มอง ‘ยื้อเวลา’ ยุบสภา เพื่อความพร้อม ‘รทสช.’

มอง ‘ยื้อเวลา’ ยุบสภา เพื่อความพร้อม ‘รทสช.’

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รายงาน ครม.ขอเวลา 1 เดือน อย่าเพิ่งยุบสภา เนื่องจากต้องรอ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งให้เสร็จหลังวันที่ 28 ก.พ.นี้ และขออีก 15 วัน ให้พรรคเล็กทำไพรมารีโหวตและจัดตั้งสาขาพรรค จะถูกมองเป็นการยื้อเวลา ชิงความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งหรือไม่

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

หากมองในด้านจุดยืนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เกี่ยวกับการวอนขอนายกรัฐมนตรีอย่าเพิ่งยุบสภา ดูแล้วมีเหตุผลเนื่องจาก พ.ร.ป. 2 ฉบับ ว่าด้วยการเลือกตั้งและพรรคการเมือง เพิ่งประกาศใช้ ต้องใช้เวลาและต้องมีเวลายืดหยุ่นในการกำหนดเขตเลือกตั้ง ส่วนเขตเลือกตั้งจะเป็นธรรมหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หลักการปกติจะใช้เวลาประมาณ 25 วัน ก็เสร็จแล้ว อาจจะให้เวลาไป 1 เดือนเลย นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ก็สามารถยุบสภาได้ เพราะได้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคลแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ผ่านไปแล้ว

Advertisement

แต่การที่นายวิษณุ เครืองาม ขอให้มีการขยายเวลาออกไป 45 วัน เพื่อให้พรรคการเมืองที่ประสงค์ลงสมัครรับเลือกตั้งมีความพร้อม เนื่องมาจากรัฐธรรมนูญแก้เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ พรรคใหญ่ได้เปรียบเพราะทำไพรมารีโหวต มีสาขาพรรคการเมืองแล้ว แต่ยังมีพรรคการเมืองเล็กที่ยังเสียเปรียบ การให้เลือกตั้งเร็วเกินไป อาจจะไปจำกัดสิทธิพรรคเล็กที่มีความต้องการจะลงสมัครรับเลือกตั้งก็ได้ มองดูเหมือนกับยืดหยุ่นให้กับพรรคเล็ก

แต่อีกด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลประโยชน์ต่อพรรคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ด้วย จะได้มีเวลาในการเตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นการทำไพรมารีโหวต และยังเป็นการระดมหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในโค้งสุดท้ายของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) หากนับไปแล้วก็จะเหลือเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ก็จะครบวาระ เป็นการเอื้อให้กับพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็ก รวมทั้งพรรคเกิดใหม่

หากมองไปแล้วการขยายเวลาการยุบพรรคถือว่าพรรค รทสช.ได้โอกาสพ่วงไปด้วย เพราะเป็นพรรคเกิดใหม่ ไม่มีสาขาพรรคการเมือง และยังไม่ได้ทำไพรมารีโหวต โดยหลักการทำไพรมารีโหวตสามารถทำได้เร็ว หลังจาก พ.ร.ป.ประกาศใช้แล้วมีเวลาประมาณ 1 เดือนเศษ หากมาดูกลไกในการดำเนินการซึ่งเกี่ยวข้องกับตัวบุคคล ไม่ง่ายเหมือนที่คิด เพราะต้องใช้ทั้งคน ทรัพยากร และเครือข่าย พรรคใหญ่ได้เปรียบหมด พรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก พรรคเกิดใหม่ หากไม่มีอำนาจจริงๆ ก็จะมีข้อจำกัด

Advertisement

การที่นายวิษณุพูดก็มองได้ 2 มุม เอื้อพรรคขนาดเล็ก พรรคขนาดกลาง เพื่อให้โอกาสในการเลือกตั้งเพราะเสียเปรียบจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน พรรคเกิดใหม่และเป็นพรรคที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ผลประโยชน์ในส่วนนี้ไปด้วย

ส่วนการยุบสภาที่เหมาะสมนั้น สามารถยุบได้ตลอด 25 วัน ถือว่าเป็นการเพียงพอแล้ว เพราะผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ลงมติผ่านไปแล้ว และ กกต.สามารถแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จหมดแล้ว แต่ก็ต้องเห็นใจพรรคเล็ก พรรคขนาดกลาง และพรรคเกิดใหม่ ที่มีความประสงค์ลงสมัครรับเลือกตั้งจะเสียโอกาส

