ปัดฝุ่นกม.นิรโทษฯปี 2022 สู่ ‘สันติสุข’ หรือ ‘ระเบิดเวลา’ ?

กฎหมายนิรโทษกรรม ถือเป็นเรื่องที่คลาสสิกในประเทศไทยและไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายยุค หลายรัฐบาล มีการพูดแนวคิดนี้ขึ้นมาจะมากจะน้อยแล้วแต่จังหวะ แต่เมื่อคิดจะเดินเครื่องกฎหมายดังกล่าวก็กลายเป็นระเบิดเวลาให้ต้องคว่ำล้มลงไม่เป็นท่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัย ‘รบ.ปู’ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ลูกพรรคเพื่อไทย (พท.) คิดจะดัน ‘กม.นิรโทษกรรม’ ฉบับสุดซอย ทำให้เกิดการต่อต้านของสังคม จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของม็อบ จนเกิดเป็นเงื่อนไข และนำมาสู่การปฏิวัติรัฐประหารปี 2557 ในที่สุด!!!

ล่าสุด ‘หมอระวี’ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ (พธม.) ได้ยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. … เข้าสภา โดยเนื้อหามีสาระสำคัญ เช่น มาตรา 2 พ.ร.บ.นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองหรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองแต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองโดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุม การประท้วงหรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกายสุขภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองตามบัญชีแนบท้าย ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2565ไม่เป็นความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

Advertisement

เนื้อหาในร่างระบุว่า ทั้งนี้ การกระทำความผิดในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำความผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ-การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือเป็นการกระทำที่ส่งผลให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

มาตรา 4 เมื่อ พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 วรรคหนึ่งยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวนให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวนหรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้องหากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้องถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น

มาตรา 5 ในกรณีที่การกระทำผิดตามมาตรา 3 ก่อให้เกิดความเสียหายทางแพ่งแก่หน่วยงานของรัฐ ให้ความเสียหายทางแพ่งนั้นเป็นอันระงับไปกรณีตามวรรคแรก ถ้ามีการดำเนินคดีถึงที่สุดและมีการบังคับคดีไปแล้วเพียงใดก็ให้การบังคับคดีนั้นสิ้นสุดลงและให้คืนทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดแก่ผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมโดยเร็ว ถ้าอยู่ระหว่างการบังคับคดีก็ให้ยกเลิกการบังคับคดีนั้น

Advertisement

มาตรา 6 การนิรโทษกรรมตาม พ.ร.บ.นี้ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งจากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย

มาตรา 7 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.นี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแต่งตั้ง “คณะกรรมการกลั่นกรองคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม” มีจำนวนไม่เกิน 7 คน ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ มีหน้าที่

(1) รับเรื่องจากผู้ต้องหาคดีตามมาตรา 3 ที่ต้องการได้รับการนิรโทษกรรม
(2) พิจารณาว่าคดีที่ยื่นเข้ามาตามข้อ (1) คดีใดอยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับการนิรโทษกรรม
(3) แจ้งความคิดเห็นของกรรมการกลั่นกรองคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรมไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.นี้ คำชี้ขาดของคณะกรรมการกลั่นกรองคดีให้เป็นที่สุดและให้หน่วยงาน หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ปฏิบัติไปตามคำชี้ขาดโดยพลัน คณะกรรมการกลั่นกรองคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรมมีวาระ 10 เดือนนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง

มาตรา 8 หากผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมตาม พ.ร.บ.นี้กระทำความผิดซ้ำภายหลังจากได้รับนิรโทษกรรมตาม พ.ร.บ.นี้แล้ว ห้ามมิให้ศาลรอลงอาญาหรือรอการกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาสำหรับคดีที่กระทำความผิดภายหลังจากได้รับนิรโทษกรรมตาม พ.ร.บ.นี้แล้ว

มาตรา 9 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตาม พ.ร.บ.นี้

อย่างไรก็ตาม ‘นพ.ระวี’ ชี้แจงเหตุผลว่า ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ. สร้างเสริมสังคมสันติสุขแล้ว เพื่อนิรโทษกรรมคดีการเมืองทั้งหมดไม่ว่าจะมาจากแดง เหลือง หรือส้ม ทั้งรุ่นเก่าทั้งรุ่นใหม่ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549-30 พฤศจิกายน 2565 แต่มีข้อยกเว้นอยู่ 3 ประการ คือ 1.ไม่นิรโทษคดีทุจริตคอร์รัปชั่น 2.ไม่นิรโทษคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 3.ไม่นิรโทษความผิดคดีอาญาที่รุนแรงที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต หากสภารับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะไม่สามารถนิรโทษกรรมสุดซอยได้

นอกจากนี้ ‘นพ.ระวี’ อธิบายเพิ่มเติมว่า ยังกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง ผู้ที่จะได้รับการนิรโทษกรรม จำนวนไม่เกิน 7 คน ภายใน 60 วัน หลังจากที่ พ.ร.บ.ผ่านการพิจารณา และกำหนดเวลาการทำงาน 10 เดือน นอกจากนี้ ยังกำหนดว่าผู้ใดก็ตามที่ได้รับการนิรโทษกรรมแล้วไปกระทำผิดซ้ำจะไม่ได้รับการรอลงอาญา และต้องถูกลงโทษตามที่ได้รับการพิพากษา จากนี้จะกลับมาประสานกับ ส.ส.พรรคต่างๆ ทั้งจากฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลว่าจะมีเสียงสนับสนุนจำนวนเท่าใด ถ้าพิจารณาไม่ทันก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุมนี้ หรือได้ ส.ส.
ไม่เกินครึ่งสภา ก็ยากที่จะทำให้จบภายในสภาชุดนี้

ดังนั้น ต้องติดตามว่า ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อมีการหยิบ กม.ที่มีเนื้อหานิรโทษกรรม ที่ถือว่าเป็นของร้อนขึ้นมา จะมีจุดจบอย่างไร โดยเฉพาะจะเป็น กม.อีกฉบับที่แท้งหรือไม่ เพราะอยู่ในช่วงท้ายของสมัยประชุม?

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image