ล่มศึกซักฟอก ม.152 ใครได้ใครเสีย?

ล่มศึกซักฟอก ม.152 ใครได้ใครเสีย? หมายเหตุ - ความเห็นนักวิชาการกรณีการอภิปราย

ล่มศึกซักฟอก ม.152 ใครได้ใครเสีย?

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ในวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ ที่มีกระแสข่าวการล็อบบี้พรรคร่วมรัฐบาลไม่ให้เข้าประชุมทำให้องค์ประชุมสภาไม่ครบ เพื่อล้มการอภิปรายของพรรคฝ่ายค้านนั้น จะสร้างความได้เปรียบ เสียเปรียบกับพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านอย่างไร

ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

Advertisement

ถ้ามีการล้มอภิปรายจริงๆ ฝ่ายที่ได้เปรียบน่าจะเป็น ฝ่ายค้าน ประการแรก อย่าลืมว่า การอภิปรายตามมาตรา 152 นั้น เป็นการอภิปรายโดยไม่ลงมติ ดังนั้น รัฐบาลไม่ได้มีผลกระทบอะไรในเชิงคะแนนเสียงอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่จะเป็นผลกระทบต่อรัฐบาล คือการขาดพื้นที่ในการแสดงข้อเท็จจริง หรือการให้ข้อมูลต่างๆ ถ้าการอภิปรายไม่สามารถบรรลุล่วงได้ ไม่ว่าจะจากสภาผู้แทนราษฎร ล่ม องค์ประชุมไม่ครบ เปิดประชุมไม่ได้ หรือไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากฟากไหน จะทำให้สังคมมองว่า เสียงข้างมากในสภาเกิดปัญหา ขณะเดียวกันรัฐบาลจะไม่มีพื้นที่ในการชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ ด้วย จึงเสียเปรียบอยู่แล้ว ถ้าสภาล่ม

ส่วนกระแสการล็อบบี้ มีโอกาสทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ที่ผ่านมาจะเห็นว่าสภาชุดปัจจุบัน มีปรากฏการณ์สภาล่มบ่อยมาก น่าจะเกิน 30 ครั้ง ตั้งแต่หลังเลือกตั้งปี 2562 ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก จะเห็นว่าประชุมอยู่แค่ 22 นาทีก็ต้องปิดสภา บางครั้งองค์ประชุมไม่ครบ ขอนับองค์ประชุมใหม่ ดังนั้น การล็อบบี้ให้สภาล่ม จึงเป็นไปได้

ทุกวันนี้ปัญหาเรื่องสภาล่ม มีอยู่ 2 ส่วนคือ 1.ปัญหาเชิงโครงสร้าง 2.ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งปัญหาเฉพาะหน้านั้นจะเห็นได้ว่า ส.ส.ไม่สนใจเข้าร่วมประชุม กำลังเดินเข้าสู่การเลือกตั้ง ลงพื้นที่หาเสียง พบปะผู้คนต่างๆ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับ ส.ส. รวมถึงการไปพูดคุยกับกลุ่มการเมืองต่างๆ ในการวางยุทธศาสตร์ด้วย หรือแม้กระทั่งบางคนอาจจะย้ายพรรค มากมายหลากหลายกันไป

