ส่องฝุ่นควันการเมือง ส.ส.ย้ายพรรค-จับขั้ว

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการประเมินสถานการณ์การเมืองภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ สมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะเดียวกันบรรดา ส.ส.เคลื่อนไหวลาออกเพื่อย้ายสังกัดเตรียมตัวลงสนามเลือกตั้งใหญ่ในเร็วๆ นี้

ยุทธพร อิสรชัย
สาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

อนาคตหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ คิดว่าพรรคการเมืองก็มีจำนวนลดลงไปพอสมควร ด้วยผลของกติการะบบเลือกตั้ง ซึ่งมีการใช้ระบบเลือกตั้งที่เราเรียกว่าบัตร 2 ใบแบบคู่ขนาน คือใบหนึ่งเลือกพรรค ใบหนึ่งเลือกคน ฉะนั้นจะไม่เหมือนการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งเพียงใบเดียวและมาคำนวณ ส.ส. 2 ครั้ง คือคำนวณ ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง และคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้เกิด ส.ส.ปัดเศษ หรือว่าบรรดาพรรคเล็กที่เข้ามาสู่สภาจำนวนมาก ครั้งนี้จึงจะเหลือพรรคการเมืองที่น้อยลง โดยพรรคใหญ่ผมคิดว่าเพื่อไทย (พท.) ยังคงเป็นพรรคที่ได้อันดับ 1 ในสภาผู้แทนราษฎร และตัวเลขมีโอกาสไปแตะ 200 ได้ ส่วนจะไปถึง 250 ตามเป้าหมายแลนด์สไลด์ไหม ตรงนี้คงต้องลุ้นกันต่อ

ขณะที่อีกพรรคหนึ่งซึ่งมีโอกาสจะแตะ 100 ก็คือภูมิใจไทย (ภท.) ซึ่งเราจะเห็นว่ามี ส.ส.ที่ย้ายเข้าจำนวนมากเพราะว่า ภท.ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ก็ได้อยู่ประมาณ 50 ที่นั่ง แล้วต่อมาก็ได้ ส.ส.ที่เกิดจากปรากฏการณ์ผึ้งแตกรัง ในยุคของอนาคตใหม่ และรวมถึง ส.ส.ที่มาจากพรรคอื่นๆ ด้วย และยังมี ส.ส.ย้ายเข้ามาเพิ่มเติมอีก ฉะนั้นโอกาสที่ ภท.จะแตะ 100 ก็มีความเป็นไปได้

Advertisement

ในขณะที่พรรคขนาดกลาง เช่น พลังประชารัฐ (พปชร.) วันนี้เหมือนกับปลาที่ถูกแบ่งเป็น 2 บ่อ ใน พปชร.มี ส.ส.ที่ลดลงจากเดิม ในอดีต พปชร.เข้ามาในปี 2562 ประมาณ 120 ที่ และก็มีการแตกตัวออกไปพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ของทีม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งครั้งนี้ก็มีโอกาสที่ ศท.อาจจะกลับมา พปชร. แต่ ส.ส.อีกจำนวนมากที่ออกไปรวมกับพรรคใหม่ที่ชื่อว่ารวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เพราะฉะนั้น พปชร.ก็จะเหลือประมาณสักครึ่งหนึ่ง ดีไม่ดีอาจจะถึง 50 ก็ได้ ตรงนี้ก็ต้องดูสถานการณ์กันต่อ

ผมว่า รทสช.ก็คงจะได้ ส.ส.อยู่ประมาณสัก 40-50 คน และคงจะไม่ได้มากกว่านี้ เพราะเราจะเห็นได้ว่า รทสช.นั้นก็มีต้นกำเนิดเหมือน พปชร.เมื่อปี 2562 ก็คือเป็นพรรคที่ตั้งใหม่และใช้วิธีการในการดูด ส.ส.เข้ามา ฉะนั้นฐานทางอุดมการณ์ก็ยังไม่มากนักหรืออาจไม่มีเลย ดังนั้น กระบวนการที่จะทำให้ได้ ส.ส.มากกว่าพลังดูด บวก-ลบแล้วคงไม่ได้มากเท่าไหร่ ซึ่งตอนนี้ก็มี ส.ส.อยู่ในมือประมาณ 30 กว่าคนที่ย้ายพรรคมา ก็อาจจะได้เพิ่มอย่างมากไม่เกิน 10 คน ผมว่าคิดว่าจะเกิน 50 สำหรับ รทสช.