ในช่วงนี้ที่ กกต.ขอเวลาไปคาบเกี่ยวกับการการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะมีผลกระทบต่อรัฐบาลอย่างแน่นอน ถ้าฝ่ายค้านอภิปรายเรื่องทุนจีน ผมเชื่อว่ารัฐบาลตอบยากแน่นอน โดยเฉพาะโยงคนใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องต่อมาคือเกี่ยวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขณะนี้เสื่อมความศรัทธามาก การปฏิรูปก็ล้มเหลว ทั้งหมดเป็นข้อสัญญาของ พล.อ.ประยุทธ์กับประชาชน 8 ปี แต่ทำไม่ได้เลย ปัญหายิ่งหมักหมม ขาดความเชื่อมั่น ประกอบกับ พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นผู้กำกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการปล่อยปละละเลยทำให้เกิดปัญหาได้อย่างไร

หากพ่วงเรื่องเกี่ยวกับการซื้อขายผลงานวิชาการของกระทรวง อว.ไปด้วย การอภิปรายไม่มีการลงมติก็จริง แต่ทั้ง 3 เรื่องนี้พรรคฝ่ายค้าน สามารถเอาไปหาเสียงชี้ประเด็นในเรื่องความล้มเหลวของคนที่จะไปต่อ ทั้งที่ 8 ปีที่ผ่านมายังทำให้ตำรวจเสื่อมขนาดนี้ 8 ปียังให้เจ้าพ่อมาเฟียมีอิทธิพล และจะขอเวลาจะไปต่อได้อย่างไร คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์กลัวเรื่องนี้มาก เพราะจะเป็นประเด็นฝ่ายค้านไปหาเสียงได้ ส่วนรัฐบาลจะหนีการอภิปรายก็หนีได้ แต่มีเงื่อนไขจะต้องเตรียมความพร้อมมากที่สุด

หากมีการอภิปรายเชื่อว่าจะส่งผลกระทบรัฐบาลแน่นอน เป็นเรื่องที่สังคมจับตามอง โดยเฉพาะเรื่องที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาเปิดโปงตำรวจ ซึ่งอยู่ในความดูแลของนายกฯทั้งนั้น ทำให้ทุกคนตั้งคำถามว่าบริหารงานมาแล้ว 8 ปี ยังล้มเหลว หากต่อไปอีก 2 ปี จะล้มเหลวอีกขนาดไหน เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะต้องไปต่อ ไม่สนใจในเรื่องที่ผ่านมา ตอนนี้อยู่ในภาวะหน้ามืด อยู่ในภาวะเสพติดอำนาจลงไม่ได้ เพราะไม่มั่นใจกลัวพี่ชายว่าจะไปร่วมมือทรยศกับอีกพรรคหนึ่ง ประกอบกับตัวเองเมื่อลงจากอำนาจแล้ว กลัวว่าอำนาจจะหมดไปทันที จึงต้องอยู่ต่อ

หากพรรครวมไทยสร้างชาติชนะการเลือกตั้ง อาจจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้อยู่ต่อได้ 4 ปี เพราะมี ส.ว.และได้เป็นรัฐบาล อาจใช้วิธีจัดตั้งมวลชน 1-2 ล้านคน ไปเสนอให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้นายกฯสามารถอยู่ต่อไปได้ โดยไม่ต้องกำหนดวาระในการเป็นนายกฯ เพราะก่อนหน้านี้เสียงไม่ถึง แต่คราวนี้ ส.ว.ไม่มีคนเริ่ม รัฐบาลไม่ได้ทำ แต่มาจากประชาชนเข้าชื่อกันเสนอให้มีการแก้ไขปลดล็อกการดำรงตำแหน่ง 8 ปี จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์สามารถอยู่ต่อได้อีกนาน

