ชี้โพรงให้‘กกต.’ งบหาเสียง ส.ส.

ชี้โพรงให้‘กกต.’ งบหาเสียง ส.ส.

หมายเหตุความเห็นและข้อเสนอแนะของนักวิชาการกรณีนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาการกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งแยกเป็น ส.ส.คนละ 1.5 ล้านบาท และพรรคการเมือง 35 ล้านบาท สอดคล้องกับสถานการณ์และเวลาหรือไม่

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

Advertisement

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดวงเงินให้กับพรรคการเมืองและผู้สมัคร ส.ส.เขตในแง่ของความเป็นจริงแล้วดูเหมือนว่าต้องการจะควบคุมการใช้งบประมาณให้มีความเท่าเทียม โดยไม่ให้พรรคการเมืองใหญ่ใช้งบจนเกินจำเป็น จึงพยายามทำให้การจัดการเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ในความเป็นจริงแล้วหลายคนไม่เชื่อว่างบประมาณที่ ส.ส.หรือพรรคการเมืองใช้ทุ่มหาเสียงจะมีวงเงินเพียงเท่านี้จริง ซึ่งก็จะกลายเป็นปัญหาสุ่มเสี่ยงในการถูกร้อง หรือการโฆษณาเกินจริง กลายเป็นการเพิ่มภาระของ กกต.ในการจะวินิจฉัยภายหลัง หรือช่วงก่อนการเลือกตั้ง จะมีการฟ้องร้องกันอุตลุด 1.5 ล้านบาท แน่นอนว่าในห้วงระยะเวลา 45 วัน ถ้ามานั่งคำนวณเป็นรายวันก็ต้องอย่าลืมว่าค่าประชาสัมพันธ์ต่างๆ บางสิ่งบางอย่างแม้ว่าจะมีตัวประจักษ์พยานบอกว่าไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ กกต.ก็อาจจะไม่ยินยอมให้มีการใช้ความเห็นแบบนั้นได้ นั่นหมายความว่ามัน “ย้อนแย้ง” ไม่สอดคล้องตามสภาพความจริง เพราะบางทีผู้สมัครเขาระมัดระวังในการใช้งบประมาณเพื่อไม่ให้เกินวงเงิน บางครั้งก็อาจจะเป็นลักษณะขอความร่วมมือ

แต่ กกต.ใช้ดุลพินิจวินิจฉัย อย่างเช่น การใช้แอดมิน หรือการใช้เพจเฟซบุ๊กในการเปิดตัว หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ ก็ต้องมีค่าใช้จ่าย แต่ถ้าคณะทำงานเขาไม่คิดเป็นมูลค่า กกต.จะทำอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่า กกต.คงวินิจฉัยว่าจะต้องมีค่าแรง นี่คือตัวอย่างให้เห็นว่าเป็นความย้อนแย้งที่สร้างอุปสรรคและปัญหาของตัวผู้สมัคร วงเงิน 1.5 ล้านบาท ก็ต้องระมัดระวัง ใช้แบบคุ้มค่ามากเพื่อไม่ให้เกินวงเงินเพราะต้องทำบัญชีค่าใช้จ่ายต่างๆ ไปยัง กกต. และระยะเวลา 45 วัน ผมคิดว่าพรรคการเมืองขนาดเล็กอาจจะทำได้ แต่สำหรับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เราก็เห็นอยู่ว่างบประมาณที่ใช้ประชาสัมพันธ์ไม่ค่อยเป็นธรรมซึ่งแน่นอนว่าเขาต้องการสร้างสีสัน สร้างเนื้อหาให้เกิดความดึงดูดใจให้กับประชาชน หรือผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง

ผมคิดว่า กกต.คงจะต้องมีการเรียกประชุมกับตัวแทนพรรคการเมืองและผู้สมัครทุกคนว่าข้อสงสัยต่างๆ มีอะไรที่ผู้สมัครทำได้หรือไม่ได้บ้าง อะไรที่สามารถคิดเป็นมูลค่าที่จะอยู่ในบัญชีค่าใช้จ่ายได้ คือ กกต.ต้องชี้แจง หากปล่อยไว้แบบนี้มีการฟ้องกันอุตลุดแน่นอน ผมคิดว่าทุกคนจะใช้สื่อการหาเสียงในรูปแบบของสื่อออนไลน์มากขึ้นเพราะจะประหยัดค่าใช้จ่าย ถ้าในรูปแบบของป้ายหาเสียง หรือติดตามจุดสำคัญๆ รวมไปถึงการใช้รถแห่อาจจะต้องลดจำนวนกิจกรรมการออกพบปะประชาชนในพื้นที่เขต แต่สื่อออนไลน์ต่างๆ เช่น การใช้คนเข้าไปติดตาม ตอบคำถาม หรือยิงโฆษณาบนเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม เพื่อประชาสัมพันธ์ หรือแนะนำตัวผู้สมัคร ผมคิดว่าค่าใช้จ่ายมันอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้เพราะใช้คนไม่มาก ตรงนี้มันเป็นเรื่องที่ใหม่และผมคิดว่ายังไม่มีการกำหนดวงเงิน หรือค่าตอบแทนคนที่จะมาดูแลรับผิดชอบพูดง่ายๆ ว่าทั้งพรรคการเมืองและผู้สมัครจะใช้พื้นที่ตรงนี้ในการต่อสู้มากขึ้น

