์ งานศิลปทุกแขนงถือเป็นข้อยกเว้นในการวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองทั่วโลกตามระบอบประชาธิปไตย ยกเว้นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ หรืออำนาจนิยม ที่ไม่สามารถสะท้อนความคิดเห็นผ่านงานศิลปะได้
การแสดงเดี่ยว 13 เป็นการสะท้อนความคิดเห็นทางการเมืองได้มากกว่าศิลปะแขนงอื่น สามารถพูดหรือสื่อสารกับผู้ชมได้โดยตรง ไม่ต้องตีความ หรือแปลความหมาย เป็นศิลปะที่เข้าถึงสาธารณชนได้อย่างกว้างขวาง ดังนั้น บทบาทของนักแสดงไม่เพียงให้ความสุขและเสียงหัวเราะ ต้องแฝงด้วยแง่คิด ปรัชญา เหตุผลเพื่อเข้าใจตัวเองและรับรู้บริบทสังคม นำไปสู่สังคมน่าอยู่และความเป็นมนุษย์มากขึ้น ไม่ใช่ความผิด ถ้ามีการฟ้องร้อง สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไร้สติ ไม่มีเหตุผล นำไปสู่สังคมที่แก่งแย่งแต่ผลประโยชน์ในอนาคตมากกว่า ดังนั้นผู้นำประเทศ หรือรัฐบาล ที่เป็นบุคคลสาธารณะ ต้องรับฟังเสียงประชาชน นำไปปรับปรุงแก้ไข ไม่ใช่เอาหูทวนลม ต้องเป็นคนที่หนักแน่น มีเหตุผลกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หรือคำติชมต่างๆ
ขณะเดียวกันอาชีพศิลปินต้องกล้าสะท้อนหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีผู้สนับสนุน หรือแฟนคลับ เพราะประชาชนที่ยอมรับ มีเหตุผล เป็นประชาธิปไตย เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนแทน ดังนั้นไม่จำเป็นต้องพึ่งกลุ่มที่สนับสนุนเผด็จการหรือสลิ่มที่ไม่ฟังเสียงใคร การแสดงเดี่ยว 13 เชื่อว่าส่งผลกระทบต่อรัฐบาล ทำให้กระแสความนิยมลดลง เพราะเป็นการแสดงและสะท้อนความจริงที่ตรงใจประชาชนมากที่สุด
ที่สำคัญส่งผลกระทบต่อการหาเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล ในการเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า เพราะเข้าสู่โหมดขาลงไม่ใช่ขาขึ้น ถ้าพูดตรงๆ คือหมดยุคไดโนเสาร์ ถ้าไม่โกง หรือทำลายพรรคอื่น เชื่อว่ากลับมาเป็นรัฐบาลสมัยหน้าได้ยาก เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ สิ้นศรัทธา และต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ ที่ตอบโจทย์ได้มากกว่า
ปิยณัฐ สร้อยคำ
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
มองว่าเดี่ยว 13 เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนความคิดและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชนได้เป็นอย่างดี เป็นเหตุการณ์ที่ย้ำว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวและอยู่ในทุกพื้นที่ของการสนทนา รัฐบาลและพรรคการเมืองทั้งหลายจึงควรวางยุทธศาสตร์ทางการเมืองของตนเองให้ดี และพร้อมรับมือต่อกระแสสังคมที่พลิกผันอยู่ตลอดเวลา
ทอล์กโชว์เดี่ยว 13 ถือเป็นศิลปะการแสดงอย่างหนึ่ง ผ่านการเรียงร้อยคำพูดเพื่อสื่อสารกับผู้ฟัง จากการถักทอประเด็นร่วมสมัย นับเป็นการแสดงในพื้นที่ปิดที่ผู้เข้าชมต้องชำระเงินเพื่อเข้าชมทั้งในรอบจริงและรอบการฉายทางสื่อออนไลน์ จึงเป็นโชว์ที่ผู้บริโภคได้ประเมินความคุ้มค่าก่อนที่จะตัดสินใจซื้อการเข้าชมดังกล่าว ในส่วนของเนื้อหานั้น มองว่ารัฐธรรมนูญมิได้ปิดกั้นการแสดงออกทางความคิดและให้เสรีภาพในการสะท้อนทรรศนะ แต่ทั้งนี้ผู้นำเสนอต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแสดงออกดังกล่าว เชื่อว่าเดี่ยว 13 คงทำหน้าที่อย่างบริบูรณ์ในการเป็นกระจกสะท้อนความคิดและความเห็นของผู้คนที่รวบรวมโดยโน้ส-อุดมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคงเป็นหน้าที่ของผู้ชมที่จะตีความจากการแสดงดังกล่าว
หากมองในมุมของผู้ชม ปรากฏการณ์เดี่ยว 13คือความบันเทิงที่รวมเอามุขบนโต๊ะกินข้าวของหลายบ้านๆ หรือบทสนทนาที่โรงอาหารของหลายๆ กลุ่ม มาเล่าในที่สาธารณะ หากรัฐบาลจะเอาประเด็นดังกล่าวมาขบคิดและถือเป็นประเด็นความมั่นคงทางการเมือง คงจะเป็นการอ่อนไหวจนเกินไป หรือแม้กระทั่งการที่กลุ่มกองเชียร์รัฐบาลจะนำเอาประเด็นดังกล่าวมาโจมตี เป็นเรื่องที่เสียมากกว่าได้ หากเป็นรัฐบาล มองว่าจะใช้โอกาสที่เกิดขึ้นวิเคราะห์ทรรศนะ ความรู้สึก และความหวังของประชาชน เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือในศึกเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ เดี่ยว 13 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลหรือสะเทือนการหาเสียงเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เพราะการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชนดังกล่าวมีองค์ประกอบหลากหลายและอาศัยประสบการณ์ทางการเมืองที่เกี่ยวข้องมาประกอบ แม้การเมืองจะอยู่ในทุกมิติของการใช้ชีวิต แต่การเปิดพื้นที่ให้ความขบขันผ่านการแสดงศิลปะมีความจำเป็นในการลดความตึงเครียดของการเมืองของประเทศเช่นกัน