เคลียร์ให้ชัดก่อนเลือกตั้ง เหมาเข่งต่างด้าวแบ่งเขต ส.ส.

เคลียร์ให้ชัดก่อนเลือกตั้ง เหมาเข่งต่างด้าวแบ่งเขต ส.ส.

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เสนอแนะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่นำคนต่างด้าวมาคิดคำนวณจำนวนประชากรในการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน

ยุทธพร อิสรชัย
สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

Advertisement

ต้องบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก อยู่ที่ต้นทางว่าจะมีแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะตามมาอย่างไร ซึ่งอาจจะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ฉะนั้น ผมคิดว่าวันนี้จริงๆ ควรมีการตีความให้เรียบร้อยก่อน เพราะนี่คือจุดตั้งต้นที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ถ้าตีความแล้วว่าจะนับจำนวนราษฎรแบบไหน จะนับรวมประชากรแรงงานต่างด้าวด้วยหรือไม่ ก็จะทำให้การเลือกตั้งไม่มีปัญหาภายหลัง แต่หากเราเลือกตั้งไปเสร็จแล้ว และหลังจากนั้นมีคนไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ก็มีโอกาสเป็นไปได้

ที่ผ่านมาเราเห็นการเลือกตั้งที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นโมฆะมาแล้ว 2 ครั้ง ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2549 และเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2557 ฉะนั้น การเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่ควรจะต้องเกิดปัญหาขึ้นอีก ยิ่งเป็นการเลือกตั้งท่ามกลางการแบ่งขั้วทางการเมือง ย่อมมีความเสี่ยงอยู่แล้วที่จะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหลังการเลือกตั้ง ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2562 ก็ใช้การนับจำนวนประชากรแบบนี้เหมือนกัน แต่ในตอนนั้นไม่มีคนตั้งประเด็นในเรื่องที่ว่า ราษฎร จะรวมไปถึงแรงงานต่างด้าวด้วยหรือไม่

เรื่องการนับประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งกับการประกาศจำนวนราษฎรเพื่อประกาศเขตเลือกตั้ง มันต้องสมดุลกัน เพราะเมื่อมีการประกาศจำนวนราษฎรเพื่อกำหนดเขตเลือกตั้งแล้ว จะออกมาเป็นจำนวนผู้แทนในเขตเลือกตั้งหรือจังหวัดนั้นๆ ว่าจะมีผู้แทนได้กี่คน แต่ในขณะที่เมื่อถึงวันเลือกตั้ง ผู้ไปใช้สิทธิจะไม่ได้รวมแรงงานต่างด้าวเหล่านั้นด้วย

Advertisement

ดังนั้น จะมีผลทำให้ท้ายที่สุดแล้วความเป็นตัวแทนของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจะไม่ได้เป็นไปตามความเป็นจริงของจำนวนราษฎร เพราะแรงงานต่างด้าวไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง แต่เมื่อคำนวณจำนวน ส.ส.ในจังหวัดนั้น และไปคำนวณแรงงานต่างด้าวด้วย จุดนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าจะเกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบ โดยเฉพาะในบางจังหวัดซึ่งเป็นจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ก็อาจจะได้ผู้แทนราษฎรที่เกินจำนวนที่ควรจะต้องเป็นจริงเมื่อเทียบกับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ชายแดนซึ่งอยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ฉะนั้น มีผลแน่นอนในเรื่องของคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง

เรื่องนี้หากส่งศาลรัฐธรรมนูญและสามารถวินิจฉัยได้เร็ว ก็อาจจะไม่ได้กระทบอะไรกับไทม์ไลน์ของการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นในระยะเวลาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดกรอบเอาไว้อยู่แล้ว ว่าหากครบวาระจะต้องมีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน แต่ถ้ายุบสภาคือ 45 วันไม่เกิน 60 วัน แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเสร็จหรือไม่เสร็จ ก็ต้องมีการเลือกตั้งภายในกรอบนี้อยู่แล้ว ถ้าหากวินิจฉัยไม่เสร็จ แล้วไปเลือกตั้งก็เสี่ยงว่าหลังเลือกตั้งจะกลายเป็นการเลือกตั้งที่โมฆะหรือไม่ นี่เป็นจุดที่น่ากังวล เพราะฉะนั้นศาลรัฐธรรมนูญต้องเร่งหากมีการไปร้องจริงๆ ในการทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้โดยเร็ว

