ส่อง ‘บิ๊กตู่’ ยื้อยุบสภา รอความพร้อม ‘รทสช.’

ส่อง ‘บิ๊กตู่’ เลือกเกมยุบสภา ใครได้เปรียบ-เสียเปรียบ

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ หลังผ่านเส้นตาย เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ของ ส.ส.ในการย้ายพรรคเพื่อหาสังกัดใหม่ กรณีอยู่ครบเทอม ซึ่งเท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเลือกยุบสภา

พิชิต รัชตพิบุลภพ
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ณ เพลานี้เมื่อเส้นตายการย้ายพรรค (7 ก.พ.66) เพื่อหาสังกัดใหม่ของเหล่าบรรดา ส.ส. ที่ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง หากสภาอยู่ครบวาระผ่านพ้นไป แต่ยังไร้เสียงโหมโรงเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ระดับหัวหน้าค่ายหรือว่าที่ ส.ส. แม่เหล็กระดับตัวพ่อตัวแม่ที่ค่ายรวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะตีความนัยยะทางการเมืองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากเหตุ 2 กรณีนี้เท่านั้น

Advertisement

กรณีที่หนึ่ง ส.ส.แกนนำระดับหัวหน้ามุ้งตัดสินใจเลือกสังกัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งไม่ใช่ พรรค รทสช. แน่ๆ เนื่องด้วยกระแสงานเปิดตัวพรรคใหม่ของนายกรัฐมนตรียังแป้ก ไม่เรียกเสียงฮือฮาจากบรรดา ส.ส. เท่าที่ควร หรืออาจเป็นกรณีที่ 2 จอมยุทธ์ทางการเมืองคาดหมายรู้ได้ล่วงหน้าว่า นายกรัฐมนตรีต้องยุบสภาซึ่งอาจจะเป็น 1-2 วันก่อนครบวาระ ด้วยประเมินว่าจะทำให้พรรค รทสช.ยังพอมีเวลาและโอกาสในอีกหลายๆ เรื่องทั้งในเรื่องของการเร่งเปิดสาขาพรรค การรวบรวมหัวคะแนน การควานหาตัวผู้สมัครและการดึงกระแสเรตติ้งความนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์ ให้แรงพุ่งกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นเหล่าบรรดา ส.ส. ที่เคี่ยวกรำในสนามเลือกตั้งมาอย่างยาวนานยังพอมีเวลาให้คิด ได้ตัดสินใจที่จะลงหลักปักธงกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหากมีการยุบสภาเกิดขึ้น

ปัญหาของ พล.อ.ประยุทธ์และพรรค รทสช. ตอนนี้จึงเป็นเรื่องของเวลา กล่าวคือ เวลาในการเร่งจัดทำนโยบายหาเสียงให้เปรี้ยงปร้างสร้างกระแสดึงคะแนนจากกลุ่มคนใหม่ๆ ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองใดในดวงใจและดึงความสนใจของบรรดา ส.ส. ให้เห็นว่านโยบายหาเสียงที่จะนำเสนอต่อประชาชนของพรรค รทสช. นั้นโดดเด่น ทำได้จริง เมื่อเทียบกับพรรคการเมืองคู่แข่งยิ่งจะทำให้เอื้อประโยชน์ต่อ ส.ส. ในการลงพื้นที่หาเสียง

ซึ่งขณะนี้พรรคการเมืองคู่แข่งต่างๆ ทยอยเปิดตัวนโยบายเพื่อดึงคะแนนในการตัดสินใจของประชาชนไปมากโขแล้ว ท้ายสุดนี้ คงหนีไม่พ้นในเรื่องของเวลาที่นักการตลาดทางการเมืองต้องช่วยกันเร่งปั้น สร้างแบรนด์สินค้าที่ชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมาเป็นหนึ่งในดวงใจคนไทยเหมือนเดิมให้ได้ หากพรรค รทสช. หวังแค่จำนวนผู้แทนเพียงเพื่อเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว หวังจำนวนมือที่มองไม่เห็นในวุฒิสภาช่วยกันผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมานั่งเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่อีกครั้ง ปัญหาคงจะไม่จบ ความสงบไม่จบที่ลุงแน่ครับ