ส่วนประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ ครั้งที่แล้วได้อยู่ประมาณ 50 กว่า แต่ครั้งนี้ก็จะมี ส.ส.ย้ายออก ที่เรารู้แน่ๆ คือ 6 คน ไปอยู่ รทสช. ฉะนั้น ปชป.ก็จำนวนลดลง ประมาณ 40 ไม่เกิน 50 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ก่อนหน้านี้ได้เข้ามาในฐานะ อนาคตใหม่ (อนค.) เยอะถึง 80 กว่าที่ แต่นั่นเป็นเพราะการเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสมด้วย ดังนั้น ก.ก.หลังจาก อนค.ถูกยุบ ก็เหลือที่นั่งที่ลดลง ครั้งนี้ผมคิดว่าอาจจะได้เท่าเดิม แต่บวกขึ้นอีกเล็กน้อยไม่มากนัก ประมาณเท่าเดิม 50-60 ที่

Advertisement

ขณะที่พรรคเล็กอื่นๆ เช่น ชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) หรือ เสรีรวมไทย (สร.) อาจจะมีที่นั่งลดลง โดยเฉพาะ สร. คือได้ ส.ส.ส่วนใหญ่มาจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด ส่วนครั้งนี้จะได้ ส.ส.เขตไหม ตรงนี้เป็นงานหนักสำหรับ สร. และ ชทพ.ก็คงได้เฉพาะพื้นที่สุพรรณบุรี และภาคกลางอีกเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนพรรคตั้งใหม่อย่างพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) ที่มีข่าวว่าจะไปควบรวมกับ ทสท.ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อาจจะได้ ส.ส.บ้าง แต่คงไม่เกิน 50 ที่ เพราะ สอท.ก็คือกลุ่ม 4 กุมาร ซึ่งก็ไม่ได้มีฐานทางการเมือง เราจะเห็นได้ว่าการที่ 4 กุมาร เดินออกจาก พปชร.ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับ พปชร. ในขณะที่ ทสท.ก็อาจจะมี ส.ส.จาก พท.ที่ย้ายมาอยู่ด้วย อาจจะได้ที่นั่งจากกรุงเทพฯบ้าง และในส่วนของบัญชีรายชื่อบ้าง คงไม่น่าจะเกินสัก 10 ที่นั่ง ด้าน ชาติพัฒนากล้า (ชพก.) ต้องบอกว่าโอกาสเกิดยาก ถ้าได้อย่างมากคงเป็นฐานที่นครราชสีมา ในเรื่องตระกูลการเมืองอาจจะได้ 2 พรรคที่เท่าๆ เดิม ฉะนั้น ผมคิดว่าอาจจะหายไปสำหรับพรรคเล็กพรรคจิ๋ว

เบื้องต้นพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน ก็คงจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่มีหน้าตาคล้ายคลึงกับพรรคร่วมในสมัยหน้า อาจมีหายไปบ้างคือพวกพรรคเล็กพรรคจิ๋ว ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ในขณะเดียวกันอาจมีพรรคตั้งใหม่ เช่น รทสช.เข้ามาเสริม และอย่าลืมว่าฐานะในการอยู่ในอำนาจรัฐ อย่างไรก็มีความได้เปรียบในการเลือกตั้ง ฉะนั้น ก็เป็นไปได้ที่อาจจะมีการจับมือกันอย่างหลวมๆ ของพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน หรือมีสิ่งที่อาจทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปบ้างเล็กน้อย นั่นคือตัวเลขหลังจากการเลือกตั้ง

ส่วนเรื่องแนวโน้มคะแนนความนิยมในเชิงภูมิภาคจะเป็นอย่างไรนั้น สำหรับภาคเหนือ ผมก็ยังคิดว่าเสียงส่วนใหญ่คือ พท. และอาจจะมี ก.ก.ที่เข้ามาได้ในหลายพื้นที่ ในขณะที่พรรคตั้งใหม่อย่าง รทสช.ก็อาจจะยาก พปชร.คงเหลืออยู่บ้างเล็กน้อยในภาคเหนือ และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ส่วนใหญ่ก็คงเป็นของ พท.เหมือนเดิม และอาจมีการแทรกตัวเข้ามาได้มากของ ภท. ซึ่งวันนี้ก็พยายามจะไปเจาะฐาน พท.ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่ภาคอีสานใต้คงจะเป็น ภท.ทั้งหมด