Advertisement

ในขณะที่อีกปัญหาคือ เชิงโครงสร้าง อย่างการไม่เข้าประชุมสภา เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรัง ในอดีตก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2540 เคยเกิดปัญหาแบบนี้ จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ 2540 ได้บัญญัติเอาไว้ว่า ถ้า ส.ส.ขาดประชุมเกินกว่า 120 วัน ถือว่าขาดสมาชิกภาพไป แต่ถึงแม้จะมีบทบัญญัติดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหา ส.ส.ขาดประชุมได้ แม้กระทั่ง ส.ว.เอง ยังขาดประชุมเช่นกัน จนเป็นข่าวว่า ส.ว.บางคนไม่เคยเข้าประชุมเลยในแต่ละปี หรือมาน้อยมาก ดังนั้นปัญหานี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะ ส.ส. แต่ ส.ส.อาจจะเป็นเยอะกว่า เพราะในเชิงโครงสร้าง จริงอยู่ว่าตามหลักการ ส.ส.ทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ออกกฎหมาย ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร แต่ในอีกด้านหนึ่ง ส.ส.ต้องเป็นตัวแทน เป็นปากเสียงของประชาชน จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ส.ส.ที่ดีในมุมของประชาชนส่วนหนึ่ง อาจจะมองว่า คือ ส.ส.ที่เข้าไปทำงานในสภา เข้าร่วมการประชุม แต่อีกส่วนหนึ่งอาจจะบอกว่า ส.ส.ที่ดีคือ ส.ส.ที่พบตัวง่าย เมื่อมีปัญหาต่างๆ ก็สามารถไปขอความช่วยเหลือได้ จุดนี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาในเชิงโครงสร้างยังเป็นอุปสรรค การที่จะบอกว่า ส.ส.ต้องเข้าประชุมอย่างครบถ้วน มีระเบียบเรียบร้อย จึงแทบเป็นไปไม่ได้

อย่างไรก็ดี เบื้องต้นในการเปิดประชุมสภา องค์ประชุมต้องครบก่อน ถ้าองค์ประชุมไม่ครบก็เปิดไม่ได้ ซึ่งต้องเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เท่าที่มีอยู่ตอนนี้ประมาณ 400 ต้นๆ เท่านั้น เพราะ ส.ส.ลาออกกันเยอะ จากนั้นเมื่อเปิดการประชุมแล้วเข้าสู่ญัตติการอภิปรายตามมาตรา 152 ถ้ามีการขอนับองค์ประชุมแล้วไม่ถึง เกิดสภาล่มได้ในระหว่างทาง ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยเหตุใดจะเปิดสภาไม่ได้เพราะองค์ประชุมไม่ครบ หรือสภาล่มระหว่างทางก็ตาม ญัตตินี้จะตกไป และนำไปสู่การปิดสมัยประชุมในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ แปลว่าทุกอย่างจบเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งทันที เพราะเดือนมีนาคมอีก 23 วัน จะครบวาระของสภาแล้ว

ฝ่ายรัฐบาล คือ ส.ส.เสียงข้างมากในสภา ดังนั้นการที่จะต้องกำชับ ส.ส., ใช้เทคนิค เช็กชื่อ ส.ส.แต่ละพรรค หรือแม้กระทั่งกลไกของวิปรัฐบาล คือส่วนสำคัญมากที่จะต้องดำเนินการ แต่ทุกวันนี้ปัญหาใหญ่ของสภาชุดนี้ คือความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ยังถูกตัดขาดออกจากกัน นายกฯไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้เป็น ส.ส. ไม่ได้เป็นแม้กระทั่งสมาชิกของพรรคการเมืองด้วย กล่าวคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ แม้วันนี้เป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่กรณีที่เข้ามาในฐานะนายกฯ เวลานั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับพรรค ตรงนี้ทำให้เกิดการตัดขาดระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ พอเกิดสภาล่ม เกิดปัญหาการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ การเชื่อมต่อไปยังฝ่ายบริหาร หรือตัวนายกฯ จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ การทำงานของวิปรัฐบาล ซึ่งจะเห็นได้ว่าการทำงานตลอด 3 ปีกว่าเกือบจะครบ 4 ปี ไม่มีความโดดเด่น นี่คือสิ่งที่ต้องไปเติมในการทำงานให้เข้มข้นขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายนี้

ถ้าสภาล่มจริง จะเป็นภาพเชิงลบกับรัฐบาล คนโฟกัสไปที่รัฐบาลในฐานะเสียงข้างมาก รัฐบาลจะมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี ขณะเดียวกันตัวเองจะขาดพื้นที่ในการชี้แจง หรือให้ข้อมูลต่างๆ ด้วย จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องตระหนักอย่างยิ่ง ดังนั้น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ สามารถชิงไหวชิงพริบในโอกาสนี้ได้ จะเป็นสิ่งที่ดี อย่าลืมว่าการอภิปรายตามมาตรา 152 ไม่มีเรื่องการลงมติอยู่แล้ว เป็นลักษณะเปิดอภิปรายทั่วไป การจะใช้พื้นที่ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลก็มีโอกาสเท่าๆ กันทั้งคู่ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะสามารถชิงพื้นที่ตรงนี้ได้ จริงๆ แล้วนายกฯ หรือคณะรัฐมนตรี ได้โอกาสในการตอบมากกว่าบุคคลอื่นๆ ในสภาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะโดยข้อบังคับการประชุม หรือโดยธรรมเนียมก็ตาม ถ้าใช้โอกาสที่ไม่ดี คงจะเป็นการเสียโอกาสอยู่พอสมควรในการที่จะเข้าสู่สนามเลือกตั้ง

