250 ส.ว.ดับฝัน 250 ส.ส. เกมเก่า-สืบทอด?

250 ส.ว.ดับฝัน 250 ส.ส. เกมเก่า-สืบทอด? หมายเหตุ - ความเห็นต่อกรณี นายวันชัย สอนศิริ

250 ส.ว.ดับฝัน 250 ส.ส. เกมเก่า-สืบทอด?

หมายเหตุความเห็นต่อกรณี นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.โพสต์ระบุ ทำนอง แม้หากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งทั่วไป แต่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร อาจไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ เนื่องจากตามหลักการใครรวมเสียง ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ คนนั้น พรรคนั้นควรเป็นนายกฯ เป็นรัฐบาล ก็ตาม แต่ถ้าเพื่อไทยรวมเสียงได้ไม่ถึง 376 เสียง เส้นทางนายกฯของอุ๊งอิ๊งคงริบหรี่ เนื่องจาก 250 ส.ว.จะไม่โหวตเลือก ที่เรียกร้องแลนด์สไลด์ 250 ส.ส. ระวัง 250 ส.ว.จะแลนด์สไลด์ตีกลับ

ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Advertisement

ผมว่าคนที่พูดเรื่อง ส.ว.แลนด์สไลด์ตีกลับนั้นเป็นคนไม่เข้าใจระบบรัฐสภา สมมุติว่าเพื่อไทย และพรรคพันธมิตรชนะเลือกตั้ง โดยมีเสียงเกิน 250 เสียงโหวตแคนดิเดตนายกฯจากพรรค เพื่อไทยหรือพรรคพันธมิตร แต่ ส.ว.ไม่เอาและไปเลือกคนอื่น ผมว่าหลังจากนั้นในวาระแรกของการเปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีจะต้องแถลงนโยบายและ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี จะเอาเสียงที่ไหนมาโหวตให้ผ่านเพราะถ้าโหวตไม่ผ่านในกฎหมายสำคัญโดยธรรมเนียมปฏิบัติคือลาออก

ผมถึงมองว่าคนที่พูดประโยคว่า ส.ว.ก็โหวตคว่ำได้ต่อให้แลนด์สไลด์ ไม่เข้าใจระบบรัฐสภา เพราะในการโหวตนั้นจะไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ ส.ว.ไม่เกี่ยว เป็นพูดโดยการบลั๊ฟ ถ้าย้อนไปตอนเลือกตั้ง 62 จะเห็นว่าพรรคได้คะแนนมากที่สุดคือพรรคเพื่อไทย รองลงมาคือพรรคพลังประชารัฐ อันดับสามคือ พรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น โดยหลักเราต้องให้เกียรติพรรค เพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่กลายเป็นว่าทุกคนมีคำขู่กลายๆ จากรัฐธรรมนูญเองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ ส.ว.มีสิทธิเลือก เพราะฉะนั้น ส.ว.มี 250 เสียงตุนอยู่ในมือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ดังนั้น ส.ส.เองก็เห็นอยู่แล้วว่าไม่มีประโยชน์ที่จะขัดขวาง ถ้าพูดกันตรงๆ เป็นลักษณะเหมือนเป็นอำนาจประหลาดที่ไม่เคยมีในระบบรัฐสภา รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอและเกิดงูเห่ามากขึ้น ในระบบรัฐสภาต้องเคารพฉันทามติของประชาชนกับพรรคการเมือง ถ้าพรรคการเมืองเห็นว่าพรรค พท.ส่ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย มีนามสกุลชินวัตร แต่เขายังเลือกอยู่ ดังนั้นคุณต้องเคารพฉันทามติของประชาชน ตำแหน่งนายกฯจะเป็นของเล่นของใครหรือเปล่าผมไม่ทราบ แต่คนที่ตัดสินใจคือประชาชนที่เลือกตั้ง แต่ ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ตำแหน่ง ส.ว.ควรจะถูกตั้งคำถามมากกว่าเป็นตำแหน่งผูกขาดหรือเป็นตำแหน่งล็อกไว้ให้พวกของใครหรือเปล่า ต้องอย่าลืม ส.ว.มาจากการเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือใครเราก็รู้กันอยู่

Advertisement

ส่วนพรรค พท.ก็ไม่ต้องทำอะไร ถ้า ส.ว.ยังดื้อดึงว่าจะไม่เลือกก็ให้ถึงเวลาและเลือกคนของตัวเองขึ้นมา แต่พรรค พท.และพรรคพันธมิตรเองก็ต้องเหนียวแน่นพอจะโหวตคว่ำกฎหมายฉบับสำคัญในฉบับแรกให้ตกไป เพื่อให้มีการสรรหานายกฯใหม่