ประเด็นนี้สะท้อนภาพให้เห็นว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น จะเป็นการต่อสู้ที่เข้มข้นดุเดือด และจะมีการหยิบจับเอาประเด็นทั้งในเรื่องคุณสมบัติ กติกา วิธีการคิดคะแนน นับคะแนนเสียง และอื่นๆ อีกมากมาย ที่นำมาเป็นปมในการต่อสู้กันในสนามการเลือกตั้ง เพราะเป็นการเลือกตั้งท่ามกลางการแบ่งขั้วทางการเมือง โอกาสที่เราจะเห็นการเลือกตั้งที่ช่วยคลี่คลายปัญหาการแบ่งขั้วทางการเมืองหรือปัญหาความขัดแย้งนั้น ผมว่ายังไม่เห็นภาพอะไรชัดมากนัก หรือเราอาจจะเห็นการเลือกตั้งเพื่อจะเป็นนวัตกรรมทางการเมือง ในการนำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ในเชิงโครงสร้าง เหมือนที่สังคมเราอยากจะเห็นแต่ก็คงยังไม่เห็นตรงนั้นได้ชัด

แต่ท้ายที่สุด สนามเลือกตั้งก็ยังเป็นสนามในการต่อสู้ เอาชนะ และทำให้เกิดปมแห่งความขัดแย้งที่ซับซ้อนมากขึ้นไปอีก

วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

มีความเป็นไปได้ที่จะมีการยื้อกันไปมาหลังจากนี้ เพราะเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นขึ้นมา ซึ่งผมเชื่อว่าหลายคนก็อาจจะไม่ทราบเรื่องนี้รวมถึงผมด้วย พอได้ยินข่าวก็รู้สึกแปลกใจว่ามีประเด็นแบบนี้อยู่ด้วย ส่วนตัวเห็นพ้องกับท่านรองวิษณุ เครืองาม ว่าเรื่องนี้อาจจะนำมาสู่การร้องในโอกาสต่อไปหลังจากการเลือกตั้งแล้วเสร็จ ผมจึงคิดว่าน่าจะยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตอนนี้

เป็นจังหวะที่ดีในการคลายปมดังกล่าว น่าจะเคลียร์ให้ชัดก่อน เพราะเป็นประเด็นที่เห็นถึงความไม่สมเหตุสมผล อย่างที่รองวิษณุให้เหตุผลว่า กรณีของคนต่างด้าวที่ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งไม่ได้สอดคล้องกับการรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญของไทย แล้วจะไปนับรวมกรณีบุคคลผู้ไร้ซึ่งสัญชาติไทย หรือคนต่างด้าว ได้อย่างไร

ถ้าเกิดปล่อยให้เลือกตั้งไปก่อน เมื่อมีคนมาร้องแล้วค่อยแก้ไข แบบนั้นผมว่าอาจจะปั่นป่วน อาจจะถึงขนาดต้องล้มกระดาน เป็นเรื่องใหญ่โต ดังนั้น ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนดีกว่า ถ้าหากมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้การเลือกตั้งล่าช้าหรือไม่นั้น ผมว่าอยู่ที่ดุลพินิจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญหรือไม่ ถ้าท่านได้รับเรื่องจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ท่านก็คงจะได้กรุณานัดประชุมกัน ดูถึงไทม์ไลน์การเลือกตั้งที่กำลังจะงวดใกล้เข้ามา ผมเชื่อว่าท่านก็คงจะมีวิจารณญาณ หากมีคนยื่นคำร้องเข้ามาท่านก็คงนัดประชุมและคลี่คลายปมนี้ในเร็ววัน ซึ่งอาจจะไม่กระทบกับไทม์ไลน์การเลือกตั้ง ท่านอาจจะวินิจฉัยด้วยความกระชับเวลา หากพิจารณาจริงๆ ผมว่าเป็นหลักสัปดาห์ก็น่าจะชัดเจน หรืออาจจะมากกว่า 1 สัปดาห์ก็ได้ อยู่ที่การนัดประชุม กำหนดวันที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมาร่วมออกความเห็นได้ตามกระบวนการ ถ้าหากสามารถกระชับเวลาตรงนี้ได้ก็น่าจะคลายปมตรงนี้ได้ ผมหวังเช่นนั้น

