จับตาแบ่ง 400 เขตเลือกตั้ง ได้-เสียผลกาบัตร

จับตาแบ่ง 400 เขตเลือกตั้ง ได้-เสียผลกาบัตร หมายเหตุ - ความเห็น

จับตาแบ่ง 400 เขตเลือกตั้ง ได้-เสียผลกาบัตร

หมายเหตุความเห็นและข้อเสนอแนะของนักวิชาการกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แบ่งพื้นที่ 400 เขตรับการเลือกตั้งใหญ่ ส.ส.ที่จะมีขึ้นเร็วๆ นี้

ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Advertisement

จากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แบ่งเขตเลือกตั้ง จากเดิม 350 เขต เพิ่มเป็น 400 เขต จะส่งผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบต่อพรรคการเมืองต่างๆ หรือไม่อย่างไร ผมว่าเรื่องนี้ กกต.ควรต้องนำเขตเลือกตั้งที่แบ่งแล้วเสร็จ ออกมาให้ดูว่าหน่วยเลือกตั้งมีตรงไหนหั่นอะไรไปบ้าง เพราะว่าบางครั้งเขตเลือกตั้งมีหลายหน่วยเลือกตั้ง คราวนี้บางจุด บางหน่วยเลือกตั้งพรรคนี้ได้เปรียบ บางจุดอีกพรรคได้เปรียบ โดยรวมแล้วอีกพรรคหนึ่งอาจจะชนะ

ตอนนี้ถ้าถามว่าพรรคเล็กหรือพรรคใหญ่ได้เปรียบ ยังตอบยาก เพราะอย่างการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเมื่อปี 2562 มีข้อครหาค่อนข้างมากกับการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ดูประหลาดๆ ซึ่งตอนนี้เราก็ยังตอบไม่ได้ว่าในการเพิ่มจาก 350 เขต เป็น 400 เขตจะไปสัมพันธ์อะไรอย่างไร เรายังมองไม่เห็นว่ามีการตีเส้นแบ่งกันอย่างไร

ความจริงในเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งโดยธรรมชาตินั้น ไม่มีคำว่ายุติธรรมหรือเป็นธรรม 100% เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งโจทย์ว่า ต้องทำอย่างไรถึงจะได้เปรียบ-เสียเปรียบน้อยที่สุด คือเสียงเลือกตั้งแล้วสะท้อนเสียงจริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องทางสถิติ เราควรนำเรื่องสถิติมาดูประกอบ มาใช้ด้วย เช่น การย้อนการแบ่งเขตเลือกตั้งสัก 20 ปีก็ได้ว่าเขตนี้ควรจะแบ่งอย่างไร หรืออาจจะต้องใช้ทางเรื่องภูมิศาสตร์ หรือความเหมือนกันของประชากรก็ตาม ตรงนี้เป็นส่วนที่คนกำหนดเขตควรจะนำมาพิจารณา

Advertisement

อย่างเช่น ในปี 2562 เราจะเห็นว่าบางครั้งมีถนน 6 เมตรกั้นกันอยู่คนละเขต เป็นถนนในหมู่บ้าน หรือถนนเส้นเล็ก ผมว่าก็ดูประหลาด การกำหนดเขตต้องดูภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมประเพณีพวกนี้ด้วย คือถ้าเราจะให้ได้สมาชิกสภาผู้แทน (ส.ส.) ที่เป็นผู้แทนคนในพื้นที่ด้วย ก็ต้องมองแบบนี้ ไม่ใช่ว่าตัดเขตเพื่อให้เกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบของพรรคการเมืองโดยการนำสถิติ อย่างเช่น หน่วยเลือกตั้งนี้พรรค ก ชนะ และอีกหน่วยเลือกตั้งพรรค ก ก็ชนะ จึงนำ 2 หน่วยที่ชนะ ให้พรรคการเมืองที่ต้องการได้เปรียบ นำมารวมเป็นเขตเดียวกันเพื่อไปคานกับอีกหน่วยหนึ่งของอีกพรรคการเมือง ซึ่งอย่างนั้นไม่ได้คำนึงถึงความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์

