ส่องสถานการณ์การเมือง ‘บิ๊กตู่’เสียเปรียบ-แต่ไม่ยุบ

ส่องสถานการณ์การเมือง ‘บิ๊กตู่’เสียเปรียบ-แต่ไม่ยุบ หมายเหตุ - นักวิชาการมอง

ส่องสถานการณ์การเมือง ‘บิ๊กตู่’เสียเปรียบ-แต่ไม่ยุบ

 

หมายเหตุนักวิชาการมองสถานการณ์การเมืองภายหลัง ส.ส.แห่ลาออกย้ายสังกัดจะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง จนกลายเป็นตัวเร่งให้ยุบสภาเร็วขึ้นหากเป็นแบบนี้พรรคไหนจะได้เปรียบเสียเปรียบ

 

Advertisement

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

Advertisement

ประเด็นที่มี ส.ส.ย้ายพรรคและลาออก ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องแปลก การย้ายพรรคเปลี่ยนพรรคเป็นลักษณะเฉพาะของการเมืองไทย ในระบอบการเลือกตั้งของไทย คราวนี้ในเมื่อมีการแปลี่ยนพรรค ย้ายพรรค สำคัญตรงที่ว่า ส.ส.จะรู้ว่าเขาจำเป็นต้องเปลี่ยนพรรคเพราะอะไร อย่างเช่น ย้ายพรรคเพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบเลือกตั้ง เกิดมีบัตร 2 ใบขึ้นมา และไม่ใช่ 2 ใบธรรมดา แต่เป็น 2 ใบหารด้วย 100ซึ่งทุกคนรู้อยู่แล้วว่าพรรคเล็กจะตายหมด คนที่อยู่พรรคเล็ก แน่นอนว่าต้องดิ้นรนไปอยู่พรรคที่เขาจะสามารถลงเลือกตั้งแล้วได้เป็น ส.ส.ต่อไป เพราะฉะนั้นที่บอกว่าเสถียรภาพของรัฐบาลไม่มั่นคง ผมคิดว่าไม่ใช่ประเด็น

เฉพาะตอนนี้ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ออกไปเยอะ ไม่ได้หมายความว่าพรรค พปชร.จะเป็นพรรคที่จะได้เป็นรัฐบาล คราวต่อไปอาจจะเป็นพรรคอื่นก็ได้ ที่เป็นพรรคหลัก ขึ้นอยู่กับระบบการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นมาใหม่ ย้อนไปในยุคที่เริ่มมีระบบนี้ครั้งแรก ในสมัยรัฐธรรมนูญปี 2540 เพียงแต่ไม่มีระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบนี้ ฉะนั้น ผมคิดว่าน่าจะไปซ้ำรอยเดิมพรรคใหญ่จะได้เปรียบ แต่สู้กันตรงที่ว่าใครจะมีประชานิยม ที่ชนะใจประชาชนมากกว่ากัน ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็โหมโรงด้วยกระแสแลนด์สไลด์เพื่อที่จะดึงดูดคน ขึ้นอยู่กับว่าจะดึงดูดคนเพื่อให้ชนะใจคนไทยให้เหมือนพรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2543-2544 หรือไม่ถ้าหากประสบความสำเร็จตรงนี้ มีนโยบายที่ออกมาแล้วชนะใจคนส่วนใหญ่ พรรคเพื่อไทย (พท.) มีโอกาสชนะเลือกตั้งได้เกือบพรรคเดียวเหมือนสมัยพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ครั้งแรก เพราะฉะนั้น บรรดา ส.ส.ที่อยู่ในทุกพรรค แม้ไม่ใช่พรรคเล็ก เป็นพรรคกลาง ประเมินสถานะพรรคตัวเองว่าน่าจะสู้พรรคใหญ่ไม่ได้ พวกนี้ก็อาจจะต้องขอย้ายพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรค พปชร.เกิดขึ้นมาอย่างไรก็พอจะรู้อยู่แล้ว เขาไม่ได้มีความแข็งแกร่งในตัวของตัวเองอย่างแท้จริง

ส่วนเรื่องจำนวน ส.ส.จะเพียงพอหรือไม่นั้น ต้องดูว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าใครจะชนะ สมมุติว่าเป็นพรรค พท. เขาชนะได้จริงตามที่ชูว่าจะแลนด์สไลด์ ถ้าเขาชนะเลือกตั้งมี ส.ส.มาก ตั้งรัฐบาลได้ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ว่าจะมี ส.ส.เพียงพอหรือไม่ การที่ ส.ส.ไม่พอ หมายถึงระบบการเลือกตั้ง เลือกตั้งออกมาแล้วจะเป็นเบี้ยหัวแตก หมายความว่าแต่ละพรรคได้คนละไม่มาก และจะกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่ารัฐบาลรวมหลายพรรค ซึ่งเสถียรภาพไม่แข็งแรงแน่นอน แต่เนื่องจากระบบแบบนี้จะทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะเกิดเป็นเบี้ยหัวแตกอย่างที่ว่า ก็ไม่น่าเป็นไปได้ เพียงแต่ว่าอาจจะเปลี่ยนขั้วได้ ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้ง

