‘ยุบสภา’ไพ่เด็ด ในมือ ‘บิ๊กตู่’

‘ยุบสภา’-ไพ่เด็ด ในมือ‘บิ๊กตู่’ หมายเหตุ - เป็นความเห็นนักวิชาการ

‘ยุบสภา’ ไพ่เด็ด ในมือ ‘บิ๊กตู่’

หมายเหตุเป็นความเห็นนักวิชาการถึงกระแสข่าวยุบสภา

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Advertisement

กรณีกระแสการยุบสภาเชื่อว่าก็มีความเป็นไปได้โดยต้องพิจารณาจากท่าทีทางฝ่ายรัฐบาลมากกว่า เพราะเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งตามประเพณีปฏิบัติในระบอบประชาธิปไตยของต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศอังกฤษจะไม่ยุบสภาง่ายๆ เชนที่ผ่านมาจะเห็นว่าแม้เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีมา 2-3 คนแล้ว ก็ยังไม่ยอมยุบสภา

ดังนั้น สิ่งที่น่าจะดูให้ชัดเจนที่สุดคือท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือท่าทีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นอย่างไร ส่วนตัวเห็นว่าทางรัฐบาลคงทำทุกวิถีทางเพื่อที่ให้ได้เปรียบมากที่สุดจากนั้นจึงยุบสภา หากยังไม่ได้เปรียบก็ยังจะไม่ยุบสภา เพื่ออยู่ไปจนครบเทอม อาจคิดว่าไม่เดือดร้อนอะไร และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเองหรือ ส.ส.ส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะยุบสภาแต่ละครั้งนั้นเดือดร้อน เสียหาย ย่อยยับ ในอดีตที่ผ่านมามีการยุบสภากันบ่อยบรรดาพรรคการเมือง ส.ส.ทั้งหลาย หลายคนหมดเนื้อหมดตัวเป็นหนี้สินเพราะฉะนั้นในความรู้สึกส่วนตัวว่ายังคงเป็นไปไม่ได้

อีกอย่างคือ เรื่องการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ยังต้องรอให้จบก่อน ก็จะถึงเดือนธันวาคมแล้ว และเหลืออีกแค่ 2-3 เดือนเท่านั้น ในเดือนมีนาคมก็ครบเทอมของสภาและรัฐบาล ฉะนั้นหากไม่มีเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่จริงๆ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์เอง ซึ่งคงไม่มีเรื่องอะไรที่จะโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ได้ใหญ่ขนาดนั้น จึงไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะต้องยุบสภา ดังนั้น คิดว่าเรื่องนี้เป็นการสร้างกระแสกันขึ้นมา เท่าที่ดูแล้วกระแสของฝ่ายค้านอยากให้ยุบสภามากกว่า มีการเรียกร้องมาอย่างชัดเจน

Advertisement

ส่วนในกรณีหากมีการยุบสภาเกิดขึ้นจริง นายกฯควรเลือกช่วงเวลาไหนถึงจะเหมาะสม เรื่องนี้ระยะไหนก็ได้ที่ตัวเองคิดว่าเหมาะสมที่สุด อย่างน้อยที่สุดต้องผ่านเอเปคก่อน พอเอเปคออกมาเป็นที่ชื่นชมมากๆ คะแนนเขาต้องดีขึ้นแน่นอน จะยุบหลังเอเปคก็ได้