รศ.ตรีเนตร สาระพงษ์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

การสื่อสารของนายวิษณุ เครืองาม ขอเวลาอีก 1 เดือน ทำให้เชื่อได้ว่าการยุบสภาเกิดขึ้นแน่นอน คงไม่ปล่อยให้รัฐสภาอยู่ครบวาระเพราะต้องทำการเลือกตั้งภายใน 45 วัน หลังครบวาระ ซึ่งการยุบสภาจะได้มีเวลาหายใจหายคอออกไป 45-60 วัน การที่ กกต.ขอเวลาอีก 45 วัน น่าจับตาว่า 45 วันนับจากนี้จะยุบสภาในวันใด ที่หลายฝ่ายฟันธงว่าจะยุบสภาหลังการอภิปรายทั่วไป ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดหนักเพราะการยุบสภาหลังอภิปรายทั่วไป อาจทำให้เสียคะแนนนิยม ฝ่ายค้านอาจออกมาเปิดเปิงการทำงานของรัฐบาล และการชิงยุบสภาอาจถูกตำหนิได้ อย่างไรก็ตาม การอภิปรายทั่วไปในอีกมุมหนึ่งก็อาจเป็นประโยชน์กับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้ เพราะรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลกำลังจะกลายเป็นพรรคคู่แข่งในสนามเลือกตั้งอาจถูกอภิปรายทำให้เสียคะแนนความนิยมได้ เมื่อชั่งน้ำหนังทางได้เสียทุกทางแล้วก็น่าเชื่อว่าจะยังไม่ยุบสภา เพราะเวลาทุกวินาทีที่จะยื้อออกไปได้สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ ล้วนแต่มีคุณค่า

มองไปที่เหตุผลของ กกต.อ้างการจัดเตรียมการเลือกตั้งก็ดี การให้พรรคเล็กทำไพรมารีโหวตก็ดี การจัดตั้งสาขาพรรคก็ดี ก็เป็นความจริงแต่อาจเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว และเป็นความจริงที่ถูกเซตขึ้นมา เพราะไทม์ไลน์การเลือกตั้งควรที่จะกำหนดช้าเร็วได้ เพียงแต่การมีเจตนาที่จะทำไม่ทันหรือแบ่งเขตเลือกตั้งไม่เสร็จที่เป็นเงื่อนไขขวางการยุบสภานั้นมีให้เห็นมาตั้งแต่การที่กรมการปกครองส่งจำนวนประชากรให้ กกต.ล่าช้าแล้ว นั่นก็สามารถบอกความจริงอีกครึ่งหนึ่งได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่พร้อม

เมื่อถามลึกลงไปว่าทำไมยังไม่พร้อม หรือมีเหตุผลอะไรเหตุใดจึงต้องดึงเวลาการยุบสภาออกไป คำตอบก็น่าจะเป็นเรื่องความพร้อมทางการเมืองของพรรค รทสช.ที่ออกตัวช้าสุด เพราะมีความชัดเจนจาก พล.อ.ประยุทธ์ ช้าสุด แต่กลับคาดหวังจะได้จำนวน ส.ส. ที่จะได้มากพอที่จะเสนอชื่อนายกฯได้ และอาจคิดไปไกลถึงจำนวน ส.ส. ที่มีผลต่อโควต้ารัฐมนตรี หากมองย้อนไปถึงการแต่งตั้งข้าราชการการเมืองจากพรรค รทสช.มาห้อมล้อมทำงานรอบกาย พล.อ.ประยุทธ์ก็เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนัก

อีกทั้งช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ที่สามารถเรียกคะแนนเสียงจากประชาชนย้ายเข้าพรรคมากขึ้น เชื่อว่าจะยังมี ส.ส.ที่ยังไม่ชัดเจนให้รอเก็บตกอยู่บ้าง เช่น กลุ่มสามมิตร หรือเหล่าคนดังที่อาจย้ายมาเข้าร่วมเพิ่มเติม นอกจากนั้น การที่เพิ่งเริ่มเห็นหน้าตาทีมงานก็ยังต้องใช้เวลาสร้างภาพจำแก่ประชาชนภายใต้แบรนด์ใหม่ พรรคใหม่ก็ต้องให้เวลา รวมถึงการวางเครือข่ายหัวคะแนนในพื้นที่ก็ดี การโยกย้ายข้าราชการก็ดี รวมถึงการออกนโยบายของรัฐบาลในช่วงโค้งสุดท้ายและติดตราโลโก้ผลงาน พล.อ.ประยุทธ์ ที่บอกเล่าผลงานรัฐบาลมากขึ้นเหล่านี้ล้วนบ่งบอกได้ว่ายุบสภาตอนนี้ไม่ได้