ถ้าถึงขนาดไม่มีพรรคใด เช่น พรรค พท.ที่ชูแลนด์สไลด์ ไม่แลนด์สไลด์ แต่ปรากฏเขาได้เยอะ ทั้งเขตและบัญชีรายชื่อ 200 ที่นั่งขึ้นไป เขาอาจจะรวมกับพรรคอื่น กับพรรคขนาดกลาง อาจเป็นไปได้ว่าเขาจะรวมกับภูมิใจไทย สมมุติพลังประชารัฐได้ ส.ส.ไม่เยอะ เป็นพรรคขนาดกลาง ก็ต้องดูว่าพรรคไหนได้ ส.ส.มากที่สุด เขาก็ไปรวมกับพรรคนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคใหญ่ เช่น เพื่อไทยได้ 200 ขึ้นไป เขามีเสถียรภาพ แน่นอนพรรคอื่นก็ไม่กล้าแตกแถว โอกาสที่พรรคขนาดใหญ่จะชนะด้วย ส.ส.ที่เยอะนั้น มีมาก ฉะนั้นการรวมตัวกันอาจเป็นเรื่องคาดไม่ถึงเลยก็ได้ สมมุติเลือกตั้งมาแล้วได้ต่ำกว่า 30 หรือ 20 ที่นั่ง ไม่แน่อาจไปรวมกับเสียงข้างมาก ซึ่งอาจจะเป็นเพื่อไทย ในที่สุดพรรคพลังประชารัฐอาจจะไปขอรวมก็ได้ เพื่อที่จะตั้งรัฐบาล

ทางออกสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตอนนี้ ผมคิดว่าทางออกเขามีน้อยมาก แทบไม่มีเลย ขณะนี้รัฐบาลเกิดปัญหาที่มองเหมือนว่า เขาแตกแยกกันเอง ซึ่งถ้าเกิดเขาแตกแยกขึ้นมาจริงๆ ไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่เขาตั้งใหม่ขึ้นมา ตามข่าว พล.อ.ประยุทธ์จะไปอยู่ที่พรรคนี้แน่ๆ นั้น ถ้าเกิด พล.อ.ประยุทธ์พูดกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯไม่รู้เรื่องขึ้นมา พรรค พปชร.แตกกัน เวลาเลือกตั้งเขาจะแน่ใจได้อย่างไร ว่าพรรค รทสช.จะได้คะแนนเสียงข้างมาก ถ้าเกิดยุบสภาขึ้นมาก็ไม่มีหลักประกันว่าจะมีพรรคไหนให้เขากลับมาอีก เพราะฉะนั้น ความน่าเป็นห่วงอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์เองเพราะไม่ชัดเจนว่าในที่สุดแล้วพรรคที่ถือหางอยู่ มีพรรคไหนบ้างที่จะชนะเลือกตั้งถึงขั้นเป็นเสียงข้างมากในสภาและจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยเฉพาะการที่ พรรค พท.จ่อคออยู่อย่างนี้

จากสถานการณ์ตอนนี้ พรรคที่คิดว่าเขาจะได้เปรียบมากที่สุด คือพรรค พท.เพราะขณะนี้มี ส.ส.มากที่สุดในสภา และที่มองดูมีงูเห่าออกไปแล้วกลับเข้ามา มีมากกว่า เพราะฉะนั้นโอกาสที่เขาจะชนะได้เสียงข้างมาก 200 กว่าที่นั่งขึ้นไป แน่นอนเขาตั้งรัฐบาลเองได้แน่นอน ดังนั้น ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ท้าทาย และคุกคาม พล.อ.ประยุทธ์อย่างรุนแรงในขณะนี้

ส่วนเรื่องการยุบสภาเป็นอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าตราบใดที่เขาคิดว่าตัวเองอยู่ในฐานะได้เปรียบในการเลือกตั้ง เขาไม่ยุบ ยุบไปก็แพ้ยิ่งยุบตอนนี้พรรค พท.ยิ่งชอบใจ เพราะฉะนั้นในแง่กฎหมายเลือกตั้งที่ออกมาใหม่ แน่นอนที่สุด ฟันธงได้เลยว่า ทำให้พรรค พท.ได้เปรียบ ยิ่งยุบสภาเร็วเท่าไหร่ เพื่อไทยยิ่งได้เปรียบเท่านั้น ไม่ใช่เฉพาะพรรค พท. อาจจะไม่ได้ เพราะมีพรรค ก.ก.เป็นตัวแปรอยู่ เห็นว่าเป็นพรรคประชาธิปไตยเหมือนกันตอนเลือกตั้งเขาอาจจะสู้กัน ถ้าผลออกมาทั้ง 2 พรรคได้คะแนนมากที่สุด เขาก็ตั้งรัฐบาลได้สบาย

