แจกค่ารถไปเลือกตั้ง ไอเดียล้ำ? กมธ.วุฒิสภา

แจกค่ารถไปเลือกตั้ง ไอเดียล้ำ? กมธ.วุฒิสภา

หมายเหตุมุมมองนักวิชาการถึงข้อเสนอคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ให้ภาครัฐมีค่าพาหนะสำหรับประชาชนที่เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คนละ 500 บาท ซึ่งจะใช้งบประมาณ รวม 20,000 ล้านบาท สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 40 ล้านคน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและจูงใจให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

ผศ.ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

จากการพิจารณาผลการศึกษา เรื่อง แนวทางการส่งเสริมและการพัฒนาการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรมของ กมธ.การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา มีข้อเสนอว่ากำหนดให้ภาครัฐมีค่าพาหนะสำหรับประชาชนที่่เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คนละ 500 บาท เรื่องนี้ผมไม่เห็นด้วย 100% ไม่เห็นด้วยโดยเด็ดขาด คือไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลกที่ต้องมีการจูงใจให้ประชาชนไปเลือกตั้งโดยการแจกเงิน กกต.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ถ้ามีการแจกเงินให้ไปเลือกตั้ง ผู้สมัครเลือกตั้งบางคนหาเสียงด้วยนโยบายต่างๆ บางครั้งไปก้ำกึ่งกับการแจกเงินของ กกต. สุดท้ายผลเลือกตั้งเองจะไม่สะท้อน

Advertisement

ต้องไม่ลืมว่าการเลือกตั้งของเราสถิติของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 ประกาศใช้นั้นค่อนข้างต่ำ คราวนี้รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงแก้โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ ถ้าไม่ไปเลือกตั้งต้องมีการแจ้งเหตุ ถ้าไม่แจ้งเหตุถือว่าขาดการใช้สิทธิโดยไม่สมควร และถูกตัดสิทธิการเมืองบางอย่าง เป็นอย่างนี้มาถึงปี 2550 และปี 2560 พอมาปี 2560 ยังใช้ระบบเลือกตั้งที่เป็นระบบบังคับ คือถ้าไม่ไปก็ถูกตัดสิทธิ แต่อยู่ๆ วันดีคืนดีไม่โอเค ต่อไปนี้ก็ใช้ระบบบังคับ ใครไปจะได้เงิน ผมว่าไม่ถูก

ส่วนการให้เหตุผลว่าเป็นค่าพาหนะสำหรับประชาชนที่่เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ผมว่าการให้เหตุผลแบบนี้ไม่ได้ บอกว่าเป็นค่าเดินทางหรือค่าอะไร ทำไมถ้าอย่างนั้นจัดบริการสาธารณะ เช่น ในช่วงของการเลือกตั้งสัปดาห์นี้รถไฟฟรี รัฐนำเงินไปอุดหนุนสายการบินให้คนกลับไปเลือกตั้งหรือรถทัวร์ไม่ดีกว่าหรือ สิ่งเหล่านี้มีกลไกที่จะสนับสนุนคนให้กลับไปเลือกตั้ง รวมถึงการให้เป็นวันหยุดด้วย วันเลือกตั้งส่วนใหญ่จะเป็นวันอาทิตย์ อาจให้วันจันทร์ที่เป็นวันต่อเนื่องกันเป็นวันหยุดอีกวัน และลดค่าเชื้อเพลิง ผมว่าไปอุ้มตรงนั้นน่าจะดีกว่า การฉีดเงินเข้ามือของเอกชนที่ทำให้เป็นรายบุคคลจะให้เกิดการก้ำกึ่งกับการซื้อเสียงไปแล้ว

ทั้งนี้ ในเรื่องของผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งรับเงินซื้อเสียง ไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อให้กล้าเป็นพยานชี้ตัวคนกระทำผิดเรื่องนี้เราต้องตั้งสมมุติฐานกันใหม่ ตามจริงคนรับเงิน เงินนั้นห้ามใช้ เมื่อไปแจ้งความก็ส่งไปเป็นหลักฐาน ไม่มีปัญหา อย่างนี้ผมเห็นด้วย ไม่มีความผิด เพราะไม่อย่างนั้นคนก็ไม่แจ้ง ถ้าต่างคนต่างผิดก็ไม่มีใครแจ้ง แต่ก็ต้องป้องกันการกลั่นแกล้งกันอะไรกันอีก ตรงนี้ก็เป็นกลไกที่ต้องคิดกันว่าจะแก้ไขกันอย่างไร