เพราะทุกวันนี้ การตั้งคำถามต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเรื่องวิกฤตความชอบธรรม ปัญหาประสิทธิภาพต่างๆ ฯลฯ ก็มีมากมาย

วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

จ ากกระแสข่าวที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอาจไม่อยู่เป็นองค์ประชุมในการอภิปรายทั่วไป มาตรา 152 เพื่อไม่ให้ฝ่ายค้านได้อภิปรายนั้น เรื่องนี้มีความเป็นไปได้ เพราะว่านายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานวิปรัฐบาล และ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเองว่า มีคนขอให้ล้มการประชุม คือไม่ให้มาประชุมเพื่อองค์ประชุมจะได้ไม่ครบ แต่นายชินวรณ์ บอกเองว่าเป็นเพียงการรับฟังมาแต่ไม่ตอบรับ แสดงว่าเรื่องนี้มีมูล ว่ามีความพยายามจะดำเนินการแบบนี้อยู่เพื่อให้การประชุมล่มนั่นเอง จึงอยากให้จับตาดูให้ดี

ส่วนเรื่องความได้เปรียบ-เสียเปรียบก่อนเลือกตั้งอาจจะไม่ได้มีนัยยะตรงนี้มากนัก เพราะว่าเป็นการขอเปิดอภิปรายทั่วไปตาม ม.152 เพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติก็ได้ ฉะนั้นความเสียเปรียบจากการอภิปราย ตาม ม.152 อาจจะติดเพียงแค่การสะกิด จากสิ่งที่ฝ่ายค้านมองเห็น น่าจะเป็นการเปิดแผลรอไว้เพื่อให้เกิดความนิยมที่ลดน้อยถอยลง แต่เนื่องจากโหมดการเลือกตั้งใกล้เข้ามาแล้ว การใช้ระยะเวลาในการหาข้อมูลเชิงลึกต่างๆ นานา และการจัดสรรแบ่งเวลาที่จะอภิปรายในสภาวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์นี้ น่าจับตาว่าจะมีความเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มีข้อมูลที่ลึกจริง รวมทั้งระยะเวลาในวันแรกถ้าหากเลิกอภิปราย 02.30 น. คนฟังจะร่อยหรอลงไป หรือถ้าไม่มีขุนพลเด็ดๆ ที่จะนำข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอได้ น้ำหนักที่จะพุ่งตีไปยังคณะรัฐมนตรี รวมทั้งการซักถามข้อเท็จจริงจะลดลงไป อาจทำให้สิ่งที่คิดว่าจะได้เปรียบ กลายเป็นไม่ได้เปรียบก็ได้

แต่โดยหลักการแล้ว การอภิปรายควรต้องดำเนินต่อ ส่วนตัวต้องขอพูดในเชิงวิงวอนกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ขอให้ช่วยกันรักษาภาพลักษณ์ที่ดีงาม เพื่อเป็นการปิดท้ายก่อนจะเลือกตั้ง ให้ประชาชนได้มีความหวังและชื่นใจว่า ทุกคนเป็นตัวแทนของประเทศชาติ ขอให้ทำหน้าที่ให้ดีงามอย่างเต็มที่

คิดว่าการอภิปรายในครั้งนี้ เป็นการหาเสียงไปในตัว ถ้าเกิดฝ่ายค้านได้นำเสนอญัตติ แล้วผู้อภิปรายอธิบายถึงข้อมูลในประเด็นต่างๆ รวมถึงรัฐมนตรีหลายท่าน โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สามารถที่จะตอบคำถาม หรือข้อซักถามได้อย่างชัดเจน ตรงนี้ถือว่าอาจจะเป็นคะแนนที่ตีกลับมา เป็นคะแนนบวก

