หอการค้าโอดพิษท่วม ร้องรัฐจัดงบกู้ซากจม

หอการค้าโอดพิษท่วม
ร้องรัฐจัดงบกู้ซากจม

หมายเหตุ“มติชน” สำรวจความเห็นภาคธุรกิจถึงผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในหลายภูมิภาคที่สร้างความเสียหายและการเสียโอกาสทางการค้า ลงทุน ด้านการท่องเที่ยว รวมถึงข้อเสนอไปยังรัฐบาลในการช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบดังกล่าว


สนั่น อังอุบลกุล
ประธานกรรมการหอการค้าไทย
และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

จากปัญหาอุทกภัยปีนี้ ที่เกิดขึ้นทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก โดยเฉพาะภาคกลางซึ่งสถานการณ์น้ำยังคงต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดเนื่องจากเป็นพื้นที่ปลายน้ำและเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และหอการค้าไทย มีการประเมินผลกระทบในเบื้องต้นคาดว่าน่าจะสร้างความเสียหายประมาณ 1.5-2 หมื่นล้านบาท กระทบต่อจีดีพี 0.15% สำหรับภาคการผลิตและอุตสาหกรรม ยังคงมีความมั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับน้ำท่วมครั้งนี้ได้ เนื่องจากมีการเตรียมแผนรับมือซึ่งในหลายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมีบทเรียนและแผนเผชิญเหตุจากน้ำท่วมปี’54 ซึ่งคาดว่าจะไม่กระทบในส่วนนี้มากนัก แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือผลกระทบจากการขนส่งและการเดินทางที่ไม่สะดวกในหลายจังหวัดที่มีน้ำท่วม เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศอย่างต่อเนื่อง และบางวันมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ 8-9 หมื่นคน ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยกลุ่ม FIT (Free Independent Travelers หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวด้วยตัวเอง) ยังไม่พบสัญญาณการยกเลิกการเดินทาง เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมยังคงจำกัดอยู่ในพื้นที่ภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก ทำให้เป็นไปได้ว่าปีนี้น่าจะเห็นตัวเลขตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ที่ 10 ล้านคนอย่างแน่นอน

Advertisement

ด้านตลาดไทยเที่ยวไทยอาจมีการชะลอตัวลงบ้างจากความกังวลเรื่องสถานการณ์น้ำ แต่โดยภาพรวมยังเชื่อว่าในไตรมาส 4 สถานการณ์การท่องเที่ยวจะกลับมาเติบโตเพราะเป็นไฮซีซั่น และเชื่อว่าปัญหาน้ำท่วมน่าจะคลี่คลายลงในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้

สำหรับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ต่อความช่วยเหลือเยียวยา ที่รัฐออกมา 2-3 หมื่นล้านบาทในช่วงที่เหลือของปี 2565 ซึ่งเป็นงบกลางเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม ตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น จริงๆ แล้วตัวเลขงบก็ใกล้เคียงกับตัวเลขที่หอการค้าฯได้ประเมินความเสียหายไว้ราว 1.5-2 หมื่นล้านบาท และเป็นการเตรียมงบประมาณไว้เบื้องต้น ซึ่งหากภายหลังมีการประเมินความเสียหายที่มากกว่าที่คาดไว้เชื่อว่ารัฐบาลคงต้องจัดสรรงบช่วยเหลือเพิ่มเติมมาอีกครั้ง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือรัฐบาลจะต้องกำหนดหน่วยงานเจ้าภาพ ตลอดจนหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดสรรงบประมาณที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือเยียวยาได้รวดเร็วและตรงจุด ไม่ให้เกิดความล่าช้าเหมือนหลายกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต

ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจที่เหลือ 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ หากมองเฉพาะเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้หลายปัจจัยส่งสัญญาณที่ดีขึ้นอย่างเป็นระยะ แม้ความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มชะลอตัวลง และปัญหาน้ำท่วมในประเทศตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนจนถึงปัจจุบันจะเป็นปัจจัยลบที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม หอการค้าฯยังเชื่อว่าจีดีพีปีนี้จะยังสามารถเติบโตได้ถึง 3-3.5% แม้ว่าในปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มสูงในการชะลอตัวลง แต่ก็ยังมีความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะสามารถเติบโตได้ ซึ่งตัวแปรสำคัญคือ ความชัดเจนของการเมืองภายในของจีน ที่ “สี จิ้นผิง” ผู้นำของจีนสามารถดำรงตำแหน่งในวาระ 3 ได้ต่อไป ก็เชื่อว่าจะกลับมาทบทวนมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโควิดโดยเฉพาะนโยบาย “ซีโร่ โควิด” และการผ่อนคลายให้มีการเข้าออกประเทศของประชาชนจีนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการแก้ไขปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ก็จะทำให้เศรษฐกิจจีนกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ประมาณ 4-5% จากการคาดการณ์เดิมที่ 2% ในปีนี้เท่านั้น สิ่งนี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของจีน เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยก็จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของจีนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะทยอยเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

Advertisement

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ภาคเอกชนจับตามองหลังจากนี้คือประเด็นเรื่องการเลือกตั้ง ซึ่งอยู่ในโรดแมป ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศ เพราะเสถียรภาพด้านการเมืองก็มีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นทั้งในด้านการค้า การลงทุนจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม หอการค้าฯมีความเชื่อมั่นว่า การเดินหน้าเศรษฐกิจประเทศจำเป็นต้องอาศัยภาคเอกชนเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลไหนมาบริหารประเทศหลังจากนี้ก็คงจะต้องร่วมมือกับภาคเอกชนในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในทิศทางเดียวกันเพื่อช่วยกันฟื้นฟูและสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งต่อไป

