‘ชยธรรม์ พรหมศร’ โรดแมปพลิกโฉมโลจิสติกส์ มุ่ง 4 มิติ‘บก-ราง-น้ำ-อากาศ’

‘ชยธรรม์ พรหมศร’ โรดแมปพลิกโฉมโลจิสติกส์ มุ่ง 4 มิติ‘บก-ราง-น้ำ-อากาศ’

‘ชยธรรม์ พรหมศร’ โรดแมปพลิกโฉมโลจิสติกส์ มุ่ง 4 มิติ‘บก-ราง-น้ำ-อากาศ’

หมายเหตุนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์แผนพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งครบวงจร ทางบก-ราง-น้ำ-อากาศ ซึ่งจะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในวันที่ 21-22 ธันวาคมนี้

เดินหน้าคมนาคม4มิติ

ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มุ่งเน้นการดำเนินงานด้านการคมนาคมใน 4 มิติ ได้แก่ ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ โดยที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการแก้ไขและปรับปรุง เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายในการสัญจรของประชาชนมาโดยตลอด แต่ต้องยอมรับว่าบางเรื่องเป็นปัญหาซ้ำซากที่มีมาตั้งแต่อดีตแล้ว อาทิ เรื่องของการจราจรติดขัดในบางเส้นทาง อุบัติเหตุบนท้องถนน หรือบริเวณทางกั้นทางรถไฟ และจำนวนรถสาธารณะไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในบางช่วงเวลา ปัญหาเหล่านี้ ทางกระทรวงคมนาคมเดินหน้าแก้ไขมาโดยตลอด และเร่งรัดให้เกิดการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ โดยแบ่งเป็นเป้าหมายในเมือง คือการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในเมืองที่ส่วนใหญ่ใช้รถส่วนบุคคลในการเดินทาง ให้หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาด้านการจราจร และปัญหามลพิษอย่างเป็นรูปธรรม

Advertisement

เดินหน้าเป้าหมายรถไฟฟ้า27เส้นทาง

ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมมีเป้าหมายพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เป็น 14 สี 27 เส้นทาง 554 กม. ซึ่งตั้งเป้าเห็นเป็นรูปธรรมทั้งหมดในปี 2572 ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 11 เส้นทาง รวม 212 กม. และในช่วงต้นปี 2566 จะทยอยเปิดให้บริการรถไฟฟ้าในบางช่วงอีก 2 สี ได้แก่ สีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ซึ่งทั้ง 2 เส้นจะเปิดให้บริการพร้อมๆ กัน และสิ่งที่จะต้องเร่งพัฒนาตามมา คือ ระบบฟีดเดอร์ โดยมีแผนที่จะเปลี่ยนรถเมล์เป็นรถไฟฟ้า (อีวี) ให้ครบ 1,250 คัน ก่อนเทศกาลปีใหม่ 2566 และเปลี่ยนการให้บริการเป็นรูปแบบดอกไม้ เพื่อลดการวิ่งแบบไม่มีผู้ใช้บริการ ซึ่งสามารถทำได้ก็จะช่วยทำให้ประหยัดต้นทุน รวมถึงลดมลพิษทางอากาศที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.)

ส่วนเรื่องการเดินทางระหว่างเมือง สิ่งที่กระทรวงคมนาคมอยากเปลี่ยน คือ เดิมมีการขนส่งสินค้าทางถนนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีต้นทุนในการขนส่งอยู่ที่ 1.38 บาทต่อตัน-กิโลเมตร (กม.) ซึ่งทางกระทรวงคมนาคม จึงอยากผลักดันให้ภาคเอกชน หรือผู้ประกอบการขนส่งหันมาใช้การขนส่งทางราง ซึ่งมีต้นทุนในการขนส่งเพียง 0.71 บาทต่อตัน-กม. และการขนส่งทางน้ำ ที่มีต้นทุนการขนส่งอยู่ที่ 0.52 บาทต่อตัน-กม. เพื่อแก้ไขปัญหาหรือลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ช่วยลดต้นทุนการขนส่ง และเพิ่มความตรงต่อเวลาในการขนส่งสินค้าได้อีกด้วย

