สภาล่ม-ทรงอย่างแบด ทางออก‘ยุบ’-ลากต่อ?

สภาล่ม-ทรงอย่างแบด ทางออก‘ยุบ’-ลากต่อ?

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรล่มบ่อยเหตุจากไม่ครบองค์ประชุม คล้ายถูกชัตดาวน์ ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ทำหน้าที่ตัวเองทำให้กฎหมายค้างสภาจนประชาชนต้องตั้งคำถามเหมือนเป็นการด้อยค่า ส.ส.ชุดนี้

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Advertisement

สภาล่มบ่อยจนเหมือนสภาชัตดาวน์ ไม่สามารถทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้ ถือเป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล ที่ไม่ทำหน้าที่ให้เกิดการประชุมฝ่ายนิติบัญญัติได้ อีกทั้งรัฐบาลไม่ใส่ใจการประชุมดังกล่าว เพราะมุ่งหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้ามากกว่า ทำให้สภาถูกบั่นทอนและลดบทบาทลงไปมาก แทบไม่เหลือคุณค่าและความสำคัญใดๆ อีก

หากรัฐบาลมีความจริงใจและเห็นความสำคัญของสภา ส.ส.ต้องดำเนินการประชุมเพื่อพิจารณากฎหมาย ตอบกระทู้ หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติของฝ่ายค้านได้ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และตรวจสอบการทำหน้าที่สภา ที่เป็นตัวแทนประชาชนว่าเป็นอย่างไร แต่รัฐบาลไม่ได้ใส่ใจเรื่องดังกล่าวมากนัก ซึ่งสภายังมี ส.ส. 439 คน จาก 500 คน เป็น ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลถึง 247 คนมีเสียงเกินกึ่งถึง 27 เสียง สามารถประชุมสภาได้อยู่แล้ว ขณะที่ฝ่ายค้านมี ส.ส.เพียง 192 คนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง 220 คน ไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ ดังนั้น รัฐบาลมาโทษฝ่ายค้านที่ไม่ให้ความร่วมมือประชุมสภาดังกล่าวไม่ได้ ที่สำคัญไม่ใช่ความผิด นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ที่ไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ เพราะเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับสภาดังกล่าว ส่งผลให้การประชุมสภาล่มซ้ำซากจนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

ดังนั้น ทางออกเรื่องดังกล่าวคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ควรยุบสภาไปเลยเพื่อจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ เพื่อให้พรรคการเมืองและว่าที่ผู้สมัครได้ลงพื้นที่หาเสียงกับประชาชนได้เต็มที่ ไม่ต้องเบียดบังเวลาและงบประชุมสภา ไม่ถูกประชาชนตำหนิว่าไม่ทำหน้าที่อีก น่าจะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย เพื่อเข้าสู่โหมดเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลและผู้นำประเทศคนใหม่ในอนาคต

Advertisement

การยุบสภาถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด ไม่มีทางออกอื่น เพราะรัฐบาลเหลือเวลาไม่ถึง 2 เดือนก่อนครบวาระแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีสภาเพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติอีก เพื่อให้ทุกพรรคได้หาเสียงเต็มเวลาและเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลเท่านั้น

ส่วนกฎหมายที่ค้างการพิจารณาผู้เสนอสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาใหม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาชุดใหม่พิจารณาเรื่องดังกล่าว แต่ไม่อยากฝากสภาใหม่เรื่องอะไรเพราะต้องรอดูผลการเลือกตั้งก่อนว่าพรรคไหนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ใครเป็นผู้นำประเทศคนใหม่ มีทิศทางเป็นอย่างไร ถึงสามารถฝากสภาชุดใหม่ได้

ปิยณัฐ สร้อยคำ
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ วิกฤตสภาล่มดูจะปรากฏได้ชัดและบ่อยมากขึ้นในภูมิทัศน์การเมืองไทยเมื่อใกล้เข้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ ส่วนตัวมองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวคือความล้มเหลวและความถดถอยของรัฐสภาไทย รวมถึงการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มีหน้าที่สำคัญคือการออกกฎหมายเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน 3 กลไกสำคัญของอำนาจหลักของรัฐ ได้แก่ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญได้ระบุไว้

ซึ่งวิกฤตสภาล่มดังกล่าวส่งผลให้กฎหมายสำคัญหลายฉบับต้องถูกชะลอไว้ ทำให้การดำเนินการที่เป็นผลสืบเนื่องตามมาต้องล่าช้า และหากถูกเลื่อนออกไปหลังการเลือกตั้งอาจจะทำให้ต้องรอจนรัฐสภาใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งการปล่อยให้กฎหมายสำคัญของประเทศหลายฉบับไม่ถูกนำเข้ามาพิจารณาตามกรอบเวลาที่ควรจะเป็น ย่อมส่งผลเสียต่อการบริหารและทิศทางของประเทศ รวมถึงกระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะ ด้วยเหตุนี้ส่วนตัวจึงมองว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรควรให้ความสำคัญกับบทบาทด้านการเป็นผู้ออกกฎหมายของตนให้มากกว่านี้