จากที่ผมดูข่าว มีเวิร์ดดิ้งหนึ่งที่บอกว่า กกต.แจ้งว่า ที่ผ่านมาได้รวมประชากรแรงงงานต่างด้าวในเขตนั้นๆ ด้วย เพราะรัฐธรรมนูญไปเขียนว่าต้องใช้จำนวนราษฎร ตามประกาศของกระทรวงมมหาดไทย ที่รวมต่างด้าวเข้าไปด้วย แต่ผมเองก็ยังไม่เห็นถึงการอ้างอิงมาตราต่างๆ ว่าตรงไหนคือมาตราอะไร ผมจึงมองประเด็นนี้ว่า ถึงแม้ กกต.จะอ้างว่ารัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ว่า ต้องใช้จำนวนราษฎรตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่รวมบุคคลต่างด้าวเข้าไปด้วยก็ตาม แต่ผมคิดว่าน่าจะมีการตีความตรงนี้ให้ชัดเจนอีกครั้ง เพราะจะกลายเป็นบรรทัดฐานต่อไป

เรื่องนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานสำคัญ ถ้าเกิดว่าเราปล่อยทิ้งไว้ นอกเหนือจากสิ่งที่อาจจะชุลมุนวุ่นวายตามมาหลังจากการเลือกตั้งแล้ว เรื่องบรรทัดฐานก็เป็นส่วนสำคัญที่เราจะต้องคลายปมร่วมกัน อาจจะใช้เวลา แต่เชื่อว่าจะสามารถพิจารณาให้กระชับกับไทม์ไลน์การเลือกตั้งได้

อย่างไรก็ดี ถ้าหากมีการนับรวมบุคคลต่างด้าวจริงๆ ก็อาจจะสร้างความได้เปรียบ-เสียเปรียบได้ แม้ว่าในบางจังหวัดอาจจะไม่ได้มีนัยสำคัญมากถึงขั้นที่จะพลิกคะแนนเสียงของแต่ละพรรค คงไม่ขนาดนั้น แต่ความสำคัญของความถูกต้อง ความเคลียร์ ความชัดเจน ก็เป็นเรื่องหลักสำคัญและเป็นบรรทัดฐาน แต่ถึงแม้จะมีการเดินหน้าต่อไป นับรวมกันแบบที่ กกต.เสนอ นัยสำคัญก็ไม่น่าจะส่งผลให้เกิดการพลิกคะแนนแพ้-ชนะได้ขนาดนั้น ผมว่าความมีเหตุมีผล อธิบายได้ น่าจะเป็นสิ่งสำคัญมากกว่า

เรื่องนี้พอเกิดขึ้นมาปุ๊บ ผมรู้สึกว่ามันแปลกดี เป็นประเด็นที่ต้องถกกันต่อ ถือว่าพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ไหนๆ มีประเด็นนี้ขึ้นมาแล้วก็น่าที่จะคลายปม หรือจะมีช่องทางอื่น เช่น กกต.นัดประชุมใหม่ และพิจารณาดูว่าจะมีกฎหมายอื่นๆ เพิ่มเติม หรือคำอธิบายที่ขยายความว่าไม่ต้องนับรวมได้หรือไม่ เป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องพิจารณาตรงนี้อีกรอบ โดยที่อาจจะไม่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ หรือถึงที่สุดแล้ว ถ้าจำเป็นต้องส่งตีความ ก็ต้องส่ง

ตรีเนตร สาระพงษ์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ปัญหาการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ กกต. ใช้ข้อมูลทะเบียนราษฎร จากกรมการปกครองเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 66,090,475 คน เพื่อนำมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณเพื่อหาค่าเฉลี่ยจำนวนประชากรในการแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งมี 400 เขตหารด้วยจำนวนราษฎรทั้งหมด ซึ่งก็จะได้เขตละประมาณ 165,226 คน โดยประมาณบวกลบใกล้เคียงมากที่สุดไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ตามประกาศของ กกต. ซึ่งการแบ่งเขตกฎหมายกำหนดให้ใช้พื้นที่เดิมเป็นหลักก่อน