ส่วนภาคกลาง ก็มีโอกาสที่จะเป็นพื้นที่ของ รทสช. ซึ่งคงจะมี ส.ส.ของ พปชร.ที่ย้ายพรรคมา และอาจมีบางพื้นที่ที่เป็นเขตพื้นที่ของ พปชร.เดิมอยู่บ้าง และในบางพื้นที่ก็อาจเป็นพื้นที่ที่ ภท.เจาะเข้ามาได้ เพราะการย้ายเข้ามาของ นายวีระกร คำประกอบ อดีต ส.ส.นครสวรรค์ พรรค พปชร. ก็มีนัยสำคัญเหมือนกัน สำหรับในพื้นที่ภาคกลาง ที่ ภท.ต้องการที่จะเปิดพื้นที่ตรงนี้เหมือนกัน ส่วน พรรค ชทพ.ก็จะเป็นพรรคเฉพาะถิ่นคือสุพรรณบุรี และจังหวัดใกล้เคียงก็อาจจะได้บ้าง

ภาคตะวันออก ก็คงเป็นพื้นที่ของทาง พปชร. และ รทสช. ส่วนในภาคใต้ก็คงเป็นพื้นที่ของ ปชป. แม้เราจะบอกว่า ปชป.จะมีคะแนนเสียงที่ลดลง แต่คงเป็นแชมป์ในภาคใต้ เพียงแต่ว่าจะได้ที่นั่งภาคใต้ 80-90% เหมือนเก่า ก็คงไม่ขนาดนั้น ในขณะเดียวกันก็จะถูกแชร์ที่นั่งไป รทสช. ในฐานะที่มีแคนดิเดตที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งคงเป็นจุดขายในภาคใต้ได้ และอาจมีฐานเดิมของ พปชร.ยังคงอยู่ และ ภท.ก็อาจจะเปิดเข้ามาใหม่ได้หลายพื้นที่ ในขณะเดียวกัน พท. ก.ก. ทสท. ก็มีโอกาสที่จะเข้ามาได้ หรือในกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คงเป็นพื้นที่ของ ปชป.เหมือนเดิม เพราะเขาก็มีฐานที่แข็งแกร่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่วน กทม. ผมคิดว่าจะมีความหลากหลายมาก ทั้งนี้ คงมีพรรคเจ้าถิ่นใน กทม.ที่ยังคงอยู่ เช่น กรณี พท.ก็น่าจะได้เสียงอยู่มากพอสมควร ส่วน พปชร.ก็อาจมีฐานที่ลดลงเพราะมี ส.ส.ออกไปบ้าง ก.ก.ก็น่าจะยังคงได้เสียงที่มากใน กทม. ในขณะเดียวกันก็มีพรรคใหม่แทรกเข้ามาได้บ้าง เช่น รทสช. ภท. ซึ่งก็ได้ ส.ส.กทม.ไปทั้ง 2 พรรค คงได้ไม่เยอะ เพราะเป็นเรื่องตัวบุคคลมากกว่า และในขณะเดียวกันอาจมีการทวงคืนเก้าอี้ของ ปชป.กลับมาได้บ้างเล็กน้อย และการเข้ามาของ ทสท. ฉะนั้น กทม.จะค่อนข้างหลากหลายในปี 2566

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

สถานการณ์การย้ายพรรคของ ส.ส.ในขณะนี้ ต้องยอมรับว่าอยู่ในระยะที่ 2 ก่อนหน้านี้คือล็อตแรกคือการตัดสินใจของบรรดานักเลือกตั้งทางการเมือง ที่ประเมินกระแสของพรรคต่างๆ โดยมีการต่อรองในเรื่องทรัพยากร โอกาสที่จะชนะการเลือกตั้ง รวมทั้งโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล คิดว่าช่วงนี้การโยกย้ายไปสังกัดพรรคต่างๆ เป็นระลอก 2 โดยมีการประเมินคือ การประกาศจุดยืนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเข้ามาร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อให้คนที่จะตัดสินใจไปพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือพรรคการเมืองอื่นๆ รวมไปถึงซีกฝ่ายค้านด้วย ซึ่งเห็นได้จากการย้าย ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐไปพรรคภูมิใจไทย หรือไปพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือแม้แต่ในกลุ่มเพื่อไทยเองก็มีการย้ายพรรค คิดว่าล็อตที่ 3 จะอยู่ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ คาดว่าจะเป็นสุดท้ายของบรรดานักเลือกตั้งที่จะโยกย้ายพรรค

ซึ่งจะเป็นการสะท้อนกลับไปถึงปัญหาระบบพรรคการเมืองไทยทั้งหมด ที่ไม่อยู่ในสถานะพรรคการเมืองที่มีสมาชิกและมีอุดมการณ์ที่ชัดเจน แต่เป็นองค์กรทางการเมืองที่รวมด้วยนักเลือกตั้ง ที่ต้องการทรัพยากร ต้องการโอกาสมากกว่าที่จะทำการเมืองในระยะยาว ไม่เหมือนในอดีตที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่จะมีอุดมการณ์