Advertisement

วีระ หวังสัจจะโชค
อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

เรื่องการยุบสภาตามกฎหมายเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารในการกำกับฝ่ายนิติบัญญัติว่าถ้าวันใดวันหนึ่งสภาทำงานต่อไม่ได้ หรือร่างกฎหมายที่จัดทำโดยรัฐบาลไม่ผ่าน ฝ่ายรัฐบาลจะใช้อำนาจในการยุบสภา รื้อกระดานสู่การเลือกตั้งใหม่ การยุบสภาเป็นทางเลือกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ต่อเมื่อฝ่ายตนต้องได้เปรียบมากที่สุด ปัจจุบันต้องถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้เปรียบหรือยัง เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจเข้าสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ไม่มีกลุ่ม 3 ป. ไม่มีพี่ชายคอยช่วยเหมือนในอดีต พรรคใหม่ที่ถูกตั้งขึ้นยังขาดความเข้มแข็งในเชิงโครงสร้างพรรคการเมืองที่มีบ้านใหญ่ การหา ส.ส.เข้าพรรค การจัดตั้งสาขาพรรคทุกจังหวัดที่ยังต้องการความพร้อม ทำให้ถูกมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ตัดสินใจยุบสภาในเวลานี้

การที่รัฐบาลยังไม่ยุบสภา ถือเป็นไพ่ทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการดึงจังหวะไปเรื่อยๆ ตามเกม ขณะที่ในสภามีทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เริ่มตีรวนเช่นกัน ทำให้การประชุมสภา ในการเสนอขอแก้ไขกฎหมายที่ค้างในสภา ไม่สามารถทำได้ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ถ้ากฎหมายไม่ผ่าน หรือยุบสภาไปก่อน กฎหมายต่างๆ ก็ตกไปหมด ต้องรอรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง

ในสภาขณะนี้กลายเป็นอารมณ์ของคนทำงานเริ่มไม่มีแล้ว ส.ส.ต่างไปลงพื้นที่หาเสียง ส่วน ส.ส.ที่ขอย้ายพรรคก็ไม่มาทำงานให้กับพรรคเดิม กลายเป็นว่าฝ่ายนิติบัญญัติ พยายามมัดมือชกให้ พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภา ไม่ใช่เฉพาะ ส.ส. แม้แต่ ส.ว. บางกลุ่มก็ไม่เข้าร่วมประชุม เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ควรยุบสภาได้แล้ว คาดว่า 1-2 อาทิตย์ก่อนครบวาระ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะยุบสภา

ทุกคนก็รู้ เพราะพรรค รทสช.เป็นพรรคขนาดกลางค่อนข้างเล็ก หากสถานการณ์เป็นแบบนี้เสียเปรียบอย่างมากๆ ยิ่งการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ ถ้ามี ส.ส.ในพื้นที่เข้มแข็งก็ดีต่อพรรค แต่เวลานี้ยังไม่ชัดเจน เอาง่ายๆ อย่างตัวหลักอย่าง เสี่ยเฮ้ง หรือสุชาติ ชมกลิ่น ใน จ.ชลบุรี ยังเหนื่อย ยังลำบาก เพราะพรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ในชลบุรี ชัดเจน หากพรรคไม่มีความชัดเจน แม้แต่การเปิดชื่อ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออย่าง พล.อ.ประยุทธ์ เพียงคนเดียว ยังมีโอกาสได้น้อย กลายเป็นตำบลกระสุนตก

มองว่าปัจจุบันปัญหาทั้งหมดกลับมาที่ พล.อ.ประยุทธ์คนเดียว การเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ ทำให้พรรค รทสช.ไม่เข้มแข็งเพียงพอ ถ้าผลการเลือกตั้ง ส.ส.ออกมา ได้ที่นั่ง ส.ส.ไม่ถึง 25 คน จะทำอย่างไร ในการเสนอแคนดิเดตนายกฯของแต่ละพรรคการเมือง หรือถ้าได้ ส.ส. 25 คนแต่น้อยกว่าพรรค พปชร. จะมองหน้าพี่ (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้หรือไม่

การไม่ตัดสินใจยุบสภาในเวลานี้เป็นเพราะความไม่มั่นใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ส.ส.หลายคนที่ยังไม่ได้ย้ายพรรคต่างวัดใจ ถ้ายุบสภาทุกอย่างจะเปลี่ยนไป แต่ถ้าต้องการหักหลัง ส.ส.ที่กำลังย้ายพรรค หากรัฐบาลอยู่ไปจนครบวาระ แต่ท้ายสุดทุกคนมองว่าต้องมีการยุบสภาเกิดขึ้น