ส่วนเรื่องความกังวลว่าจะมีการซ้ำรอยเหมือนการแบ่งเขตเลือกตั้งปี 2562 เรื่องนี้ผมยืนยันว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้นไม่ได้แฟร์ 100% อยู่แล้ว เพราะต้องมีการได้เปรียบเสียเปรียบกัน โดยวิธีใดวิธีหนึ่งโดยจงใจหรืออะไรก็ตาม เพราะฉะนั้นก็ต้องทำให้ได้เปรียบ-เสียเปรียบกันน้อยที่สุด แต่ปี 2562 ผมเข้าใจว่ามีอะไรบางอย่างที่ต้องการให้พรรคที่น่าจะชนะได้มี ส.ส.น้อยลงทั้งวิธีการคำนวณและวิธีการแบ่งเขต เราจะเห็นวิธีการคำนวณที่ไม่ไฟนัลสักที จนถึงนับคะแนนแล้วก็ยังไม่ไฟนัล การแบ่งเขตเลือกตั้งก็จะดูพิสดาร จากตรงนี้ช่องแคบเล็กๆ ก็อ้อมไปถึงข้างล่างก็ดูประหลาด เพราะอย่างนี้ถึงเห็นได้ชัด ผมคิดว่า กกต.ยุคนี้ ควรจะถอดบทเรียนจากตรงนั้นมากกว่าว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งควรจะเป็นอย่างไรไม่ให้เกิดข้อครหา

ทั้งนี้ จะมีเสียงค้านถึงการแบ่งเขตแบบนี้หรือไม่ เรื่องนี้ผมคิดว่ามี คือมีการเสียเปรียบกันอยู่แล้ว แต่จะเสียเปรียบมากน้อยคงต้องว่ากันอีกครั้ง เพราะฉะนั้น พรรคเล็กอาจจะเสียเปรียบมากหน่อย ถ้าเป็นการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบที่ไม่ใช่แบบที่ควรจะเป็น ส่วนการกำหนดวันเลือกตั้งต้องสภาหมดวาระ ซึ่งจะยุบสภาหรือหมดวาระก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

สำหรับในภาคประชาชนจะมีส่วนได้เสียอย่างไรกับการแบ่งเขตแบบนี้ เรื่องนี้มีแน่นอน สมมุติบางคนอยู่ปลายเขต และ ส.ส.คนเดิมทำไว้ดีมาก แต่พอมาจัดเลือกตั้งประชาชนในปลายเขตถูกจับไปอยู่เขตอื่น เขาก็ไม่รู้จะเลือกใคร เพราะจะเห็นในช่วงต้นของการหาเสียง ซึ่งไม่ตอบโจทย์แล้ว ความจริงการเลือกตั้งควรจะคงที่ตั้งแต่การเลือกตั้งในครั้งแรกๆ แต่นี่เราเปลี่ยนทั้งวิธีการเลือกตั้ง เปลี่ยนทั้งการแบ่งเขต ซึ่งเราเปลี่ยนแทบทุกอย่าง ผมก็ไม่เข้าใจว่าเปลี่ยนเพื่ออะไร

อย่างไรก็ดี เมื่อก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ประกาศใช้เขตเลือกตั้งแบ่งตามกระทรวงมหาดไทย แบ่งตามเขตแบบหยาบ ส่วนในรัฐธรรมนูญฉบับถัดไปเป็นอำเภอนี้อาจจะมีเขต 2 หรือเขต 3 มี ส.ส.ได้ 3 คน อย่างนี้จะชัด ส.ส.ก็ลงพื้นที่ง่าย แต่กลายเป็นว่าพอแบ่งเขตเปลี่ยนใหม่แทบจะทุกรายครั้ง ประชาชนก็เสียหาย

คือสรุปฉันจะดู ส.ส.คนไหนกันแน่ งงไปหมด และ ส.ส.หรือว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ถึงที่สุดแล้วควรจะไปทุ่มเทการหาเสียงด้วยเรื่องอะไร