Advertisement

ส่วนข้อเสนอให้แก้ไขระบบเลือกตั้งให้ ส.ส.เขตที่แพ้เลือกตั้งแต่ได้คะแนนสูงเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เรื่องนี้ระบบเลือกตั้งของบ้านเรานั้นเปลี่ยนแทบจะทุกครั้ง บางครั้งเราสับสนไปหมด เขตหนึ่งมีหลายเบอร์ นั่นคือแบบเก่า อย่างเช่น เขตที่ผมไปอยู่เขตบางเขน-จตุจักร มี ส.ส.ได้ 3 คน สมมุติมีเบอร์ 1, 2, 3 มาก็จบ 3 ที่ ตรงนี้จะกลับไปแบบเดิม ผมว่าต้องเขียนในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องการเลือกตั้ง เรื่องพรรคการเมืองให้ชัดหรือไม่ ไม่ใช่ออกเกณฑ์แบ่งเขต กำหนดจำนวน ส.ส.อะไรกันใหม่ คือตอนนี้ไม่เคลียร์ทั้งเรื่องการแบ่งเขต จำนวน ส.ส.ตามเขตพวกนี้ ตรงนี้คิดว่า กมธ.เองอย่าเพิ่งคิดไปไกล ผมว่าให้ระบบเลือกตั้งนั้นนิ่งก่อน อย่าเพิ่งไปออกแบบให้งงมากกว่านี้ ว่าจะแบ่งเขตอย่างไร หรือจะกำหนดใครจะได้รับเลือก ตรงนี้เป็นหน้าที่ กกต. ผมคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของ กมธ.ในตอนนี้ คิดว่าถ้าจะแก้ไขคงต้องแก้ในระดับรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ในข้อเสนอการกำหนดบทลงโทษกรณีที่พรรคการเมืองไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายที่่หาเสียงไว้และ ส.ส.ละเลยต่อหน้าที่โดยเฉพาะการประชุมสภา ในเรื่องนี้พรรคการเมืองที่ไม่ทำตามที่หาเสียง ผมเข้าใจว่าอยู่ในแผนก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ในเรื่องการหาเสียงเว่อร์เกิน แต่ก็ไม่เห็นบทลงโทษ เพราะก็เห็นว่าหลายพรรคการเมืองถูกยื่นคำร้องกันไปก็ไม่เห็นมีกระบวนการอะไร ส่วนเรื่องที่ลงโทษ ส.ส.ไม่มาประชุมเรื่องนี้เห็นด้วย บทลงโทษอาจจะเป็นการหักเงินเดือนอะไรก็ว่ากันไป ไม่อย่างนั้นก็โดดประชุมกัน ผมคิดว่าประชาชนเห็น อย่างเช่นส.ว. เราจะเห็นสถิติจากส่วนของราชการบางคนเข้าประชุมเพียง 3 ครั้ง ประชาชนก็ตั้งคำถามว่ารับเงินเดือนเต็มทุกเดือน คิดว่าควรทำให้เป็นระดับประมวลจริยธรรรมของสมาชิกสภาหรือไม่ อาจจะไม่ต้องทำถึงขนาดแก้กฎหมาย

อย่างไรก็ตาม เรื่องข้อเสนอใครๆ เสนอได้ แต่เช็กกฎหมายกันดีๆ ก่อนหรือไม่ ว่าการแจกเงินพวกนี้เพื่อเป็นค่าเดินทางทำได้หรือไม่ ผมเชื่อว่าถึงที่สุดจะหาทางทำกันให้ได้ แต่ผมไม่เห็นด้วย เพราะเรามีมาตรการในการสนับสนุนอำนวยความสะดวกประชาชน ในการไปเลือกตั้งที่มากอยู่แล้ว ทั้งการเลือกตั้งนอกเขต การเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งมีหลายอย่าง คิดว่าไม่จำเป็นต้องแจกเงิน สมมุติเขตเลือกตั้งผมอยู่หน้าบ้าน ผมเดินไปก็ได้ 500 บาทเป็นค่าเดินทาง