ปัจจุบันยังไม่รู้เลยว่านโยบายหาเสียงของพรรค รทสช.เป็นอย่างไร พรรค พปชร. เสนอนโยบายเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นเดือนละ 700 บาท ส่วนพรรค พท.เสนอเพิ่มขึ้นค่าแรงรายวันเป็นวันละ 600 บาท หรือ แม้แต่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เสนอแก้กฎหมาย ม.112 แต่ละพรรคต่างมีจุดขาย แต่พรรค รทสช. ขายเพียง พล.อ.ประยุทธ์ แม้ว่าจะเป็นบุคคลที่มีความสำคัญ แต่ใช้กับการเมืองยุคปัจจุบันไม่ได้ นโยบายกระดาษเปล่า ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่กระดาษขาว หรือสดใหม่ ไปอยู่พรรคใหม่ ไม่มีนโยบายก็เสียเปรียบ เวลานี้ต้องดึงเวลาเพื่อจัดทัพ รอความพร้อม อยากฝากให้ประชาชนมองการทำงานของ ส.ส.ในการลงพื้นที่ไปหาเสียงเลือกตั้ง แต่ก็ต้องทำงานในหน้าที่ด้วย ให้จับตามองเพื่อเป็นตัวเลือกตัดสินใจเลือกผู้แทนในสมัยหน้า

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

กรณีการสังกัดพรรคการเมืองต้องภายใน 90 วัน หากสภาครบวาระ การที่บรรดา ส.ส.ยังไม่มีการย้ายพรรค เพราะมีการคำนวณว่าจะต้องยุบสภาแน่นอน เพราะหากมีการยุบสภา ก็จะต้องมีการปลดล็อก เหลือเวลาการเข้าสังกัดพรรคการเมืองภายใน 30 วันก่อนเลือกตั้ง

ส่วนการเคลื่อนไหวของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ส่วนตัวคิดว่าช่วงต่อไปนี้จำเป็นจะต้องดูด ส.ส. หรือบรรดาผู้มีคะแนนเสียงในพื้นที่เลือกตั้งในเข้ามาสังกัดพรรค เพราะหากดูการเปิดตัวหลายๆ พรรคการเมือง พบว่าได้ตัวเด่น ตัวดี ตัวดังไปหมดแล้ว จึงเป็นห้วงสุดท้ายของบรรดา ส.ส.ที่จะต้องเตรียมตัวที่จะต้องถูกดูด หรือโยกย้ายมาพรรค รทสช. คงได้สัญญาณแล้วไม่ต้องรีบ รอจังหวะเมื่อพรรค รทสช. ได้เปรียบทางการเมืองแล้วค่อยยุบสภา เมื่อยุบสภาแล้วทุกคนก็ย้ายพรรคได้ทันที

กรณี ส.ส.ตัวเด่น ตัวดี ตัวดัง ได้ย้ายเข้าสังกัดพรรคการเมืองใหญ่เกือบหมดแล้ว ส่วนความเคลื่อนไหวของ ส.ส.ที่จะเข้าพรรค รทสช.ยังไม่มีการเคลื่อนไหว เชื่อว่าดีลยังไม่ลงตัว อาทิ ตำแหน่งที่ต่อรอง ทรัพยากรทางการเมือง จึงไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เพราะว่าการย้ายของนักการเมืองจะมีปัจจัยไม่มาก อาทิ งบประมาณและข้อตกลงในแง่ของทรัพยากร โอกาสที่จะได้ตำแหน่งแห่งที่หลังการเลือกตั้ง รวมทั้งตำแหน่งปาร์ตี้ลิสต์ลำดับต้น ถ้าหากที่กล่าวมาลงตัว ก็สามารถตัดสินใจเข้าร่วมพรรครวมไทยสร้างชาติได้เลย

พรรค รทสช.เพิ่งตั้งสาขาพรรคได้ประมาณ 50 จังหวัด ในเรื่องสาขาพรรคการเมืองเป็นเงื่อนไขทางกฎหมาย เพราะว่าพรรคอื่นๆ สามารถส่งผู้สมัครได้ครบ หรือเกือบครบทุกจังหวัด ทำให้พรรค รทสช. เสียเปรียบทางด้านการส่งตัวผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ยังไม่ยุบสภา