ในทางตรงข้าม ถ้าเกิดว่าตอบไม่ชัด หรือให้คนอื่นมาตอบแทน ซึ่งมีคนคิดว่ารัฐมนตรีต่างๆ จะมาเองหรือไม่ ถ้ามอบหมายให้คนตอบแทนคะแนนจะลดลง แต่อาจจะไม่ได้มีนัยยะสำคัญมากพอที่จะกระทบต่อผลการเลือกตั้ง เพราะว่าโหมดการเลือกตั้งใกล้เข้ามาแล้ว อยู่ที่ว่าข้อมูลฝ่ายค้านจะสามารถเปิดแผล หรือจะโจมตีได้มากขึ้นถึงรากถึงโคนหรือไม่

ส่วนตัวคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องมาตอบข้อซักถามด้วยตัวเอง เพราะตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ลงสู่โหมดการเมืองอย่างเต็มตัวแล้ว ในฐานะที่นำพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เข้าสู่โหมดเลือกตั้งและประกาศตนว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีก 2 ปี ถ้าไม่มา คิดว่าคะแนนนิยมเสียตั้งแต่ต้นแล้ว และเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ตอบแน่นอนแต่ว่าจะตอบอย่างไร ก็เป็นสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องรับมือกับคำถามและนำข้อมูลมาอธิบายด้วยหลักเหตุผล ว่าหลักฐานที่ พล.อ.ประยุทธ์มีอยู่กับสิ่งที่ฝ่ายค้านได้นำเสนอข้อมูลมาซักถาม จะมีคำตอบอย่างไรให้ประชาชนที่ฟังอยู่ จึงเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์มา

ส่วนประเด็นซักฟอกของฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลควรเดินหน้าอย่างไรต่อนั้น เรื่องนี้ไม่ว่าฝ่ายค้านจะยื่นญัตติพุ่งเป้าไปที่รัฐมนตรีคนไหน อาจจะเป็นการยื่นเรื่องคอร์รัปชั่น ทุนจีนสีเทา ตรงนี้ขอให้ฝ่ายค้านทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และฝ่ายรัฐบาลเองก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ นานา ประชาชนจะเป็นผู้ที่ฟังและตัดสินว่าเหตุผลแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร ฉะนั้นด่านแรกที่สำคัญคือ ต้องมาประชุม รักษาองค์ประชุมให้ได้ก่อน อย่าคิดเรื่องเกมการเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายเลย

อย่างไรก็ตาม การล้มประชุมนั้น ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งจะทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดี ไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ตามแต่ขอพูดในเชิงวิงวอนว่า ได้โปรดกรุณาได้รักษาภาพลักษณ์ตรงนี้ ขอให้เป็นการปิดท้ายที่ดี ประชาชนจะได้ใช้วิจารณญาณในการเลือกทุกคนเข้ามาทำหน้าที่ในสภา อย่าให้ประชาชนกล่าวหาว่า ไม่ได้ทำหน้าที่อันทรงเกียรติในสภา

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่

มีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลล็อบบี้พรรคร่วมรัฐบาล เพื่อล้มอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือซักฟอก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพื่อหลีกเลี่ยงการซักฟอกฝ่ายค้าน เนื่องจากเป็นการอภิปรายครั้งสุดท้ายแบบไม่ลงมติ ก่อนสภาครบวาระ อาจส่งผลต่อความนิยมรัฐบาลและการเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้าได้