รศ.ตรีเนตร สาระพงษ์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เมื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตกอยู่ในมือประชาชนส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งอยู่ในมือ ส.ว.สืบทอดอำนาจจาก คสช.สะท้อนภาพความไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้นการที่ ส.ว.จะไม่เลือกโหวตนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรต่อที่มาและที่ไปของ ส.ว. แม้หลายฝ่ายจะวิเคราะห์กันว่า ส.ว.จะแบ่งเป็นกลุ่มลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือกลุ่มลุงป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และรวมถึงมีกลุ่มอิสระ แต่ก็น่าจะเป็นความอิสระในขอบเขตของการโหวตให้กับฝ่ายอนุรักษนิยมเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะหลายคนมีชุดความคิดความเชื่อว่านายทักษิณ ชินวัตร ซ่อนตัวเป็นเงาทะมึนดำอยู่หลังนางสาวแพทองธาร ชินวัตร คือสิ่งตรงกันข้ามกับเหล่า ส.ว. แต่แน่นอนอาจมีงูเห่าในดง ส.ว.อยู่บ้างกระโดดข้ามไปโหวตให้กับฝั่งประชาธิปไตย จะเห็นได้จากภาพของคนที่พยายามวางตัวเองอยู่ในจุดที่ซ้ายหรือขวาก็ได้

แต่ถ้าสวมแว่นประชาธิปไตย คำถามในแง่ของความเหมาะสมตีคู่มากับความชอบด้วยกฎหมาย ก็จะมีประเด็นว่าควรให้พรรคได้รับจำนวน ส.ส.มากที่สุดจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นยุคนี้ และสอดคล้องกับสิ่งที่นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. โพสต์ว่าส.ว.จะให้ความสำคัญพรรครวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งแต่กลับไม่ยอมรับให้พรรครวมเสียงเกินกึ่งหนึ่งเสนอชื่อนายกฯ ได้ตามใจชอบ หลักการข้างต้นสำหรับการพิจารณาคนจะเป็นนายกฯ เพราะจะเป็นการตบหน้าประชาชน

เอาเข้าจริงการยอมรับพรรคที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ภาพในปัจจุบันเห็นผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองกำลังนำเสนอนโยบาย ซึ่งนโยบายจะดีหรือไม่ดีก็วิพากษ์วิจารณ์กันไป หรือปราศรัยหาเสียงกันอยู่ปาวๆ หรือให้คำมั่นสัญญาว่าจะนำพาประเทศไปในทิศทางใด และประชาชนก็โหวตเลือกนายกฯ จากพรรคที่ได้รับ ส.ส.จากความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุดนั่นแหละ คือการให้เกียรติประชาชน เคารพประชาชน และรับผิดชอบต่อประชาชนผ่านกลไกการเลือกตั้ง ในทางกลับกันการที่ ส.ว.ไม่มีจุดยึดโยงกับประชาชน แต่ยึดโยงอยู่กับคนเพียงบางกลุ่มใน คสช. มีแนวคิดจะโหวตนายกฯสวนทางแนวคิดของประชาชน นั่นแหละคือการบิดเบี้ยวอันเป็นการการข่มขืนเจตนารมณ์ประชาชน เป็นเจ้าของประเทศตัวจริง

แต่ก็น่าเชื่อว่าหลักการทางประชาธิปไตยจะเป็นสิ่งที่เหล่า ส.ว.จะไม่สนใจ และตามมาด้วยสรรพเหตุผล เช่น ไร้วุฒิภาวะบ้างคนของตระกูลใดบ้าง ในทางการเมืองก็มาจากตระกูลต่างๆ กันทุกพรรค คุณสมบัติของผู้สมัครก็ไม่ต่างกัน คือลูกใคร อาจแตกต่างบ้างสำหรับพรรคก้าวไกลมองว่าเป็นตัวแทนกลุ่มใดของสังคม เพียงแต่เหตุผลเหล่านั้นจะยิ่งใหญ่พอจะหักล้างเจตจำนงของประชาชนหรือไม่ นี่ต่างหากที่ ส.ว.จะต้องปลุกจิตสำนึกหันกลับมาเคารพประชาชน

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

กรณีนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงบทบาทของ ส.ว.ว่า หากกล่าวถึงบทบาทของ ส.ว.ถือว่ายังมีเอกภาพ ภายใต้คำสั่งของ 3 ป. ไม่เชื่อว่า ส.ว.มีอิสระจริง ทนายวันชัยพูดแบบนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่ทุกครั้งที่มีการลงมติจะเห็นทิศทางของ ส.ว.จะเป็นไปตามทิศทางของ 3 ป.เสมอ คิดว่าทนายวันชัยออกมาโพสต์เพียงเพื่อปูทางการเมืองให้กับตัวเอง เพื่อให้หลุดข้อครหาถึงความไม่เป็นอิสระของ ส.ว.มากกว่า แต่หากดูตามการทำงานของ ส.ว.ไม่ได้มีอิสระจริงๆ

กรณีไปเบรกอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องยอมรับว่ากระแสของอุ๊งอิ๊งดีจริงๆ แต่กล่าวไปแล้วในความเป็นจริงอุ๊งอิ๊งไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่อุ๊งอิ๊งถูกกำหนดมาจากทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ให้เป็นสัญญลักษณ์แทนพ่อและพรรคเพื่อไทยเท่านั้น เพื่อหวังคะแนนเสียงให้พรรคเพื่อไทย แต่ว่าโอกาสจะเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นคงไม่ใช่ ทนายวันชัยกล่าวน่าจะเป็นการตีปลาหน้าไซมากกว่า และดิสเครดิต เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าอุ๊งอิ๊งไม่ใช่ตัวจริง เป็นตัวหลอกมากกว่า หากทุกคนเลือกอุ๊งอิ๊งโดยหวังว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ความจริงไม่ใช่