การจะดึงตัว ส.ส.พรรคอื่นเข้ามาพรรค รทสช. คิดว่าถ้าหากจะดึงตัว ส.ส.น่าจะดึงในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน เป้าหมายหลักที่พรรค รทสช.เล็งอยู่คือพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพราะหากเปรียบเทียบกับพรรคการเมืองอื่นๆ จะพบว่าการเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.หวือหวามาก ขณะเดียวกันพรรค ปชป.เลือดไหลออกไม่หยุด เป็นเป้าหมายเดียวที่พรรค รทสช. พุ่งเป้าไปที่พรรคนี้ เพราะว่าจุดยืนทางการเมืองของพรรค และท่าทีการเมืองของพรรค ปชป. รวมทั้งตัว ส.ส.ปชป. มีลักษณะสอดคล้องต้องกันกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นอกจากนี้ อาจจะไปผนึกกำลังกับนักการเมืองท้องถิ่น นายก อบต. นายกเทศมนตรี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด จะทำให้มีตัวผู้ลงสมัคร ส.ส.ครบ 400 เขตเลือกตั้ง โดยเฉพาะ ส.ส.ในฝั่งของพรรค ปชป.ที่พรรค รทสช. จะไปดึงหรือไปดูดมาเพื่อเข้าสังกัด

นอกจากนี้ ผู้บริหารของพรรค รทสช. ก็มาจากพรรค ปชป. จำนวนหนึ่ง มีโอกาสสูงที่พรรค รทสช. ดูด ส.ส.เข้ามาสังกัดภายในพรรค เพราะเป็นกลุ่ม กปปส. ของกำนันสุเทพ รวมทั้งยังมีคอนเน็กชั่นในพรรค ปชป. ดึงมาเพิ่มในพรรค รทสช. ได้ ไม่ว่าจะเป็นอดีตรัฐมนตรี หรือผู้ใหญ่ภายในพรรคมาร่วมมือกัน เพราะว่าพรรค ปชป. ไม่ได้มีการปรับกลยุทธ์อะไรเลยในทางการเมือง ไม่มีการยืดหยุ่นในทางการเมือง และไม่ทำการเมืองในเชิงนโยบายให้ชัดเจน กลับไปทำการเมืองแบบบ้านใหญ่ ทำให้นักการเมืองส่วนหนึ่งไม่เห็นโอกาสและอนาคต ทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้นที่จะมารวมตัวกันที่พรรค รทสช.

หากมองอีกมุมหนึ่ง กรณีที่พรรค ปชป.ไม่ยอมเคลื่อนไหวทางการเมือง หาก พล.อ.ประยุทธ์ หรือพรรค รทสช.ไม่ได้ 100 ที่นั่ง แต่รัฐธรรมนูญระบุเพียงว่า 30 ที่นั่ง ภายใต้องคาพยพที่รัฐบาลชุดนี้ได้เปรียบจากกลไกทางรัฐธรรมนูญ กลไกทางเครือข่ายอำนาจรัฐก็ดี รวมทั้งพันธมิตรเครือข่ายพรรคร่วมรัฐบาล มองดูแล้วยังมีเอกภาพอยู่ หากทำการเมืองแบบนี้ได้ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็จะอยู่ในกลุ่มเดียวกับกลุ่มนี้

ผมคิดว่านักการเมืองหลายคนที่ย้ายมาอยู่พรรค รทสช.มีการประเมินถึงชนะได้น้อย แต่หากเกิน 30 เสียง ก็มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล หลังจากนั้นจะให้ประชาชนเข้าชื่อประมาณ 1 ล้านคน แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ เชื่อมีการทำงานแบบมีขั้นมีตอนไป

การยื้อการยุบสภาออกไปให้นานคิดว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้เปรียบที่สุด กระแสพรรคแรงมาก มีการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางการเมือง ไม่เอาประชาธิปไตยแบบอุดมการณ์ที่เข้มข้น แต่ทำการเมืองเหมือนปี 2548 รวบรวมบรรดาตระกูลการเมืองเข้าด้วยกัน มีความได้เปรียบแน่นอน และมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง แต่มีปัญหาประเด็นเดียวคือ จัดตั้งรัฐบาลได้พรรคเดียวหรือไม่ เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้นักการเมืองหลายคน ตระกูลการเมืองหลายคนไม่กล้าตัดสินใจไปพรรค พท. แต่ถ้าจะไปก็จะไปแบบกระจัดกระจาย อย่างที่กลุ่มสามมิตรทำ

หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองนายกรัฐมนตรีไม่สามารถเซ็นคำสั่งยุบสภาได้ ผมมองว่ารัฐบาลก็ต้องอยู่จนครบวาระ และการเลือกตั้งก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่ระบุไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image