หากถามถึงสาเหตุของสภาล่ม ส่วนตัวเชื่อว่า เมื่อใกล้เข้าสู่การเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่างต้องลงพื้นที่เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างความนิยมให้กับตนเองและพรรคการเมืองของตน จึงทำให้การปฏิบัติหน้าที่ในสภาถือเป็นเรื่องรองในห้วงเวลานี้ แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะเช่นนี้ไม่ควรที่จะถูกทำให้เป็นเรื่องปกติของการเมืองไทย เพราะถือเป็นการให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าผลประโยชน์สาธารณะ ซึ่งการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในรัฐสภานั้นย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของสภาจากสาธารณชนอีกด้วย

หรือในอีกแง่หนึ่ง การทำให้สภาล่มบ่อยครั้ง อาจเป็นความตั้งใจของรัฐบาล รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝั่งรัฐบาลด้วยซ้ำที่พยายามจะสร้างสถานการณ์ทางการเมืองเพื่อนำไปสู่การยุบสภาแทนที่จะปล่อยให้สภาผู้แทนราษฎรครบกำหนดตามวาระ เพราะการยุบสภาจะช่วยให้รัฐบาลปัจจุบันสามารถเป็นรัฐบาลรักษาการในห้วงของการจัดการเลือกตั้งได้ ถือเป็นอีกเกมการเมืองและไพ่สำคัญอีกไป

ส่วนตัวมองว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือบุคคลที่ประชาชนเลือกเข้ามาเป็นผู้แทนในการปฏิบัติหน้าที่ด้านนิติบัญญัติเพื่อออกกฎหมายในการขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้น การทำหน้าที่ในรัฐสภาจึงถือเป็นภารกิจหลักของสมาชิกสภาที่ควรให้ความสำคัญ การปล่อยให้สภาล่มด้วยเหตุผลใดก็ตามส่งผลให้กฎหมายหลายฉบับไม่ถูกพิจารณา จึงเป็นภาพสะท้อนของการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทที่ตนเองได้รับ และไม่ยึดมั่นต่อคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

พัฒนะ เรือนใจดี
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

สภาล่มหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ต้องดูก่อนว่ากฎหมายอะไร เรื่องอะไรที่ทำให้สภาล่มในแต่ละครั้ง ตรงนี้จะสำคัญที่สุด เวลาเราตอบคำถามเรื่องสภาล่มมักพูดถึงปลายทางว่าสภาไปต่อไม่ได้ ประชุม 25 นาทีเลิก แต่เรื่องนี้ก็ต้องดูกันเป็นเรื่องๆ ไปว่าล่มเพราะเรื่องอะไร สาเหตุมาจากอะไร ตอบได้แบบกว้างๆ คือมาจากองค์ประชุม ซึ่งเรื่ององค์ประชุมเป็นเรื่องที่สภาผู้แทนราษฎรต้องร่วมกันรักษาและปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ที่ต้องรู้อยู่แล้วว่ารัฐบาลมีกฎหมายสำคัญๆ มาก และต้องอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือในการทำงานเป็นความรับผิดชอบ

ฉะนั้น จึงคิดว่าเป็นหน้าที่โดยตรงของสมาชิกฟากรัฐบาล เพราะว่าฝ่ายค้านบางครั้งต้องเรียกว่าเป็นการอาศัยเทคนิคในทางการเมือง อย่างการวอล์กเอาต์ การไม่ให้ความร่วมมือต่อประธานสภา การรวน การตั้งกระทู้ ซึ่งเป็นปกติของฝ่ายค้านอยู่แล้วที่จะต้องทำแบบนี้ ฉะนั้น ผมตั้งข้อสังเกตว่าเราควรจะต้องพิจารณา 2 สิ่งดังกล่าวคือ สาเหตุกับการทำงานของสมาชิกทางฟากรัฐบาล ส่วนอื่นเป็นปัจจัยแวดล้อม ซึ่งช่วงนี้ใกล้จะยุบสภา ใกล้หมดอายุสภาแล้ว ส.ส.ต้องลงพื้นที่หาเสียง แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องตามมาตอนหลัง แล้วข้ออ้างเหล่านี้ก็เจือสมกัน คือผสมปนเปไปว่าไม่ต้องรับผิดชอบแล้ว โดยเฉพาะตอนนี้ก็ใกล้ถึง 24 มีนาคมมาก

ถามว่าในกรณีนี้จะเกิดการด้อยค่า ส.ส.ที่ทำหน้าที่ออกกฎหมายได้หรือไม่ ผมว่าเรื่องนี้เป็นความสำคัญของสมาชิกฟากรัฐบาลที่ต้องถูกเพ่งเล็งเป็นประการแรกว่ารัฐบาลต้องมีหน้าที่ในการรักษาองค์ประชุม ส่วนฝ่ายค้านนั้นแน่นอนอยู่แล้วว่าไม่ต้องการให้รัฐบาลผ่านกฎหมายสำคัญของรัฐบาล เช่น เรื่องที่พูดถึงกันมากคือเรื่องกัญชง กัญชา เป็นต้น ฉะนั้น เป้าหมายในการถูกด้อยค่า โฟกัสจะไปอยู่ที่รัฐบาลมากกว่าว่าคุณทำหน้าที่อะไร อย่างนี้มากกว่า