แต่ปัญหาคือการที่มีคนต่างด้าวหรือผู้ซึ่งไม่มีสัญชาติไทยต้องนำมารวมอยู่ในทะเบียนราษฎรที่เป็นฐานข้อมูลที่ใช้แบ่งเขตหรือไม่นั้น

เห็นว่าในทางข้อกฎหมายดูเหมือนจะฟังยุติไปแล้วว่า ราษฎร ต้องหมายความรวมถึงบุคคลที่อยู่ในเขตพื้นที่นั้นโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือไม่ และไม่ว่าจะมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งแม้เป็นผู้มีสัญชาติไทยก็ใช่ว่าจะมีสิทธิเลือกตั้งทุกคน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นต่างด้าว ชาวไทยที่ตกสำรวจ ชนพื้นเมือง ก็ต้องนับรวมเป็นจำนวนราษฎรด้วย ซึ่งเรื่องนี้เทียบเคียงได้จากความเห็นกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 923/2555

จึงเท่ากับว่าต้องแยกออกจากกันระหว่างคำว่า ราษฎร กับ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นคนละเรื่องกันและในการแบ่งเขตเลือกตั้งปี 2562 ก็ใช้หลักการเช่นนี้มาแล้วแต่ก็ไม่พบว่ามีปัญหาอะไร และยิ่งทำให้เห็นว่าประเด็นทางกฎหมายจะสะเด็ดน้ำไปแล้ว จึงน่าแปลกใจที่ปรมาจารย์ นายวิษณุ เครืองาม จะไม่ทราบเรื่องนี้ และรวมถึงการหยิบยกเอาคำถามที่มีคำตอบไปแล้วมาตั้งคำถามใหม่ ซึ่งความสงสัยนี้หากจะต้องตอบคำถามใหม่โดยส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งต้องใช้เวลาและเป็นเวลาที่ไม่อาจกำหนดได้แน่นอน ย่อมส่งผลต่อ กกต.โดยตรงที่อาจเกิดความลังเลในการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อนหรือไม่ และเมื่อถามว่า กกต.จะจัดการเลือกตั้งไปก่อนได้หรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่าแนวคำวินิจฉัยของกฤษฎีกาที่ใช้เป็นแนวทางมาตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งก่อนก็ใช้ได้ และมีการใช้เป็นบรรทัดฐานในหลายเรื่อง เช่น การพิจารณายกระดับเทศบาลก็นำเอาจำนวนราษฎรทั้งไทยและต่างด้าวมารวมด้วย ดังนั้น การจัดการเลือกตั้งจึงสามารถทำได้

และยิ่งการที่ กกต.เข้าพบนายวิษณุ เครืองาม ก่อนหน้านี้ ซึ่งดูไม่งามนัก ก็อาจทำให้เกิดข้อครหาว่าไม่จัดการเลือกตั้ง แต่ลาก (เวลา) เลือกตั้งออกไปเพื่อประโยชน์ของใคร หรือของพรรคการเมืองใด เพราะการส่งศาลตีความจะทำให้ไทม์ไลน์การเลือกตั้งต้องขยายออกไป รัฐบาลรักษาการก็อาจอยู่นานขึ้นตราบจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

และพรรคที่ไม่พร้อมหรือพร้อมน้อยกว่าบรรดาพรรคอื่นอย่างพรรครวมไทยสร้างชาติที่ยังไม่ชัดเจนทั้งในแง่การจัดตั้งสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคการเมือง การไพรมารีโหวตก่อนจึงจะส่ง ส.ส.แบบเขตได้ก็ดี หรือการที่ทุกคนยังตั้งตารอคอยนโยบายพรรคอยู่ก็ดี หรือการเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ที่ยังไม่มากนักก็ดี ก็จะได้ประโยชน์จากระยะเวลาที่ขยายออก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image