 

รศ.ตรีเนตร สาระพงษ์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

เ มื่อกติกาการเลือกตั้งชัดเจน ก็ไม่แปลกอะไรที่จะมีความชัดเจนจากเหล่า ส.ส.ต่างย้ายพรรคเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบทางการเมืองมากที่สุด เพราะนักการเมืองต้องนึกถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป

และคำถามว่าจะย้ายไปพรรคไหนดี คำตอบก็มีทั้งย้ายไปพรรคที่ชัด เพราะหากยังไม่ชัดเจนโดยเร็วต่อไปอาจอยู่ในสภาวะที่ขาลอยเพราะ ส.ส. หรือว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ที่มีเสียง หรือฐานเสียงจะหนีหายหมด

ทั้งนี้ การเมืองไทยอยู่ในช่วงที่มองเพียงแค่เลือกตั้งอย่างเดียวไม่ได้ เพราะกติกาการเลือกตั้งใหม่ที่ก่อให้เกิดความได้เปรียบแก่พรรคเพื่อไทย (พท.) ก็ดี หรือวาระของ 250 ส.ว. ที่เลือกนายกฯได้อีกเพียงครั้งเดียว แต่ในขณะที่ห้วงวาระของรัฐบาล 4 ปีนั้นจะต้องเลือกนายกฯ 2 ครั้ง ซึ่งการเลือกนายกฯครั้งหลังจะไม่มี 250 ส.ว. มาร่วมโหวตด้วย การสะสมขุมกำลังจำนวน ส.ส. หรือการสร้างความเป็นปึกแผ่นฝักฝ่ายไปให้ถึงวันครบ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้

เมื่อมองเข้าไปที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะพรรคการเมืองเนื้อหอมมี ส.ส.ย้ายไปสังกัดมากที่สุด เชื่อว่าเป็นสถานการณ์ ชิงการนำเปิดก่อน หรือชิงหรือจะดูดหรือด้วยวิธีอะไรก็แล้วแต่ เมื่อได้ตัวมาก่อน ก็รู้ตัวก่อน สื่อประชาสัมพันธ์ก่อนเพื่อปิดปาก จะประทับตราพรรคลงบนอกเสื้อ ยัดนโยบายพรรคใส่มือ ทำสื่อประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้แก่ประชาชนในพื้นที่

ในขณะที่หลายพรรคยังคงชุลมุน ไม่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์เองที่เลือดไหลไม่หยุด มีปัญหาภายใน อย่าว่าแต่การประกาศว่าใครจะลงสมัครพื้นที่ไหนอย่างไรเลย แค่หัวหน้าพรรคก็ไม่แน่ว่าจะเอาตัวรอดได้หรือเปล่า หรือแม้ ส.ส.กลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้รับความชัดเจนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่แสดงเจตจำนงว่าจะตาม พล.อ.ประยุทธ์ไป แต่เมื่อไปถึงกลับไม่พบความชัดเจน หรือบ้างก็ชัดเจนว่าไม่ได้ลง ส.ส. เพราะมีการวางตัวผู้สมัครไปแล้ว ก็ต้องหันหัวกลับ แต่พอกลับออกมาจากพรรครวมไทยสร้างชาติก็อาจออกมากันหลายคน เพราะตอนไปเขาไปกันเป็นกลุ่ม เป็นทีม

ส่วนคนจะย้ายไปพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เพิ่มหรือไม่นั้นดูแล้วจะยากเพราะด้วยบุคลิกที่ดูไม่เป็นมิตรกับนักการเมือง ภาพความหยิ่งทนง อ่อนน้อมถ่อมตนต่ำจนดูแข็งกระด้าง อีกทั้งไม่รู้จักชิงการนำ ไม่ยอมทำตัวเป็นหัวเรือใหญ่สักที สร้างภาพบุคคลผู้ไม่แปดเปื้อนกับนักการเมือง Cover ส.ส.ไม่ได้ ก็อย่าหวังจะ Govern ยิ่งนับวันก็ยิ่งทำให้เห็นว่า ส.ส.น้อยคนที่จะไปพรรค รทสช.