ส่วนฝ่ายค้านคิดว่าสภาล่มไม่ได้มีความหมายตรงๆ ว่าคนไม่มาประชุมอย่างเดียว บางครั้งก็ไปเช็กชื่อให้ครบองค์ประชุม แต่ไม่เสียบบัตร หรือวอล์กเอาต์ ไม่ลงคะแนน เพราะต้องการให้กฎหมายฉบับนี้ตก ซึ่งเป็นเทคนิคในทางกฎหมาย กล่าวคือ การที่สภาล่มเพราะต้องการให้ล่มเพราะฝ่ายค้านไม่ต้องการให้กฎหมายของรัฐบาลผ่าน

ผมคิดว่าสิ่งที่มีปัญหามากคือกฎหมายของรัฐบาลนั้นไม่ออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ใกล้ครบวาระ 4 ปี ซึ่งรู้ล่วงหน้าว่าวันไหนเวลาไหน ฉะนั้น รัฐบาลก็จะต้องสั่งการไปยังกระทรวง ทบวง กรม ว่าให้เขียนกฎหมายสำคัญๆ ออกมาให้หมดเพราะรู้อยู่แล้วว่าอยู่ได้อีกแค่ 2-3 เดือน ส่วนไหนที่คั่งค้าง ส่วนไหนที่ยังทำไม่เสร็จ ส่วนไหนที่จะต้องเร่งด่วน จัดลำดับความสำคัญแล้วก็เร่งให้ผ่านให้หมด ตรงนี้สำคัญ เพราะถ้ากฎหมายค้างแล้วสภายุบ หรือครบวาระ กฎหมายนั้นก็ตกหมด หัวหน้ารัฐบาลรู้อยู่แล้วว่าต้องดำเนินการแบบนี้

ดังนั้น เมื่อสั่งการไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมแล้วไม่เป็นตามที่พูดจะเสียหายไหม ก็ต้องเสียหายต่อพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคอยู่แล้ว ว่าบัดนี้การเขียนกฎหมายที่เป็นการส่งใช้ก่อนจะไปสู่สนามเลือกตั้งไม่ประสบความสำเร็จ และต้องยอมรับว่าถ้ากฎหมายไม่ประสบความสำเร็จ จะส่งผลตามมาถึงนโยบายที่จะนำไปใช้ เพราะนโยบายต้องมีกฎหมายเป็นพื้นก่อน

ส่วนเรื่องที่นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกฯ และนายชวน หลีกภัย ในฐานะประธานรัฐสภา ต้องรับผิดชอบต่อกรณีสภาล่มนั้น ผมว่าเรื่องนี้ไม่ถูก นายกฯไม่ใช่หัวหน้าพรรคการเมือง นายชวนก็ทำหน้าที่ประธานสภาในการควบคุมการประชุมเท่านั้น ถ้าถามว่าใครควรรับผิดชอบ ผมว่าเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองทั้งหลาย แต่โฟกัสไปอยู่ที่หัวหน้าพรรครัฐบาลมากกว่า ซึ่งความรับผิดชอบขององค์ประชุมเป็นเรื่องของสมาชิกทางรัฐบาล เพราะนายกฯไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค ไม่ได้สังกัดพรรค ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติก็ยังไม่มี ส.ส.สักคน ฉะนั้น จะไปคาดคิดไม่ได้ ตรงนี้วิป หรือผู้ประสานงานต่างหากที่ควรเป็นผู้รับผิดชอบ

สภาล่มจะแก้ได้อย่างไร ผมว่าไม่ต้องแก้ เพราะไม่ว่าจะยุบสภาหรือไม่ก็เหลือเวลาอีกไม่เกิน 2 เดือน ตอนนี้จะสิ้นเดือนมกราคมแล้ว เหลือเดือนกุมภาพันธ์ และอีก 24 วัน ตรงนี้เป็นเหตุผลทางการเมือง จะยุบก็ได้ หรือจะอยู่ครบวาระก็ได้ ซึ่งเขาคงไม่เอาเรื่องสภาล่มมาเป็นเหตุผลว่าจะต้องยุบสภา หรือต้องอยู่ต่อให้ครบวาระ ตรงนี้ไม่ใช่ปัจจัย เป็นปัจจัยทางการเมืองมากกว่าหากจะยุบสภา

โดยรวมแล้ว ส.ส.ต้องมีความรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร ตรงนี้สำคัญที่สุด แม้ว่าผมจะพูดว่าทางซีกรัฐบาลต้องรับผิดชอบมากกว่า แต่โดยรวมก็ต้องรับผิดชอบต่อองค์ประชุมในการทำให้กฎหมายนั้นผ่านไปให้ได้ แน่นอนที่สุด ถ้าฝ่ายค้านแสดงออกโดยชัดเจนว่าเขาไม่เอากับกฎหมายนั้นๆ ผมก็คิดว่าเป็นวิธีทางหนึ่งในการทำงาน คือการแอนตี้กฎหมาย การไม่รับกฎหมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image