Advertisement

เร่งรัดไฮสปีดเทรน-รถไฟทางคู่

ส่วนอีกเรื่องที่อยู่ระหว่าการพัฒนาและเป็นที่สนใจของประชาชนเป็นอย่างมาก คือ การพัฒนาระบบฟีดเดอร์เพื่อการเดินทาง หรือระบบตั๋วร่วม ค่าโดยสารร่วม ที่ปัจจุบันเรื่อง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม อยู่ระหว่างรอที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนจะออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้อย่างป็นทางการ และการทำระบบ EMV (Europay, MasterCard และ Visa) หรือมาตรฐานของการชำระเงินที่มีความปลอดภัยและใช้งานร่วมกันได้ทั่วโลก เพื่อเปิดให้บริการประชาชนในการชำระค่าบริการด้วยบัตรใบเดียว โดยเบื้องต้นได้ร่วมกับ ขสมก. รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง ส่วนการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ขึ้นอยู่กับการเจรจา ส่วนเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแนวคิดโอนสิทธิในการบริหารให้เป็นของกระทรวงคมนาคมนั้น ขอย้ำว่าบทบาทของกระทรวงคมนาคม มีเพียงเรื่องเดียวไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ขอให้ดำเนินการอย่างถูกกฎหมาย

ส่วนเรื่องการพัฒนาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีแผนพัฒนาตัวสถานี และที่ดินโดยรอบสถานีกว่า 2,000 ไร่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นจุดเชื่อมรถไฟฟ้าความเร็วสูง (ไฮสปีด) ที่ทำรองรับเส้นทางรถไฟไฮสปีดสายแรก คือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่อยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการก่อสร้าง นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีแผนพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ ซึ่งโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ เส้นทางนครปฐม-หัวหิน เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และเส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร

นอกจากนี้ ในปี 2566 กระทรวงคมนาคมยังมีแผนในการปรับปรุงมอเตอร์เวย์ช่วงบางปะอิน อีกด้วยเนื่องจากหากในอนาคตมีการพัฒนาเส้นทางให้มีการเชื่อมต่อกันมากขึ้น จะทำให้เกิดการจราจรติดขัดในเส้นทางดังกล่าวได้ ฉะนั้น กระทรวงคมนาคมจึงต้องเร่งปรับปรุง นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะพัฒนาโครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ด้วย เนื่องจากในบริเวณดังกล่าวมีการจราจรติดขัด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขเช่นกัน

จัดเวิร์กช็อปใหญ่ 21-22 ธ.ค.

ขณะที่การเชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำระยะเร่งด่วน ระหว่างปี 2560-2570 จะเพิ่มจุดการเชื่อมต่อทางน้ำจากปัจจุบันมี 12 จุด เพิ่มอีก จำนวน 32 จุด รวมเป็น 44 จุด ในระยะกลาง ระหว่างปี 2571-2575 จะสร้างจุดเชื่อมต่อเพิ่มเติมอีก 1 จุด รวมเป็น 45 จุด และในระยะยาว ระหว่างปี 2576-2580 จะเพิ่มจุดเชื่อมต่ออีก 5 จุด รวมจุดเชื่อมต่อทั้งหมดเป็น 50 จุด ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นการเชื่อมต่อระหว่างการขนส่งสาธารณะทางน้ำและระบบรถไฟฟ้าอย่างไร้รอยต่อ นอกจากนี้ เรื่องการขนคนแล้วการขนส่งสินค้าปัจจุบันการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้มีการพัฒนาท่าเรือบก เพื่อเพิ่มความสะดวกในการขนถ่ายสินค้าทางเรือ มาสู่การขนส่งทางบกได้อย่างสะดวกมากขึ้นอีกด้วย ทั้งหมดล้วนเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บท MR-Map ทั้งสิ้น

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงไม่กี่โครงการที่กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาที่ผ่านมา โดยในวันที่ 21-22 ธันวาคมนี้ กระทรวงคมนาคม จะทำเวิร์กช็อปทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในครั้งนั้นจะมีการพูดถึงภาพรวมในปี 2565 ว่าสิ่งที่เราได้วางไว้ตามนโยบายรัฐมนตรีที่นำไปสู่การปฏิบัติ ว่ามีอะไรที่ทำแล้วยังไม่ได้ทำต่อใน 20 หน่วยที่เกี่ยวข้อง และเรื่องใดที่ต้องเดินต่อในปี 2566 งบประมาณที่ได้จากรัฐบาล ที่สำนักงบประมาณเป็นผู้กำกับดูแล และที่ดำเนินการด้วยเงินนอกงบประมาณ ทั้งการลงทุนในรูปแบบรัฐร่วมเอกชน (พีพีพี) และเงินกู้อื่นๆ ว่ายอดทั้งหมดในปี 2566 มีอะไรบ้าง มีกี่โครงการ เพื่อให้นโยบายนำไปสู่การปฏิบัติได้