ประกอบกับช่วงนี้หลายพรรคการเมืองมีการประกาศตัวผู้สมัครชัดเจนแล้ว ส.ส.ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกให้ลงสมัคร ส.ส. ต้องหาพรรคสังกัด และหากจะถามว่าพรรค ภท. หรือพรรคที่เห็นว่าได้เปรียบว่าต้องรออะไรในเวลานี้ ก็เห็นว่าไม่มีอะไรต้องรอ และยิ่งพรรคต่างๆ ไม่มีความชัดเจน ในหลายๆ เรื่อง ก็ยิ่งได้เปรียบ

หากไม่ยุบสภาในช่วงเวลานี้ อาจมีกลวิธีต่างๆ ที่ทำให้กลไกรัฐสภาทำงานไม่ได้เพื่อกดดันให้ยุบสภาจากพรรคที่เห็นว่าตนได้เปรียบ เช่น สภาล่ม หรือมีการลาออกจาก ส.ส. จำนวนมากแต่ก็เชื่อว่าวิธีการเหล่านี้ เจ้าของอำนาจในการยุบสภาอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่สนใจการขาดประชุมของ ส.ส. เพราะที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้ชอบการประชุมสภาอยู่แล้ว เข้าไปก็ถูก ส.ส.ด่าฟรี และเหตุผลสำคัญคือ ยุบตอนนี้จะเสียเปรียบ

ในสถานการณ์ที่สับสนอลหม่านจากสิ่งเร้าและปัจจัยจากทั้งภายในและภายนอก พล.อ.ประยุทธ์เข้าตาจนในฐานะก้าวย่างที่เสียเปรียบเมื่อมองผ่านพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรค รทสช.อย่าว่าแต่ยุบตอนนี้เลย ทำให้ทุกอย่างชัด แล้วยุบสภาวันวินาทีสุดท้ายก็ยังเหนื่อย

 

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

 

ก ารที่ ส.ส.ย้ายพรรคในขณะนี้มองว่าทุกคนเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเข้าเงื่อนไข 90 วันรัฐบาลจะหมดวาระ หรือยุบสภาและทุกคนประเมินความได้เปรียบเสียเปรียบกับพรรคที่จะอยู่หรือพรรคที่จะไป โดยเฉพาะพรรคเฉพาะกิจ หรือพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่อยู่ในภาวะตกต่ำ และมีโอกาสล่มสลายสูง ทำให้นักการเมืองส่วนนี้ จะต้องหาพื้นที่สามารถจะรักษาชีวิต รักษาพื้นที่ รักษาอนาคตทางการเมืองของตัวเอง และ ส.ส.ที่ย้ายไปอาจจะไม่มีต้นทุนทางการเมืองมาก แต่จังหวะโอกาสที่ทำให้เขาเหล่านั้นได้มีบทบาท และมีชื่อเสียงในการเมืองที่ผ่านมา จึงตัดสินใจย้ายพรรค หากมองในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาล หลังจากการเลือกตั้งแล้วเชื่อว่า นักการเมืองที่โยกย้ายไป หากรอดเข้าสภาได้ หรือใครชนะการเลือกตั้งก็สามารถร่วมมือกันได้ คนแพ้ก็แพ้ไป หากเงื่อนไขแบบนี้ โอกาสจะเป็นรัฐบาลผสมสูง อำนาจการต่อรองอาจจะเปลี่ยนแปลงไป ถ้าดูจากการย้าย ส.ส.ไปพรรคภูมิใจไทย หลายคนมองว่าอาจจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าการที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลนั้นไม่ง่าย เพราะองคาพยพ หรือโครงสร้างทางการเมืองของไทย ยังมีอำนาจ ส.ว.อยู่ แต่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) อาจจะต้องยกระดับอิทธิพลของตัวเอง เพราะไม่ใช่ตัวแปร แต่อาจจะเป็นผู้กำหนดวาระทางการเมือง คืออยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล แต่ไม่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่มีบทบาทมากกว่าพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำ หากมองในเชิงหลักการอาจจะช่วยแก้วิกฤตปัญหาได้ เพราะที่ผ่านมาการเมืองไทยมีอยู่ 2 ข้าง ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ และก็วนกันอยู่อย่างเดิม

ช่วงนี้จะมี ส.ส.เตรียมย้ายพรรคการเมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะเข้าพรรค ภท. ผมมองว่ามีผลกระทบต่อสภา เพราะหากย้ายพรรคสถานะการเป็น ส.ส.จะหลุดหายไปด้วย มีผลอยู่ด้วยซึ่งนายกรัฐมนตรีจะต้องมีการประเมินในการยุบสภาด้วยเช่นกัน โดยขณะนี้สภาพความเป็นจริงทำให้การเมืองเกิดความระส่ำระสายอย่างปฏิเสธไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image