Advertisement

รูปแบบการหาเสียงแบบเดิมยังคงดำรงอยู่แต่จะลดน้อยลง เพราะอย่าลืมว่าในเวทีหาเสียงตามจังหวัดใหญ่ๆ คิดดูว่ามันค่าใช้จ่ายเท่าไร ทั้งเวที การติดตั้งเครื่องเสียง ถ้ายิ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่ๆ จะต้องไปพื้นที่ใหญ่ๆ มาก วงเงิน 35 ล้านบาท บางทีก็ดูย้อนแย้งว่าจะเกินงบกับที่ กกต.กำหนด

วันชัย จึงวิบูลย์สถิตย์
นักวิชาการอิสระ

กกต.มีการตั้งงบประมาณในการหาเสียงของ ส.ส.และพรรคการเมือง หากกล่าวในเรื่องของหลักการคนที่เล่นการเมืองจริงๆ ไม่ต้องลงทุนถึง 1.5 ล้านบาท ตามที่ กกต.กำหนด เพราะในความเป็นจริงหากมีคุณงามความดีในเขตที่ลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ต้องใช้เงินเยอะ ขึ้นป้ายไม่กี่แผ่นคนก็รู้จักแล้ว แต่หากคิดในแง่ของเศรษฐศาสตร์มองดูแล้วเงิน 1.5 ล้านบาท น้อยมากสำหรับจะให้ ส.ส.ใช้ในการหาเสียง ทั้งการระดมทำป้าย เอาคนไปเดินหาเสียง ทำให้ต้องใช้เงินเยอะ รวมทั้งการใช้เงินนอกระบบเพื่อเรียกคะแนนเสียง ก็ต้องยอมรับว่าเลือกตั้งยุคนี้ปูพื้นด้วยการใช้เงิน

ส่วนพรรคการเมืองตั้งงบ 35 ล้าน ในการหาเสียงถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาเพราะต้องใช้งบในการหาเสียง อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคการเมืองจะต้องส่งผู้ลงสมัคร ส.ส. 400 เขตจะเหลือเท่าไหร่ในการหาเสียง จริงๆ แล้วหากจะต้องแฟร์กันจริงๆ ไม่ต้องจำกัดวงเงินของพรรคการเมืองก็ได้ หากพรรคการเมืองมีคุณภาพและคุณงามความดี ไม่จำเป็นจะต้องใช้เงินมาก แต่ปัจจุบันที่ใช้เงินหาเสียงกันอย่างมากมาย มองดูแล้วก็เลอะเทอะไปหมด โดยมีผลมาจากการควบคุมกติกาไม่เข้มงวด ทั้งที่ความเป็นจริงการหาเสียงควรอยู่ภายใต้กฎกติกาที่กำหนด และอย่าทำผิดกฎระเบียบ แล้วปล่อยให้มีการใช้เงินหาเสียงได้อย่างเต็มที่ ในเมื่อไม่ทำผิดก็ไม่ต้องกลัวกฎหมาย

การที่ให้พรรคการเมืองใช้เงินได้ 35 ล้านบาท แต่มาดูผู้สมัคร ส.ส.ใช้เงินไม่เกิน 1.5 ล้านบาท หากพรรคต้องการสนับสนุนผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง 400 เขต คิดดูหากพรรคการเมืองต้องการสนับสนุนเขตละ 1 ล้านบาท ก็ต้องใช้เงินไป 400 ล้านบาท ซึ่งขัดกับความเป็นจริง เป็นเรื่องที่น่าคิดเหมือนกัน

หากมองการเลือกตั้งในพื้นที่ จ.ชลบุรี จะเห็นว่ามีคนต่างถิ่นย้ายเข้ามาในพื้นที่จำนวนมาก ทำให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งคุมเสียงเลือกตั้งลำบาก เพราะเป็นคนต่างถิ่นที่ย้ายเข้ามาทำงาน เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก การหาเสียงก็เปลี่ยนไปอีกรูปแบบหนึ่ง ส่วนจังหวัดอื่นๆ ไม่มีความเคลื่อนไหวของประชากรก็จะมีผลกับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่อยู่ในพื้นที่เพราะรู้จักกันดี การหาเสียงก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง อาจจะอาศัยอำนาจบารมีได้

การหาเสียงโดยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในโซเชียลจะมีผลเยอะมาก จึงอยากให้เน้นให้ว่าที่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ไปออกรายการต่างๆ หลังจากนั้นนำมาเสนอในโลกโซเชียลทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย ที่สำคัญอยากให้ กกต.เน้นการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนมากๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง จะได้ตัดสินใจเลือกคนดีมีความรู้เข้าไปบริหารประเทศ

ปฐวี โชติอนันต์
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

วัตถุประสงค์ของการกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง คือ 1.ให้เกิดความเท่าเทียมกันของผู้สมัคร และพรรคการเมืองในการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคที่ใหญ่และพรรคที่เล็กจะสามารถใช้งบประมาณในการหาเสียงได้เท่ากัน สิ่งนี้ตัดปัญหาความได้เปรียบของพรรคใหญ่ที่มีทรัพยากรจำนวนมากในการใช้จ่ายในการหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง 2.การกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งมีขึ้นเพื่อให้พรรคการเมืองใช้จ่ายงบประมาณสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ สิ่งนี้เป็นการป้องกันการใช้จ่ายเงินอย่างไม่เป็นประโยชน์ของพรรคการเมืองและผู้รับสมัครเลือกตั้ง

จากข้อมูล POLITICAL FINANCE DATABASE ที่มีการสำรวจประเทศที่มีการใช้กฎหมายการใช้จ่ายเงินหาเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปใน 197 ประเทศ พบว่ามี 84 ประเทศที่มีกฎหมายกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง มี 82 ประเทศที่ไม่มีกฎหมายในลักษณะนี้ มี 5 ประเทศที่ไม่มีข้อมูล และมี 3 ประเทศไม่สามารถบอกได้ ประเทศไทยเป็น 1 ใน 84 ประเทศที่ใช้กฎหมายกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี พ.ศ.2566 นี้มีการใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ซึ่งเคยได้ใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปของไทยในวันที่ 24 มีนาคม 2562 มีมาก่อนแล้ว ในตัวกฎหมายมีใจความที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินของผู้สมัครและพรรคการเมืองคือ มีการกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งคือ ส.ส.คนละ 1.5 ล้านบาทและพรรคการเมือง 35 ล้านบาท ถ้าถามว่างบประมาณดังกล่าวพอไหมสำหรับพรรคการเมืองและผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ผมตอบได้เพียงว่าขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการงบประมาณของพรรคเมืองและผู้สมัครในแต่ละพื้นที่ว่าเขาจะมีความสามารถมากน้อยแค่ไหนในการใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ผมมีข้อสังเกตในเรื่องของการใช้เงินหาเสียงในการเลือกตั้ง 2 ข้อ

1.ถึงแม้จะมีการกำหนดจำนวนเงินในการหาเสียงเลือกตั้งก็จริง แต่พรรคและผู้ที่เป็น ส.ส.ของพรรคฝ่ายรัฐบาลจะมีความได้เปรียบมากกว่าพรรคและผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้าน หรือผู้สมัคร ส.ส.คนอื่นๆ เนื่องจากคนกลุ่มแรกนั้นได้ลงพื้นที่หาเสียงผ่านการจัดทำนโยบายให้กับประชาชนในพื้นที่ในนามรัฐบาลมาตลอด 4 ปี สิ่งเหล่านี้ทำให้พรรคการเมืองและผู้สมัคร ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมีความได้เปรียบในการรักษาพื้นที่ของตนเองและสร้างฐานเสียงใหม่ๆ ในพื้นที่ของ ส.ส.พรรคฝ่ายตรงข้าม