รวมทั้งจะมีการพูดถึงภาพในปี 2567 ว่าจะนำงบประมาณไปใช้ในส่วนใดบ้าง เพราะช่วงนี้กำลังเข้าสู่ปฏิทินปีงบประมาณที่จะต้องเสนอรัฐบาลภายในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้ในวันดังกล่าวจะต้องมีการพูดคุยกัน ส่วนโครงการที่จะได้เห็นแน่ๆ ในปี 2566 คือ โครงการรถไฟฟ้าต้องเดินต่อเพราะเป็นในส่วนของมาสเตอร์แพลนโครงการรถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง เส้นกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ต้องเดินหน้าต่อเพราะสัญญาเดินหน้าไปแล้ว 13-14 สัญญา รวมถึงเรื่องโครงการมอเตอร์เวย์บางส่วนที่ยังค้างอยู่ ต้องดำเนินการให้จบ

เร่งลงทุนปี’66 วงเงินร่วม 9.69 หมื่นล.

ส่วนโครงการที่เหลือไม่ว่าจะเป็นทางบก ราง น้ำ และอากาศ ที่เผชิญปัญหาอยู่ต้องแก้ไข อาทิ ปัญหาเรื่องถนนของกรมทางหลวง (ทล.) และถนนของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ที่มีอุบัติเหตุซ้ำซาก หรือรถติดคอขวดต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ ทล. กับ ทช. ต้องเป็นผู้ไปดำเนินการ โดยเฉพาะปัญหาซ้ำซากที่เกิดจากอุทกภัย เช่น น้ำท่วม และดินโคลนถล่มสายทาง เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ และจะถูกบรรจุในสิ่งที่ต้องทำให้ปีงบประมาณ 2567 ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรี เพราะถ้าไม่ป้องกันให้เด็ดขาด ก็มีแต่จะต้องมาแก้ไขปัญหาย้อนหลัง และไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุโดยตรง

ขณะเดียวกันจะพัฒนาในส่วนของเมืองหลัก สิ่งที่จะได้เห็นในปี 2566 และต่อๆ ไปแน่นอน คือการผลักดันให้เกิดการใช้รถอีวี 1,250 คัน ในปีนี้ ส่วนระยะต่อไป ก็ต้องมีการเร่งพัฒนานำมาใช้ให้ครบทุกสายทาง หรือครอบคลุมทั้งเมืองต่อไป เช่นเดียวกับการพัฒนาระบบฟีดเดอร์ต่างๆ เป็นหน้าที่ของ ขบ. และ สนข. ที่ต้องไปบริหารจัดการให้เกิดความครอบคลุมมากขึ้น เพราะในปัจจุบันรวมถึงในปี 2566 จะมีรถไฟฟ้าดำเนินการทดสอบระบบแล้วเสร็จอีกหลายสาย ซึ่งเรื่องนี้ต้องเร่งดำเนินการ อีกทั้งการดำเนินการเหล่านี้จะถือเป็นแผนระยะยาวที่จะให้ผู้บริหารในยุคต่อไปดำเนินการเพื่อดึงให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้นได้อีกด้วย

สำหรับโครงการที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนา และจะจัดใช้งบประมาณในปี 2566 ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) มอเตอร์เวย์สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) ทางพิเศษ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (เอ็มโฟลว์) รวมไปถึงการพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า เชียงของ จังหวัดเชียงราย โครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จังหวัดนครพนม โครงการรถไฟฟ้า 4 สายทาง ได้แก่ สายสีชมพู สีเหลือง สีส้ม และสีม่วง โครงการทางคู่ ระยะที่ 1 รวม 5 สายทาง และรถไฟสายใหม่ 2 สายทาง โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และการจัดตั้งสายเดินเรือแห่งชาติ

ส่วนโครงการใหม่ที่จะเร่งรัดลงทุนในปี 2566 งบรวมประมาณ 9.67 หมื่นล้านบาท อาทิ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วนต่อขยายยกระดับอุตราภิมุข(ดอนเมืองโทลล์เวย์) หรือ M5 มอเตอร์เวย์สาย M9 วงแหวนตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง มอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ-มอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา (M7) ทางพิเศษ เมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้-ป่าตอง สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา-อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง สะพานไทย-ลาว แห่งที่ 5 และ 6 ทางด่วน กะทู้-ป่าตอง และรถไฟทางคู่ระยะที่ 2

นอกจากนี้ ยังมีโครงการแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง สะพานเชื่อมเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โครงการแลนด์บริจด์ชุมพร-ระนอง โครงการเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 เป็นต้น โดยปัจจุบันหลายโครงการใหม่มีสถานะอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image