ปรากฏการณ์ กกต.ที่ชงไทม์ไลน์ และรัฐบาลรับลูกผ่านภาพความไม่พร้อมของพรรค รทสช.จึงทำให้เห็นภาพชวนสงสัยว่า กกต.ไม่พร้อมหรือ พล.อ.ประยุทธ์ไม่พร้อม และแน่นอนการยุบสภาแทบจะเสี้ยวนาทีสุดท้ายก่อนครบวาระ

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่

กรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอเวลา 1 เดือนอย่าเพิ่งยุบสภาในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อให้ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขตให้เสร็จก่อน ว่า เป็นการส่งสัญญาณว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่ยุบสภาในเร็วๆ นี้ เนื่องจากรัฐบาลครบวาระวันที่ 23 มีนาคม ยังเหลือเวลาเกือบ 2 เดือน ไม่มีความจำเป็นรีบเร่งยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ สะท้อนว่าพรรคร่วมรัฐบาลอาจยังไม่พร้อมลงสนามเลือกตั้งจึงต้องยื้อ หรือถ่วงเวลาออกไปให้นานที่สุดก่อนยุบสภาต้นมีนาคมนี้ เพื่อจัดเลือกตั้งใหม่

พรรคร่วมรัฐบาล 2 พรรคใหญ่ คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นพรรคใหม่ และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการบริหารพรรค และรวบรวม ส.ส.พรรคอื่นเข้าสังกัด ตามกฎหมาย หากรัฐบาลอยู่ครบวาระ ผู้สมัคร ส.ส.ต้องเป็นสมาชิกพรรคภายใน 90 วัน หรือภายในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ ถ้ายุบสภาก่อนครบวาระต้องเป็นสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 30 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง ทำให้ รทสช.และ พปชร.มีเวลาช้อปหรือดึง ส.ส.พรรคอื่น เข้ารังได้มากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้า และได้ผู้นำประเทศคนใหม่ด้วย

การที่นายวิษณุพูดและส่งสัญญาณให้ทุกพรรครับทราบเพื่อเตรียมเลือกตั้ง เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ต่างรับรู้เป็นอย่างดี และสนองตอบตามแนวทางที่นายวิษณุ นำเสนอใน ครม. เพราะทำให้ รทสช.และ พปชร.ได้เปรียบทางการเมืองมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคเล็กและ ส.ส.ต่างพรรค เข้ามาร่วมกับพรรคดังกล่าวมากขึ้นตามลำดับ สังเกตจาก พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าพรรครวมแผ่นดิน (รผด.) ได้กลับคืนสู่ พปชร.แล้ว เพื่อช่วยความฝัน พล.ประวิตร ก้าวไปสู่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ รผด.ควบรวมกับ พปชร. เป็นพรรคเดียวกัน ทำให้ พปชร.เป็นพรรคใหญ่ขึ้นส่งผลให้มีอำนาจต่อรองจากกลุ่มนายทุนและผู้สนับสนุนสูงกว่าพรรคอื่น ซึ่ง พปชร.จัดงานเลี้ยงเพื่อระดมทุน ได้เงินเข้าพรรคถึง 510 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นทุนเลือกตั้งด้วย

ส่วนประเด็นที่ให้พรรคเล็กทำไพรมารีโหวตคัดเลือกผู้สมัคร และจัดตั้งสาขาพรรคนั้นไม่น่าเกี่ยวข้องกับการขอ ครม.อย่าเพิ่งยุบสภา เพราะมีกฎหมายประกอบการเลือกตั้ง 2 ฉบับแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำไพรมารีโหวตอีก เพราะไม่มีผลต่อเลือกตั้ง ยกเว้นเลือกตั้งใช้บัตร 2 ใบ เลือกทั้งพรรคทั้งคน ที่ทำให้พรรคเล็ก เสียเปรียบพรรคใหญ่เท่านั้น

ข้อเสนอนายวิษณุสะท้อนให้เห็นสภาพการเมืองและเลือกตั้ง ยังไม่นิ่ง อยู่ในช่วงฝุ่นตลบทั้งพรรคทั้งคน อาจเห็น ส.ส.ย้ายพรรค และควบรวมพรรคมากขึ้น เพื่อเป็นฐานก้าวสู่อำนาจและผลประโยชน์ โดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร ที่ทุ่มสุดตัว ลุยหาเสียงหนักขึ้น เพราะเป็นโอกาสสุดท้ายแล้ว ถ้าไม่คว้า คงต้องถึงเวลายุติบทบาท และพักผ่อนเสียที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image