ช่วงนี้การเปิดตัวของผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคต่างๆ ขณะนี้ไม่ใช่นักการเมืองที่มีคุณภาพ แต่สามารถขายตัวเองได้ หากพรรคการเมืองเป็นสถาบันก็จะมีผลน้อยต่อการย้ายพรรค แต่ขณะนี้พรรคการเมืองไม่ค่อยเป็นสถาบัน มันจึงจำเป็นจะต้องขายคู่ไปกับกระแสของผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย จึงได้เห็นบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ พยายามอยากจะได้คนที่มีชื่อเสียง บรรดาตระกูลการเมือง บรรดาผู้ที่รู้จักในทางสาธารณะ เข้ามาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. โดยพยายามเอามาสังกัดในพรรคของตนเองให้มากที่สุด

ไปๆ มาๆ พรรคการเมืองก็ไม่มั่นใจในการเป็นสถาบันของพรรคการเมือง หรือนโยบายของพรรค จึงต้องโหนไปกับบรรดาผู้นำ และตัวบุคคลต่างๆ ทางการเมือง อาทิ พรรครวมไทยสร้างชาติ อาศัย พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์เองก็ต้องห้อยโหนไปกับบรรดานักเลือกตั้งด้วยเช่นกัน หรือพรรคเพื่อไทยก็เหมือนกันต้องโหนนายทักษิณ ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ในทางกลับกันทั้ง ทักษิณหรืออุ๊งอิ๊ง ก็ต้องโหนบรรดาบ้านใหญ่ทั้งหมด ทำให้เห็นโครงสร้างของพรรคการเมืองเรามีปัญหา

การเลือกตั้งในสมัยหน้าพรรคการเมืองที่จะได้รับการเลือกตั้ง 5 อันดับแรก คือ ผมให้พรรคเพื่อไทยมาเป็นอันดับ 1 ส่วนการที่จะแลนด์สไลด์หรือปิดสวิตช์ ส.ว.นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อันดับ 2 พรรคภูมิใจไทย อันดับ 3 และ 4 คือพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ เพราะเดิมที่ ส.ส.เหล่านั้นสังกัดพรรคพลังประชารัฐ และแยกตัวออกมาอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ และอันดับ 5 พรรคก้าวไกล

สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลในสมัยหน้าคิดว่ามีหลายสูตร หากประเมินว่าพรรคที่จะได้คะแนนอันดับ 1 คือพรรคเพื่อไทย สูตรแรกถ้าได้เกิน 300 เสียง สามารถปิดสวิตช์ ส.ว.และจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ สูตร 2 ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่สามารถปิดสวิตช์ ส.ว.ได้ หรือไม่สามารถแลนด์สไลด์จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ พรรคเพื่อไทยอาจจะต้องร่วมมือกับบรรดาพรรคฝ่ายประชาธิปไตย อาทิ พรรคก้าวไกล ซึ่งการทำงานอาจจะลำบาก เพราะการเมืองไทยจะต้องพึ่งพาบารมีนอกระบบ หรือนอกการเมือง โดยเฉพาะการทำงานจะต้องทำควบคู่ไปกับ ส.ว. ซึ่งไม่ง่าย

สูตรที่ 3 อาจจะต้องร่วมมือกับกลุ่มพรรคการเมืองมีศักยภาพการเมืองมากขึ้นคือ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ แต่ทั้ง 3 พรรคจะต้องร่วมกันปิดสวิตช์ ส.ว. จะไม่ใช้ ส.ว.เป็นเงื่อนไขในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะไม่เช่นนั้นพรรคเพื่อไทยจะมีปัญหาในการสื่อสารกับประชาชนทันที เพราะพรรคเพื่อไทยยืนยันตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตามจะต้องปิดสวิตช์ ส.ว.ให้ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจจะต้องร่วมมือกับพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ โดยการบริหารทางการเมืองอาจจะต้องพึ่งบารมีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นมากเพราะไม่มี พล.อ.ประยุทธ์

สูตรต่อมาซีกรัฐบาลเดิมหาก พล.อ.ประยุทธ์มีฐานคะแนน 30-40 ที่นั่ง ก็อาจจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ร่วมมือกับพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเล็กพรรคน้อย อาทิ พรรคชาติพัฒนากล้า ใช้ ส.ว.เป็นนั่งร้านเหมือนเดิม ในการจัดตั้งรัฐบาลอาจจะเป็นแบบที่กล่าวมาสูตรใดสูตรหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image