สงคราม การเมือง ระหว่าง ประยุทธ์ ประวิตร ศึกษา กรณี คึกฤทธิ์

คอลัมน์หน้า 3 : สงคราม การเมือง ระหว่าง ประยุทธ์ ประวิตร ศึกษา กรณี คึกฤทธิ์

ปมอันสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง

ทั้งในทาง “การทหาร” ทั้งในทาง “การเมือง”

เรื่องแบบนี้มีแต่คนอย่าง นายชวน หลีกภัย และรวมถึงคนอย่าง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เท่านั้นที่เข้าใจ

เมื่อนึกถึงกรณีระหว่าง “เสนีย์”กับ “คึกฤทธิ์”

Advertisement

เพราะว่า นายชวน หลีกภัย เคยประสบเหตุการณ์มาด้วยตนเอง เพราะว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน
คงรับรู้จาก นายมนตรี พงษ์พานิช

เป็นเหตุการณ์จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2518

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกเข้ามาจำนวนกว่า 70 และถือเป็นพรรคอันดับ 1 ที่จะต้องจัดตั้งรัฐบาล

Advertisement

แล้ว ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็น นายกรัฐมนตรี

หากดูจากบันทึกของ พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร ก็จะเข้าใจในความพยายามของ นายพจน์ สารสิน ที่จะทำหน้าที่ประสาน

ระหว่าง “ประชาธิปัตย์” กับ“ชาติไทย”

ด้วยการเดินทางไปพบกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ด้วยการเดินทางไปพบกับ พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร (ยศขณะนั้น)

ขอให้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล

แต่เนื่องจากข้อเสนอของพรรคชาติไทยไม่ได้รับการสนองจากพรรคประชาธิปัตย์ รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงเป็นรัฐบาล “เสียงข้างน้อย”

และก็ถูก “คว่ำ” ทันที่ที่แถลง “นโยบาย”

เป็นการคว่ำด้วยการร่วมมือระหว่างพรรคชาติไทยกับพรรคกิจสังคมอันมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรคที่มี 18 เสียงอยู่ในมือ

จากนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ขึ้นเป็น “นายกรัฐมนตรี”

หากเปรียบเทียบสายสัมพันธ์ก็ต้องยอมรับว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ลึกซึ้งมากกว่า

ดำรงอยู่อย่าง “พี่” กับ “น้อง” ร่วมสายโลหิต

มิได้เป็นพี่กับน้องจากหน้าที่การงานในแบบของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

อาจเป็นพี่น้อง “ร่วมรบ” มาด้วยกัน

อาจเป็นพี่น้องที่ “พี่” มีส่วนในการอุ้มชู บ่มเพาะ และกรุยเส้นทางในการรับราชการให้กับ “น้อง”

ไปสู่เส้นทาง “ผบ.ทบ.”

และเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำ “รัฐประหาร” ก็ดึงรุ่นพี่อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เข้ามา

จึงอยู่ในลักษณะพี่อุ้มน้องน้องอุ้มพี่

กระนั้น เมื่อทำงานการเมืองมาถึงจุดหักเลี้ยวที่สำคัญจุดหนึ่งซึ่งจำเป็นต้องเลือก ก็จำเป็นต้องเลือก จำเป็นต้องต่อสู้กัน

ดังกรณี “เสนีย์” กับ “คึกฤทธิ์”

เนื่องจากตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” มีเพียงตำแหน่งเดียว และเนื่องจากแต่ละคนประเมินแล้วว่าตนน่าจะเหมาะสมมากกว่า

“สงคราม” ในแบบ “พี่น้อง”จึงได้บังเกิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image