สมชัย ศรีสุทธิยากร
ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย (สร.)
และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ปัญหาของ กกต.ในการแบ่งเขต มันมีตั้งแต่เริ่มต้นคือการคิดจำนวนของ ส.ส.ที่ได้ในแต่ละจังหวัดถูกต้องหรือไม่ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ กกต.ใช้จำนวนราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยเข้ามาร่วมในการคำนวณด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องหาคำตอบว่าการใช้วิธีการดังกล่าวนั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะจำนวนราษฎรตามที่สำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทยประกาศสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งปรากฏว่ากระทรวงมหาดไทยแยกออกเป็น 2 แบบ คือราษฎรที่มีสัญชาติไทยมี 65 ล้านคนโดยประมาณ และราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยประมาณ 900,000 คน รวมเป็น 66 ล้านคน ซึ่งตัวเลขนี้ กกต.นำไปใช้เป็นตัวตั้งหารด้วย 400 และนำไปคิดว่าแต่ละจังหวัดจะมี ส.ส.ได้กี่คนและแบ่งออกเป็นกี่เขต ผลที่เกิดขึ้นคือ จังหวัดที่มีผู้ที่ไม่ใช่สัญชาติไทยอยู่มาก เช่น เชียงใหม่ เชียงราย และตาก มี ส.ส.เพิ่มขึ้นจากเดิมจังหวัดละ 1 คน ซึ่งถ้าเราคำนวณโดยการนำคนที่ไม่ใช่สัญชาติไทยออก จังหวัดเหล่านี้จะเหลือเศษน้อยเกินกว่าจะได้รับการจัดสรรจำนวน ส.ส.เพิ่ม แลหลังจากนี้ถ้ารู้แน่ชัดว่าในแต่ละจังหวัดมี ส.ส.ได้กี่คน กกต.ต้องไปแบ่งเขตในจังหวัดนั้น

โดยประการหนึ่ง การยึดหลักว่าให้ใช้อำเภอเป็นหลัก แต่ก็สามารถแบ่งอำเภอบางอำเภอออกไปได้ คือเอาบางตำบลไปอยู่กับอีกเขตเลือกตั้งได้ แต่ไม่สามารถแบ่งตำบลได้

ประการที่สอง จำนวนของราษฎรในแต่ละเขตจะต้องมีจำนวนใกล้เคียงกัน ซึ่งไม่มีเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าเท่าไรเป็นเรื่องของวิจารณญาณ ถ้าหากแตกต่างกันมากก็เป็นสิ่งซึ่งทำให้เห็นว่า กกต.นั้นไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์นี้

ประการที่สาม คือพื้นที่ต้องติดกันและมีหนทางการคมนาคมโดยสะดวก หรือมีแนวทางภูมิศาสตร์ต่างๆ ที่แบ่งให้เห็นเด่นชัดขึ้นมา

ประการที่สี่ จะต้องมีความคุ้นเคยกับประชาชน อาจจะใช้คำว่าประชาชนเคยอยู่ในลักษณะการแบ่งเขตแบบนี้ โดยกระบวนการแบ่งเขตนั้นทางสำนักงาน กกต.จังหวัดจะต้องทำอย่างน้อย 3 รูปแบบ และประกาศให้ประชาชนในพื้นที่ทราบด้วยการติดประกาศตามศาลากลาง อบจ. เทศบาล อบต. และที่สำนักงาน กกต.จังหวัด รวมไปถึงการเผยแพร่ให้สื่อมวลชนในจังหวัดได้รับรู้ โดยมีระยะเวลาในการเผยแพร่และรับฟังความคิดเห็น 10 วัน

หลังจากนั้น สำนักงาน กกต.จังหวัดจะทำเรื่องสรุปส่งไปยัง กกต.กลางเพื่อตัดสินใจวินิจฉัยว่าจะใช้รูปแบบใดใน 3 รูปแบบนั้น ภายใต้เหตุผลที่รับฟังจากประชาชนและจากสำนักงาน โดย กกต.ได้วางแผนงานไว้ว่าจะใช้เวลา 25 วัน ซึ่งผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้เวลาขนาดนั้น จริงๆ ประมาณ 15 วันก็น่าจะเพียงพอด้วยซ้ำ