สำหรับความขัดแย้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทยจะกระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาลจากร่าง พ.ร.บ.กัญชานั้น ประเด็นนี้หากมีผลกระทบจะยิ่งไม่เกิดการยุบสภา ภูมิใจไทยคิดว่าอยู่ในฐานะที่ถือว่าลอยลำ มีแต่ได้กับได้ ไม่มีเสีย และในภาคอีสาน เขาก็เก็บคะแนนไปเรื่อยๆ และพรรคภูมิใจไทยก็คงมองว่าจะยุบสภาเมื่อไรก็ได้ เพราะนโยบายกัญชาถึงอย่างไรก็ถูกใจคนอยู่ส่วนหนึ่งและเป็นจำนวนค่อนข้างมากด้วยซ้ำไปเพราะฉะนั้นเชื่อว่าภูมิใจไทยค่อนข้างจะมั่นใจว่าถ้าเลือกตั้ง สบายมาก จึงพร้อมที่จะลงไปเจาะภาคใต้ซึ่งเป็นฐานของประชาธิปัตย์ จึงเกิดปัญหากรณีร่าง พ.ร.บ.กัญชาขึ้น และถ้ารัฐบาลมองว่าหากไม่เป็นประโยชน์กับรัฐบาล ก็ไม่ยุ่งด้วย แต่ถ้าผ่านจากเอเปคแล้วและเมื่อประเมินแล้วได้คะแนนชัดเจน ได้เปรียบแน่ๆ ก็คงยุบสภา

เพราะฉะนั้นเรื่องระหว่างประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยไม่ใช่ประเด็นของรัฐบาล

วีระ เลิศสมพร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

มองว่ากระแสการยุบสภาหลังการประชุมเอเปค 2022 มีความเป็นไปได้อยู่ เพราะถ้าหากยิ่งยืดเวลาออกไปคะแนนนิยมและความคลุมเครือของพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) เองอาจจะเป็นสิ่งที่ลดทอนพลังของพรรคลง เพราะฉะนั้นกระแสการยุบสภาก่อนจะหมดวาระจึงมีความเป็นไปได้และคิดว่าไม่น่าลากไปถึงเดือนมีนาคม 2566 อาจจะเป็นช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม เพราะถ้าหากลากไปถึเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคมนั้น ความคลุมเครือในเรื่องของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของ พปชร.ว่าจะส่งใครกันแน่ ยิ่งทำให้พลังของ พปชร.ยิ่งอ่อนลงเรื่อยๆ จึงคิดว่าถ้าจะมีการยุบสภาจะต้องยุบให้ไวในช่วงที่พรรคยังคงมีคะแนนความนิยมอยู่ รวมทั้ง พปชร.อาจจะมีการประกาศนโยบายอะไรออกมาเพิ่มเติมในช่วงหลังการประชุมเอเปคเพื่อเรียกคะแนนนิยมและตัดสินใจว่าถึงเวลาที่จะยุบสภาแล้ว ส่วนเรื่องความขัดแย้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในเรื่อง พ.ร.บ.กัญชาเสรี คิดว่าคงไม่ถึงขั้นกระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาล การที่ทั้งสองพรรคแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ออกมาเนื่องจากใกล้ถึงฤดูการเลือกตั้ง เป็นการจิกกัดกันไปพอสมควรในระดับหนึ่ง เราต่างก็รู้กันดีว่าแต่ละพรรคก็ต้องการที่จะได้รับคะแนนนิยม และคิดว่าทั้งสองพรรคเตรียมตัวที่จะรอรับสถานการณ์ในการยุบสภาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าท่าทีมีความชัดเจนตรงนัยยะทางการเมืองที่อยากจะแสดงอะไรออกมาก็แสดงตอนนี้เพราะไม่จำเป็นต้องเยื่อใยอะไรต่อกันแล้ว สิ่งใดที่ถือว่าเป็นจุดแข็งของพรรคตัวเองก็แสดงออกมาและสกัดจุดแข็งของพรรคอื่น

ในการเลือกตั้งนั้นพรรคที่เกิดใหม่น่าจะช่วงชิงพื้นที่ได้ค่อนข้างยาก เพราะแต่ละพื้นที่ก็มีเจ้าของพื้นที่กันอยู่แล้วและค่อนข้างมีการแข่งขันกันสูงมาก แต่สิ่งที่น่าจับตามากกว่าคือการไหลออกจากพรรค ซึ่งเริ่มจะเห็นปรากฏการณ์นี้มากขึ้นและยิ่งมีกระแสข่าวยุบสภาผมเชื่อว่าจะเป็นอัตราเร่งให้ ส.ส.ที่อยู่พรรคต่างๆ เริ่มคิดว่าเราจะอยู่พรรคไหน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าช่วงนี้น่าจะเห็นปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของ ส.ส.ที่อาจจะมีการย้ายพรรคมากขึ้น นี่เป็นตัวแปรปัจจัยหนึ่งที่จะบอกถึงความเป็นไปได้ว่าพรรคไหนที่จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ในมุมมองของผมนี่เป็นการกำหนดเกมการเมืองของพรรคแต่ละพรรคอย่างที่เราเห็นกันอยู่

แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือเป็นข่าวที่รู้สึกว่ามีความหวังมากขึ้น คือการที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ผ่านว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต่อไปก็จะเหลือด่านของการประชุมของ ส.ว.ซึ่งหวังว่าจะเห็นว่าสิ่งนี้จะเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่งของประเทศไทย ให้เกิดจุดเริ่มต้นก่อนหลังจากนั้นจึงค่อยมาร่วมกันคิดว่ากระบวนการที่จะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะเป็นอย่างไร ผมคิดว่านี่เป็นข่าวดีข่าวหนึ่งที่น่าติดตามกันต่อไป

ทัศนัย เศรษฐเสรี
อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โ อกาสการยุบสภาที่เป็นไปได้คือ หลังประชุมเอเปคที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี อยากประกาศถึงความสำเร็จเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นานาชาติ ส่วนตัว ไม่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะยุบสภาเร็ว อาจเสียชื่อและเสียหน้า เพราะถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องให้ต่างชาติใช้เงินทุน 40 ล้านบาท ซื้อที่ดินได้ 1 ไร่ว่า ขายชาติ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องยื้อให้รัฐบาลอยู่จนครบวาระ เพื่อรักษาฐานอำนาจและผลประโยชน์ของเครือข่ายให้นานที่สุด

สาเหตุที่ พล.อ.ประยุทธ์จำเป็นต้องอยู่ครบวาระเพื่อเป็นหลักประกันว่า จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้า และกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก โดยมีพรรคร่วมรัฐบาลสนับสนุนอยู่ ส่วนความขัดแย้งระหว่างพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เชื่อว่าเป็นการเล่นละครการเมือง หรือปาหี่ เพื่อชิงพื้นที่สื่อให้ประชาชนสนใจและติดตามมากกว่า ไม่ได้ส่งผลต่อการยุบสภาเร็วขึ้นอย่าใด เพราะทั้งสองพรรค ยังต้องการอยู่ในอำนาจและผลประโยชน์ เพื่อสะสมเสบียง หรือท่อน้ำเลี้ยงไว้ใช้เลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้าเช่นกัน ไม่มีใครอยากอยู่นอกวงจรเร็วนัก

ความขัดแย้งระหว่าง ภท. กับ ปชป. ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล เพราะการเมืองเป็นเรื่องที่เชื่อไม่ได้ ฉากหน้าอาจทะเลาะกัน แต่ฉากหลังจับมือแลกผลประโยชน์กันมากกว่า ส่วนพรรคการเมืองใหม่ ส่วนใหญ่มาจากอดีตรัฐมนตรี ส.ส.หน้าเดิมที่ล้างชุบตัวใหม่ ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ทั้งหมด การเลือกตั้งสมัยหน้า มีโอกาสได้ ส.ส.เขต และปาร์ตี้ลิสต์ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ นโยบายที่ตอบโจทย์ หรือโดนใจประชาชนมากน้อยแค่ไหน

สุดท้าย อยากให้พรรคการเมือง มีอุดมการณ์ หรืออุดมคติ ทำเพื่อประชาชนจริงๆ ไม่ใช่เสนอนโยบายแค่หาเสียง เมื่อประชาชนสนับสนุน ได้เป็นรัฐบาลแล้ว กลับไม่ทำ จึงเป็นวังวนการเมืองแบบเดิมๆ หรือน้ำเน่า ก้าวไม่พ้นสักที ทำให้ประเทศขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนได้ช้า ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิจิทัล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image