กรณีข่าวว่าจะมีการรวมตัวของเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทย เป็นรัฐบาลเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. และให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้า พปชร. เป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตรรู้สถานะของตัวเองดี หากเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นได้ แต่จะขับเคลื่อนรัฐบาลไปได้หรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะอาจเกิดแรงเสียดทานหรือแรงต้าน พล.อ.ประวิตรรู้ดี แม้กระทั่ง พท.ร่วมมือกับ พปชร. รวมทั้ง ภท.มีต้นทุนและราคาที่ต้องจ่ายในการชี้แจงสังคมมากอยู่แล้ว แต่หากผลักดันให้ พล.อ.ประวิตรเป็นนายกรัฐมนตรี จะส่งผลให้ พท.ต้องอธิบายต่อสังคมอย่างมาก ดีไม่ดี พท.อาจจะสร้างคู่ขัดแย้งกับประชาชนอีกรอบหนึ่ง จะทำให้ พท.อาจจะจบบทบาททางการเมือง ความเชื่อถือของคนที่รัก พท.จะหมดไปเลย

ถามว่า พล.อ.ประวิตรมีความสำคัญไหม หากจัดตั้งรัฐบาล 3 พรรคตามที่กล่าว ถือว่า พล.อ.ประวิตรมีความสำคัญมากที่สุด อาจสำคัญมากกว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำไป เพราะเป็นคนมีบารมีทางการเมืองสูงมาก มีคอนเน็กชั่นสูงมาก ควบคุม ส.ว.ได้ หาก 3 พรรครวมตัวกันได้ มี ส.ส.มากกว่า 376 เสียง ก็จะปิดสวิตช์ ส.ว.ทันที บทบาทของ ส.ว.ก็จะหมดไป

นอกจากนี้ยังมีความชอบธรรมที่ พท. พปชร. และ ภท. จะรวมตัวจัดตั้งรัฐบาล ถึงแม้ว่าจะอยู่คนละฟากฝั่ง แต่ร่วมกันเพื่อไม่ให้ ส.ว.มาร่วมโหวตการตั้งนายกรัฐมนตรี ก็จะสร้างความชอบธรรมระดับหนึ่ง เป็นการอธิบายให้กับประชาชนได้ นี่คือการรวมตัวของ ส.ส.เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. แต่ ส.ว.ยังอยู่โดยมี พล.อ.ประวิตรประสาน ส.ว.ในเรื่องสำคัญที่จะต้องผ่านการพิจารณาของ ส.ว. พท.ต้องการจะแก้เกมการเมือง หากจะต้องรวมกันทั้ง 3 พรรคที่กล่าวมา เพราะสามารถอธิบายให้กับสังคมได้

รศ.สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ใ นตอนแรกนายวันชัย สอนศิริ เคยออกมาพูดว่า ส.ว.ไม่เป็นเอกภาพ แต่นายวันชัยเองก็กลับมาบอกว่าเป็นเอกภาพ ผมว่าน่าจะมีสายและในกลุ่ม ส.ว.คงพูดกัน แต่ผมคิดว่าตอนนี้นายวันชัยเป็นคนรู้ความเคลื่อนไหวของ ส.ว.ดีมากคนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ยังวิเคราะห์อะไรไม่ได้ เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าใครอยู่พรรคใดแน่นอนตอนนี้ อาจจะมีการกลับตัวได้ การเมืองเปลี่ยนได้ทุก 2-3 วันในทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหว ส่วนที่นายวันชัยพูดว่า ตำแหน่งนายกฯไม่ใช่ของเล่นตระกูลใด น่าจะเพื่อให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตรประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยดูเสียคะแนน เพราะเรารู้กันอยู่แล้วว่านายวันชัยยืนอยู่ฟากไหน แต่ตอนนี้ยังฟันธงไม่ได้ การเมืองยังมีการเคลื่อนไหวและยังมีการปรับตัวอีก ถึงวันนี้คนยังไม่มั่นใจเลยว่า กลุ่มสามมิตรนำโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายอนุชา นาคาศัยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ทั้งหมดหรือไม่ ก็เห็นไปอยู่กับพรรคเพื่อไทย (พท.) แล้วบางส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ก็มาแล้วบางส่วนเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่าใจร้อน นักการเมืองเล่นการเมืองไม่ทันคนวิเคราะห์แล้ว

อย่างวันนี้ก็รู้กันอยู่ว่าความนิยมของผู้คนต่อพรรคการเมืองตอนนี้พรรค พท.นำอยู่ตามที่ดูจากโพลต่างๆ โดยภาพรวมพรรค พท.คะแนนนำกว่าพรรคอื่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image