ผมคิดว่าข้อเสนอนี้ไม่ใช่ควรจะทบทวน ควรจะลบทิ้ง ควรจะพับเก็บไป เพราะสุ่มเสี่ยงจริงๆ ในการเป็นข้อเสนอในการหาเสียง หรือซื้อเสียงในเชิงนโยบายค่อนข้างมาก ผมไม่เห็นด้วยเลย และไม่เหมาะสม ไม่ใช่เหมาะสมธรรมดา ไม่สมควรเป็นข้อเสนอได้

ผศ.วีระ หวังสัจจะโชค
ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

โ ดยปกติเวลามีการเลือกตั้งถ้าเราดูจากบริบทที่เป็นนอกเมืองจะต้องมีผู้คนเดินทางกลับมาในแต่ละพื้นที่ โดยในการเดินทางกลับมา ถ้าเป็นยุคโบราณหน่อยจะมีระบบการนำรถไปรับคนจากสถานีขนส่งเข้ามาที่หน่วยเลือกตั้ง เพื่อเป็นการบริการประชาชนที่กลับมาเลือกตั้ง เพราะเราต้องยอมรับว่าในการเลือกตั้งมีต้นทุนบางอย่างที่ประชาชนเสียไปไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง หรือค่าใช้จ่ายบางอย่างในการกลับมาเลือกตั้ง ซึ่งตรงนี้จึงเป็นการเปิดช่องว่างให้กลุ่มนักการเมืองเข้ามาใช้ค่าใช้จ่ายตรงนี้ช่วยเหลือประชาชนเพื่อจูงใจในการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี กมธ.ถ้ามีข้อเสนอในลักษณะดังกล่าว ผมมองว่าอาจจะมีปัญหาในการนำไปใช้จริง เพราะการบริการประชาชนในลักษณะนี้มันคือการเอาเงินหลวงให้ประชาชน จะหนีไม่พ้นข้อครหาว่าเป็นเงินของรัฐบาลอยู่ดี รถที่ใช้รับส่งจะได้รับทุกคนหรือไม่ หรือครอบคลุมกลุ่มประชาชนทุกกลุ่มในประเทศหรือเปล่า หากเกิดปัญหาว่ามีคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการบริการสาธารณะตรงนี้ได้จะเกิดความไม่เท่าเทียมกันในการใช้เงินภาษีของประชาชนเพื่อดูแลในการอำนวยความสะดวกการเลือกตั้ง ตรงนี้จึงกลายเป็นข้อเสนอที่ค่อนข้างแปลก ถ้าเป็นในต่างประเทศจะใช้วิธีการลงทะเบียนการเลือกตั้งนอกเขต หรือใช้การเลือกตั้งแบบระบบไปรษณีย์ หรือออนไลน์ เพื่อแก้ไขปัญหาการเดินทาง

ส่วนของข้อกำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งรับเงินซื้อเสียง ไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อให้กล้าเป็นพยานชี้ตัวคนกระทำผิดได้นั้น ตรงนี้ก็จะเป็นปัญหาอยู่ดี ผมมองว่า กมธ.นี้เขามองการเลือกตั้งแบบโบราณในสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่การเมืองไทยเปลี่ยนไปมากหลังปี 2540 เป็นต้นมา แต่ละรัฐบาลพยายามจะเสนอนโยบายที่สามารถปฏิบัติได้จริง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายประกันราคาข้าว หรือจำนำข้าว ซึ่งเรื่องการใช้เงินมันมีอยู่แล้ว แต่มันไม่ใช่เงื่อนไขที่จะบอกว่าประชาชนจะเลือกใครอีกต่อไป เพราฉะนั้น หาก ส.ว.มองว่าประชาชนเลือกนักการเมืองเพราะว่ารับเงินนั้นผมว่าเป็นการมองที่ยังไม่ครอบคลุม ประชาชนจะเลือกใครนั้นมันมีปัจจัยอื่นเข้ามาด้วย เพราะฉะนั้น การจะไปกระตุ้นให้ประชาชนชี้นิ้วว่าคนอื่นคอร์รัปชั่น ผลสุดท้ายแล้ว ผมว่ามันจะตีกลับกลายมาเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง แน่นอนว่ามันเกิดระบบการตรวจสอบที่ควรจะต้องทำเพื่อไม่ให้มีการซื้อสิทธิขายเสียง ตรงนี้เห็นด้วย แต่ระบบดังกล่าวควรจะเกิดขึ้นจากการติดตามตรวจสอบโดยประชาชน เช่น การมีข้อเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รายงานผลคะแนนเลือกตั้งจากหน่วยเลือกตั้งแบบข้ามวัน ไม่ใช่นับคะแนนเสร็จแล้วเก็บของกลับบ้าน หรือแม้แต่การรายงานผลแบบออนไลน์