ถ้าองค์ประชุมครบ สามารถเปิดอภิปรายได้เชื่อว่าฝ่ายค้านใช้เวทีดังกล่าว ซักฟอก พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร เพื่อโจมตีจุดอ่อนรัฐบาล โดยเฉพาะการบริหารประเทศการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การไม่ทำตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ การทุจริต หรือคอร์รัปชั่นในวงราชการ และท้องถิ่นทุกระดับ ที่ฝังรากลึกมายาวนาน เป็นการตอกย้ำความล้มเหลวทุกด้าน เพื่อสะท้อนให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลมีความบกพร่อง ไม่มีผลงานให้เป็นที่ยอมรับได้ ส่งผลให้ความศรัทธา ความนิยมรัฐบาลลดลง ไม่มีความน่าเชื่อถืออีก เพราะได้รับโอกาสจากประชาชนมา 8 ปีแล้ว เป็นเรื่องที่ประชาชนสามารถพิสูจน์ได้

ส่วนตัวเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตรไม่อยากถูกซักฟอกกลางสภา เพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านถลกหนัง หรือเปิดแผล ที่เป็นจุดอ่อนดังกล่าว ที่สำคัญพรรคร่วมรัฐบาล ไม่มีใครอยากปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร อีก เพราะเป็นคู่แข่งทางการเมือง และเลือกตั้งสมัยหน้า หากล้มอภิปรายดังกล่าวเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร ได้รับประโยชน์มากที่สุด เพราะไม่ต้องถูกฝ่ายค้านโจมตี หรือถูกด่าฟรีในสภา

ในมุมกลับกัน หากไม่ล็อบบี้ล้มอภิปราย รัฐบาลสามารถชี้แจงข้อกล่าวหาฝ่ายค้าน และผลงานในสภาได้ เพื่อให้ประชาชนรับทราบ และใช้วิจารณญาณตัดสินใจการเลือกตั้งได้เช่นกัน แต่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร ไม่อยากชี้แจง เพราะอาจถูกพรรคร่วมรัฐบาลหักหลัง เข้าร่วมฝ่ายค้านซักฟอกดังกล่าว เพื่อโยนความผิดให้ พล.อ.ประยุทธ์รับผิดชอบคนเดียว ในฐานะหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล และผู้นำประเทศได้

หากไม่มีการซักฟอกดังกล่าว ทำให้ฝ่ายค้านเสียโอกาสใช้สภาเป็นเครื่องมือหาเสียงเลือกตั้ง ดังนั้นฝ่ายค้านอาจใช้วิธีการอภิปรายนอกสภา เพื่อตอกย้ำความบกพร่อง ความล้มเหลวรัฐบาลทุกด้านผ่านสื่อทุกช่องทาง ทำให้รัฐบาลไม่มีโอกาสได้ชี้แจงเหมือนเปิดประชุมสภา อาจนำไปสู่การตอบโต้ หรือวาทกรรมที่รุนแรงดุเดือดมากขึ้น ส่งผลให้การเลือกตั้งสมัยหน้าทวีความเข้มข้น ร้อนแรงไม่แพ้กัน เพื่อนำไปสู่ชัยชนะเท่านั้น

ดังนั้น แนวโน้มการอภิปรายรัฐบาลของฝ่ายค้าน ไม่น่าเกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากเป็นผลลบต่อรัฐบาล แต่เป็นผลบวกฝ่ายค้านมากกว่า ประกอบกับรัฐบาลเหลือเวลาอีกไม่นาน ก่อนครบวาระ 23 มีนาคมนี้

เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศยุบสภา ไม่เกิน 15 มีนาคม เพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งแต่ระหว่างนี้ ยังไม่ยุบสภา เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ และพรรค รทสช. ยังไม่พร้อมเลือกตั้ง จำเป็นต้องถ่วง หรือยื้อเวลาออกไปก่อน เพื่อเตรียมกำลังพลเสบียง กระสุนให้มากที่สุด ก่อนเข้าสู่สนามรบดังกล่าว

บทสรุป ไม่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยากชี้แจงฝ่ายค้านในสภา เพราะการอภิปรายที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ชอบอ้างว่าเป็นเรื่องเก่า ไม่มีประโยชน์ชี้แจง หรือตอบโต้ใดๆ จึงใช้วิธีลอยตัวหนีปัญหาทุกครั้ง ไม่กล้าเผชิญกับความเป็นจริง เพื่อรักษาภาพลักษณ์ และแนวคิดอนุรักษนิยม โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ต่อประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image