จากการเลือกตั้งปี 2562 กกต.เองก็ได้มีการแบ่งเขตตามเกณฑ์ที่อยู่ในกฎหมาย แต่หลังจากที่แบ่งเสร็จแล้วเกิดปัญหาคือ กกต.ไม่ยอมประกาศโดยอาจจะรอผู้มีอำนาจในบ้านเมืองส่งสัญญาณอะไรบางอย่าง และได้มีคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาว่าเนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่ามีการแบ่งเขตโดยไม่ได้ฟังความเห็นประชาชน

ดังนั้น ขอให้ กกต.มีการแบ่งเขตใหม่และไม่จำเป็นต้องยึดหลักการใดๆ และให้ถือเป็นที่สุด นี่คือคำสั่งที่ คสช.สั่งออกมา จากนั้นก็เกิดสภาพของปัญหาของการแบ่งเขตขึ้นมาในบางพื้นที่ที่มีลักษณะค่อนข้างที่จะอัปลักษณ์ เช่น สุโขทัย เขต 2 ซึ่งรวมเอาอำเภอทุ่งเสลี่ยมและอำเภอบ้านด่านลานหอย มาเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน ซึ่งสองอำเภอดังกล่าวมีลักษณะติดกันเป็นรูปนาฬิกาทรายและเป็นคอคอด โดยตรงพื้นที่คอคอดเป็นแนวสันเขา ไม่มีเส้นทางคมนาคมขนส่ง ซึ่งทำให้เป็นการไปเอื้อต่อผู้สมัครของพรรคการเมืองบางพรรคให้เขาได้มีคะแนนเสียงจากพื้นที่ที่เขามีคะแนนเสียงอยู่โดยที่นักการเมืองคนนั้นๆ มีความเชื่อว่าเขามีฐานคะแนนเสียงและมีหัวคะแนนในพื้นที่ดังกล่าว เพราะเขาหวังที่จะให้พื้นที่นั้นอยู่ในเขตเลือกตั้งของเขา

ในกรณีบางพื้นที่เรารู้สึกว่าเป็นฐานคะแนนเสียงของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ไม่ใช่พวกเรา เราก็ผ่าออกเป็นส่วนๆ ทำให้แทนที่อีกฝ่ายจะได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำ ก็จะได้คะแนนแค่บางส่วนที่ถูกผ่าออกมา ซึ่งเป็นเทคนิคในการแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อทำให้เกิดความได้เปรียบ หรือในจังหวัดนครราชสีมาก็มีการฉีกอำเภอเมืองออกเป็นสี่ส่วน และรูปแบบของการฉีกก็จะมีลักษณะเว้าแหว่ง ส่วนในการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 เราก็จะเห็นว่ามีการแบ่งเขตที่จังหวัดสมุทรปราการที่มีการนำ 2 ตำบลที่ไม่ติดกันมาอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกันและลากเส้นสมมุติบนพื้นที่ขึ้นมาว่ามีการเชื่อมต่อ

ดังนั้น ในปี 2566 ขึ้นอยู่กับประชาชนที่ต้องเฝ้าดูว่าสิ่งที่ กกต.ได้ประกาศออกมามีความเป็นเหตุเป็นผลและเหมาะสมเพียงใด ถ้ามีลักษณะที่พิสดารมากก็ควรจะต้องนำเสนอต่อสาธารณะให้ได้รับรู้

ทั้งนี้ เมื่อแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จ ทางพรรคการเมืองจะต้องไปทำไพรมารีโหวตในแต่ละเขต เพราะการส่งผู้สมัครเขตแต่ละเขตนั้นในกฎหมายพรรคการเมืองที่เพิ่งออกมาก็จะมีการพูดถึงขั้นตอนของการทำไพรมารีโหวตว่าจะต้องทำขั้นตอนอย่างไรบ้าง ซึ่งกระบวนการตรงนี้พรรคการเมืองที่มีความพร้อมสามารถทำได้โดยไม่ยาก เพราะง่ายกว่าสิ่งที่อยู่ในกฎหมายเดิม

 

 

อ่านข่าวน่าสนใจ:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image