2.ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 วงเล็บ 1 มาตรา 68ที่ระบุให้คณะกรรมการเลือกตั้งกําหนดให้มีวิธีการหาเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องปฏิบัติ ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรให้กระทําได้ตั้งแต่หนึ่ง 180 วันก่อนวันครบอายุ จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง เช่นเดียวกับการคำนวณค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งที่ระบุไว้ในมาตรา 64 วงเล็บ 1 ดังนั้น ถ้าวาระของสภาผู้แทนราษฎรจะครบวาระวันที่ 24 มีนาคม 2566 กำหนด 180 วัน ก่อนครบวาระ จะอยู่ที่วันที่ 24 กันยายน 2565 กฎหมายดังกล่าวยิ่งทำให้พรรคฝ่ายรัฐบาลและ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลยิ่งได้เปรียบ เนื่องจากในห้วงเวลาดังกล่าวพรรคฝ่ายค้านและ ส.ส.ของพวกเขาต้องระวังการใช้จ่ายเงินในการลงพื้นที่และการหาเสียง ไม่สามารถนำเงินลงไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือผู้เดือดร้อนได้ ผิดกับทางพรรคฝ่ายรัฐบาลและ ส.ส.ของพวกเขาที่สามารถลงพื้นที่ในนามรัฐบาล และไม่ต้องระวังตัวมากในการใช้จ่ายเงิน เพราะเงินที่ใช้จ่ายในการลงพื้นและช่วยเหลือประชาชนมาในรูปแบบนโยบายของรัฐมากกว่า จากที่กล่าวมา ภายหลังวันที่ 24 กันยายน 2565 เราจะเห็น ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านเวลาติดป้ายแนะนำตัวพร้อมผลงาน หรือโพสต์ภาพกิจกรรมผลงานลงเฟซบุ๊ก จะต้องมีการระบุข้อความ ผลิตโดย ที่อยู่ : อำเภอ จังหวัด รหัสไปรษณีย์ จำนวนที่ผลิต : – ชิ้นวันที่ผลิต : ตามที่ปรากฏ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการทำผิดกฎหมายหาเสียงในการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม งบประมาณในการหาเสียงในพื้นที่ออฟไลน์และโลกออนไลน์ต้องถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายด้วย

การหาเสียงของพรรคการเมืองและผู้สมัคร ส.ส.ควรมีการปรับปรุง หรือประยุกต์ไหม คิดว่าพรรคการเมืองและผู้สมัคร ส.ส.มีการปรับตัววิธีการหาเสียงตามกลุ่มฐานเสียงคะแนนที่ตนคิดว่ามีโอกาสจะได้อยู่แล้ว การเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ.2562 ที่ผ่านมานั้นพรรคการเมืองบางพรรคที่มีฐานเสียงเป็นคนรุ่นใหม่ คนในเมือง คนที่บ้านมีรั้ว เขาเหล่านั้นได้หันมาใช้วิธีการหาเสียงผ่านการยิงโฆษณาลงยูทูบและเฟซบุ๊ก หรือมีการไลฟ์สดในเฟซบุ๊ก เพื่อให้เห็นกิจกรรมต่างๆ ของผู้สมัคร

นอกจากนี้ พรรคการเมืองที่มีฐานเสียงในพื้นที่ต่างจังหวัดที่อยู่ในเมือง พื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท หรือชนบท มีการจัดเวทีปราศรัยใหญ่ในการหาเสียง นำผู้บริหารพรรค บุคคลสำคัญของพรรค และผู้สมัครของพรรคมาปราศรัยนำเสนอนโยบายให้ประชาชนได้รับทราบและเห็นหน้าผู้สมัคร อย่างไรก็ตาม ส.ส.ที่เป็นเจ้าของพื้นที่เดิมมีความได้เปรียบอย่างมาก เนื่องจากเขามีฐานคะแนนเสียงเดิม มีเครือข่ายในท้องถิ่น ประกอบกับยิ่ง ส.ส.ท่านนั้นลงมาทำงานในพื้นที่ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เขาได้ใช้จ่ายเงินของเขาในการสร้างฐานเสียงและรักษาฐานเสียงเดิมก่อนที่จะถึงเวลาที่กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมค่าใช้จ่ายจะมีการกำหนดช่วงเวลาในการใช้เงินหาเสียง เมื่อถึงเวลาที่มีจะมีการเลือกตั้งเขาไม่จำเป็นต้องใช้เงินหาเสียงจำนวนมาก เพราะเขาทำงานในพื้นที่มาตลอด คนในพื้นที่รู้จักเขาและพรรคการเมืองที่เขาสังกัด ผิดกับคนที่พึ่งมาลงรับสมัครในการเลือกตั้ง ถ้าเขาไม่เคยทำงานในพื้นที่มาก่อน หรือพึ่งมาทำ การใช้เงินหาเสียงต้องมากตามไปด้วย เพื่อให้คนได้รู้จักหน้าตาและพรรคที่เขาสังกัด

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คนจะเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัคร ส.ส.คนใด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินหาเสียงมากหรือน้อย แต่ขึ้นกับการทำงานและความสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ว่า ผู้สมัครคนไหนทำประโยชน์ให้กับเขาได้มากกว่า และนโยบายของพรรคการเมืองไหนที่ตรงกับความต้องของประชาชนในพื้นที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image