ชัชวาล วงศ์จร
ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์
(นครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, สุรินทร์)

สถานการณ์หนักในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเขตเศรษฐกิจในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ 4 จังหวัดในเขตนครชัยบุรินทร์ ซึ่งได้รับผลกระทบหนักที่สุดอยู่ที่ จ.ชัยภูมิ เนื่องจากเขตตัวอำเภอเมืองที่เป็นเขตเศรษฐกิจหลัก ถูกน้ำท่วมทั้งหมด ปีนี้ถือว่าน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ 10 ปี เลยทีเดียว ทำให้เศรษฐกิจของ จ.ชัยภูมิ หยุดชะงักลงไปนานกว่า 1 สัปดาห์ โชคดีที่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ มีมาตรการรับมือไว้ล่วงหน้าแล้ว จึงไม่ได้รับความเสียหายมากนัก ขณะที่ จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ จะถูกน้ำท่วมเขตเศรษฐกิจเพียงบางส่วน ส่วนใหญ่ที่ได้รับความเสียหายจะเป็นพื้นที่การเกษตร เช่นที่ จ.นครราชสีมา มีพื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายไปมากถึง 285,399 ไร่

ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากมีการเตรียมความพร้อมรับมือไว้ล่วงหน้าแล้ว อย่างไรก็ตาม โรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ ก็ได้รับผลกระทบทางอ้อมเช่นกัน จากกรณีพื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายจำนวนมาก โดยเฉพาะมันสำปะหลัง อ้อย และข้าว ทำให้ไม่มีวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นจะได้รับผลกระทบจากถนนถูกน้ำท่วม ไม่สามารถทำการขนส่งวัตถุดิบจากพื้นที่การเกษตรมาที่โรงงานได้ ส่วนในระยะยาว ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจำนวนมาก ทำให้เกิดความขาดแคลนวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงงานอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงถือว่าเรื่องนี้ทำให้เกิดความเสียหายกับภาคอุตสาหกรรมมหาศาล ตอนนี้ยังคงต้องรอการประเมินหลังจากผ่านพ้นช่วงฤดูฝนไปแล้ว

ถ้าสถานการณ์น้ำท่วมยังเป็นเช่นนี้ทุกปี จะทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเสียโอกาสไปเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ 4 กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ซึ่งมีทั้งโรงงานอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับผลผลิตทางการเกษตร จะหยุดชะงักทุกช่วงฤดูฝนทุกปี เรื่องนี้ต้องแก้ปัญหากันในภาพรวมของลุ่มน้ำต่างๆ อย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกันภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในเขตเศรษฐกิจ เช่น ตัวเมืองนครราชสีมา มีการสร้างหมู่บ้านจัดสรรขึ้นใหม่จำนวนมาก รองรับการเติบโตของเมืองจากโครงการถนนมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และถนนวงแหวนรอบนอก ทำให้มีการก่อสร้างขวางทางน้ำ เปลี่ยนทางน้ำไปท่วมพื้นที่ที่ไม่เคยท่วมมาก่อน ซึ่งเรื่องนี้คงจะต้องมีการหารือร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อวางแผนในการวางท่อระบายน้ำใหม่ทั่วทั้งเมือง อันจะเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง หรือน้ำรอระบายอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป

มงคล จุลทัศน์
ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี

ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2565 ของจังหวัดอุบลราชธานี ถ้ามองในภาคเศรษฐกิจเปรียบเทียบความเสียหายที่เคยเกิดขึ้นในปี 2562 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ใน จ.อุบลฯ สร้างความเสียหายประมาณ 5,862 ล้านบาท ตอนนั้นน้ำท่วมขังอยู่ประมาณ 30 วัน แต่ปีนี้คาดการณ์ว่าน้ำจะท่วมขังอย่างน้อย 45 วัน โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมส่วนใหญ่เป็นภาคเกษตรกรรม รองลงมาเป็นภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม ทำให้เสียโอกาสทางการค้า ความเสียหายอาจจะเกินกว่า 10,000 ล้านบาท

จ.อุบลฯ คือศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคอีสานตอนล่าง การขนส่งสินค้าทุกชนิดแทบหยุดชะงัก รวมไปถึงการขนส่งสินค้าไปฝั่งลาวไม่สะดวกที่จะเดินทาง เพราะน้ำท่วมเหลือเส้นทางเดียวคือ เส้นวงแหวนตะวันออกที่ขณะนี้น้ำก็เริ่มปริ่มข้างทางแล้ว ขณะที่ในตัวเมืองอุบลฯก็มีสภาพเหมือนเป็นเกาะ

แนวทางการแก้ปัญหาอาจจะต้องสร้างสะพานยกระดับ และอีกหนึ่งโครงการที่ จ.อุบลฯ เคยนำเสนอไว้ คือแผนงานทำบายพาสน้ำไม่ให้ผ่าน จ.อุบลฯ ทำแม่น้ำอีกสายหนึ่งระยะทางประมาณ 97 กิโลเมตรลงสู่แม่น้ำโขงเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมตัวเมือง ซึ่งมีการศึกษาข้อมูลไว้แล้วงบประมาณทั้งสิ้น
ประมาณ 42,000 ล้านบาท หลังจากน้ำลดแล้วอยากให้หน่วยงานราชการเร่งเยียวยาให้เร็วที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image