ด้านข้อเสนอที่ให้มีการกำหนดบทลงโทษพรรคการเมืองที่ไม่ปฏิบัติตามนโยบายหาเสียงนั้น เรื่องของนโยบายเป็นข้อผูกพันทางการเมืองไม่ใช่ข้อผูกพันทางกฎหมาย หากรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งมาแล้วไม่ทำตามนโยบายประชาชนเขาก็ไม่เลือกในครั้งหน้า เขาก็ลงโทษผู้แทนของเขาที่ไม่สามารถทำได้ตามนโยบาย มันเป็นความรับผิดชอบทางการเมืองที่นักการเมืองจะต้องรับผิดชอบกับฐานเสียงที่เลือกตัวเองเข้ามา ส่วนเรื่องการกำหนดบทลงโทษ ส.ส.หรือ ส.ว.ที่ละเลยต่อหน้าที่ในการประชุมสภา ผมคิดว่ามันเป็นธรรมชาติของระบบสภาในช่วงท้ายที่นักการเมืองจะลงไปหาเสียง เพราะฉะนั้น สภาก็จะไม่ครบองค์ประชุม

ในส่วนของข้อเสนอที่ให้ผู้สมัคร ส.ส.เขตที่แพ้เลือกตั้ง ได้คะแนนสูงสุดในบรรดาผู้สมัครที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ให้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น ผมคิดว่ามาจากข้อกังวลเรื่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อว่าจะกลายเป็นพื้นที่ของนายทุน หรือผู้มีอิทธิพลภายในพรรค แต่ข้อกังวลดังกล่าวผมมองว่ามันมาจากมุมมองของคนที่กลัวนักการเมืองมองว่าถูกครอบงำโดยนายทุน เพราะฉะนั้น ต้องเอา ส.ส.เขตไปอยู่ในบัญชีรายชื่อ แต่ผมมองว่าจะยิ่งสร้างปัญหาที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะในระบบเลือกตั้งที่เราแก้กันมาใหม่เขาเรียกว่าแบบคู่ขนาน คือเลือกในบัตรสองใบและแยกกันไปเลย ประชาชนอาจจะเลือก ส.ส.เขตเพราะชอบคนนี้ นโยบายระดับชาติชอบอีกพรรค มันชัดเจนในตัวของมัน การจะนำกลับเข้ามาให้มาทับซ้อนกันใหม่ยิ่งจะสร้างปัญหาในการสร้างความรับผิดชอบต่อประชาชน และรวมไปถึงการใช้สิทธิของประชาชนด้วย การจะให้มานั่งคำนวณแบบใหม่ หรือเอา ส.ส.จากเขตไปอยู่ในบัญชีรายชื่อมันจะสร้างความสับสนไปมากขึ้นอีก และความสับสนตรงนี้หลายครั้งไปก่อให้เกิดประโยชน์กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างที่เราเห็นกันในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีพรรคเล็กพรรคน้อยปัดเศษขึ้นมา

ผมมองว่าข้อเสนอทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอของคนที่มองการเมืองไทยจากในอดีตมากเกินไป และกลัวว่านักการเมืองจะคอร์รัปชั่น ซื้อสิทธิขายเสียง ทั้งที่จริงแล้วคนที่เลือกคือประชาชนที่ตัดสินใจมาแล้ว ข้อเสนอจริงๆ มันควรจะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิได้ และสามารถตรวจสอบได้อย่างง่าย นี่คือสิ่งที่ต้องการ ข้อเสนอของ กมธ.แบบนี้ค่อนข้างไม่เชื่อมั่นประชาชน ผมมองว่าในปัจจุบันประชาชนไปไกลกว่านั้นแล้ว เงินอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ชนะการเลือกตั้ง อย่างน้อยที่สุดต้องมีเรื่องของนโยบาย หรือตัวบุคคลเข้ามาด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image